Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันเสาร์ที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2562

เทเรซา เมย์

เทเรซา เมย์






































เทเรซา แมรี เมย์ (อังกฤษ: Theresa Mary May, เกิด 1 ตุลาคม ค.ศ. 1956) คือนักการเมืองชาวบริติช ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร และหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมในสหราชอาณาจักรตั้งแต่ พ.ศ. 2559 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2553-2559 และสมาชิกรัฐสภาจากเขตเมเดนเฮดตั้งแต่ พ.ศ. 2540 ทั้งยังเป็นนักการเมืองสายอนุรักษนิยม-ประเทศเดียว (One-Nation Conservative) ผู้สนับสนุนการรวมตัวของประเทศต่าง ๆ (อังกฤษ เวลส์ สกอตแลนด์ และไอร์แลนด์เหนือ) ในสหราชอาณาจักรต่อไป นอกจากนี้เมย์ยังเป็นนักการเมืองสายอนุรักษนิยมเสรี (liberal conservative) ด้วยเช่นเดียวกัน ทั้งนี้เธอได้เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรต่อจากนายเดวิด แคเมอรอนหลังการเข้าเฝ้า ฯ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2559
ในอดีตเทเรซา เมย์ เคยทำงานประจำอยู่ที่ธนาคารกลางอังกฤษตั้งแต่ พ.ศ. 2520 - พ.ศ. 2526 ต่อมาที่สมาคมผู้ให้บริการหักบัญชีชำระเงิน ระหว่างปี พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2540 ขณะเดียวกันก็ยังได้ตำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเมืองเมอร์ตันประจำเขตเดิร์นสฟอร์ดในกรุงลอนดอนไปด้วย จนกระทั่งได้รับเลือกให้เป็นสมาชิกสภาสามัญชนในการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2540 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไม่ประสบความสำเร็จในการหาเสียงการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2535 และปี พ.ศ. 2537 นอกจากนี้เมย์ยังเคยดำรงตำแหน่งหลากหลายตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีเงาภายใต้การนำของวิลเลียม เฮก, เอียน ดันแคน สมิธ, ไมเคิล ฮาวเวิร์ด และเดวิด แคเมอรอน เช่น ผู้นำเงาแห่งสภาสามัญชน และรัฐมนตรีเงาประจำกระทรวงแรงงานและสวัสดิการ รวมถึงดำรงตำแหน่งประธานพรรคอนุรักษนิยมช่วง พ.ศ. 2545 - พ.ศ. 2546 อีกด้วย
หลังการจัดตั้งคณะรัฐบาลผสมของแคเมอรอนในปี พ.ศ. 2553 เมย์ได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย และรัฐมนตรีด้านสตรีและความเท่าเทียม ซึ่งภายหลังได้ลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีด้านสตรีและความเท่าเทียมในปี พ.ศ. 2555 ต่อมาหลังจากที่พรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2558 จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากในสภาสามัญชนได้สำเร็จ เมย์ก็ถูกแต่งตั้งให้กลับมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยอีกครั้ง และเป็นรัฐมนตรีมหาดไทยที่ดำรงตำแหน่งยาวนานที่สุดนับตั้งแต่วาระของนายเจมส์ ชูเตอร์ เอด เมื่อกว่า 60 ปีก่อน ซึ่งตลอดการดำรงตำแหน่งเมย์ได้ผลักดันนโยบายการปฏิรูปตำรวจ การจัดการกับปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง และได้ริเริ่มนโยบายจำกัดผู้อพยพ 
ต่อมาหลังจากความพ่ายแพ้ของฝ่ายอยู่ในสหภาพยุโรปต่อไปในการออกเสียงประชามติว่าด้วยสมาชิกภาพในสหภาพยุโรป เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2559 ที่มีนายเดวิด แคเมอรอน เป็นหนึ่งในแกนนำรณรงค์หาเสียง แคเมอรอนก็ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้สถานภาพผู้นำพรรครัฐบาลอย่างพรรคอนุรักษนิยมสิ้นสุดลงไปด้วย เมย์จึงได้ประกาศว่าเธอจะลงชิงตำแหน่งเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยมคนต่อไป และกลายมาเป็นผู้สมัครตัวเต็งของการแข่งขันนี้อย่างรวดเร็ว เมย์ชนะการหยั่งเสียงในหมู่สมาชิกพรรครอบแรกในวันที่ 5 กรกฎาคม โดยมีคะแนนนำผู้สมัครคนอื่น ๆ ค่อนข้างมาก สองวัดถัดมาเมย์ชนะการหยั่งเสียงรอบที่สองด้วยคะแนน 199 เสียง และเข้าสู่การแข่งขันกับผู้สมัครอีกคนอย่างนางแอนเดรีย ลีดซัม ในรอบถัดไป จนกระทั่งวันที่ 11 กรกฎาคม นางลีดซัมประกาศถอนตัวจากการแข่งขัน ส่งผลให้เมย์กลายเป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวและได้รับประกาศเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยมในวันเดียวกันนั้นเอง เทเรซา เมย์จึงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงแห่งสหราชอาณาจักรคนที่สองในประวัติศาสตร์ ถัดจากมาร์กาเรต แทตเชอร์

