เวียนมาอีกครั้งกับ "เทศกาลสงกรานต์" หรือ วันขึ้นปีใหม่ไทย ที่คนไทย และคนทั่วโลก ตั้งตารอคอยเพื่อกลับบ้านไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ ขอพรเพื่อเป็นสิริมงคล สังสรรค์ในครอบครัว หรือออกมาเล่นสาดน้ำกันอย่างสนุกสนาน
และเมื่อพูดถึง "วันสงกรานต์" แล้ว คงไม่พูดถึง "นางสงกรานต์" เลยไม่ได้ ซึ่งตำนาน "นางสงกรานต์" ปรากฏอยู่ในเรื่อง "มหาสงกรานต์" ตามจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยในเรื่องกล่าวถึง ธรรมบาลกุมาร ซึ่งเป็นเทวบุตร ลงมาจุติเป็นลูกเศรษฐีผู้หนึ่งในชมพูทวีป รับคำของท้าวกบิลพรหม ที่จะตอบคำถามให้ได้ภายใน 7 วัน โดยมีสัญญาว่า ถ้าธรรมบาลกุมารตอบไม่ได้ ท้าวกบิลพรหมจะตัดศีรษะของธรรมบาลกุมาร แต่ถ้าธรรมบาลกุมารตอบได้ ท้าวกบิลพรหมจะตัดศีรษะของตนเองให้ คำถามคือ ตอนเช้าศรีอยู่ที่ใด ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่ใด และตอนเย็นศรีอยู่ที่ใด
ธรรมบาลกุมาร คิดอยู่ 6 วัน ก็ยังตอบไม่ได้ จึงหนีไปอยู่ใต้ต้นตาลซึ่งมีนกอินทรีสองผัวเมียคุยกันอยู่เรื่องปัญหาของท้าวกบิลพรหม ธรรมบาลกุมารรู้ภาษานกจึงจดจำคำตอบเอาไว้
เมื่อครบ 7 วัน ท้าวกบิลพรหมมาฟังคำตอบ ธรรมบาลกุมารตอบว่า ตอนเช้าศรีอยู่ที่หน้า คนจึงต้องล้างหน้าทุกเช้า ตอนเที่ยงศรีอยู่ที่อก คนจึงเอาเครื่องหอมประพรมอก ตอนเย็นศรีอยู่ที่เท้า คนจึงต้องล้างเท้าก่อนเข้านอน ซึ่งถูกต้องทุกข้อ (ข้อความคำถามและคำตอบ ปรากฏในตำราพรหมชาติ)
ดังนั้น ท้าวกบิลพรหม จึงต้องทำตามสัญญา ตัดศีรษะของตนเองให้ แต่ก่อนตัด ได้เรียกธิดาทั้ง 7 องค์มา ได้แก่ นางทุงษะเทวี, นางโคราคะเทวี, นางรากษสเทวี, นางมัณฑาเทวี, นางกิริณีเทวี, นางกิมิทาเทวี, นางมโหทรเทวี แล้วตรัสว่า จะตัดเศียรบูชาธรรมบาลกุมาร แต่เศียรพระองค์นั้น ถ้าตั้งไว้ยังแผ่นดินไฟจะไหม้ทั่วโลกธาตุ ถ้าทิ้งขึ้นบนอากาศฝนก็จะแล้ง ถ้าทิ้งในมหาสมุทรน้ำก็จะแห้ง จึงให้ธิดาทั้ง 7 นำพานมารองรับ
นางทุงษะ ธิดาองค์โต เป็นคนแรกที่นำพานมารองรับเศียรของท้าวกบิลพรหม ก่อนแห่ประทักษิณ (เวียนขวา) รอบเขาพระสุเมรุราช แล้วเชิญเข้าประดิษฐานในมณฑป ณ ถ้ำคันทชุลี เขาไกรลาส นับจากนั้นมาทุกปี พระธิดาทั้ง 7 องค์ ก็จะผลัดเปลี่ยนกันมาอัญเชิญพระเศียรของท้าวกบิลพรหม แห่ไปรอบเขาพระสุเมรุราช แล้วนำมาประดิษฐานไว้ที่เดิม
ซึ่ง "นางสงกรานต์" แต่ละคน ก็จะเป็นตัวแทนของวันต่างๆ ใน 1 สัปดาห์ ก็จะหมุนเวียนกันมา ตามวันมหาสงกรานต์
"โคราคะเทวี" นางสงกรานต์ 63
ฝ่ายโหรพราหมณ์ กองพระราชพิธี สำนักพระราชวัง มีประกาศ ปีชวด (เทวดาผู้ชาย ธาตุน้ำ) โทศก จุลศักราช 1382 ทางจันทรคติ เป็น อธิกวาร ทางสุริยคติ เป็น อธิกสุรทิน วันที่ 13 เมษายน เป็น วันมหาสงกรานต์ ทางจันทรคติตรงกับวันจันทร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 5 เวลา 20 นาฬิกา 48 นาที
ซึ่ง นางสงกรานต์ ปี 2563 ทรงนามว่า "โคราคะเทวี" ทรงพาหุรัดทัดดอกปีบ อาภรณ์แก้วมุกดาหาร ภักษาหาร น้ำมัน พระหัตถ์ขวาทรงธนูหรือไม้เท้า พระหัตถ์ซ้ายทรงพระขรรค์ เสด็จไสยาสน์ลืมเนตร มาเหนือหลังพยัคฆะ เป็นพาหนะวันที่ 16 เมษายน เวลา 09 นาฬิกา 24 นาที 36 วินาที เปลี่ยนจุลศักราชใหม่ เป็น 1382 ปีนี้ วันพฤหัสบดี เป็น ธงชัย, วันอาทิตย์ เป็น อธิบดี, วันพุธ เป็น อุบาทว์, วันอังคาร เป็น โลกาวินาศ ปีนี้ วันศุกร์ เป็นอธิบดีฝน บันดาลให้ฝนตก 500 ห่า ตกในโลกมนุษย์ 50 ห่า ตกในมหาสมุทร 120 ห่า ตกในป่าหิมพานต์ 180 ห่า ตกในเขาจักรวาล 250 ห่า นาคให้น้ำ 1 ตัว เกณฑ์ธัญญาหาร ได้เศษ 0 ชื่อ ปาปะ ข้าวกล้าในภูมินาจะได้ผล 1 ส่วน เสีย 9 ส่วน มหาชนร้อนใจด้วยอาหารแล เกณฑ์ธาราธิคุณ ตกราศีวาโย (ลม) น้ำน้อย
ที่มา :: ไทยรัฐออนไลน์