ทดสอบไอคิวลูก แบบง่ายๆ ด้วยวิธีการวัด จากการให้ลูกน้อยลองวาดภาพ ด้วยแบบทดสอบ Gesell drawing test ซึ่งคุณพ่อคุณแม่สามารถใช้วัดลูกน้อยได้ตั้งแต่ ตั้งแต่อายุ 2-12 ขวบเลยทีเดียว
ไอคิว (IQ) หรือ Intelligence Quotient คือ ความสามารถทางเชาวน์ปัญญา ซึ่งรวมไปถึงการคิด การเชื่อมโยง การใช้เหตุผล การคำนวณ สามารถวัดออกมาเป็นค่าสัดส่วนตัวเลขที่แน่นอนด้วยแบบทดสอบทางสติปัญญา ระดับของไอคิวปกติอยู่ใน ช่วง 90-110 คนที่มีระดับไอคิวสูงจะเป็นคนเก่งมีสมองรับรู้ว่องไว เรียนหนังสือเก่ง พ่อแม่ทุกคนจึงปรารถนาให้ลูกมีไอคิวสูง แม้ศักยภาพทางสมองนั้นเป็นสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิด เปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ไม่ง่ายนัก แต่พ่อแม่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการจัดสภาพแวดล้อมเพื่อพัฒนาสมองให้ลูกได้
ทดสอบไอคิวลูก แบบง่ายๆ ตั้งแต่อายุ 2-12 ขวบ
ทดสอบไอคิวลูก เขาวัดไอคิวกันอย่างไร?
ไอคิวถูกคิดค้นโดย Louis William Stern นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน และต่อมา Lewis Terman นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ได้พัฒนาแบบทดสอบไอคิว (IQ Test) ขึ้นเพื่อวัดระดับสติปัญญาเป็นครั้งแรก โดยแบ่งระดับจาก A ถึง E แต่ปัจจุบันเรานิยมใช้ระบบแปลผลออกมาเป็นตัวเลข ซึ่งมีแบบทดสอบไอคิวหลายแบบ ซึ่งการวัดไอคิวต้องทำโดยนักจิตวิทยาคลินิกซึ่งได้รับการฝึกฝนการใช้แบบทดสอบจนชำนาญ ไม่ใช่การทดสอบที่ใครก็สามารถวัดได้ ดังนั้น แบบทดสอบไอคิวที่มีจำหน่ายตามท้องตลาด หรือแบบทดสอบทางเว็บไซต์จึงเป็นเพียงแบบทดสอบที่ทำเล่นสนุก ๆเ ท่านั้น
ทั้งนี้ การคำนวณตัวเลขไอคิวจะใช้สูตร IQ = [อายุสมอง (Mental Age) ÷ อายุจริง (Chronologic Age)] × 100 ซึ่งเป็นการเทียบระดับการเรียนรู้หรือพัฒนาการของสมองว่าอยู่ระดับไหนเมื่อเทียบกับอายุจริง หากวัดไอคิวได้ 100 หมายความว่า อายุสมองเท่ากับอายุจริง เช่น ถ้าอายุ 6 ปี แสดงว่าอายุสมองคือ 6 ปีเช่นกัน แต่ถ้าวัดไอคิวได้ต่ำกว่า 100 แสดงว่าอายุสมองต่ำกว่าอายุจริง หรือถ้าวัดไอคิวได้มากกว่า 100 แสดงว่า อายุสมองมากกว่าอายุจริง และนำคะแนน มาเทียบกับตารางสถิติของประชากรในโลกซึ่งมีระดับไอคิวในแต่ละช่วงเป็นร้อยละ ดังนี้
จากแผนภูมิจะพบว่า คนส่วนใหญ่ มีระดับไอคิวอยู่ในช่วง 100 มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่มีไอคิวอยู่ในระดับต่ำมาก หรือสูงมาก
ลักษณะของเด็กปัญญาเลิศ
- พัฒนาการทางร่างกายและจิตใจสูงกว่าเด็กในวัยเดียวกัน
- เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย
- อยากรู้อยากเห็นอย่างจริงจัง ชอบซักถาม
- มีเหตุผลในการแก้ปัญหา การใช้สามัญสำนึก
- จดจำได้รวดเร็วและแม่นยำ
- มีความรู้ ใช้คำศัพท์เกินวัย
- มีความคิดริเริ่ม มีวิธีการคิดและแนวคิดแปลกๆ
- เป็นคนตื่นตัว เฉียบแหลม ว่องไว และช่างสังเกต
- มีแรงจูงใจ และมีความมานะบากบั่นมีความจริงใจในการทำงาน
- ชอบแสวงหาสิ่งท้าทายความคิดความอ่าน
ไอคิวสูงหรือต่ำเกิดจากอะไร?