ที่มา  ::  https://th.wikipedia.org/wiki/เทเรซา_เมย์



































































































































7 ความคิดเห็น:

  1. นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์เหนือ (อังกฤษ: Prime Minister of the United Kingdom of Great Britain and Northern Ireland[2]) เป็นตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลในสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินแห่งสหราชอาณาจักร การกำหนดนโยบายและการบริหารราชการแผ่นดินต่างๆถือเป็นความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีต่อพระมหากษัตริย์, รัฐสภา, พรรคการเมือง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถือเป็นหนึ่งในสี่อำมาตย์นายก ซึ่งหมายถึงผู้บริหารสูงสุดทั้งสี่ของรัฐบาล นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเป็น คนที่ 54 คือ เทเรซา เมย์ หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม ซึ่งได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 2016
    คณะรัฐบาลสหราชอาณาจักรไม่ได้ดำรงอยู่ด้วยบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายใดๆ แต่ดำรงอยู่ด้วยธรรมเนียมประเพณีการปกครองที่มีมาช้านาน โดยกำหนดให้กษัตริย์จะต้องแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นบุคคลผู้สามารถทำให้สภาสามัญชนไว้วางใจในตัวเขาได้ บุคคลนั้นมักจะเป็นผู้นำพรรคหรือกลุ่มทางการเมืองซึ่งเป็นฝ่ายที่ครองเสียงจำนวนมากที่สุดในที่ประชุม ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเองก็ไม่ได้ถูกตั้งขึ้นมาโดยทันทีแต่เกิดจากพัฒนาการในอดีตที่ค่อยๆสะสมทีละเล็กน้อยในช่วงเวลาสามร้อยปี ไม่ว่าจะเป็นพัฒนาการทางกฎหมายที่สภาได้ตราขึ้นมากมายก็ดี พัฒนาการทางการเมืองก็ดี หรือตลอดจนเหตุร้ายต่างๆก็ดี โดยตำแหน่งนี้มีต้นกำเนิดครั้งแรกในช่วงข้อตกลงการปฏิวัติ (ค.ศ. 1688–1720) ซึ่งทำให้อำนาจสูงสุดถูกย้ายจากกษัตริย์มาที่สภา[3] แม้ว่าในทางพฤตินัย กษัตริย์ยังทรงไว้ซึ่งอิทธิพลซึ่งฝังรากรึกอยู่กับกลุ่มอำนาจทางการเมือง แต่ในทางนิตินัยแล้ว นายกรัฐมนตรีคือหัวหน้ารัฐบาลตามกฎหมาย ฉะนั้นการที่กษัตริย์จะยังคงปกครองประเทศทางอ้อมได้ จึงต้องอาศัยการปกครองผ่านนายกรัฐมนตรีซึ่งสามารถชักจูงเสียงข้างมากในสภาได้
    โดยตำแหน่งแล้ว นายกรัฐมนตรียังดำรงตำแหน่งอื่นๆควบคู่กันอีก อาทิ ขุนคลังเอก, รัฐมนตรีกิจการพลเรือน และได้รับสิทธิพิเศษให้พำนักอยู่ในบ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง ตลอดที่ดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีไม่มีวาระการดำรงตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีอาจเสนอชื่อสมาชิกสภาสามัญชนคนใดคนหนึ่งขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนเมื่อใดก็ได้

