การทำบัตรประจำตัวประชาชน

 
        บัตรประจำตัวประชาชนเป็นเอกสารราชการที่ออกให้สำหรับคนไทยที่มีชื่อในทะเบียนบ้านเท่านั้น เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการแสดงตน ใช้พิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลในการติดต่อราชการ การขอรับบริการหรือสวัสดิการในด้านต่างๆ จากหน่วยงานของรัฐรวมทั้งใช้ประกอบการทำธุรกรรมต่างๆ ทำนิติกรรม ฯลฯ เช่น การสมัครงาน การขอเปิดบัญชีเพื่อทำธุรกรรมกับธนาคาร การโอนอสังหาริมทรัพย์/อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
 


คุณสมบัติของผู้ที่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน

1.     มีสัญชาติไทย
2.     ต้องมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14)
3.     มีอายุตั้งแต่ 7 ปี แต่ไม่เกิน 70 ปี
สำหรับผู้มีอายุเกิน 70 ปี และผู้ได้รับการยกเว้น จะขอมีบัตรประจำตัวประชาชนได้
 


บุคคลที่กฎหมายยกเว้นไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน
1.     สมเด็จพระบรมราชินี
2.     พระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นพระองค์เจ้าขึ้นไป
3.     ภิกษุ สามเณร นักพรต และนักบวช
4.     ผู้มีกายพิการเดินไม่ได้ หรือเป็นใบ้ หรือตาบอดทั้งสองข้าง หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
5.     ผู้อยู่ในที่คุมขังโดยชอบด้วยกฎหมาย
6.     บุคคลซึ่งกำลังศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศ และไม่สามารถยื่นคำขอมีบัตรประจำตัวประชาชนได้
 


1. กรณีขอทำบัตรประจำตัวประชาชนครั้งแรก

     เมื่อมีอายุ 7 ปีบริบูรณ์ และมีชื่อในทะเบียนบ้าน (ท.ร.14) ต้องทำบัตรประจำตัวประชาชนภายใน 60 วัน หากพ้นกำหนดจะเสียค่าปรับ ไม่เกิน 100 บาท
 


     หลักฐาน
1.     สูติบัตร หรือหลักฐานอื่นที่ราชการออกให้ เช่น ใบสุทธิ สำเนาทะเบียนนักเรียน หนังสือเดินทาง เป็นต้น เพื่อแสดงว่าเป็นบุคคลเดียวกับผู้มีชื่อในทะเบียนบ้าน
2.     หากเด็กเคยเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล ต้องนำใบสำคัญมาแสดงด้วย และหากบิดา มารดาของเด็กเคยเปลี่ยนชื่อตัว  ชื่อสุกล ต้องนำใบสำคัญมาแสดงด้วย
3.     หากไม่มีเอกสารตามข้อ 2 ให้นำเจ้าบ้านหรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือมาให้การรับรอง
4.     กรณีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าว ให้นำใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของบิดา มารดามาแสดงด้วย หรือนำใบมรณบัตรของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ถึงแก่กรรมไปแสดง
5.     การขอมีบัตรครั้งแรกเมื่ออายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ต้องนำเอกสารหลักฐานที่กำหนดตามข้อ 1,2,3,4 และให้นำเจ้าบ้านและบุคคลที่น่าเชื่อถืออย่างน้อย 2 คน ไปพบเจ้าหน้าที่เพื่อสอบสวนและให้การรับรอง
* บุคคลน่าเชื่อถือ หมายถึง “บุคคลใดๆ ซึ่งมีภูมิลำเนาที่อยู่แน่นอน มีอาชีพมั่นคงและมีความรู้จักคุ้นเคยกับผู้ขอมีบัตรเป็นอย่างดี อาจเกี่ยวข้องเป็นญาติกันหรือไม่ก็ได้”
       ไม่เสียค่าธรรมเนียม
 



2. กรณีบัตรเดิมหมดอายุ

    เมื่อบัตรเดิมหมดอายุให้ทำบัตรใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่บัตรเดิมหมดอายุ หากพ้นกำหนดจะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 100 บาท ผู้ถือบัตรสามารถขอทำบัตรใหม่ก่อนวันที่บัตรเดิมหมดอายุก็ได้ โดยให้ยื่นคำขอภายใน 60 วัน ก่อนวันที่บัตรเดิมหมดอายุ
 