ความฉลาดหรือ ความสามารถทางเชาวน์ปัญญา เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดจากพันธุกรรม ไอคิวของลูกจึงได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อแม่ ปู่ย่า ตายายมาตั้งแต่เกิด ดังนั้น พ่อแม่ที่มีไอคิวสูง ลูกมักมีไอคิวสูงด้วย ส่วนพ่อแม่ที่มีไอคิวไม่สูง ลูกก็จะมีไอคิวไม่สูงเช่นกัน เราจึงไม่พบเด็กอัจฉริยะที่พ่อแม่มีไอคิวไม่สูง หากพบแต่กรณีที่พ่อแม่มีไอคิวสูง แต่ลูกมีไอคิวไม่สูงได้จากบางสาเหตุ เช่น การไม่ได้รับการกระตุ้นที่เหมาะสม ดังนั้น สิ่งสำคัญกว่าตัวเลขระดับไอคิวคือ การจัดสภาพแวดล้อมที่กระตุ้นการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของสมองของลูก เพราะหากกระตุ้นน้อย แม้เกิดมามีต้นทุนสมองดี แต่สมองก็ไม่พัฒนาเต็มศักยภาพเมื่อโตขึ้น
แบบทดสอบไอคิวลูก Gesell drawing test
โดย Gesell drawing test เป็นการวัดความสามารถทางกล้ามเนื้อมือ และการทำงานประสานกันของตากับมือตามระดับอายุที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นทักษะที่บ่งชี้ถึงระดับสติปัญญาหรืออายุสมองได้แบบคร่าวๆ
วิธีการตรวจสอบ
ให้ลูกดูแบบแล้ววาด (ควรขยายขนาดเพิ่มให้จากรูปที่แนบมา) โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ได้วาดให้ดู ลูกสามารถวาดซ้ำได้ในแต่ละรูปให้ผ่านถ้ารูปที่วาด สมบูรณ์ใกล้เคียงกับรูปต้นแบบ ซึ่งหากลูกของเราอายุจริง 8 ปี แต่สามารถวาดรูปได้ถึงรูปที่ 7 โดยที่รูปที่ 8 เป็นต้นไปวาดไม่ได้หรือไม่สมบูรณ์ แสดงว่าอายุสมองของลูกอยู่ที่ระดับ 7 ปี เป็นต้น
การวัด IQ
- รูปที่ 1 เป็นความสามารถของเด็ก 2 ปี
- รูปที่ 2 เป็นความสามารถของเด็ก 3 ปี
- รูปที่ 3 เป็นความสามารถของเด็ก 3 ปีครึ่ง
- รูปที่ 4 เป็นความสามารถของเด็ก 4 ปี
- รูปที่ 5 เป็นความสามารถของเด็ก 5 ปี
- รูปที่ 6 เป็นความสามารถของเด็ก 6 ปี
- รูปที่ 7 เป็นความสามารถของเด็ก 7 ปี
- รูปที่ 8 เป็นความสามารถของเด็ก 8 ปี
- รูปที่ 9 เป็นความสามารถของเด็ก 9 ปี
- รูปที่ 10 เป็นความสามารถของเด็ก 11 ปี
- รูปที่ 11 เป็นความสามารถของเด็ก 12 ปี
***หมายเหตุ : การทดสอบนี้เป็นวิธีคัดกรองแบบหยาบๆ เท่านั้น ไม่ได้บอกระดับ IQ ที่แท้จริง เพราะวัดเฉพาะความสามารถของกล้ามเนื้อมือ ดังนั้น ถ้าลูกทำไม่ได้ก็ไม่ต้องตกใจ แต่ลองฝึกฝนลูกเรื่องกล้ามเนื้อมือให้มากขึ้น หรือถ้าลูกมีปัญหาการเรียนหรือพัฒนาการร่วมด้วย ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ (หมอไปป์ แฮปปี้คิดส์ จากเพจ ชมรมจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นแห่งประเทศไทย)
ผลการวัดไอคิวบ่งบอกความฉลาดของลูกได้แน่นอนหรือไม่?