    ตอบลบ
  2. เดวิด วิลเลียม ดอนัลด์ แคเมอรอน (อังกฤษ: David William Donald Cameron) เกิดเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ค.ศ. 1966 เป็นนักการเมืองชาวอังกฤษ อีกทั้งเดวิดยังดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 53 คนปัจจุบันแห่งสหราชอาณาจักรตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 และเป็นหัวหน้าพรรค พรรคอนุรักษนิยม (สหราชอาณาจักร) (Conservative Party) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2005 และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประจำเขต Witney ใน Oxfordshire ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001[1][2]
    แคเมอรอนจบการศึกษาในระดับปริญญาตรีในสาขาวิชา ปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (Philosophy, Politics and Economics หรือชื่อย่อ PPE) จาก Brasenose College มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด จากนั้นเขาได้เข้าร่วมทีมวิจัยของพรรคอนุรักษนิยมและเป็นที่ปรึกษาพิเศษให้กับนอร์แมน ลามองต์และไมเคิล ฮาเวิร์ด เขาเป็นหัวหน้าฝ่ายกิจการองค์กรในบริษัทสื่อ ที่ชื่อคาร์ลตันคอมมูนิเคชันส์เป็นเวลา 7 ปี เขาลงสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาสามัญชนในสแตฟฟอร์ด ในปี ค.ศ. 1997 แต่ไม่ได้รับเลือก ต่อมาในปี ค.ศ. 2001 ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาสามัญชนเขตวิตนีย์ในออกซฟอร์ดเชอร์[3] ต่อมาในปลายปี ค.ศ. 2005 ได้รับตำแหน่งเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม
    หลังการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2553 โดยพรรคอนุรักษ์นิยมได้คะแนนสูงสุด ทำให้คาแมรอนขึ้นนำเป็นนายกรัฐมนตรี ในฐานะรัฐบาลผสมระหว่างพรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party) และ พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrats)เดวิด แคเมอรอนกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุนับตั้งแต่โรเบริ์ต เจนคินสัน (ลอร์ด ลิเวอร์พูล) ในปี 1812
    แคเมอรอนประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2559 ว่าจะลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีก่อนการประชุมใหญ่สามัญของพรรคอนุรักษนิยมในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน อันเป็นผลสืบเนื่องจากความพ่ายแพ้ของฝ่ายสนับสนุนให้อังกฤษอยู่ใน สหภาพยุโรป ต่อซึ่งมีเขาเป็นแกนนำภายหลังจาก การออกเสียงประชามติ โดยในวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 แคเมอรอนจะเข้าเฝ้า สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ที่ พระราชวังบัคกิงแฮม เพื่อยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งโดยในวันเดียวกันนาง เทเรซา เมย์ หัวหน้า พรรคอนุรักษ์นิยม จะเข้าเฝ้าเพื่อจุมพิตพระหัตถ์รับการแต่งตั้งเป็น นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักร คนที่ 54