    หลักฐาน
1.  บัตรประจำตัวประชาชนเดิมที่หมดอายุ
2.  หากบัตรเดิมหมดอายุเป็นเวลานาน ต้องนำเจ้าบ้านหรือพยานบุคคลที่น่าเชื่อถือมารับรองด้วย
       ไม่เสียค่าธรรมเนียม
            


3. กรณีบัตรหาย หรือถูกทำลาย

     เมื่อบัตรประจำตัวประชาชนหาย หรือถูกทำลายให้ไปแจ้งความไว้เป็นหลักฐาน ณ ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเขตเทศบาลหรือเมืองพัทยา แล้วแต่กรณี และขอทำบัตรใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่บัตรหายหรือถูกทำลาย หากพ้นกำหนดจะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 100 บาท
 


     หลักฐาน
1.     เอกสารที่มีรูปถ่ายของผู้ขอมีบัตรใหม่ที่ทางราชการออกให้ เช่น ใบอนุญาตขับขี่ หลักฐานการศึกษา หรือหนังสือเดินทาง เป็นต้น
2.     หากไม่มีหลักฐานตามข้อ 2 ให้นำเจ้าบ้านหรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือมาให้การรับรอง
       เสียค่าธรรมเนียม 20 บาท
 



4. กรณีเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อสกุลแล้วต้องเปลี่ยนบัตร

    เมื่อผู้ถือบัตรเปลี่ยนชื่อตัว/ชื่อสกุล ต้องเปลี่ยนบัตรภายใน 60 วัน นับแต่วันที่แก้ไขชื่อตัว ชื่อสกุล ในทะเบียนบ้าน หากพ้นกำหนดจะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 100 บาท
 

    หลักฐาน
1.   บัตรประจำตัวประชาชนเดิมที่ต้องการเปลี่ยน
2.   หลักฐานการเปลี่ยนชื่อตัวหรือชื่อสกุล แล้วแต่กรณี
       เสียค่าธรรมเนียม 20 บาท
 


5. กรณีบัตรเดิมชำรุดในสาระสำคัญ บัตรถูกทำลาย

    หากบัตรเดิมชำรุดในสาระสำคัญ บัตรถูกทำลาย เช่น บัตรถูกไฟไหม้บางส่วน บัตรชำรุด เลอะเลือน เป็นต้น ต้องเปลี่ยนบัตรภายใน 60 วัน นับแต่วันที่บัตรเดิมชำรุดหรือถูกทำลาย หากพ้นกำหนดจะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 100 บาท
    

หลักฐาน

1.     บัตรประจำตัวประชาชนเดิมที่ชำรุดหรือถูกทำลาย
2.     เอกสารที่มีรูปถ่ายของผู้ขอมีบัตรใหม่ที่ทางราชการออกให้ เช่น ใบอนุญาตขับขี่ หลักฐานการศึกษา หรือหนังสือเดินทาง เป็นต้น
3.     หากไม่มีเอกสารตามข้อ 2 ให้นำเจ้าบ้านหรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือมาให้การรับรอง
       เสียค่าธรรมเนียม 20 บาท
 

กรณีบุคคลที่ได้รับการยกเว้นการมีบัตรประจำตัวประชาชน เช่นพระภิกษุ สามเณร ฯลฯ จะขอทำบัตรประจำตัวประชาชนก็ได้


 
หลักฐาน
1.  กรณีพระภิกษุ หรือสามเณร ต้องย้ายชื่อเข้าทะเบียนบ้านของวัดก่อน แล้วแก้ไขคำนำหน้านามในทะเบียนบ้านเป็นพระ สามเณร หรือสมศักดิ์ ก่อนจึงจะขอมีบัตรได้
2.   หลักฐานที่แสดงว่าเป็นบุคคลซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีบัตร เช่น หนังสือสุทธิของพระ หรือหนังสือเดินทาง กรณีเป็นผู้ที่อยู่ระหว่างการศึกษา ณ ต่างประเทศ
       ไม่เสียค่าธรรมเนียม
 


6. กรณีบุคคลที่พ้นสภาพได้รับการยกเว้นขอทำบัตร

    ผู้ซึ่งพ้นสภาพได้รับการยกเว้นไม่ต้องมีบัตรประจำตัวประชาชน เช่น ผู้พ้นโทษจากเรือนจำหรือทัณฑสถาน เป็นต้น ต้องไปขอทำบัตรประชาชนภายใน 60 วัน นับแต่วันพ้นสภาพได้รับการยกเว้น หากพ้นกำหนดจะต้องเสียค่าปรับไม่เกิน 100 บาท