ผลการวัดไอคิวบ่งชี้เฉพาะระดับสติปัญญาในบางด้านของเด็กที่สามารถวัดออกมาเป็นตัวเลขได้เท่านั้น ยังมีความฉลาดในด้านอื่นๆอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความฉลาดทางอารมณ์ ( EQ) นอกจากนี้ ในการทดสอบ ยังต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นที่มีผลต่อคะแนนไอคิวด้วย เช่น แบบทดสอบที่ใช้เป็นแบบทดสอบมาตรฐานหรือไม่ ใครเป็นผู้ทดสอบ ช่วงเวลาที่ทดสอบ เด็กมีความพร้อมเพียงใด ให้ความร่วมมือหรือไม่ นอกจากนี้ ยังอาจเกิดความคลาดเคลื่อนอันเนื่องมาจากระดับอายุของเด็กในขณะทดสอบ มีงานวิจัยพบว่าไอคิวที่วัดเมื่อเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี กับไอคิววัดเมื่ออายุ 17-18 ปี นั้นมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์กันต่ำมาก โดยจะค่อยๆสูงขึ้นเมื่ออายุ 5-7 ปี และมีพัฒนาการของเชาวน์ปัญญาถึงขั้นสูงสุดคือ ระหว่างอายุ 15-25 ปี จากนั้นจะเริ่มเสื่อมลงตามวัย ดังนั้น การวัดไอคิวเมื่อเด็กเข้าสู่ระดับประถมและมัธยม คะแนนไอคิวจึงจะเชื่อถือได้มากขึ้น
ชวนพ่อแม่สังเกตพัฒนาการลูกจาก “ภาพวาด”
ภาพวาดสวยๆ จากการวาดของเด็กเกิดจากช่วงเวลาที่เด็กหยิบจับอุปกรณ์วาดเขียนขึ้นมาสักชิ้น แล้วลงมือวาดภาพสร้างงานศิลปะด้วยตัวเอง หมายความว่าเด็กต้องใช้ทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย (กล้ามเนื้อมัดเล็ก) การทำงานประสานกันของสายตากับมือ และใช้พัฒนาการด้านสติปัญญา เพื่อถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นงานศิลปะ ภาพวาดของเด็กจึงไม่ใช่แค่ภาพวาด แต่เป็นกิจกรรมหนึ่งที่เด็กได้เสริมสร้างพัฒนาการด้านต่างๆ ได้ผ่อนคลายจิตใจ และยังเป็นกิจกรรมที่บ่งบอกถึงลำดับพัฒนาการตามวัยของเขาได้อีกด้วย
1 ขวบครึ่ง – 3 ขวบ : ขีดเขี่ย
เมื่อลูกน้อยเริ่มอยากจับช้อน หรืออยากหยิบอาหารเข้าปากเอง หมายความว่าเขาเริ่มใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กบ้างแล้ว หลังจากนั้นอีกสักระยะประมาณ 8 เดือนหรืออายุประมาณ 1 ขวบครึ่ง เด็กบางคนเริ่มจะจับดินสอ แล้วลงมือขีดเขี่ยเอง ในช่วงอายุนี้เราใช้คำว่า “ขีดเขี่ย” แทนคำว่า “ขีดเขียน” เพราะว่าภาพของเขาเป็นลักษณะเส้นยุ่งๆ ตามอารมณ์สนุกสนานของเขาเท่านั้น ไม่ได้วาดเพื่อถ่ายทอดเรื่องราว เพราะลูกน้อยวัยนี้ยังไม่สามารถถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นภาพได้ เพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้อิสระเขาในการขีดเขี่ย เพื่อให้เขาได้สนุกและพัฒนากล้ามเนื้อมืออย่างเต็มที่