    ตอบลบ
  3. เจมส์ กอร์ดอน บราวน์ (อังกฤษ: James Gordon Brown; 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2494) เป็นชาวสกอตแลนด์ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรและควบตำแหน่งลอร์ดแห่งสภาการคลัง, รัฐมนตรีการสวัสดิการสังคม และหัวหน้าพรรคแรงงาน ซึ่งเข้ารับตำแหน่งในฐานะหัวหน้าพรรคแรงงานเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2550 โดยก่อนหน้านั้นเขาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงการคลังในรัฐบาลของนายโทนี แบลร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 - พ.ศ. 2550 และดำรงตำแหน่งสมาชิกรัฐสภาแห่งเขตเคิร์คแคลดีและเขตคาวเดินบีธมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527
    นายบราวน์เกิดที่เขตกิฟฟ์นอค, เรนฟริวเชอร์, สกอตแลนด์ โดยบิดาชื่อนายจอห์น อีเบเนเซอร์ บราวน์ ซึ่งเป็นผู้นำศาสนาคริสต์นิกายเชิร์ชออฟสกอตแลนด์ เป็นผู้มีอิทธิพลอย่างมากต่อนายบราวน์ ในปี พ.ศ. 2541 บิดาของนายบราวน์เสียชีวิตลงด้วยวัย 84 ปี ส่วนมารดาของเขาน์มีชื่อว่าเจสซี อลิซาเบธ ซูเตอร์ เสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. 2547 ด้วยวัย 86 ปี บราวน์ได้รับการเลี้ยงดูร่วมกับพี่น้องคือจอห์น บราวน์ และแอนดรูว์ บราวน์ โดยอาศัยอยู่ในบ้านสำหรับพระสอนศาสนาในเมืองเคิร์กคาลดี ซึ่งบ่อยครั้งทำให้เขาถูกกล่าวถึงในฐานะ "บุตรชายแห่งเคหาสน์พระ" (son of the manse) บราวน์เริ่มต้นรับการศึกษาที่โรงเรียนประถมเคิร์คแคลดีดีตะวันตก ที่ซึ่งเขาได้รับการคัดเลือกเข้าเรียนหลักสูตรเรียนเร่งรัดแบบทดลอง นั่นทำให้เขาสามารถเข้าศึกษาที่โรงเรียนมัธยมเคิร์คแคลดีได้เร็วกว่ากำหนด 2 ปี เมื่อมีอายุได้ 16 ปี เขาเขียนไว้ว่าเขารังเกียจและขุ่นเคืองการทดลองอัน "น่าหัวเราะ" ต่อเยาวชนเช่นนี้
    ช่วงอายุ 16 ปี มหาวิทยาลัยเอดินบะระรับเขาเข้าศึกษาด้านประวัติศาสตร์ แต่เขาต้องทรมานจากอาการจอประสาทตาลอก (Retinal Detachment) หลังจากถูกเตะที่ศีรษะระหว่างแข่งขันรักบี้ปลายเทอมนัดหนึ่งเมื่อครั้งศึกษาที่โรงเรียนเก่า ถึงแม้จะรับการรักษาตั้งแต่การผ่าตัดหลายครั้งไปจนถึงการนอนในห้องมืดเป็นเวลาหลายสัปดาห์ แต่ท้ายที่สุดตาซ้ายของเขาก็บอดในเวลาต่อมา ส่งผลให้ตั้งแต่นั้นมาเขาจึงต้องใส่ลูกตาเทียมแทน เมื่อเข้าศึกษาที่เอดินบะระ ขณะกำลังเล่นเทนนิสเขาสังเกตถึงอาการลักษณะเดียวกันกับตาข้างขวา เขาจึงเข้ารับการศัลยกรรมที่โรงพยายาลหลวงแห่งเอดินบะระ (Edinburgh Royal Infirmary) ซึ่งทำให้สามารถรักษาตาข้างขวาไว้ได้ทัน
