Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia)

 ติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia) 


ความหมาย ติดเชื้อในกระแสเลือด


ติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia) คือภาวะการติดเชื้อในกระแสโลหิตซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยผู้ป่วยติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย จากนั้นเชื้อแบคทีเรียซึมเข้าสู่กระแสเลือด หากไม่ได้รับการรักษาทันที อาจอักเสบทั่วร่างกาย ซึ่งทำให้ลิ่มเลือดอุดตันการลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะที่สำคัญของร่างกาย เมื่อไม่ได้รับออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงอย่างเพียงพอ การทำงานของอวัยวะส่วนนั้นจึงล้มเหลว ซึ่งถือเป็นอาการติดเชื้อในกระแสเลือดที่ร้ายแรง ทั้งนี้ อาจมีผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดถึงร้อยละ 50 เสียชีวิตจากภาวะดังกล่าว ผู้ที่ติดเชื้อในกระแสเลือดจึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยด่วน





https://youtu.be/zY7UTh_pCks


อาการการติดเชื้อในกระแสเลือด


การติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยอาจติดเชื้อในกระแสเลือดได้ตั้งแต่แรกเกิดหรือเกิดขึ้นหลังป่วยเป็นโรคใดโรคหนึ่งในระยะแรก ทั้งนี้ การติดเชื้อในกระแสเลือดอาจเกิดขึ้นหลังจากประสบอุบัติเหตุหรือหลังได้รับการผ่าตัด โดยผู้ป่วยมักมีอาการเบื้องต้น ดังนี้

  • รู้สึกหนาว มือและเท้าเย็นมาก
  • ป่วยเป็นไข้ขึ้นสูง ผู้ป่วยบางราย อาการอาจค่อย ๆ เป็นหนักขึ้น และอาจป่วยเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย
  • หายใจเร็วขึ้น
  • ชีพจรเต้นเร็ว



หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีและปล่อยให้อาการกำเริบ จะปรากฏอาการรุนแรง ดังนี้


  • รู้สึกตัวน้อยลง รวมทั้งสับสนจนคิดอะไรไม่ออก
  • คลื่นไส้และอาเจียน
  • ผิวหนังอาจเกิดจุดหรือแดง หากปล่อยทิ้งไว้ ผื่นจะลุกลามใหญ่ขึ้นเหมือนรอยช้ำ โดยรอยช้ำเหล่านี้จะแผ่ขยายใหญ่เป็นบริเวณกว้าง
  • ปัสสาวะน้อยลง
  • เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะไม่เพียงพอ นำไปสู่ภาวะช็อก


ทั้งนี้ เด็กที่ติดเชื้อในกระแสเลือด อาการจะแสดงออกไม่ชัดเจนเหมือนผู้ใหญ่ โดยเด็กอาจจะตัวเย็นมาก เกิดจุดเป็นหย่อม ๆ และมีสีผิวออกเขียว ๆ หรือผิวซีด หายใจถี่กว่าปกติ รู้สึกเหนื่อยง่ายและซึมลง ปลุกให้ตื่นยาก เมื่อลองกดผื่นบนผิวหนังแล้ว ผื่นนั้นไม่ยอมหายไปตามรอยกด





สาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือด


การติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย จัดเป็นการติดเชื้อที่รุนแรง โดยทั่วไปแล้ว การติดเชื้อแบคทีเรียเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แบ่งเป็นการติดเชื้อจากปัญหาสุขภาพทั่วไป และภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้


  • การติดเชื้อจากปัญหาสุขภาพทั่วไป ปัญหาสุขภาพถือเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือดที่พบได้มากที่สุด โดยเชื้อแบคทีเรียจะซึมเข้าสู่กระแสเลือดและแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดทันที ปัญหาสุขภาพซึ่งเป็นสาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือดได้แก่


  • โรคที่เกี่ยวกับการติดเชื้อในปอด เช่น ปอดบวม
  • การติดเชื้อที่ไต
  • โรคทางเดินปัสสาวะอักเสบ
  • การติดเชื้อบริเวณท้อง


  • ภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล ผู้ที่ต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาด้วยกระบวนการทางแพทย์หรือการผ่าตัดนั้น เสี่ยงติดเชื้อในกระแสเลือดสูง เนื่องจากเชื้อแบคทีเรียอาจต้านฤทธิ์ยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอีกหลายประการ โดยผู้ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อมักมีลักษณะดังนี้

  • ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจนเกิดแผลขนาดใหญ่หรือถูกไฟลวก
  • ผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อเอชไอวี (HIV) หรือผู้ป่วยลูคีเมีย
  • ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด ฉีดสเตียรอยด์ หรือวิธีที่ทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ
  • ผู้ที่ต้องสวนปัสสาวะ หรือผู้ที่ถูกสอดท่อเข้าไปในหลอดเลือดดำ
  • ผู้ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
  • เด็กอายุน้อยมากหรือคนชรา





การวินิจฉัยการติดเชื้อในกระแสเลือด


การวินิจฉัยการติดเชื้อในกระแสเลือดนั้นทำได้ยาก เนื่องจากแพทย์ไม่สามารถวินิจฉัยเพื่อระบุสาเหตุของการติดเชื้อได้อย่างชัดเจน แพทย์จึงต้องใช้วิธีการตรวจหลายอย่าง ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการและความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน ดังนี้


