เมนูอาหารผู้ป่วยเบาหวาน กินอะไรได้บ้างเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือด
ผู้ป่วยเป็นเบาหวาน หรือคนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงควรกินอาหารแบบไหนเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงดี ลองมาเปิดเมนูอาหารกันเลย
มื้อเช้าเป็นมื้อสำคัญที่เราควรได้รับสารอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตอย่างเหมาะสม โปรตีนอย่างพอเพียง และไฟเบอร์ไม่ควรขาด ดังเช่นอาหารต่อไปนี้
- ข้าวต้มปลา / ข้าวต้มหมู / ข้าวต้มไก่ / ข้าวต้มกุ้ง / ข้าวต้มกระดูกอ่อน
- โจ๊กไก่ใส่ไข่ / โจ๊กหมูใส่ไข่ / โจ๊กปลาใส่ไข่
* ถ้าเปลี่ยนจากข้าวขาว เป็นข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ หรือข้าว กข.43 ซึ่งมีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ เปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาลได้ช้ากว่า จะช่วยให้ระดับน้ำตาลในเลือดไม่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ลดน้ำตาลจากคาร์โบไฮเดรตในแต่ละมื้อไปได้เยอะเลยทีเดียว
รู้จัก ข้าว กข.43 ข้าวดัชนีนํ้าตาลต่ำ คนเป็นเบาหวานกินได้ คนลดน้ำหนักกินดี
เมนูต้ม ๆ ที่คนเป็นเบาหวานรับประทานได้หายห่วง ควรเลือกเมนูต้มที่มีส่วนประกอบของผัก และเนื้อสัตว์หรือเต้าหู้ เพื่อเพิ่มโปรตีน และควรเป็นต้มที่ไม่เน้นรสหวาน เช่น
- ต้มจืดเต้าหู้หมูสับ / ต้มจืดสาหร่ายผักกาดขาวหมูสับ / ต้มจืดหัวไชเท้ากระดูกหมูอ่อน / ต้มจืดตำลึงหมูสับ / ต้มจืดตำลึงหมูสับ / ต้มจืดวุ้นเส้นหมูสับ / ต้มจืดแตงกวายัดไส้หมูสับ
- ต้มมะระกระดูกหมู / ต้มจับฉ่าย / ต้มซุปมันฝรั่งปีกไก่
- ต้มยำไก่น้ำใส / ต้มยำกุ้งน้ำใส / ต้มยำทะเลน้ำใส
- ต้มข่าไก่ใส่ฟัก
- แกงส้มผักรวมกุ้ง / แกงส้มผักรวมปลาทูสด / แกงส้มแป๊ะซะปลาช่อน
- ต้มแซ่บกระดูกหมู
- แกงเห็ด
- ต้มส้มปลาทู / ต้มยำปลาทู
- แกงใบย่านางสารพัดเห็ด
- แกงเลียงกุ้งสด
- แกงป่าไก่ / แกงป่าหมู / แกงป่าปลา
- แกงตำลึงใส่กระดูกหมู
อาหารประเภทผัดก็สามารถรับประทานได้เช่นกัน โดยควรเลือกใช้น้ำมันพืชจะดีต่อสุขภาพมากกว่าน้ำมันหมู ซึ่งมีหลายเมนูที่เลือกปรุงได้
- ผัดผักรวมหมู / ผัดผักรวมไก่ / ผัดผักรวมกุ้ง
- ผัดบวบกุ้ง / ผัดมะระใส่ไข่ / ผัดตำลึงหมูสับ / ใบเหลียงผัดไข่ / ผัดคะน้าเห็ดฟาง / แตงกวาผัดไข่
- ผัดถั่วฝักยาวหมูชิ้น / ผัดถั่วฝักยาวใส่ไข่
- ไก่ผัดขิง / ไก่ผัดต้นหอม / ไก่คั่วซีอิ๊ว
- ปลาผัดพริกหอมใหญ่ / ปลาผัดขึ้นฉ่าย
- ผัดหน่อไม้ฝรั่งใส่กุ้ง / ผัดผักกาดขาว / ผัดบรอกโคลีเห็ดหอม / ผัดผักบุ้งไฟแดง / กะหล่ำปลีผัดน้ำปลา
- ผัดดอกกะหล่ำหมูชิ้น / ผัดน้ำเต้าหมูสับ / หมูผัดใบโหระพา / มะเขือยาวผัดหมูสับ
- ผัดฟักทองใส่ไข่
- เชียงดาผัดไข่
- ผักเชียงดา สรรพคุณไม่ธรรมดา เป็นสมุนไพรลดน้ำตาลในเลือด
- ปวยเล้งผัดไข่ / ปวยเล้งผัดเห็ดหอม
- ถั่วลันเตาผัดกุ้ง
- กะเพราหมูชิ้น / กะเพราไก่ / กะเพรากุ้ง
- กุ้งสับผัดไข่
- ผัดเผ็ดเนื้อใส่มะเขือ
- ฉู่ฉี่มะระขี้นกสอดไส้กุ้ง
- ผัดวุ้นเส้น
มากันที่เมนูแซ่บ ๆ รสจัด คนเป็นเบาหวานกินเมนูอะไรได้บ้างนะ ลองมาดู
- ยำมะระกุ้งสด / ยำตำลึงกุ้งสด / ยำผักกระเฉด
- ยำเห็ดรวม / ยำเห็ดฟาง / ยำเห็ดหูหนู / ยำเห็ดเข็มทอง
- ยำมะเขืออ่อน / พล่าเนื้อมะเขือสด
- ยำไข่ต้มใส่ถั่วแดง / ยำไข่เค็ม
- ยำปลาสลิด / ยำปลาทู / ยำปลาทูน่า / ยำปลาแซลมอน
- ยำถั่วพู / ยำผักกูด
- ยำหมูยอ
- ยำวุ้นเส้น
น้ำพริกเป็นอาหารประจำชาติที่คนเป็นเบาหวานก็กินได้อยู่หลายเมนู ตัวอย่างเช่น
- น้ำพริกปลาทูมะเขือพวง / น้ำพริกปลาย่าง / น้ำพริกปลาทูน่า
- น้ำพริกหนุ่ม
- น้ำพริกอ่อง
- น้ำพริกมะเขือเปราะ / น้ำพริกมะเขือยาว
- มะเขือเปราะ ผักพื้นบ้าน สรรพคุณต้านเบาหวาน ลดน้ำตาลในเลือด !