    บราวน์สำเร็จการศึกษาปริญญามหาบัณฑิตศิลปศาสตร์เกียรตินิยมอันดับหนึ่งจากมหาวิทยาลัยเอดินบะระเมื่อปี พ.ศ. 2506 และอยู่ศึกษาต่อจนได้รับปริญญาเอกในปี พ.ศ. 2515 จากวิทยานิพนธ์หัวข้อ พรรคแรงงานและการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในสก็อตแลนด์ปี พ.ศ. 2461-2472 (The Labour Party and Political Change in Scotland 1918-1929) เดิมทีบราวน์ตั้งใจให้วิทยานิพนธ์ครอบคลุมตั้งแต่พัฒนาการของคณะแรงงานตั้งแต่ครสต์ศตวรรษที่ 17 เป็นต้นไป แต่ต่อมาได้ลดลงเหลือเพียงการอธิบายถึง "การดิ้นรนของพรรคแรงงานเพื่อตั้งมั่นตนเองเป็นตัวเลือกแทนพรรคอนุรักษนิยมในตอนต้นของคริสต์ศตวรรษที่ 20"
    ในปี พ.ศ. 2515 ถึงแม้จะยังเป็นเพียงนักศึกษา บราวน์ก็ได้รับการเลือกให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระเป็นผู้เข้าร่วมประชุมกับคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยและดำรงตำแหน่งนี้จนถึงปี พ.ศ. 2518 ในช่วงนั้นเขายังเป็นบรรณาธิการหนังสือ เดอะเรดเพเพอร์ออนสกอตแลนด์ (The Red Paper on Scotland) เขาทำหน้าที่เป็นผู้บรรยายวิชาชั่วคราวที่เอดินบะระ แต่ถูกปฏิเสธที่จะให้ทำหน้าที่เป็นการถาวรเนื่องจากความเป็นนักกิจกรรมทางการเมือง เขาได้รับการว่าจ้างให้เป็นผู้บรรยายวิชาสาขารัฐศาสตร์ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งกลาสโกลว์ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2519 ถึง พ.ศ. 2523 หลังจากนั้นเขาก็เข้าทำงานเป็นนักข่าวประจำสถานีโทรทัศน์แห่งสกอตแลนด์ และได้เป็นบรรณาธิการข่าวสังคมและการเมืองจวบจนได้รับการเลือกตั้งเข้ารัฐสภาในปี พ.ศ. 2526
    ในการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2522 นายบราวน์เป็นตัวแทนลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขตเอดินบะระใต้ แต่พ่ายแพ้ผู้ลงสมัครจากพรรคอนุรักษนิยม นายไมเคิล แอนแครม