  • การตรวจอาการทั่วไป เบื้องต้นแพทย์จะตรวจอาการของผู้ป่วย ประกอบกับดูประวัติการรักษา นอกจากนี้ แพทย์จะตรวจร่างกายเพื่อวัดระดับความดันโลหิต อุณหภูมิร่างกาย ชีพจร และอาการ หรือสัญญาณของปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ที่เกิดร่วมกับการติดเชื้อในกระแสเลือด
  • การตรวจเลือด แพทย์จะเก็บตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยเพื่อนำไปตรวจหาการติดเชื้อ การเกิดลิ่มเลือด การทำงานที่ตับหรือไต ความสามารถในการลำเลียงออกซิเจน และระดับความสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายผู้ป่วย
  • การตรวจปัสสาวะ ผู้ป่วยทางเดินปัสสาวะอักเสบต้องนำตัวอย่างปัสสาวะให้แพทย์ตรวจ เพื่อดูการติดเชื้อของแบคทีเรีย
  • การตรวจสารคัดหลั่งจากบาดแผล หากผู้ป่วยได้รับบาดเจ็บและเกิดแผลติดเชื้อ แพทย์จะเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากบาดแผลมาตรวจ เพื่อช่วยในการจ่ายยาปฏิชีวนะให้สามารถรักษาการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การตรวจน้ำมูกหรือเสมหะ หากผู้ป่วยเกิดอาการไอและมีเสมหะด้วย แพทย์จะเก็บตัวอย่างน้ำมูกหรือเสมหะ โดยการตรวจนี้จะช่วยวินิจฉัยชนิดของแบคทีเรียอันเป็นสาเหตุของการติดเชื้อ
  • การตรวจด้วยภาพสแกน วิธีนี้จะช่วยให้แพทย์ตรวจสภาพของอวัยวะหรือบริเวณเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อให้เห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น โดยการตรวจด้วยภาพสแกนประกอบด้วย
    • เอกซเรย์ ผู้ป่วยที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับปอดควรได้รับการเอกซ์เรย์ โดยวิธีนี้จะช่วยแสดงสภาพของปอดชัดเจนขึ้น
    • อัลตราซาวด์ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ถุงน้ำดีหรือรังไข่ควรได้รับการตรวจอัลตราซาวด์ โดยแพทย์จะใช้คลื่นเสียงเพื่อช่วยสร้างภาพออกมา
    • ซีทีสแกน ผู้ป่วยที่ติดเชื้อที่ลำไส้ ตับอ่อน หรือไส้ติ่ง ควรตรวจด้วยการทำซีที สแกน โดยแพทย์จะนำภาพเอกซเรย์จากหลายมุมมารวมกันเพื่อให้เห็นภาพรวมโครงสร้างของอวัยวะภายในส่วนต่าง ๆ
    • เอ็มอาร์ไอ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อตรงเนื้อเยื่ออ่อน เช่น เกิดฝีที่กระดูกสันหลัง ควรตรวจด้วยการทำเอ็มอาร์ไอ ซึ่งจะช่วยระบุบริเวณที่เนื้อเยื่ออ่อนติดเชื้อได้ โดยแพทย์จะใช้คลื่นวิทยุและแม่เหล็กไฟฟ้าในการประมวลภาพสแกนของโครงสร้างอวัยวะภายในออกมา






การรักษาการติดเชื้อในกระแสเลือด


หากการติดเชื้อในกระแสเลือดส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะหรือเนื้อเยื่อตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน โดยอาจต้องเข้ารับการรักษาและพักฟื้นร่างกายที่หน่วยดูแลผู้ป่วยหนัก ทั้งนี้ วิธีรักษาการติดเชื้อในกระแสเลือดขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ อายุ สุขภาพด้านต่าง ๆ ลักษณะอาการของผู้ป่วย และความอดทนต่อฤทธิ์ยา หากเกิดการอักเสบภายในร่างกาย ส่งผลให้ลิ่มเลือดอุดตัน ออกซิเจนที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ไม่เพียงพอ ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อกระตุ้นให้หายใจได้ปกติและหัวใจกลับมาทำงานเหมือนเดิม โดยวิธีรักษาประกอบด้วยการรักษาด้วยยา การดูแลตามอาการของผู้ป่วย และการผ่าตัด ดังนี้


  • การรักษาด้วยยา ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดจะได้รับยาเพื่อรักษาอาการต่าง ๆ ดังนี้
    • ยาปฏิชีวนะ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างรุนแรงจะได้รับยาปฏิชีวนะที่มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียครอบคลุมหลายประเภท เนื่องจากแพทย์ไม่สามารถระบุประเภทของเชื้อได้อย่างเฉพาะเจาะจงในเวลาอันสั้น อีกทั้งผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาทันที โดยแพทย์จะฉีดยาปฏิชีวนะที่คาดว่ามีผลในการรักษาผู้ป่วยเข้าหลอดเลือดดำภายใน 6 ชั่วโมงแรกหรือเร็วกว่านั้น ทั้งนี้ เมื่อได้ผลตรวจเลือดแล้ว แพทย์จึงจะเปลี่ยนไปใช้ยาปฏิชีวนะที่ใช้รักษาประเภทของเชื้อได้เฉพาะเจาะจง โดยจะเปลี่ยนเป็นยาปฏิชีวนะแบบเม็ดให้ผู้ป่วยหลังจากระยะวิกฤตผ่านไปแล้ว ผู้ป่วยอาจต้องใช้ยาในช่วงระยะเวลา 7-10 วัน หรือนานกว่านั้น ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของอาการในผู้ป่วยแต่ละราย
    • การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ แพทย์จะให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำแก่ผู้ป่วยเพื่อรักษาระดับความดันโลหิตให้คงที่ ทั้งนี้ สารน้ำที่ให้แก่ผู้ป่วยซึ่งติดเชื้อในกระแสเลือดจะช่วยป้องกันภาวะขาดน้ำและไตล้มเหลว โดยแพทย์จะให้สารน้ำภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล
    • ยาเพิ่มความดันโลหิต ผู้ป่วยบางรายหากยังมีความดันโลหิตต่ำอยู่หลังจากได้รับสารน้ำเข้าทางหลอดเลือดดำ แพทย์อาจให้ยาเพิ่มความดันโลหิต โดยยานี้จะทำให้หลอดเลือดตีบลงและช่วยเพิ่มความดันโลหิต
  • การดูแลผู้ป่วยตามอาการ ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดที่มีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจอาจจำเป็นต้องต่อท่อหรือใส่หน้ากากเครื่องช่วยหายใจ เพื่อให้หายใจได้สะดวกขึ้น
  • การผ่าตัด หากต้นเหตุของการติดเชื้อมากจากฝีหรือแผลที่ทำให้ลุกลามได้นั้น อาจต้องเจาะเอาหนองออกมา ส่วนผู้ป่วยที่เกิดอาการรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อนำเนื้อเยื่อส่วนที่ติดเชื้อออกไป และรักษาเนื้อเยื่อส่วนที่เสียหาย


https://youtu.be/DVyYvCRie7Y

ภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อในกระแสเลือด


ผู้ป่วยที่ติดเชื้อในกระแสเลือดเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงหากไม่ได้รับการรักษาทันที ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต โดยการติดเชื้อในกระแสเลือดก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อน ดังนี้