- น้ำพริกเผาถั่วใส่ไก่ฉีก
- น้ำพริกตาแดง
- น้ำพริกนรก
เมนูง่าย ๆ ที่คนเป็นเบาหวานเลือกกินนอกบ้านก็ได้ มีตามนี้เลย
- ข้าวผัดหมู / ข้าวผัดไก่ / ข้าวผัดกุ้ง / ข้าวผัดธัญพืช
- ข้าวผัดธัญพืช
- ผัดซีอิ๊วไก่ / ผัดซีอิ๊วหมู / ผัดซีอิ๊วกุ้ง
- ราดหน้าเส้นหมี่หมู / ราดหน้าเส้นหมี่ไก่ / ราดหน้าเส้นหมี่กุ้ง
- เซี่ยงไฮ้ผัดฮ่องเต้
- เมี่ยงหมูตะไคร้ / เมี่ยงปลา
- ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน
- สลัดโรล / สลัดผักรวม / สลัดอะโวคาโด / สลัดทูน่า
- สุกี้เต้าหู้ / สุกี้หมู / สุกี้กุ้ง / สุกี้ไก่ / สุกี้ปลา
อาหารประเภทเส้นที่ทำมาจากแป้ง สามารถรับประทานได้เหมือนกัน แต่ต้องจำกัดปริมาณ โดยอาจเลือกรับประทานได้ ดังนี้
- เกาเหลาหมู / เกาเหลาเนื้อ
- บะหมี่น้ำหมู / เส้นหมี่น้ำหมู
- เกี๊ยวน้ำกุ้ง / เกี๊ยวปลาน้ำใส
- ก๋วยเตี๋ยวเส้นปลา
- วุ้นเส้นเย็นตาโฟ / เส้นใหญ่เย็นตาโฟ / เกาเหลาเย็นตาโฟ
ขนมที่คนเป็นเบาหวานสามารถกินได้ ควรเป็นขนมที่ไม่หวานจัด ไม่มีไขมันสูงเกินไป เช่น
- ไอศกรีม 1 ก้อน ให้งดผลไม้และอาหารทอดในมื้อนั้น
- ตะโก้ 4 กระทง (1x1 นิ้ว) ให้งดผลไม้และอาหารทอดในมื้อนั้น
- เค้กไม่มีหน้า 1 อันกลม ให้งดข้าว 1 ทัพพี ในมื้อนั้น
- ซ่าหริ่ม 1 ถ้วย ให้งดข้าว 1 ทัพพี งดผลไม้และอาหารทอดในมื้อนั้น
- ขนมปังโฮลวีต 1 แผ่น
- แครกเกอร์รสธรรมดา 2 แผ่น
- มันเทศต้มขิง
- บัวลอยน้ำขิง (ไม่หวาน)
- เต้าทึงหวานน้อย
- ถั่วเขียวต้มหญ้าหวาน
- คอร์นสลัด
- กราโนลา
- ธัญพืชอบน้ำผึ้ง
- ซาลาเปาถั่วดำ
- โยเกิร์ตน้ำตาลต่ำ
เครื่องดื่มเป็นหมวดอาหารที่แฝงปริมาณน้ำตาลไว้เยอะพอสมควร ดังนั้น ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกกินอย่างเหมาะสม ตามนี้ค่ะ
- น้ำส้มคั้นหวานน้อย จำกัดปริมาณ 1 แก้ว หรือ 120 มิลลิลิตร
- นมถั่วเหลืองสูตรไม่มีน้ำตาล / น้ำตาลต่ำ
- น้ำขิงหวานน้อย
- น้ำขิง ประโยชน์แจ่มจริง ๆ ดื่มทุกวันยิ่งดีเลย
- นมพร่องมันเนย
- อะโวคาโดปั่นน้ำผึ้ง
- น้ำใบเตยไม่ใส่น้ำตาล
- น้ำชามะระขี้นก
- มะระขี้นก สรรพคุณเพียบ สมุนไพรใกล้รั้ว แก้พิษร้อน ต้านเบาหวานก็จัดให้
- น้ำตะไคร้
- น้ำลูกเดือยหวานน้อย
ผลไม้ทุกชนิดมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ แต่ก็มีใยอาหารและวิตามินต่าง ๆ ที่ดีต่อร่างกาย ซึ่งผลไม้ที่ผู้ป่วยเบาหวานสามารถรับประทานได้จะเป็นผลไม้น้ำตาลน้อย เช่น แอปเปิล ฝรั่ง แก้วมังกร สาลี่ ชมพู่ สตรอว์เบอร์รี และควรเลี่ยงผลไม้ที่หวานจัด อย่างทุเรียน ขนุน ละมุด มะม่วงสุก ผลไม้ตากแห้ง ผลไม้แช่อิ่ม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะกินผลไม้ที่รสไม่หวาน แต่ถ้ากินหลายชนิดก็อาจทำให้น้ำตาลในเลือดสูงได้เช่นกัน จึงควรเลือกกินผลไม้ 1 ชนิด/มื้อ หรือวันละ 2-3 ครั้ง หลังอาหาร
จะเห็นว่าผู้ป่วยเบาหวานสามารถรับประทานอาหารได้หลากหลาย ครบทุกหมู่ แต่ต้องเลือกชนิดของอาหาร และจำกัดปริมาณให้เหมาะสมด้วยนะคะ
ที่มา :: กรมอนามัย, กองโภชนาการ กรมอนามัย, โรงพยาบาลวิภาวดี, สมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย, suvarnachad, โรงพยาบาลพญาไท, โรงพยาบาลราชวิถี , kapook.com/