4 – 6 ปี : เป็นรูปเป็นร่าง
ภาพวาดของลูกน้อยวัยนี้จะเริ่มมีรูปร่างมากขึ้น และเริ่มมีความสัมพันธ์กับความจริง เช่น วาดวงกลมแทนหัวคน ขีดเส้นแทนแขนขา แต่เด็กวัยนี้จะยังใช้สีที่ไม่สัมพันธ์กับความเป็นจริง เช่น เขาอาจระบายสุนัขเป็นสีชมพู ระบายท้องฟ้าเป็นสีม่วง ฯลฯ
7 – 9 ปี : ผสมผสานรูปทรง
จอมซนวัยนี้เป็นวัยที่วาดรูปทรงได้แล้ว และสามารถนำรูปทรงมาผสมผสานในภาพวาดได้ ภาพวาดจึงเริ่มมีรายละเอียดมากขึ้น เช่น บ้านรูปสี่เหลี่ยม หลังคารูปสามเหลี่ยม และเริ่มระบายสีให้ตรงกับความเป็นจริง เช่น กิ่งไม้สีน้ำตาล และใบไม้สีเขียว ลักษณะพิเศษในช่วงวัยนี้ คือ ภาพที่สามารถมองได้ทะลุเหมือนภาพเอ็กซ์เรย์ เช่น เขาวาดบ้านสี่เหลี่ยมเป็นกำแพง แต่ในสี่เหลี่ยมนั้นจะมีรายละเอียดของสิ่งที่อยู่ในตัวบ้าน ราวกับสามารถมองทะลุเข้าไปได้ด้วย
9 – 11 ปี : สมจริงสมจัง
ภาพของลูกวัยโตจะเหมือนธรรมชาติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้สี หรือการถ่ายทอดความคิดต่างๆ ออกมาเป็นรายละเอียดตามจริง ภาพวาดคนก็จะแยกชัดเจนระหว่างเพศชายและเพศหญิง เช่น ผู้ชายตัวสูงใหญ่สวมกางเกง ผู้หญิงตัวเล็ก แต่งหน้า และสวมกระโปรง เนื่องจากเด็กวัยนี้มีความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น คุณพ่อคุณแม่จึงสอนเรื่องสัดส่วนและองค์ประกอบของภาพให้เขาได้บ้างแล้ว
12 ปีขึ้นไป : มีเหตุมีผล
เป็นช่วงวัยที่การวาดภาพเริ่มมีเหตุและผลเข้ามาเกี่ยวข้อง กล่าวคือ มีความซับซ้อน มีแสงเงา และมีมิติมากขึ้น หากสังเกตภาพบ้านของเด็กวัยนี้ ก็จะเห็นว่าบ้านไม่ใช่ภาพ 2 มิติแบนๆ อีกแล้ว แต่จะมีความลึกของบ้านเพิ่มเข้ามา หรือภาพวิวก็จะมีองค์ประกอบของภาพ มีการซ้อนทับของภาพ เช่น คนที่อยู่ใกล้จะตัวใหญ่ ข้างหลังคนมีถนน ไกลออกไปหากมีบ้านหรือต้นไม้ก็จะมีขนาดเล็ก เพราะตั้งอยู่ไกลออกไป
ส่งเสริมถูกวิธี เป็นศิลปินสุดล้ำได้ทุกคน