  • ภาวะเลือดแข็งตัวในหลอดเลือดแบบแพร่กระจาย (Disseminated Intravascular Coagulation, DIC) หรือภาวะดีไอซี ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดอาจเกิดภาวะเลือดในหลอดเลือดแข็งตัวได้ โดยจะเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือดเล็กที่อยู่ทั่วตามร่างกาย
  • ต่อมหมวกไตล้มเหลว ต่อมหมวกไตอยู่เหนือไต ทำหน้าที่ผลิตอะดรีนาลีน สเตียรอยด์ และสารสื่อประสาทอื่น ๆ ที่สำคัญต่อร่างกาย หากผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด อาจทำให้การทำงานของต่อมหมวกไตล้มเหลวได้
  • อวัยวะทำงานผิดปกติ นอกจากภาวะแทรกซ้อนตามที่กล่าวมาแล้ว การติดเชื้อในกระแสเลือดยังส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะอื่น ๆ ภายในร่างกายอีกด้วย กล่าวคือ อวัยวะหลายส่วนไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ ซึ่งรวมไปถึงการทำงานของหัวใจ ปอด และไต
  • ภาวะหายใจล้มเหลวเฉียบพลัน (Acute Respiratory Distress Syndrome, ARDS) ภาวะนี้ถือเป็นภาวะที่ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต เนื่องจากผู้ป่วยไม่ได้รับออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงปอดอย่างเพียงพอ นอกจากนี้ ยังทำให้ปอดเสียหายถาวร และส่งผลกระทบต่อสมองจนนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับความจำ


https://youtu.be/1yAoeJgVIYY



การป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือด


สาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ผู้ที่มีไข้หรือสงสัยว่าได้รับเชื้อแบคทีเรียควรพบแพทย์เพื่อปรึกษาและรับการรักษาทันที หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นการติดเชื้อจากแบคทีเรียจริง จะจ่ายยาปฏิชีวนะให้แก่ผู้ป่วย หากได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะทันเวลา จะช่วยป้องกันเชื้อแบคทีเรียกระจายเข้าสู่กระแสเลือด และไม่ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด นอกจากนี้ พ่อแม่ช่วยดูแลลูกไม่ให้ติดเชื้อในกระแสเลือดจากเชื้อบางประเภทได้ โดยพาเด็กไปรับวัคซีนให้ครบอย่างสม่ำเสมอ ส่วนผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันร่างกายบกพร่อง ป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือดได้โดยปฏิบัติ ดังนี้


  • งดสูบบุหรี่
  • เลี่ยงใช้สารเสพติด
  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • ล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ
  • ระวังเมื่อต้องอยู่ใกล้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคต่าง ๆ




ติดเชื้อในกระแสเลือด

ที่มา   ::      https://www.pobpad.com/  ,   https://prinkotakoon.blogspot.com/2023/05/septicemia.html

10 ความคิดเห็น:

  1. ติดเชื้อในกระแสเลือด

    ภาวะที่เกิดขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อมากกว่าปกติจนอวัยวะสําคัญ ๆ เริ่มทํางานผิดปกติ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอาจรุนแรงมากขึ้นจนเกิดภาวะช็อก ความดันโลหิตต่ำลงอย่างรวดเร็ว

    การติดเชื้อในกระแสเลือด
    การติดเชื้อในกระแสเลือด เป็นภาวะที่เป็นอันตรายถึงชีวิต โดยเกิดขึ้นจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อมากกว่าปกติจนอวัยวะสําคัญ ๆ เริ่มทํางานผิดปกติ

    ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอาจรุนแรงมากขึ้นจนเกิดภาวะช็อก ความดันโลหิตต่ำลงอย่างรวดเร็ว และนําไปสู่ภาวะอวัยวะล้มเหลวหลายระบบ และเสียชีวิตในที่สุด การรักษาประกอบไปด้วยการค้นหาตำแหน่งอวัยวะที่มีการติดเชื้อ การให้ยาปฏิชีวนะแบบกว้าง ครอบคลุมการติดเชื้อเบื้องต้น การผ่าตัดในกรณีที่มีหนองหรือมีข้อบ่งชี้ การให้สารน้ำและ/หรือการให้ยาอื่น ๆ เพื่อประคับประคองความดัน รวมถึงการสังเกตอาการอย่างใกล้ชิดในโรงพยาบาล

    การให้ยาปฏิชีวนะ สารน้ำ และยาประคับประคองความดัน ทางหลอดเลือดเป็นวิธีรักษาที่ช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้

    อาการ
    สัญญาณและอาการของการติดเชื้อในกระแสเลือด

    มีไข้ ซึมลง หรือสับสน หายใจเร็ว ร่วมกับความดันต่ำกว่า 90 หรือในผู้ป่วยที่มีโรคความดันสูง ความดันลดต่ำลงกว่าปกติมาก
    อัตราการหายใจเท่ากับหรือเร็วกว่า 20 ครั้งต่อนาที
    สัญญาณและอาการของภาวะช็อกจากการติดเชื้อในกระแสเลือด
    ภาวะช็อกอาจเกิดขึ้นในกรณที่ความดันโลหิตต่ำลงมาก ทำให้เลือดไหลเวียนไปที่ระบบต่าง ๆ ลดลง เกิดภาวะอวัยวะล้มเหลวหลายระบบ หากอาการรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ อาจจะนำไปสู่การเสียชีวิตได้

    ควรไปพบแพทย์เมื่อใด
    การติดเชื้อในกระแสเลือดมักจะเกิดขึ้นในกรณีที่มีการติดเชื้อลุกลามมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงที หรือเกิดขึ้นในผู้ป่วยสูงอายุ ภูมิต้านทานต่ำ โรคประจำตัวเช่นเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ เป็นต้น ถ้าผู้ป่วยมีอาการซึมลง สับสน รับประทานอาหารได้น้อย ความดันต่ำลง ปัสสาวะออกลดลง ควรไปพบแพทย์ทันที ในกรณีผู้สูงอายุ บางครั้งอาจจะไม่มีไข้ได้ โดยการที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส ถือว่ามีอาการรุนแรง



    ตอบลบ
  2. สาเหตุ
    การติดเชื้อในกระแสเลือดส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ส่วนน้อยเกิดจากการติดเชื้อราได้ โดยเป็นผลแทรกซ้อนตามมาจากการที่ร่างกายมีการติดเชื้อในระบบต่าง ๆ เช่น

    การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น ปอดอักเสบ
    การติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น กรวยไตอักเสบ
    การติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้อักเสบ
    การติดเชื้อจากการใส่สายสวนหลอดเลือดดำ สายฟอกไต สายสวนปัสสาวะ เป็นต้น
    แผลอักเสบติดเชื้อลุกลาม
    ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะการติดเชื้อในกระเสเลือด