วางแผนมื้ออาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
ตอบลบอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานไม่ได้เป็นอาหารพิเศษแตกต่างจากอาหารที่คนทั่วไปรับประทานกัน เพียงแต่ต้องใส่ใจและเพิ่มความระมัดระวังในการเลือกชนิดอาหาร และควบคุมปริมาณอาหารให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้รับน้ำตาลเข้าสู่ร่างกายมากเกินไป ในแต่ละวันควรรับประทานอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ และแบ่งมื้ออาหารออกเป็นมื้อย่อย 5 มื้อต่อวัน เพื่อไม่ให้แต่ละมื้อรับประทานมากเกินไป เนื่องจากระยะเวลาระหว่างมื้อห่างกันเกินไป
ตัวอย่างรายการอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานใน 1 วัน
3 มื้อหลัก + 2 มื้อว่าง = อาหาร 5 มื้อ
* เลือกรายการอาหารแบบใดแบบหนึ่งในแต่ละมื้อ หรือจัดสรรเมนูที่มีสารอาหารและปริมาณที่ใกล้เคียงแทนได้
อาหารเช้า
ข้าวต้มกุ้งหรือโจ๊กหมูสับ 1 ถ้วย, แคนตาลูป 1 จานเล็ก/ส้มเขียวหวาน 1 ผล
แซนด์วิชผักโขม ไข่ และชีส, แคนตาลูป 1 จานเล็ก, กาแฟดำ/กาแฟใส่นมไขมันต่ำ + น้ำตาล 1 ช้อนชา
ขนมปังโฮลวีท 1 แผ่น, ไข่ดาว/ไข่ต้ม 1 ฟอง, ผักสลัด 1 จาน, กาแฟดำ/กาแฟใส่นมไขมันต่ำ + น้ำตาล 1 ช้อนชา
อาหารว่างมื้อสาย (เลือกแบบใดแบบหนึ่ง หรือจัดสรรเมนูที่มีสารอาหารและปริมาณที่ใกล้เคียงแทนได้)
ผลไม้ไม่หวานจัด เช่น ฝรั่ง, แคนตาลูป, แอปเปิล, ชมพู่ 1 จานเล็ก หรือกล้วยหอม 1 ผล
**อาหารทดแทนชงดื่ม 1 แก้ว หรือนมพร่องมันเนย/นมไขมันต่ำ 1 แก้ว
โยเกิร์ตรสจืดไขมันต่ำ, สตรอว์เบอร์รี 3-4 ลูก
อาหารกลางวัน (เลือกแบบใดแบบหนึ่ง หรือจัดสรรเมนูที่มีสารอาหารและปริมาณที่ใกล้เคียงแทนได้)
ก๋วยเตี๋ยวน้ำหรือแห้ง 1 ชาม, ผลไม้ไม่หวานจัด 1 จานเล็ก (1 ถ้วย)
ส้มตำไทย 1 จาน, ไก่ย่างไม่ติดหนัง 1 ชิ้น, ข้าวเหนียว 1 จานเล็ก (1/2 ถ้วย)
ข้าวผัด 1 จาน, ผักสลัด 1 จาน
อาหารว่างมื้อบ่าย (เลือกแบบใดแบบหนึ่ง หรือจัดสรรเมนูที่มีสารอาหารและปริมาณที่ใกล้เคียงแทนได้)
**อาหารทดแทนชงดื่ม 1 แก้ว, สตรอว์เบอร์รี 4-5 ผล
แครกเกอร์โฮลวีท 3-4 ชิ้น, น้ำผักผลไม้ปั่นไม่แยกกาก 1 แก้ว
ขนมจีบ 3 ลูก หรือซาลาเปา 1 ลูก, เก๊กฮวยร้อน/ชาร้อนแบบไม่หวาน 1 แก้ว
อาหารเย็น (เลือกแบบใดแบบหนึ่ง หรือจัดสรรเมนูที่มีสารอาหารและปริมาณที่ใกล้เคียงแทนได้)
ข้าวกล้อง/ข้าวสวย 1 ทัพพี, แกงส้มผักรวม/ผัดผักรวมกุ้ง/แกงจืดตำลึงเต้าหู้หมูสับ, ปลานึ่งหรือปลาเผา 1 ชิ้น
ข้าวกล้อง/ข้าวสวย 1 ทัพพี, ปลาทูทอด 1 ตัว, น้ำพริก+ผักสดและผักลวก 1 จาน
สเต็กปลาหรือไก่ย่างไม่ติดมัน, สลัดผักน้ำใสหรือผักลวก 1 จาน
รายการอาหารที่นำเสนอเป็นเพียงตัวอย่าง ผู้ป่วยเบาหวานมีอิสระในการเลือกอาหารได้หลากหลายเหมือนคนทั่วไป เพียงแต่จำเป็นต้องเรียนรู้วิธีการเลือกชนิดอาหาร ปริมาณที่เหมาะสม รู้จักแลกเปลี่ยน ปรับใช้ รวมทั้งการเลือกรับประทานอาหารทดแทนเพื่อช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
อาหารคนเป็นเบาหวาน กินอย่างไรให้ดีต่อสุขภาพ ?