    ตอบลบ
  4. แอนโธนี ชาลส์ ลินตัน "โทนี" แบลร์ (อังกฤษ: Anthony Charles Lynton "Tony" Blair) เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2496 (ค.ศ. 1953) เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักร และเป็นอดีตหัวหน้าพรรคแรงงาน
    แบลร์สืบทอดตำแหน่งหัวหน้าพรรคแรงงานหลังจากการเสียชีวิตของหัวหน้าพรรคคนก่อนคือ นายจอห์น สมิท (John Smith) ใน พ.ศ. 2537 (ค.ศ. 1994) และเอาชนะนายจอห์น เมเจอร์ (John Major) ของพรรคอนุรักษนิยม และเป็นหัวหน้าพรรคแรงงานคนเดียวที่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ 3 สมัยติดต่อกัน

    โทนี แบลร์เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2496[1] ที่ Queen Mary Maternity Home ในเอดินเบอระ สก็อตแลนด์[2] เป็นบุตรคนที่สองของลีโอและเฮเซล แบลร์ เขามีพี่ชายหนึ่งคนชื่อ วิลเลียม แบลร์ และน้องสาวชื่อ ซาราห์ แบลร์ โทนี แบลร์อาศัยอยู่ในบ้านของครอบครัวในเอดินเบอระในช่วงสิบเก้าเดือนแรก[2] หลังจากนั้นครอบครัวได้ย้ายไปอยู่ที่แอดิเลด ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งพ่อของเขาเป็นอาจารย์นิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแอดิเลด[3]
    หลังจากครอบครัวแบลร์เดินทางกลับมาสหราชอาณาจักร ก็ได้ไปอยู่กับแม่และพ่อเลี้ยงของเฮเซลในสก็อตแลนด์เป็นระยะเวลาหนึ่ง หลังจากแบลร์ใช้ชีวิตวัยเด็กที่เหลือในเดอแรม อังกฤษ ซึ่งเวลานั้นพ่อของเขาเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยเดอแรม หลังจากจบการศึกษาจาก Chorister School แบลร์ก็ได้เข้าเรียนโรงเรียนประจำ Fettes College ในเอดินเบอระ แบลร์เคยเปิดเผยว่า เขาได้นำมิก แจกเกอร์เป็นแบบอย่าง[4] อาจารย์ของแบลร์ไม่ประทับใจในตัวแบลร์นัก จากชีวประวัติที่เขียนโดย John Rentoul ระบุว่า "อาจารย์ทั้งหมดที่ผมได้คุยด้วย กล่าวว่าเขาเป็นตัวแสบ และพวกเขาก็ดีใจเมื่อแบลร์จากไป[5]" แบลร์ถูกจับกุมที่ Fettes หลังจากถูกเข้าใจผิดว่าเป็นขโมยจากการที่เขาปีนบันได้ขึ้นหอพักหลังจากกลับมาช้า[6]
    หลังจาก Fettes แบลร์ใช้เวลาหนึ่งปีในลอนดอน ก่อนที่จะเข้าศึกษาปริญญาตรี (Bachelor of Jurisprudence) ที่วิทยาลัยเซนต์จอห์น มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซึ่งในช่วงนี้แบลร์ได้เล่นกีตาร์และร้องเพลงในวงร็อกชื่อ Ugly Rumours[7] หลังจบการศึกษาจากออกซฟอร์ด แบลร์เป็นสมาชิกของลินคอล์นสอินน์ และได้พบกับเชรี บูท ซึ่งต่อมาเป็นภรรยาของแบลร์ โทนี แบลร์แต่งงานกับเชรีในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2523 และมีลูกด้วยกันสี่คน ลีโอ บุตรคนสุดท้อง เป็นบุตรในสมรสคนแรกในรอบกว่า 150 ปีที่เกิดกับนายกรัฐมนตรีของสหราชอาณาจักรขณะอยู่ในตำแหน่ง

    ตอบลบ
  5. เซอร์ จอห์น เมเจอร์ (อังกฤษ: Sir John Major)(29 มีนาคม พ.ศ. 2486 -) นักการเมืองชาวอังกฤษและนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรจากพรรคอนุรักษนิยม

    หลังจากนางมาร์กาเรต แทตเชอร์ได้ลาออกจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2533 เนื่องจากปัญหาภายในพรรคและการเสื่อมความนิยมจากนโยบายผู้มีสิทธิ์ออกเสียง (Poll Tax) ทำให้นายจอห์น เมเจอร์ชนะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคและก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ในการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2535 แม้ว่าผลสำรวจความคิดเห็นก่อนหน้านี้และหน้าคูหาจะระบุว่าพรรคแรงงานจะมีคะแนนนำ แต่พรรคอนุรักษนิยมได้รับที่นั่ง 336 ที่นั่ง ทำให้สามารถจะจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้เป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกัน การเลือกตั้งครั้งนี้พรรคอนุรักษนิยมยังได้รับคะแนนเสียงสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหราชอาณาจักร หลังจากการเลือกตั้งพรรคแรงงานภายใต้การนำของหัวหน้าพรรคคนใหม่ของโทนี แบลร์ได้ปรับจุดยืนจากพรรคฝ่ายซ้ายเป็นพรรคสายกลางมากขึ้น สนับสนุนระบบตลาดเสรีมากขึ้น ประกอบกับคะแนนนิยมที่เสื่อมลงของพรรคอนุรักษนิยมในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ทำให้พรรคแรงงานได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปในสหราชอาณาจักร พ.ศ. 2540 หลังจากพ่ายแพ้นายจอห์น เมเจอร์ ได้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรค

    ตอบลบ
  6. มาร์กาเรต ฮิลดา แทตเชอร์ (อังกฤษ: Margaret Thatcher) หรือยศขุนนางอังกฤษคือ บารอเนสแทตเชอร์ (ชื่อเดิม มาร์กาเรต ฮิลดา โรเบิตส์; 13 ตุลาคม พ.ศ. 2468 – 8 เมษายน พ.ศ. 2556) นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ถึง พ.ศ. 2533 และเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยมตั้งแต่ พ.ศ. 2518 ถึงปี พ.ศ. 2533 โดยเป็นผู้หญิงคนแรก ที่ดำรงทั้งสองตำแหน่งพร้อมกันในประวัติศาสตร์สหราชอาณาจักร
    บารอนเนสแทตเชอร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรเป็นเวลายาวนานที่สุดนับตั้งแต่สมัยของลอร์ดซอลส์เบอรี และอยู่ในตำแหน่งติดต่อกันยาวนานที่สุดนับตั้งแต่สมัยของลอร์ดลิเวอร์พูล นายกรัฐมนตรีในช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นสตรีคนแรกที่นำพรรคการเมืองเสียงข้างมากของสหราชอาณาจักร และเป็นสตรีคนแรกของเพียงสามคนที่ได้ดำรงหนึ่งในสี่ตำแหน่งสำคัญของประเทศ หลังจากการเกษียณตัวเองจากการเมืองในปีค.ศ. 1992 มาร์กาเรต แทตเชอร์ ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ขุนนางตลอดชีพเป็น 'บารอนเนสแทตเชอร์แห่งเมืองเคสตีเวน ในมณฑลลิงคอล์นไชร์ ซึ่งทำให้เธอได้มีโอกาสนั่งในสภาขุนนางของสหราชอาณาจักร บารอนเนสแทตเชอร์ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556 ด้วยอาการอุดตันของเส้นเลือดสมอง
    นางแทตเชอร์เกิดที่เมืองแกรนแทมในมณฑลลิงคอล์นไชร์ บิดาคือ อัลเฟรด โรเบิตส์ ซึ่งเป็นเจ้าของร้านขายของชำในเมืองและได้มีส่วนร่วมในการเมืองและศาสนาของท้องถิ่น โดยเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดและเป็นฆราวาสนักเทศน์ในนิกายเมโทดิสต์ โรเบิรตส์มาจากครอบครัวพรรคเสรีนิยม แต่ไม่ได้สังกัดพรรคใด ด้วยถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของการเมืองท้องถิ่นในสมัยนั้น เขาเสียตำแหน่งผู้ว่าราชการไปในปี พ.ศ. 2495 หลังจากที่พรรคเสรีนิยมชนะเสียงข้างมากเป็นครั้งแรกในสภาเมืองแกรนแทมในปี พ.ศ. 2493 อัลเฟรดได้แต่งงานกับเบียทริซ สตีเฟนสัน และได้มีบุตรีสองคน (คือนางแทตเชอร์กับ มูเรียล ซึ่งเป็นพี่สาว ; เกิด: พ.ศ. 2464; ถึงแก่กรรม: พ.ศ. 2547) แทตเชอร์ได้รับการเลี้ยงดูแบบลัทธิเมโทดิสต์ที่เคร่งครัดศาสนาและยังคงเป็นคริสต์ศาสนิกชนมาตลอดชีวิต แทตเชอร์ได้รับการศึกษาอย่างดี โดยเข้าเรียนในโรงเรียนเด็กหญิงเคสตีเวนและแกรนแธม และต่อมาในปี พ.ศ. 2487 ก็ได้เข้าเรียนในวิทยาลัยซอเมอร์วิลล์ เมืองออกซฟอร์ด เพื่อเรียนวิชาเคมี โดยเลือกลงเรียนเอกวิชาผลิกศาสตร์ แทตเชอร์ได้รับตำแหน่งประธานสมาคมอนุรักษนิยมแห่งมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดในปี พ.ศ. 2489 โดยเป็นสตรีคนที่สามที่อยู่ในตำแหน่งนี้ แทตเชอร์จบการศึกษาเกียรตินิยมและเข้าทำงานเป็นนักเคมีวิจัยให้แก่ British Xylonite และ บริษัท J. Lyons and Co. โดยได้ช่วยเหลือในการพัฒนาวิธีการในการเก็บรักษาไอศกรีม แทตเชอร์เป็นสมาชิกในทีมที่พัฒนาไอศกรีมแบบอ่อนนุ่มเป็นรายแรก แทตเชอร์ยังเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ทำงานด้านวิทยาศาสตร์อีกด้วย