    ทารกแรกเกิด ผู้สูงอายุ
    ผู้ป่วยที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้รับยาสเตียรอยด์ขนาดสูงหรือยากดภูมิต้านทานสูง
    ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยเม็ดเลือดขาวต่ำ
    ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
    ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังหรือตับแข็ง
    ผู้ป่วยรักษาตัวในโรงพยาบาลเป็นเวลานาน ผู้ป่วยรักษาตัวในห้องไอซียู
    ผู้ป่วยรักษาด้วยการใส่ท่อหายใจหรือสายสวนทางหลอดเลือดดํา
    ภาวะแทรกซ้อน
    การติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรงนั้นส่งผลกระทบให้ความดันต่ำลง เลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ลดลง รวมถึงอาจมีภาวะลิ่มเลือดขนาดเล็กอุดตันในเส้นเลือดฝอย ทำให้เกิดอวัยวะล้มเหลวได้หลายระบบ เช่น ไตวายเฉียบพลัน การหายใจล้มเหลว ภาวะเลือดเป็นกรดที่รุนแรงจากกรดแลกติกในเลือดคั่ง คนไข้ส่วนใหญ่ที่ไม่มีภาวะช็อกจากการติดเชื้อนั้นส่วนใหญ่จะสามารถฟื้นตัวได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการติดเชื้อ ในกรณีที่อาการรุนแรง รับการรักษาในไอซียู นั่นจะใช้เวลาในการฟื้นตัวนานกว่าที่จะฟื้นฟูอวัยวะที่ล้มเหลวให้กลับมาทำงานได้ปกติ

    การวินิจฉัยการติดเชื้อในกระแสเลือด
    แพทย์ผู้ดูแลรักษาประเมินจากประวัติและการตรวจร่างกาย เพื่อวินิจฉัยตำแหน่งการติดเชื้อ และจำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น

    การตรวจเลือดทั่ว ๆ ไป เป็นการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาการติดเชื้อ ตรวจค่าความสมบูรณ์เม็ดเลือด (CBC) ค่าการทำงานตับไต เกลือแร่ ค่าความสมดุลกรดด่างในเลือด ตรวจปัสสาวะ เป็นต้น
    การตรวจเพาะเชื้อโดยตรงจากเลือด เสมหะ ปัสสาวะ บาดแผล หรือหนอง ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจแพทย์ และอาการของผู้ป่วย
    การตรวจวินิจฉัยโดยรังสีวิทยา
    เอ็กซเรย์ปอด
    อัลตราซาวนด์ เป็นเทคโนโลยีคลื่นเสียงส่งภาพไปยังหน้าจอ เพื่อวินิจฉัยภาวะการติดเชื้อในช่องท้อง เช่น ตับ ทางเดินน้ำดี ไต หรือชั้นใต้ผิวหนัง เป็นต้น
    การตรวจเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) ซึ่งถ่ายภาพเอ็กซเรย์จากหลาย ๆ มุม และแสดงโครงสร้างภายในแบบตัดขวางเพื่อใช้วินิจฉัยการติดเชื้อในอวัยวะช่องท้อง ลำไส้แตกรั่ว อุดตัน หนองในช่องท้องหรือกล้ามเนื้อ เป็นต้น
    การตรวจด้วยเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) แสดงภาพได้ละเอียดกว่าเอ็กซเรย์ ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยการติดเชื้อของเนื้อเยื่อและกระดูก
    การรักษา
    การได้รับการวินิจฉัยและรักษาการติดเชื้อในกระแสเลือดอย่างทันท่วงที การดูแลและการรักษาของหน่วยไอซียูอย่างใกล้ชิด นั้น จะทำให้ผลของการรักษาของผู้ป่วยดี ฟื้นตัวได้สูง

    การรักษาด้วยยา
    ประกอบไปด้วย

    การให้ยาปฏิชีวนะแบบกว้างทางหลอดเลือดดำ ครอบคลุมชนิดและตำแหน่งของการติดเชื้อที่แพทย์สงสัย
    การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
    การให้ยาเพิ่มความดันโลหิตหากความดันโลหิตของผู้ป่วยต่ำแม้ว่าจะได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดแล้ว แพทย์อาจสั่งยาเพิ่มความดันโลหิต ซึ่งช่วยกระตุ้นการบีบตัวของหลอดเลือด
    ยาอื่น ๆ เช่น อินซูลิน ควบคุมน้ำตาลในเลือด ยากล่อมประสาทในกรณีใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นต้น
    การรักษาด้วยวิธีอื่น ๆ เช่น ซักประวัติโรคเดิมหรืออาการที่ผิดปกติของผู้ป่วย
    การรักษาด้วยการผ่าตัด
    ในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อบางตำแหน่ง เช่น ฝีหนองในช่องท้อง ลำไส้แตกรั่ว การติดเชื้อผิวหนังรุนแรง เนื้อเยื่อตายนั้น จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดเพื่อกำจัดตำแหน่งที่ติดเชื้อ ระบายฝีหนองโดยการใส่สายระบาย การถอดสายสวนหลอดเลือดดำที่มีการติดเชื้อออกเป็นต้น เนื่องจากการติดเชื้อชนิดดังกล่าวนั้นลุกลามเกินกว่าจะรักษา ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะแบบกว้างเพียงอย่างเดียวได้

    การรักษาด้วยวิธีการอื่น ๆ
    การให้ออกซิเจนหรือการใส่ท่อช่วยหายใจและเครื่องช่วยหายใจในกรณีที่มีภาวะหายใจล้มเหลว
    การฟอกไต ในกรณีที่มีภาวะไตวายเฉียบพลัน ปัสสาวะออกน้อย เลือดเป็นกรด ความสมดุลเกลือแร่ผิดปกติรุนแรง
    การให้เลือดหรือพลาสม่าในกรณีที่มีภาวะซีดรุนแรงหรือการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ



    บทความโดย
    รศ.พญ.มาเรีย นิน่า จิตะสมบัติ

    ตอบลบ
  3. อะไรคือ “ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด” ???

    อะไรคือ “ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด” ???
    “ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด” คำนี้หลายคนคงเคยได้ยินอยู่บ่อยๆแต่ทราบหรือไม่ว่าการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นอย่างไร ติดเชื้อได้อย่างไร และมีวิธีแก้ไขปัญหาภาวะนี้อย่างไรบ้าง รวมถึงมีวิธีการป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือดได้อย่างไร คอลัมน์ Health Station ฉบับนี้ได้รับเกียรติจาก รศ.พญ.ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล สาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีคำตอบมาฝากกันครับ

    การติดเชื้อในกระแสเลือดคืออะไร
    การติดเชื้อในกระแสเลือดคือ การติดเชื้อที่เกิดขึ้นที่ตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งของร่างกาย ซึ่งเชื้อดังกล่าวได้แก่ จุลชีพต่างๆ เช่น เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา โดยการติดเชื้อที่อวัยวะต่างๆ ของร่างกายสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้ เมื่อมีการติดเชื้อในกระแสเลือดแล้ว ร่างกายของเราจะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการติดเชื้อหรือต่อพิษของเชื้อโรค ซึ่งจะทำให้เกิดการอักเสบขึ้นทั่วบริเวณของร่างกาย หากมีความรุนแรงมากอาจพัฒนาไปสู่ภาวะช็อกและทำให้การทำงานของอวัยวะภายในต่างๆ ล้มเหลว มีอันตรายถึงชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

    เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกาย ได้ทางใดบ้าง
    เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ ทางเดินปัสสาวะ ทางเดินอาหาร หรือทางบาดแผล เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ เชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายได้โดยง่าย

    มีปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด
    ปัจจัยที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดนั้นมี 3 ปัจจัย ดังนี้

    1) ความเจ็บป่วย เมื่อร่างกายอ่อนแอและภูมิต้านทานต่ำ ก็จะทำให้ไม่สามารถต่อสู้กับเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

    2) ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคตับแข็ง เนื่องจากตับจะเป็นตัวกรองเชื้อโรคไม่ให้เข้าสู่ร่างกาย เมื่อตับไม่สามารถทำงานได้ เชื้อโรคก็จะสามารถผ่านเข้าไปในกระแสเลือดได้ง่ายขึ้น หรือเป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูงในผู้ที่เป็นเบาหวานจะทำให้มีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่มีหน้าที่ต่อสู้กับเชื้อโรคเสียไป นอกจากนี้ในเด็กเล็กและในผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือดได้มากกว่าคนหนุ่มสาวแม้ว่าไม่มีโรคประจำตัว เนื่องจากมีภูมิคุ้มกันต่ำ

    3) สาเหตุอื่นๆ เช่น การรักษาผู้ป่วยโดยการใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย ได้แก่การสวนทวาร การสวนปัสสาวะ และการใช้สายสวนหลอดเลือด ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น

    ลักษณะอาการของการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นอย่างไร
    อาการของการติดเชื้อในกระแสเลือดนั้น แบ่งเป็น 3 ลักษณะคือ

    1) อาการเฉพาะที่หรือเฉพาะอวัยวะที่ติดเชื้อ เช่น หากมีอาการไอและเจ็บหน้าอกเมื่อหายใจ อาจพบว่ามีการติดเชื้อที่ปอดหรือเยื่อหุ้มปอด หรือมีอาการปวดหลังและปัสสาวะบ่อย แสดงว่าอาจเกิดจากการติดเชื้อที่กรวยไต เป็นต้น

    2) อาการแสดงทางผิวหนัง เกิดจากการที่เชื้อโรคหรือพิษของเชื้อโรคที่อยู่ในกระแสเลือด กระจายมาสู่บริเวณผิวหนัง ทำให้เกิดรอยขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ซึ่งในบางรอยนั้นอาจมีลักษณะที่ไม่จำเพาะ อย่างเช่นเป็นตุ่มหนองธรรมดา และในบางรอยนั้นมีลักษณะจำเพาะที่สามารถบอกได้ถึงชนิดของเชื้อ

    3) อาการที่เกิดจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการติดเชื้อ หรือเป็นกลุ่มอาการตอบสนองต่อการอักเสบทั่วร่างกาย เช่น มีไข้ขึ้นสูงกว่า 38 องศาเซลเซียส ในบางรายอาจมีอาการหนาวสั่นร่วมด้วย มีชีพจรเต้นเร็วขึ้นเกิน 90 ครั้งต่อนาที และหายใจเร็วเกิน 20 ครั้งต่อนาทีเป็นต้น


    ตอบลบ
  4. ความรุนแรงของอาการเป็นอย่างไร แบ่งเป็นกี่ระดับ


    ความรุนแรงของการติดเชื้อในกระแสเลือดแบ่งได้เป็น 3 ระดับคือ

    1) การติดเชื้อในกระแสเลือดแบบทั่วไป

    2) การติดเชื้อในกระแสเลือดแบบรุนแรงมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้อวัยวะต่างๆ เริ่มทำงานผิดปกติ

    3) ระดับการติดเชื้อในกระแสเลือดที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการช็อกได้ ซึ่งเกิดขึ้นในรายที่มีภูมิต้านทานต่ำมาก

    อะไรคือ “ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด” ???

    อะไรคือ “ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด” ???
    การรักษาอาการติดเชื้อในกระแสเลือด
    แพทย์จะวินิจฉัยจากลักษณะและอาการของผู้ป่วยเป็นลำดับแรก จากนั้นจะทำการเจาะเลือดและตรวจสิ่งคัดหลั่งจากอวัยวะที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อด้วยการเพาะหาเชื้อ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 3-5 วัน แต่เนื่องด้วยการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นภาวะฉุกเฉิน แพทย์จึงต้องอาศัยการวินิจฉัยเบื้องต้นและเลือกให้ยาต้านจุลชีพที่ครอบคลุมเชื้อไว้ก่อน ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะที่ตรงกับเชื้อในช่วง 1-2 ชั่วโมงแรก ผู้ป่วยจะมีโอกาสรอดชีวิตสูงมากขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากได้รับยาที่ไม่ตรงกับเชื้อหรือได้รับยาช้าเกินไป ก็จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้นเช่นกัน

    เมื่อได้รับยาต้านจุลชีพแล้ว แพทย์จะทำการรักษาแบบประคับประคองไปพร้อมๆ กัน เช่น ถ้ามีภาวะไตวายก็ทำการฟอกไต ถ้าผู้ป่วยหายใจเองไม่ได้ก็จะมีการให้ออกซิเจนหรือการใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือถ้าผู้ป่วยมีภาวะซีดก็จะมีการให้เลือด โดยพิจารณาตามลักษณะอาการของผู้ป่วย


    วิธีการป้องกันไม่ให้เกิดการติด เชื้อในกระแสเลือด

    หากทราบว่าตัวเองมีปัจจัยเสี่ยงที่จะติดเชื้อหรือถ้าติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรง สิ่งสำคัญคือเราจะต้องรักษาสุขภาพของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอรวมถึงรักษาโรคประจำตัวที่เป็นความเสี่ยงต่อการติดเชื้อในกระแสเลือด เช่น ผู้ที่เป็นเบาหวานก็ควรควบคุมระดับน้ำตาลให้ดี ดูแลในเรื่องของอาหารการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ รวมทั้งรักษาสุขอนามัยกินร้อนช้อนกลาง ล้างมือ หากมีอาการไข้สูง หนาวสั่น หรือมีอาการซึม หายใจเร็วผิดปกติ หรือพบความผิดปกติที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ให้รีบมาพบแพทย์ และควรหลีกเลี่ยงการไปยังสถานที่ที่มีเชื้อโรคเยอะ สถานที่แออัด มีการระบายอากาศไม่ดี