ตอบลบคนที่เป็นโรคเบาหวานหรือมีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานอาจต้องเลือกรับประทานอาหารมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะอาหารคนเป็นเบาหวานที่ต้องประกอบไปด้วยสารอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และควรเป็นประโยชน์ต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วย ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นผัก ผลไม้ รวมถึงอาหารที่มีแคลอรี่และไขมันต่ำ ส่วนผู้ที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรคเบาหวาน แต่อยู่ในภาวะเสี่ยง หรือต้องการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน ก็สามารถรับประทานอาหารกลุ่มดังกล่าวได้เช่นกัน
สารอาหารที่จำเป็นต่อคนเป็นเบาหวาน
สารอาหารแต่ละชนิดให้คุณประโยชน์ที่ต่างกันไป ซึ่งคนเป็นเบาหวานอาจต้องการสารอาหารที่ดีต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดันโลหิต และเสริมสร้างสุขภาพร่างกายโดยรวมด้วย ดังนี้
คาร์โบไฮเดรต แม้คาร์โบไฮเดรตแบบเชิงเดี่ยวจากน้ำตาลและแบบเชิงซ้อนจากแป้งล้วนถูกย่อยและดูดซึมไปอยู่ในกระแสเลือดในรูปของกลูโคส ซึ่งส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงและเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานได้ แต่คาร์โบไฮเดรตจากอาหารบางชนิดก็มีประโยชน์ต่อคนเป็นเบาหวาน เช่น อาหารจำพวกผัก ผลไม้ ธัญพืช หรือถั่วชนิดต่าง ๆ เป็นต้น
ไฟเบอร์หรือเส้นใยอาหาร ได้แก่ อาหารจำพวกผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืช รำข้าว หรือแป้งสาลี โดยอาหารที่มีไฟเบอร์สูงจะช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและปรับสมดุลของการย่อยอาหารในร่างกาย
ไขมันดี อยู่ในรูปของไขมันไม่อิ่มตัว มีทั้งแบบเชิงเดี่ยวและเชิงซ้อน พบมากในอะโวคาโด อัลมอนด์ หรือมะกอก ซึ่งสามารถช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ แต่ไม่ควรรับประทานมากเกินไป เพราะอาหารที่มีไขมันสูงก็จะมีแคลอรี่สูงเช่นเดียวกัน
อาหารที่คนเป็นเบาหวานควรเลือก
การรับประทานอาหารสำหรับคนเป็นเบาหวานมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ระดับความดันโลหิต และระดับคอเลสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ตลอดจนป้องกันความเสี่ยงการเกิดภาวะแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานด้วย
โดยอาหารคนเป็นเบาหวานทั้งประเภทที่ 1 และ 2 ควรเลือกรับประทาน ได้แก่
ตอบลบ- ปลาที่มีกรดไขมันจำเป็น การรับประทานปลาที่มีกรดไขมันจำเป็นอย่างกรดไขมันโอเมก้า 3 ทั้ง DHA (Docosacexaenoic Acid) และ EPA (Eicosapentaenic Acid) เป็นประจำจะส่งผลดีต่อผู้ป่วยโรคเบาหวาน ทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้ด้วย เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาดีน ปลาทู ปลากะตัก หรือปลาไส้ตัน เป็นต้น
- ผักใบเขียว เช่น ปวยเล้ง คะน้า ตำลึง มะระขี้นก มะแว้งต้น หรือฟ้าทะลายโจร เป็นต้น ซึ่งเป็นผักที่อุดมไปด้วยเกลือแร่และวิตามินต่าง ๆ โดยเฉพาะวิตามินซีที่มีการศึกษาระบุว่า การรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีจะช่วยลดการอักเสบและลดระดับน้ำตาลหลังมื้ออาหารของคนเป็นเบาหวานและคนที่มีความดันโลหิตสูงได้
- ไข่ เป็นอาหารที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการต่าง ๆ อย่างโปรตีน ธาตุเหล็ก วิตามินบี กรดโฟเลต และกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งการรับประทานไข่จะช่วยเพิ่มการตอบสนองต่ออินซูลิน ลดการอักเสบ และเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลชนิดที่ดีในร่างกาย
- เมล็ดเจีย เป็นธัญพืชที่อุดมไปด้วยไฟเบอร์ กรดไขมันโอเมก้า 3 คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และสารต้านอนุมูลอิสระที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งการศึกษาได้ระบุว่า การรับประทานเมล็ดเจียช่วยลดความดันโลหิตในขณะหัวใจบีบตัว ลดการอักเสบ ลดความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดที่เป็นสาเหตุของภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายและโรคหลอดเลือดสมอง
- ขมิ้น สารสำคัญสีเหลืองของขมิ้นที่ชื่อว่า เคอร์คูมิน (Curcumin) มีฤทธิ์ช่วยลดและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดที่เป็นประโยชน์ต่อคนเป็นเบาหวาน ทั้งยังช่วยลดการอักเสบและลดความเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจด้วย
- กรีกโยเกิร์ต เป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ และมีสารโพรไบโอติก (Probiotics) โดยมีการค้นคว้าที่แสดงถึงประโยชน์ของโพรไบโอติกต่อลำไส้ อาจมีส่วนช่วยให้ระดับกลูโคสในเลือดลดลง มีผลต่อการตอบสนองต่ออินซูลิน และอาจช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้เช่นกัน
- ถั่ว นอกจากจะเคี้ยวเพลินและอร่อยถูกปากแล้ว ถั่วยังมีไฟเบอร์สูงและมีคาร์โบไฮเดรตต่ำ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน ทั้งยังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด และไขมันชนิดที่ไม่ดีได้ด้วย