 
          หลักฐาน
1.  หลักฐานที่แสดงว่าพ้นสภาพจากการยกเว้นไม่ต้องมีบัตร เช่น หนังสือสำคัญของเรือนจำหรือทัณฑสถาน (ร.ท.5) หรือหนังสือเดินทางและเอกสารที่แสดงว่าเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากต่างประเทศ มีบัตรประจำตัวข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจแล้วแต่กรณี เป็นต้น
2.  หากไม่ปรากฏข้อมูลการทำบัตร หรือบัตรเดิมได้หมดอายุนานแล้ว ต้องนำเจ้าบ้านและบุคคลน่าเชื่อถือมารับรองด้วย
       ไม่เสียค่าธรรมเนียม




7. กรณีผู้ถือบัตรย้ายที่อยู่

    เพื่อให้รายการที่อยู่ที่ปรากฏในบัตรประจำตัวประชาชนตรงกับรายการในทะเบียนบ้านผู้ถือบัตรผู้ใดย้ายที่อยู่จะขอเปลี่ยนบัตรโดยที่บัตรเดิมยังไม่หมดอายุสามารถทำได้แต่หากไม่ขอเปลี่ยนบัตรก็สามารถใช้บัตรนั้นได้ต่อไปจนกว่าบัตรจะหมดอายุ

 
    หลักฐาน
1.  บัตรประจำตัวประชาชนเดิม
       เสียค่าธรรมเนียม 20 บาท
 


8. กรณีผู้ซึ่งมีอายุเกิน 70 ปี ขอมีบัตร

    คนสัญชาติไทยซึ่งมีอายุเกิน 70 ปี จะขอมีบัตรประจำตัวประชาชนก็ได้
 

    หลักฐาน
1.       สำเนาทะเบียนบ้านฉบับเจ้าบ้าน
2.       บัตรประจำตัวประชาชนเดิม (ถ้ามี)
3.       หากไม่ปรากฏข้อมูลการทำบัตร หรือบัตรเดิมได้หมดอายุนานมากแล้ว ต้องนำเอกสารอื่นที่ทางราชการออกให้มาแสดง พร้อมทั้งนำเจ้าบ้านและบุคคลที่น่าเชื่อถือมารับรอง
       ไม่เสียค่าธรรมเนียม
 


การขอมีบัตรกรณีเป็นบุคคลได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน
ต้องยื่นขอมีบัตรประจำตัวประชาชนภายใน 60 วัน นับแต่วันที่เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน หากพ้นกำหนดมีโทษปรับไม่เกิน 100 บาท
 


หลักฐาน
1.  เพิ่มชื่อกรณีแจ้งเกิดเกินกำหนด ใช้หลักฐานสูติบัตร และสอบสวนเจ้าบ้านหรือบุคคลน่าเชื่อถือ
2.  เพิ่มชื่อกรณีชื่อตกสำรวจให้สำเนาทะเบียนบ้านที่ผู้นั้นเคยมีชื่ออยู่ก่อน หลักฐานการเพิ่มชื่อหรือหลักฐานที่ทางราชการออกให้ และสอบสวนเจ้าบ้านหรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือ
       ไม่เสียค่าธรรมเนียม
 

 
การขอมีบัตรกรณีบุคคลซึ่งได้สัญชาติไทย หรือได้รับอนุมัติให้มีสัญชาติไทย หรือได้กลับคืนสัญชาติไทย

      ยื่นคำขอมีบัตรภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับสัญชาติไทย หากเกินกำหนดมีโทษปรับไม่เกิน 100 บาท
 


          หลักฐาน
1.  กรณีได้ได้รับอนุมัติให้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ หรือได้กลับคืนสัญชาติไทย ใช้หนังสือสำคัญการแปลงสัญชาติเป็นไทย หรือหนังสือสำคัญแสดงการได้กลับคืนสัญชาติเป็นไทยแล้วแต่กรณี
2.  หลักฐานอื่นๆ ที่ทางราชการออกให้ และสอบสวนเจ้าบ้านหรือบุคคลผู้น่าเชื่อถือ
 


ขอเปลี่ยนบัตร กรณีเปลี่ยนคำนำหน้านาม


      หลักฐาน
1.  บัตรประจำตัวประชาชนเดิม
2.   หลักฐานแสดงการเปลี่ยนคำนำหน้านาม เช่น ทะเบียนสมรส ทะเบียนอย่า เป็นต้น
       ไม่เสียค่าธรรมเนียม






การทำบัตรประจำตัวประชาชน