    ตอบลบ
  5. ติดเชื้อในกระแสเลือด

    “ติดเชื้อในกระแสเลือด” คืออะไร
    คุณหมอสุพิชชา อธิบายว่าการติดเชื้อในกระแสเลือด หมายถึง การที่ร่างกายเกิดการติดเชื้อขึ้นที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น ปอด ในช่องท้อง ผิวหนัง และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องหรือภูมิคุ้มกันไม่ดี เชื้อก็จะลุกลามเข้าสู่เส้นเลือด ไหลเวียนอยู่ในเลือดของเรา พบว่า 80% เป็นเชื้อแบคทีเรีย นอกจากนั้นเป็นเชื้อไวรัสและเชื้อรา

    โรคนี้น่ากลัว เพราะอันตรายถึงชีวิต
    เนื่องจากเลือดของเราไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะทั่วร่างกาย ทำให้เชื้อสามารถเกิดการอักเสบติดเชื้อที่อวัยวะส่วนต่างๆ ได้ หากไม่ได้รับการรักษาและมีความรุนแรงมาก คุณหมอสุพิชชา บอกว่า อาจส่งผลให้ช็อคและการทำงานของอวัยวะต่างๆ ล้มเหลว เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

    อาการแบบนี้ รีบพบแพทย์
    เมื่อร่างกายติดเชื้อและเชื้อลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด จะมีอาการดังนี้

    มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หรืออุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส
    ชีพจรเต้นเร็ว หายใจเร็ว
    ถ้าเข้ารับการเจาะเลือด ค่าเม็ดเลือดขาวจะสูงกว่า 12,000 ตัวต่อมิลลิลิตร หรือน้อยกว่า 4,000 ตัวต่อมิลลิลิตร
    ใครบ้าง เสี่ยง “ติดเชื้อในกระแสเลือด”
    คุณหมอสุพิชชา บอกว่าคนที่เสี่ยงคือคนที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย ดังนี้

    ผู้ที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน
    ผู้ที่ได้รับเคมีบำบัด
    ผู้ติดเชื้อเอชไอวี
    ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ที่ควบคุมน้ำตาลได้ไม่ดี เป็นโรคตับแข็ง
    เด็กเล็กมากๆ และผู้สูงวัย
    ดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด เพราะโอกาสเสียชีวิตสูง
    ในการวินิจฉัย แพทย์จะพิจารณาจากอาการ การซักประวัติ การเจาะเลือดตรวจอวัยวะที่คาดว่ามีการติดเชื้อ โดยการเพาะเชื้อ ส่วนการรักษานั้นแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้

    กำจัดแหล่งติดเชื้อ เช่น หากมีฝี ต้องกำจัดฝีออก หรือมีน้ำในปอดต้องทำการรักษาระบายน้ำออกจากปอด
    การให้ยาฆ่าเชื้อ แพทย์จะเลือกยาที่มีความครอบคลุมเชื้อ
    รักษาแบบประคับประคอง ตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีอวัยวะส่วนใดล้มเหลวหรือไม่
    สำหรับใครที่สงสัยว่าตัวเองหรือคนใกล้ชิดมีความเสี่ยง รวมทั้งมีอาการอย่างที่อธิบายมา ควรรีบนำตัวส่งโรงพยาบาลและอยู่ในความดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด เพราะโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตได้





    พญ.สุพิชชา องกิตติกุล
    อายุรศาสตร์, อนุสาขาอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ
    แพทย์คลินิกอายุรกรรม โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลพญาไท 3


    ตอบลบ
  6. ทำความรู้จัก "ติดเชื้อในกระแสเลือด" คืออะไร?

    ติดเชื้อในกระแสเลือด (Septicemia) คือ การติดเชื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส เชื้อรา และการติดเชื้อที่อวัยวะส่วนต่างๆ จนเกิดอาการอักเสบรุนแรงและเชื้อแบคทีเรียก็ซึมเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้การทำงานของอวัยวะภายในร่างกายล้มเหลว ผู้ที่ติดเชื้อในกระแสเลือดมีความเสี่ยงที่จะมีภาวะความดันต่ำอย่างรุนแรง ซึ่งอาจทำให้ช็อกและเสียชีวิตได้ หากไม่รีบรักษาอย่างถูกวิธี

    กลุ่มเสี่ยงภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
    - ผู้ป่วยสูงอายุ ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
    - ผู้ป่วยเด็กเล็ก ที่ภูมิคุ้มกันยังพัฒนาไม่เต็มที่
    - ผู้ป่วยโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง
    - ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคไตวายเรื้อรัง โรคปอด โรคตับ โรคเบาหวาน เป็นต้น

    ติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดจากอะไร?
    สาเหตุของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด เกิดจากการติดเชื้อในช่วงที่ร่างกายอ่อนแอ เพราะเชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายและเข้าได้หลายทาง เช่น ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ ทางผิวหนัง และทางบาดแผลส่วนต่างๆ อีกทั้งยังรวมถึงการติดเชื้อในระบบของร่างกาย เช่น ติดเชื้อที่ปอด ติดเชื้อในตับ ติดเชื้อในถุงน้ำดี ไส้ติ่งอักเสบ รวมถึงการติดเชื้อไวรัส เชื้อรา หรือพยาธิในส่วนต่างๆ ของร่างกาย

    อาการติดเชื้อในกระแสเลือด
    มีไข้สูง
    หายใจเหนื่อย
    รู้สึกซึม บางรายหมดสติ
    ปัสสาวะน้อยลง
    คลื่นไส้ อาเจียน
    มือและเท้าเย็น
    ความดันโลหิตต่ำรุนแรง (อาจนำไปสู่ภาวะช็อกได้)

    ระดับความรุนแรงของอาการติดเชื้อในกระแสเลือด
    ระดับที่ 1
    อาการติดเชื้อในกระแสเลือดแบบทั่วไป รู้สึกได้ว่าร่างกายมีความผิดปกติ มีอาการติดเชื้อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย

    ระดับที่ 2
    อาการติดเชื้อในกระแสเลือดแบบรุนแรง อวัยวะต่างๆ ในร่างกายเริ่มทำงานผิดปกติ มีอาการรุนแรงอื่นๆ ตามมา

    ระดับที่ 3
    อาการติดเชื้อในกระแสเลือดแบบรุนแรงมาก ผู้ป่วยที่ภูมิต้านทานต่ำจะมีอาการช็อก อาจนำไปสู่การเสียชีวิตได้



    ตอบลบ
  7. วิธีรักษาอาการติดเชื้อในกระแสเลือด


    ติดเชื้อในกระแสเลือด รักษากี่วัน? ขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย ในเบื้องต้นแพทย์จะประเมินอาการ รักษาด้วยยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาในโรคที่ต้องสงสัยก่อน มีการนำตัวอย่างเลือดไปเพาะเชื้อเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ในรายที่มีไข้สูง หายใจเหนื่อยหอบ ความดันโลหิตต่ำ จะต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล ได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมแพทย์