- บร็อกโคลี่ เป็นผักชนิดหนึ่งที่อุดมไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ อย่างคาร์โบไฮเดรต แมกนีเซียม และวิตามินซี โดยมีการศึกษาที่ระบุว่า การรับประทานบร็อกโคลี่อาจช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และยังช่วยต้านอนุมูลอิสระในระหว่างกระบวนการเมตาบอลิซึมได้เช่นกัน
- สตรอเบอร์รี่ เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ไฟเบอร์ วิตามินซี โฟเลต โพแทสเซียม แมงกานีส และสารสำคัญที่ทำให้สตรอเบอร์รี่มีสีแดงที่ชื่อว่า แอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อคนเป็นโรคเบาหวาน โดยสารเหล่านี้อาจช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ส่งผลดีต่อระดับน้ำตาลในเลือด และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจที่เป็น 1 ในภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน
- น้ำมันมะกอก ประกอบไปด้วยกรดโอเลอิก (Oleic Acid) ที่ช่วยปรับปรุงระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์และไขมันชนิดที่ดี นอกจากนี้ ยังมีสารโพลีฟีนอล (Pholyphenols) ที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดการอักเสบ ลดระดับไขมันชนิดที่ไม่ดี ลดระดับความดันโลหิต และปกป้องหลอดเลือดจากความเสียหายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น
- แอปเปิ้ลไซเดอร์ เป็นน้ำส้มสายชูที่หมักจากแอปเปิ้ลจนเกิดสารชีวภาพที่ชื่อว่ากรดอะซิติก (Acetic Acid) หรือกรดน้ำส้ม ซึ่งมีการศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงประสิทธิภาพของแอปเปิ้ลไซเดอร์ว่าช่วยปรับปรุงการตอบสนองต่ออินซูลิน และยังช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดหลังมื้ออาหารได้ถึง 20 เปอร์เซ็นต์หลังรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรต
อาหารที่คนเป็นเบาหวานควรเลี่ยง
ตอบลบอาหารบางอย่างนอกจากจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนเป็นเบาหวานแล้ว ยังอาจทำให้เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้ ทั้งโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ลิ่มเลือดอุดตัน หรือภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ซึ่งอาหารที่คนเป็นเบาหวานควรเลี่ยง ได้แก่
- ไขมันอิ่มตัว มักพบในอาหารจำพวกเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ติดหนัง เนื้อวัว ไส้กรอก เบคอน ไขมันจากสัตว์ เนย ชีส เป็นต้น รวมถึงในขนมอบ ของทอด น้ำมันปาล์ม หรือน้ำมันมะพร้าวด้วย ซึ่งควรบริโภคอาหารให้ได้รับพลังงานจากไขมันอิ่มตัวไม่เกิน 5-6 เปอร์เซ็นต์ต่อวัน
- ไขมันทรานส์สังเคราะห์ พบมากในขนมอบที่มีมาการีนเป็นส่วนประกอบและอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำด้วยความร้อนสูง เพื่อเก็บรักษา ยืดอายุ และทำให้อาหารดูน่ารับประทานมากขึ้น เช่น โดนัท คุกกี้เนย มันฝรั่งทอดหรือเฟรนช์ฟราย ขนมขาไก่ เวเฟอร์เคลือบช็อกโกแลต ขนมดอกจอก ปลาซิวแก้ว เป็นต้น
- ไขมันคอเลสเตอรอล มักพบในอาหารประเภทผลิตภัณฑ์จากนม รวมถึงเนื้อสัตว์ที่มีไขมันและโปรตีนสูงอย่างเครื่องในสัตว์หรือไข่แดง ซึ่งในแต่ละวันไม่ควรได้รับคอเลสเตอรอลเกิน 200 มิลลิกรัม
- โซเดียม แม้เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมปริมาณของเหลวในร่างกาย ช่วยในการทำงานของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ แต่หากรับประทานอาหารที่มีโซเดียมในปริมาณมากเกินไปหรือเกินกว่า 2,300 มิลลิกรัมต่อวัน อาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง เลือดข้น หัวใจทำงานหนักขึ้น ประสิทธิภาพในการทำงานของไตลดลง เลือดไปเลี้ยงไตไม่เพียงพอ ไตเสื่อม และอาจเกิดภาวะไตวายในที่สุด
ทั้งนี้ คนเป็นเบาหวานควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมกับปัญหาสุขภาพของตนเอง อีกทั้งโรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาด ผู้ป่วยจึงต้องคอยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ความดันโลหิต และระดับคอเลสเตอรอลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติเสมอ ด้วยการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ควบคู่กับการออกกำลังกายเป็นประจำ รวมถึงใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะหากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม อาจส่งผลให้ร่างกายทำงานผิดปกติและเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิตได้
เมนูดี๊ดี ของคนมีโรคประจำตัว
ตอบลบผู้ป่วยโรคเบาหวานควรรับประทานอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสมและครบ 5 หมู่อย่างสมดุล ไม่ควรงดหรือจำกัดอาหารประเภทข้าว/แป้งมากจนเกินไป หรืออดอาหาร เพราะอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
ผู้ป่วยโรคหัวใจ ควรหลีกเลี่ยงอาหารเค็มโดยไม่ควรรับประทานเกลือมากกว่า 1 ช้อนชาต่อวัน และควรเลือกรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลต่ำ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและ trans fat สูง
น้ำหนักในอุดมคติ (Ideal Body Weight: IBW) หรือ น้ำหนักที่ควรจะเป็น โดยในผู้ชายให้นำส่วนสูงลบ100 ส่วนในผู้หญิงให้นำส่วนสูงลบ105 จะได้น้ำหนักในอุดมคติของแต่ละบุคคล