    ตอบลบ
  7. นางแทตเชอร์เข้าสู่การเมืองได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งฟินช์เลย์เป็นครั้งแรก พ.ศ. 2502 ร่วมเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลเงา พ.ศ. 2510 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการและวิทยาศาสตร์ในปี พ.ศ. 2513-2517 เป็นอัครมหาเสนาบดีเงาร่วม (joint shadow Chancellor) พ.ศ. 2517-18 และใน พ.ศ. 2520 ได้รับตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมแทนนายเอดเวิร์ด ฮีท แทตเชอร์เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองสตรีคนแรกในประวัติศาสตร์การเมืองของอังกฤษ ต่อมาได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรหลังจากชนะการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2522[1]
    ด้วยการนำโดยแทตเชอร์ พรรคอนุรักษนิยมได้กลายเป็นพรรคขวาจัดมากขึ้น ทำให้การเมืองและสังคมของประเทศอังกฤษแบ่งขั้วมากที่สุดนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลแทตเชอร์ได้ใช้นโยบายปฏิรูปที่ค่อนข้างรุนแรง สนับสนุนกิจการเอกชน แปรรูปรัฐวิสาหกิจทั้งอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภคที่รัฐบาลก่อน ๆ ยึดเป็นของรัฐคืนเอกชนด้วยการกระจายหุ้น ลดบทบาทสหภาพแรงงาน ลดภาษีเงินได้ และพยายามจัดตั้งบรรษัทขึ้นดูแลการศึกษาและสาธารณสุขที่เป็นหน้าที่ของรัฐ
    นางแทตเชอร์ได้รับเลือกกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลวาระที่ 2 ในปี พ.ศ. 2526 โดยได้เสียงข้างมากทั้ง ๆ ที่อัตราการว่างงานของอังกฤษต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี สงครามฟอล์กแลนด์และความระส่ำระสายของพรรคฝ่ายค้านทำให้ความนิยมแทตเชอร์เพิ่มมากขึ้นและได้รับเลือกกลับเข้ามาเป็นรัฐบาลวาระที่ 3 ในปี พ.ศ. 2530 และเมื่อถึงปี พ.ศ. 2531 แทตเชอร์ได้ทำสถิติกลายเป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่อยู่ในตำแหน่งนานที่สุดในคริสต์ศตวรรษ ที่ 20 แทตเชอร์ได้รับการขนานนามว่า “ลัทธิแทตเชอร์” (Thatcherism) และด้วยเหตุผลที่แทตเชอร์เป็นผู้ดึงดันยึดมั่นในนโยบายอย่างมั่นคงไม่ว่าจะถูกคัดค้านจากนักวิจารณ์ว่าอย่างไร รวมทั้งจากการกังขาไม่แน่ใจของผู้สนับสนุนรัฐบาลเองด้วย

    นางแทตเชอร์ได้ลาออกจากตำแหน่งในเดือนพฤศจิกายน 2533 สืบเนื่องจากการต่อสู้ภายในพรรคและการถกเถียงโต้แย้งกับฝ่ายค้านในประเด็นที่แทตเชอร์ไม่ยอมเสียเอกราชในการเข้าเป็นสมาชิกเศรษฐกิจประชาคมยุโรป รวมทั้งการเสื่อมความนิยมจากการไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับนโยบายผู้มีสิทธิ์ออกเสียง (Poll Tax)
    หลังจากได้รับบรรดาศักดิ์ชั้นบารอน แทตเชอร์ได้ตระเวนปาฐกถาไปทั่วโลกในนามของมูลนิธิแทตเชอร์ และได้ตีพิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติชื่อ "มาร์กาเรต แทตเชอร์: ชีวิตในดาวนิงสตรีต" (Margaret Thatcher: the Downing Street Years) เมื่อปี พ.ศ. 2536
    นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ ถึงแก่อสัญกรรมอย่างสงบเมื่อเช้าวันที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556 ด้วยอาการอุดตันของเส้นโลหิตที่ไปเลี้ยงสมอง ทำให้เส้นเลือดตีบ รวมอายุได้ 87 ปี

    ตอบลบ