    วิธีป้องกันการติดเชื้อในกระแสเลือด
    พยายามรักษาร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ
    รักษาสุขอนามัยรอบตัว ล้างมือให้สะอาด ใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหาร
    รักษาโรคประจำตัวอย่างต่อเนื่อง ไปพบแพทย์ตามนัด เพื่อรักษาร่างกายให้มีภูมิต้านทานแข็งแรง
    ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆ ตามคำแนะนำของแพทย์ให้ครบถ้วน
    หากพบความผิดปกติของร่างกาย ไข้สูง หายใจหอบเหนื่อย ใจสั่น มีอาการซึม และอาการอื่นๆ ที่ผิดปกติไปจากเดิม ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยโรค
    ติดเชื้อในกระแสเลือด กินอะไรได้บ้าง?
    สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดควรรับประทานอาหารที่สุกสะอาดถูกตามหลักอนามัย เพื่อป้องกันการติดเชื้อเพิ่ม แนะนำให้รับประทานอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่าย นอกจากนี้ ควรงดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะจะมีผลให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายตก

    อย่างไรก็ตาม แม้ว่าภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือดจะเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูง แต่หากได้รับการรักษาที่ถูกต้องรวดเร็วจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ก็จะยิ่งเพิ่มโอกาสในการรักษาอาการติดเชื้อในกระแสเลือดให้หายเป็นปกติได้


    อ้างอิงข้อมูล : โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์



    ตอบลบ
  8. ติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดจากอะไร ภาวะนี้เสี่ยงตายแค่ไหนกัน

    ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด อาการติดเชื้อที่ทำลายระบบภายในได้รวดเร็ว เกิดจากสาเหตุใดและจะรักษาหายไหม มารู้จักภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตกันเถอะ

    อาการติดเชื้อในกระแสโลหิต เป็นภาวะความผิดปกติของร่างกายที่ส่งผลเฉียบพลัน และหากเชื้อนั้นมีความรุนแรง อาการติดเชื้อในกระแสเลือดก็อาจคร่าชีวิตผู้ป่วยได้ในเวลาอันสั้น เพราะเลือดคือองค์ประกอบหลักของร่างกายที่ไหลไปถึงอวัยวะทุกส่วน ดังนั้นอวัยวะทุกส่วนจึงสามารถเกิดการติดเชื้อได้ ซึ่งภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตมีที่มาที่ไปอย่างไร วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจกันค่ะ

    ติดเชื้อในกระแสโลหิต เกิดจากอะไร

    ภาวะติดเชื้อหรือ Septicemia คือ ภาวะที่ร่างกายตอบสนองต่อการติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นการติดเชื้อจากส่วนใด ๆ ในร่างกายก็ตาม ซึ่งหากมีการอักเสบหรือติดเชื้ออย่างรุนแรง เชื้อนั้นอาจลุกลามเข้าสู่กระแสเลือด และทำให้เกิดภาวะช็อกจนเสียชีวิตได้ในเวลาสั้น ๆ

    สาเหตุของการติดเชื้อในกระแสเลือด

    สาเหตุของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ส่วนมากมักเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย และผู้ป่วยมักจะติดเชื้อแค่เพียงตัวเดียว รองมาคือเชื้อรา เชื้อไวรัส และเคสที่ติดเชื้อหลาย ๆ ชนิดก็พบได้เช่นกัน

    ติดเชื้อในกระแสเลือด มีเชื้ออะไรบ้าง

    อย่างที่บอกว่าส่วนใหญ่ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดจะเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แต่เชื้อแบคทีเรียในโลกนี้ก็มีหลายชนิดด้วยกัน จึงเรียกได้ว่าภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดอาจเป็นการติดเชื้อชนิดที่แตกต่างกันไป ตามนี้เลย

    * เชื้อแบคทีเรียแกรมลบ (Gram negative bacteria)
    * เชื้อแบคทีเรียแกรมบวก (Gram positive bacteria)
    * เชื้อแบคทีเรียชนิด Classic pathogens เช่น H.influenzae, Neisseria, meningitidis, Streptococcus pyogenes และ S.pneumoniae
    * เชื้อรา

    ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

    ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ใครเสี่ยงบ้าง

    แม้จะมียาปฏิชีวนะชนิดใหม่จำนวนมาก รวมทั้งวิวัฒนาการทางการแพทย์ก็ก้าวไกลพอสมควร ทว่าภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตยังเป็นสาเหตุที่ติดอันดับต้น ๆ ของอัตราการเสียชีวิตของประชากร โดยคนที่มีความเสี่ยงต่อภาวะนี้ ได้แก่

    - เด็กเล็กหรือผู้สูงวัยที่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายไม่แข็งแรง

    - ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคของเม็ดเลือดขาวบางชนิด โรคตับแข็ง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง การติดเชื้อ HIV รวมทั้งผู้ที่รับยากดระบบภูมิคุ้มกันประเภทยาในกลุ่มสเตียรอยด์ หรือเคมีบำบัดสำหรับรักษาโรคมะเร็ง เป็นต้น ซึ่งโรคประจำตัวและยากดภูมิคุ้มกันเหล่านี้จะส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอ ระบบภูมิต้านทานโรคไม่แข็งแรงพอจะต่อสู้กับเชื้อโรคที่ร่างกายรับเข้ามา จนอาจเกิดภาวะติดเชื้อหรือการอักเสบที่ลุกลามเข้าสู่กระแสเลือดเป็นลำดับต่อไป

    - ผู้ป่วยที่ต้องใส่เครื่องมือแพทย์เข้าไปในร่างกาย เช่น การใส่ท่อช่วยหายใจ สายปัสสาวะ การใส่ท่อเข้าหลอดเลือดเพื่อให้สารน้ำต่าง ๆ หรือการมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในร่างกาย เช่น ลิ้นหัวใจเทียม เป็นต้น

    - ผู้ที่ใช้ยาปฏิชีวนะติดต่อกันนานเกินไป หรือรับยาปฏิชีวนะหลายตัวเกินความจำเป็น ซึ่งตัวยาอาจเข้าไปทำลายแบคทีเรียชนิดดีของร่างกาย ตัวที่จะช่วยกำจัดการเจริญเติบโตของเชื้อราบางชนิดที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้

    - การติดเชื้อผ่านทางผิวหนัง เช่น ถูกไฟไหม้ เกิดแผลถลอกขนาดใหญ่ ที่อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคได้ง่าย และเสี่ยงที่เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายก็มากขึ้นด้วย



    ตอบลบ
  9. ติดเชื้อในกระแสโลหิต อาการเป็นยังไงกันนะ



    อาการติดเชื้อในกระแสโลหิต สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม คือ