“You Are What You Eat” เชื่อว่าทุกๆ คนคงเคยได้ยินประโยคสุดคลาสสิกคนี้ ที่เอาไว้เตือนใจให้หันกลับมาใส่ใจการเลือกรับประทานอาหารมากขึ้น เพราะอาหารที่เราเลือกรับประทานในแต่ละวันนั้นมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพองค์รวมอย่างคาดไม่ถึง นอกจากจะเป็นขุมพลังงานให้กับร่างกายได้ไปทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน และช่วยเสริมสร้างร่างกายให้แข็งแรงแล้ว อาหารยังเปรียบเสมือนยาที่มีส่วนช่วยดูแลรักษาอวัยวะต่างๆ ของเราให้มีสุขภาพที่ดีได้เหมือนกัน
ยิ่งไปกว่านั้น อาหารจะยิ่งมีส่วนสำคัญมากขึ้น หากบุคคลนั้นมีโรคประจำตัวเรื้อรังที่จะต้องดูแล ดังนั้น โภชนาการที่ดีก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ ฟื้นฟูร่างกาย ชะลอความเสื่อมของอวัยวะภายใน และรักษาป้องกันไม่ให้อาการของโรคแย่ลงได้ แต่ในทางกลับกัน หากตามใจปากมากเกินไป เลือกรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้องตามหลักโภชนาการหรือไม่เหมาะกับโรคประจำตัวที่เราเป็นอยู่ ก็อาจทำให้อาการของโรคที่เป็นนั้นมากขึ้นและบั่นทอนสุขภาพให้แย่ลงได้
อาหารที่เหมาะกับกลุ่มคนที่มีโรคประจำตัว
1. อาหาร ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรระมัดระวังเรื่องชนิดของอาหารที่มีคุณภาพ และควบคุมปริมาณการรับประทานให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้ร่างกายรับน้ำตาลในปริมาณสูงเกินไป โดยเน้นไปที่อาหารที่ไม่หวานและช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ เช่น คาร์โบไฮเดรตที่ดีและมีค่า Glycemic Index (GI) ต่ำ อาหารที่มีใยอาหารสูงเพื่อช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือด ผักสด โปรตีนที่มีคุณภาพ ผลไม้ไม่หวานจัด โดยคำนวณปริมาณน้ำตาลจากผลไม้ให้พอเหมาะ
หากต้องการเติมความหวานบ้าง แนะนำให้ใช้น้ำตาลเทียมในปริมาณที่พอเหมาะเพราะไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง หลีกเลี่ยงอาหารประเภทแป้งขัดขาว อาหารที่มีน้ำตาลเยอะ หรือมีรสชาติหวานจัด ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวานควรรับประทานอาหารในสัดส่วนที่เหมาะสมและครบ 5 หมู่อย่างสมดุล ไม่ควรงดหรือจำกัดอาหารประเภทข้าว/แป้งมากจนเกินไป หรืออดอาหาร เพราะอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้
ประเภทอาหารที่แนะนำ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
ข้าวหรือแป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต ก๋วยเตี๋ยว เส้นหมี่ข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต
ธัญพืช เช่น ลูกเดือย งาขาว งาดำ
ผักสด/ผลไม้ เน้นพวกผักใบเขียว ผลไม้ที่มีรสชาติหวานน้อยในปริมาณที่จำกัด เช่น ฝรั่งครึ่งลูก กล้วยหอมครึ่งลูก กล้วยน้ำว้า 1 ลูก ส้มโอ 2 กลีบ แตงโม 10 ชิ้น เงาะ/มังคุด 4 ลูก (ต่อมื้อ) โดยสามารถแบ่งรับประทานเป็น 2-3 มื้อต่อวัน
พืชผักประเภทหัว เช่น มันฝรั่ง มันเทศ ฟักทอง แครอท รับประทานได้ในปริมาณที่จำกัด
โปรตีนและเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น สันในหมู สันในไก่ อกไก่ เนื้อปลาซึ่งมีกรดไขมันจำเป็น เต้าหู้ ไข่
ประเภทอาหารที่ผู้ป่วยเบาหวานควรหลีกเลี่ยง หรือห้ามรับประทาน
น้ำผลไม้ น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน ขนมไทย ไอศครีม น้ำแข็งไส ข้าวเหนียวมูน นมรสหวาน น้ำผึ้ง
ผลไม้รสหวานจัดบางชนิด เช่น ลำไย ขนุน เงาะ ทุเรียน มะม่วงสุก ควรรับประทานในปริมาณที่จำกัด แต่แนะนำว่าให้เลี่ยงจะดีกว่า
เมนูอาหารที่แนะนำ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน
เมนูอาหารที่มีส่วนผสมของคาร์โบไฮเดรตที่ดี เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื้อสัตว์ที่มีไขมันดี และผักในปริมาณที่เหมาะสม เช่น ข้าวกล้องกับยำปลาแซลมอน แซนวิชขนมปังโฮลวีตอกไก่ ข้าวธัญพืชกับหมูสันในย่างซอสมะขาม เป็นต้น
2. เมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ
ตอบลบสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ ปริมาณเกลือและชนิดของไขมันมีส่วนสำคัญต่อโรคมาก เพราะส่งผลต่อระบบเลือดทั้งระบบ ดังนั้น นอกจากการหลีกเลี่ยงอาหารเค็มโดยไม่ควรรับประทานเกลือมากกว่า 1 ช้อนชาต่อวันแล้ว ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลต่ำ ทานโปรตีนคุณภาพดีอย่างพอเหมาะ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและ trans fat สูง
เนื่องจากจะทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดเพิ่มสูงขึ้น และอาจเป็นสาเหตุทำให้อาการของโรคหัวใจแย่ลงได้ แต่หากต้องการรับประทาน สมาคมโรคหัวใจประเทศสหรัฐอเมริกาแนะนำว่า ควรรับประทานไขมันอิ่มตัวน้อยกว่า 6% ของพลังงานที่ได้รับต่อวัน เพื่อลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงควรปรุงอาหารโดยการต้ม นึ่ง อบ หรือผัดได้ แต่ให้หลีกเลี่ยงการทอดจะดีที่สุด
ประเภทอาหารที่แนะนำ สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ
ข้าวหรือแป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีต
โปรตีนและเนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น สันในหมู สันในไก่ อกไก่ เนื้อปลาทะเลซึ่งมีกรดไขมันจำเป็น เต้าหู้ ไข่
ผักสด/ผลไม้ เน้นพวกผักใบเขียว ผลไม้ที่ไม่หวานจัด
น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันคาโนล่า
ประเภทอาหารที่ผู้ป่วยโรคหัวใจควรหลีกเลี่ยงหรือ ห้ามรับประทาน
อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น เนื้อแดง เครื่องในสัตว์ ไข่แดง หมูสามชั้น ไข่ปลา