- เริ่มด้วยแรงบันดาลใจ : สร้างแรงบันดาลใจให้ลูกน้อย โดยเริ่มจากชวนลูกขีดเขียน วาดรูปให้ดู แล้วเล่าเรื่องประกอบไปด้วยเรื่อยๆ นอกจากจะทำให้ลูกอยากวาดตามแล้ว เขายังจะได้เรียนรู้วิธีการถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นภาพวาดอีกด้วย
- งดคำตำหนิและล้อเลียน : เวลาที่ลูกวาดไม่เหมือนหรือวาดสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง ต้องไม่ตำหนิและไม่ล้อเลียนเขา เพราะจะทำให้ลูกเสียความมั่นใจ และหมดกำลังใจวาดรูปต่อไป
- กระตุ้นด้วยคำถามและคำชม : การตั้งคำถาม เช่น “หนูกำลังวาดอะไร วาดน้องหรือจ๊ะ น้องใส่เสื้อผ้าแบบไหน กำลังทำอะไรอยู่” ถามทีละคำถาม แล้วฟังคำตอบของเขาอย่างตั้งใจ จากนั้นจึงชื่นชมหรือให้คำแนะนำ เพื่อเป็นกำลังใจให้เขาสามารถวาดภาพอย่างสร้างสรรค์ได้ต่อไป
- ตั้งหัวข้อสำหรับสุดยอดงานศิลปะ : การกำหนดโจทย์ เช่น “ถ้าฝนตกทั้งวันจะเกิดอะไรขึ้น” หรือการกำหนดหัวข้อภาพ เช่น “รถในฝัน” เพื่อให้เขารู้จักคิดนอกกรอบ และฝึกฝนการถ่ายทอดความคิดออกมาเป็นภาพวาด
- อุปกรณ์ใครคิดว่าไม่สำคัญ : ของดีไม่ใช่ของแพงเสมอไป แต่คุณพ่อคุณแม่ควรเลือกอุปกรณ์ศิลปะให้เหมาะสมตามวัยของเด็ก เช่น เลือกใช้สีแท่งขนาดเหมาะมือที่ปราศจากสารเคมีอันตรายให้ลูกเล็ก หรือเลือกใช้กระดาษแผ่นใหญ่ ให้เด็กได้นั่งวาดนอนวาดบนพื้นร่วมกับคุณพ่อคุณแม่ เขาก็จะยิ่งสนุกและมีทัศนคติที่ดีกับงานศิลปะมากขึ้น
สังเกตให้ดี ภาพวาดบอก IQ EQ SQ
ถ้าเราจะดูว่าเด็กคนไหน ไอคิวค่อนข้างดีกับไอคิวต่ำกว่าวัย เราดูได้ง่ายๆ ด้วยภาพวาดของเด็ก ยิ่งรูปวาดมีรายละเอียดมากเท่าใด ยิ่งเป็นการสะท้อนสติปัญญา ว่าลูกมีความเข้าใจเรื่องของสัดส่วน และสามารถสะท้อนภาพให้เหมือนจริงหรือตรงกับภาพในจิตนาการได้หรือไม่ ยิ่งโตขึ้น ความซับซ้อนและมิติของภาพจึงควรจะมีมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ภาพวาดยังบอกได้ด้วยว่า ลูกน้อยมีพัฒนาการด้านสังคมอย่างไร ภาพวาดครอบครัวที่มีความสุข ภาพวาดกลุ่มเพื่อนที่เล่นกันสนุกสนาน หรือกลุ่มคนที่ยิ้มแย้มแจ่มใส ล้วนสะท้อนถึงประสบการณ์ที่เขาได้พบเจอในสังคม รวมทั้งบ่งบอกอารมณ์และทัศนคติของเขาที่มีในขณะนั้น เพราะการวาดรูปเป็นการสื่อสารที่เด็กจะรู้สึกสบายใจ และสามารถระบายความคิดรวมถึงสิ่งที่อยู่ในใจของเขาออกมาได้มากที่สุดแล้วค่ะ
ที่มา :: เว็บไซต์ amarinbabyandkids.com