อาหารที่มี trans fat เช่น ช็อกโกแลต ขนมอบ คุกกี้ เค้ก ขนมปัง
อาหารรสชาติเค็ม น้ำซุป ซอสปรุงรสต่างๆ ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ ผงชูรส
อาหารแปรรูป (processed meat) เช่น ไส้กรอก เบคอน กุนเชียง แหนม หมูยอ ลูกชิ้น เพราะมีเกลือและไขมันสูง
น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันหมู กะทิ
เมนูอาหารแนะนำ สำหรับผู้ที่เป็นโรคหัวใจ
เมนูอาหารที่มีส่วนผสมของโปรตีนคุณภาพดี มีคอเลสเตอรอลต่ำ หรือเนื้อแดงในปริมาณที่พอเหมาะ และมีรสจืด เช่น ข้าวต้มธัญพืชกุ้ง ข้าวกล้องกับคั่วกลิ้งทูน่าไข่ต้ม สเต็กปลากระพงย่างราดซอสฉู่ฉี่ ไก่ผัดพริกหยวก
3. เมนูอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต
ตอบลบหัวใจสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโรคไต คือ การลดเค็ม จึงต้องมีการจำกัดการรับโซเดียมให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม นอกจากนั้นแล้ว โรคไตยังมีความเฉพาะเจาะจงของการกำหนดสารอาหารในการรับประทานต่อวัน เช่น โปรตีน โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส และแร่ธาตุต่างๆ ตามระยะของโรคที่เป็นมากกว่าโรคทั่วไป
ดังนั้น การควบคุมอาหารอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะเริ่มแรกของโรค และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีไตเสื่อมอยู่ในระยะ 3 เป็นต้นไปแล้วก็ตาม จะช่วยดูแลและชะลอความเสื่อมของไตได้
อาหารที่คนเป็นโรคไตห้ามรับประทานมีอะไรบ้าง หลักการเลือกอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต มีดังนี้
โซเดียม
การลดเค็มคือหลักการสำคัญในการดูแลผู้ป่วยโรคไต แนะนำว่าควรรับประทานเกลือน้อยกว่า หรือเท่ากับ 1 ช้อนชาต่อวัน หรือ โซเดียมน้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ลดการเติมเครื่องปรุง เช่น น้ำปลา ซีอิ๊วขาว ซอสหอยนางรม เกลือ ผงชูรส ลงไปในอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป (processed meat) เช่น ไส้กรอก เบคอน กุนเชียง แหนม หมูยอ เพราะมีเกลือและไขมันสูง หลีกเลี่ยงเบเกอรี่ ขนมอบ เนื่องจากมีการใส่ผงฟูหรือเบกกิ้งโซดาในการทำขนมซึ่งมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ รวมถึงอาหารแช่แข็ง ของหมักดอง ขนมกรุบกรอบ ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ
โปรตีน
ควรเลือกโปรตีนคุณภาพดี เช่น ไข่ขาว เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เช่น เนื้อปลา อกไก่ สันในไก่ สันในหมู ในปริมาณที่เหมาะสมกับระยะของโรค โดยปริมาณโปรตีนในหนึ่งวันที่ผู้ป่วยโรคไตควรได้รับในแต่ระยะของโรคนั้น มีดังนี้
โรคไตระยะ 1-3A - ไม่จำเป็นต้องมีการจำกัดโปรตีน แต่ให้รับประทานได้เป็นปกติ ในสัดส่วน 1.0-1.2 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน
โรคไตระยะที่ 3B-5 และยังไม่ได้ล้างไต - อาจจะต้องมีการเลือกชนิดและควบคุมประมาณการบริโภคโปรตีน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ไตทำงานหนัก รวมถึงช่วยดูแลและชะลอการเสื่อมของไตได้ดี โดยรับประทานสารอาหารประเภทโปรตีนได้ไม่เกินวันละ 0.6-0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน
โรคไตที่มีการล้างไตแล้ว อาจจะรับประทานโปรตีนเป็นปกติได้ หรืออาจรับประทานโปรตีนได้ถึง 1.3-1.4 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน เพื่อชดเชยโปรตีนที่สูญเสียไประหว่างการล้างไตด้วยได้
ฟอสฟอรัส*
ผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมในระยะ 3 ขึ้นไป จะมีการขับฟอสฟอรัสได้น้อยลง ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมในระยะที่ 3 ขึ้นไปหรือมีระดับฟอสฟอรัสในเลือดสูง จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น อาหารจำพวกนม โยเกิร์ต นมถั่วเหลือง ไข่แดง เครื่องในสัตว์ ปลากรอบ เต้าหู้ ข้าวโอ๊ต ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีต และธัญพืชต่างๆ เช่น งาขาว งาดำ เมล็ดฟักทอง รวมถึงถั่วต่างๆ น้ำอัดลมสีเข้ม น้ำแร่ ขนมปัง ไอศครีม
แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีฟอสฟอรัสต่ำได้ เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว วุ้นเส้น เส้นหมี่ เส้นเล็ก เส้นใหญ่ ไข่ขาว เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน น้ำขิง น้ำมะนาวโซดา ในสัดส่วนที่เหมาะสม
โพแทสเซียม*
ผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมในระยะที่ 3 ขึ้นไป จะมีการขับโพแทสเซียมได้น้อยลง ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีไตเสื่อมในระยะที่ 3 ขึ้นไปหรือมีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น อาหารจำพวกผักสีเข้ม เช่น บล็อกคโคลี่ คะน้า หัวปลี กะหล่ำดอก แครอท
ในส่วนของผลไม้ เช่น ส้ม ทุเรียน แตงโม มะละกอ แก้วมังกร ฝรั่ง ขนุน แนะนำให้รับประทานอาหารที่มีโพแทสเซียมต่ำ จำพวกผัก เช่น กะหล่ำปลี ยอดมะระ ผักกาดขาว ผักบุ้ง มะเขือยาว ผลไม้ เช่น เงาะ มังคุด สับปะรด แอปเปิ้ล ในสัดส่วนที่เหมาะสม
ไขมัน
แนะนำให้รับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันคาโนล่า น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก เนื้อปลาทะเล หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันหมู น้ำมันมะพร้าว เนย กะทิ เครื่องในสัตว์ หมูสามชั้น
เมนูอาหารแนะนำ
เมนูอาหารที่มีส่วนผสมของโปรตีนคุณภาพดี และมีรสจืด เช่น ข้าวต้มไก่ ไก่ผัดพริกหยวก ต้มข่าเห็ด ยำวุ้นเส้น สเต็กปลากระพง สลัดเปรี้ยวหวาน ผัดยอดมะระหมูสับ ต้มจืดผักกาดขาววุ้นเส้น เป็นต้น
*อย่างไรก็ตาม เนื่องจากโรคไตนั้นมีความจำเพาะของโรคมาก ดังนั้น หากท่านอยากทราบสารอาหารที่เหมาะสมกับระยะของโรคไตที่ท่านกำลังเป็นอยู่ แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคไตโดยตรงจะดีที่สุด
การเลือกรับประทานอาหารของผู้ที่ไม่มีโรคประจำตัว
ตอบลบสำหรับคนที่ไม่มีโรคประจำตัว สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ โดยแนะนำว่าให้ใช้หลักการ Plate Method นั่นก็คือ การแบ่งอาหารในจานเป็นส่วนๆ
โดยครึ่งนึงเป็นอาหารประเภทผักสด/ผักสุกหลากสี
อีก ¼ ส่วนเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตประเภทข้าว/แป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ขนมปังโฮลวีต
อีก ¼ ส่วนเป็นอาหารประเภทโปรตีนประเภทเนื้อสัตว์คุณภาพดีไม่ติดมัน เช่น เนื้อปลา สันในหมู สันในไก่ อกไก่
ส่วนผลไม้ให้เลือกแบบที่รสไม่หวานจัด เช่น ส้ม ฝรั่ง แอปเปิ้ล แก้วมังกร ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่
แนะนำให้ปรุงอาหารโดยใช้วิธีการต้ม นึ่ง ตุ๋น อบ หรือผัดโดยใช้น้ำมันที่ประกอบไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัว เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก และน้ำมันคาโนล่า หลีกเลี่ยงอาหารที่ผ่านการทอด หากเลี่ยงไม่ได้หรืออยากรับประทานจริงๆ แนะนำให้ใช้น้ำมันรำข้าวในการทอดแทนน้ำมันปาล์มที่อุดมไปด้วยไขมันอิ่มตัว
หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป (processed meat) เช่น ไส้กรอก เบคอน โบโลน่า แหนม หมูยอ หากมีอาการโหยหรืออยากเคี้ยวของจุบจิบระหว่างวัน สามารถรับประทานถั่วเป็นอาหารว่างได้ เช่น ถั่วอัลมอนด์ ถั่วพิสตาชิโอ โดยรับประทานได้วันละประมาณ 1 ฝ่ามือ แบ่งทาน 1-2 ครั้ง ไม่ควรรับประทานมากกว่านี้ เพราะถึงแม้ว่าถั่วจะประกอบไปด้วยไขมันดีแต่ก็ให้พลังงานสูง หากรับประทานในปริมาณมากเกินกว่าที่แนะนำก็อาจทำให้อ้วนได้
ดูแลเรื่องโภชนาการอย่างเดียว เพียงพอหรือไม่
โดยทั่วไปแล้ว การดูแลสุขภาพตัวเองเบื้องต้น นอกจากการใส่ใจในเรื่องของอาหารที่เป็นประโยชน์ ถูกหลักโภชนาการ ครบ 5 หมู่ ยังต้องคำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ด้วยเช่นกัน
พลังงานที่ควรได้รับต่อวัน - โดยค่าพลังงานที่ได้รับต่อวันที่เหมาะสมจะอยู่ที่ 25-30 กิโลแคลอรีต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ทั้งนี้ อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นกับปัจจัยต่างๆ เช่น กิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน อายุ และปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย
น้ำหนักในอุดมคติ (Ideal Body Weight: IBW) หรือ น้ำหนักที่ควรจะเป็น พยายามรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในระดับน้ำหนักในอุดมคติ โดยในผู้ชายให้นำส่วนสูงลบ100 ส่วนในผู้หญิงให้นำส่วนสูงลบ105 จะได้น้ำหนักในอุดมคติของแต่ละบุคคล
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน พยายามไม่เครียด
ดื่มน้ำสะอาด ให้ได้อย่างน้อย 8-10 แก้วต่อวัน (ผู้ป่วยโรคไต ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางโรคไตอีกครั้ง)
ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ นอกจากเรื่องอาหาร การนอนหลับ ก็ควรเน้นในเรื่องของ lifestyle ด้วยเช่นกัน เช่น มีการเคลื่อนไหวร่างกายให้บ่อยขึ้น ออกกำลังกายในระดับที่เหมาะสมหรือออกกำลังกายเบาๆ เช่น เดินเร็ว เดินในน้ำ ปั่นจักรยานอยู่กับที่ (Stationary Bike) โดยแนะนำให้ออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์
หากต้องการดื่มกาแฟ แนะนำให้ดื่มเป็นกาแฟดำไม่ใส่น้ำตาล หรือกาแฟใส่นมจืดไม่เติมน้ำตาล หลีกเลี่ยงกาแฟสำเร็จรูป (3 in 1) และครีมเทียม เพื่อหลีกเลี่ยงการบริโภคน้ำตาลและไขมันที่มากเกินไป
ข้อแนะนำเหล่านี้สามารถทำได้ทั้งในคนที่มีสุขภาพดีไม่มีโรคประจำตัว และจะยิ่งดีมากขึ้นหากทำในคนที่มีโรคประจำตัว เพราะอย่างที่บอกไว้ว่า อาหารสามารถเป็นยาได้ หากรับประทานอาหารที่เหมาะกับตัวเอง ก็จะยิ่งทำให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น หรืออย่างน้อยๆ ก็ไม่ทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม
จะเห็นได้ว่า ผู้ที่มีโรคประจำตัวมักต้องการการดูแลด้านอาหารที่ละเอียดอ่อนและพิเศษกว่าบุคคลทั่วไป เพราะด้วยตัวโรคทำให้อวัยวะภายในบางส่วนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ จึงต้องมีความเข้าใจและใส่ใจในพฤติกรรมการเลือกและจัดเตรียมอาหารมากเป็นพิเศษ การเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสมจะช่วยให้อวัยวะภายในร่างกายทำงานได้ดีขึ้น ป้องกันการกำเริบของโรค และได้รับสารอาหารที่เป็นประโยชน์อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ เมื่อใส่ใจดูแลเรื่องอาหารที่รับประทานแล้ว อย่าลืมออกกำลังกายเบาๆ อย่างพอเหมาะ และพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันและเสริมสร้างสุขภาพองค์รวมให้แข็งแรง