    - อาการแสดงทั่วไปของการติดเชื้อ

    - มีไข้สูงกว่า 38 องศาเซลเซียส หรือมีอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่า 36 องศาเซลเซียส หรือไม่มีไข้แต่ติดเชื้อรุนแรง
    - หัวใจเต้นเร็วกว่า 90 ครั้งต่อนาที
    - หายใจเร็วมากกว่า 20 ครั้งต่อนาที หรือวัดค่าความดันคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดได้มากกว่า 32 มิลลิเมตรปรอท
    - ตรวจพบเม็ดเลือดขาวมากกว่า 12,000 ตัวต่อมิลลิลิตร หรือน้อยกว่า 4,000 ตัวต่อมิลลิลิตร ทว่าอาการนี้อาจพบในผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบ หรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดก็ได้

    ทั้งนี้แพทย์ควรใส่ใจกับการวินิจฉัยโรคเป็นพิเศษ เนื่องจากอาการจะคล้าย ๆ อาการป่วยทั่วไป ดังนั้นจึงอาจต้องตรวจหาอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย

    - อาการเฉพาะที่

    ผู้ป่วยอาจมีอาการติดเชื้อที่ปอด มีไข้สูง ไอมีเสมหะเล็กน้อย น้ำหนักลด หรือหนักหน่อยอาจไอมีเสมหะปนเลือด หรือบางรายอาจมีอาการปวดท้อง ซึ่งแสดงถึงภาวะติดเชื้อในช่องท้อง ซึ่งอาจวินิจฉัยเป็นโรคปอดอักเสบได้ด้วย อาการปวดหลังรุนแรง แสดงถึงภาวะติดเชื้อที่กระดูกสันหลัง หรือหมอนรองกระดูกสันหลัง

    อย่างไรก็ดี ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการแสดงชัดเจน เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน อาจมีฝีในตับจากการติดเชื้อโดยไม่มีอาการปวดท้องเลยก็ได้

    - รอยโรคที่ผิวหนัง

    ส่วนใหญ่จะพบเป็นตุ่มหนอง เป็นผื่นแดง เป็นตุ่มตามผิวหนัง ซึ่งเกิดจากการกระจายเชื้อมาที่ผิวหนังโดยตรง ต้องนำไปย้อมสีแกรมจึงจะพบตัวเชื้อก่อโรค

    - อาการที่เกิดจากความล้มเหลวของระบบอวัยวะต่าง ๆ

    ความดันโลหิตตก ส่งผลให้อวัยวะต่าง ๆ รับเลือดและออกซิเจนไม่เพียงพอ ผู้ป่วยอาจมีอาการสับสน กระวนกระวาย หมดสติ มีปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะเลย เลือดและเนื้อเยื่อต่าง ๆ มีกรดแลคติกคั่ง หรือผู้ป่วยอาจหายใจหอบจากภาวะมีสารน้ำรั่วซึมในปอด หรือภาวะ DIC ที่ทำให้มีเลือดออกง่าย

    ติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรงขนาดไหนถึงเรียกว่าอันตรายถึงชีวิต

    จริง ๆ แล้วร่างกายเราเจอกับเชื้อโรคชนิดต่าง ๆ อยู่ทุกวัน แต่ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายของเราซึ่งมีทั้งเม็ดเลือดขาวที่จะหลั่งสารออกมากำจัดเชื้อโรค และเชื้อเจ้าถิ่น (Normal flora) ที่เป็นปราการป้องกันโรคด่านแรก ๆ คอยฆ่าเชื้อโรคแปลกปลอมที่เข้ามา ซึ่งหากร่างกายแข็งแรงมากพอ เจ้าเชื้อต่าง ๆ ก็ไม่มีสิทธิ์มาทำลายระบบภายในร่างกายได้

    ทว่าเมื่อใดก็ตามที่ระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ร่างกายตอบสนองต่อเชื้อโดยการหลั่งเม็ดเลือดขาวออกมามากเกินไป ซึ่งอาจก่อภาวะหลอดเลือดรั่ว หรือภาวะเกล็ดเลือดเกาะตัวจนขัดขวางการเดินของเลือดและออกซิเจน ภาวะนี้ผู้ป่วยอาจมีความดันโลหิตต่ำ และส่งผลกระทบให้การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ล้มเหลว จุดนี้ก็ถือว่าเข้าขั้นวิกฤต ผู้ป่วยควรได้รับการวินิจฉัยชนิดของเชื้อและกำจัดตัวเชื้อออกจากร่างกายโดยเร็วที่สุด

    หรือในกรณีเชื้อโรคที่เข้ามาเกิดดื้อยา (จากการใช้ยาปฏิชีวนะพร่ำเพรื่อหรือเลือกใช้ยาฆ่าเชื้อไม่ตรงกับเชื้อที่จะกำจัด) หรือเชื้อนั้นมีความรุนแรงจนเกินกำลังที่เม็ดเลือดขาวจะกำจัดได้ หรือวินิจฉัยและกำจัดเชื้อช้าไป เชื้ออาจไหลไปตามหลอดเลือดอย่างรวดเร็ว ก่อภาวะติดเชื้อหรือการอักเสบไปยังอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยตกอยู่ในภาวะฉุกเฉินและอาจเสียชีวิตจากการทำงานในระบบต่าง ๆ ล้มเหลวในที่สุด



    ตอบลบ
  10. ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด



    ติดเชื้อในกระแสโลหิต รักษาหายไหม

    หากไม่ได้ติดเชื้อที่รุนแรงหรือเชื้อดื้อยา ภาวะดังกล่าวก็สามารถรักษาได้ โดยหลักการสำคัญในการรักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด คือ การรักษาการติดเชื้อและการประคับประคองสภาพการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด โดยวิธีรักษาอาการติดเชื้อในกระแสโลหิตมีดังนี้

    - Source Control

    การควบคุมหรือกำจัดเชื้อออกจากตำแหน่งที่มีการติดเชื้อด้วยการระบายหนองหรือผ่าตัด เป็นการกำจัดเชื้อออกไปเป็นจำนวนมาก และยังเป็นการกำจัดแหล่งของเชื้อโรค หรือการอุดตันของเชื้อที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อ โดยสามารถระบายหนองได้หลายวิธี ทั้งการผ่าตัด การใส่สายระบายโดยการใช้อัลตราซาวด์ หรือ computerized tomographic scanning ช่วยในการใส่สายระบาย ทำให้ลดความจำเป็นในการผ่าตัดลงไปได้มาก

    ทว่าหากเป็นการติดเชื้อจากอวัยวะเทียมหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่อยู่ในร่างกาย ควรถอดอุปกรณ์เหล่านั้นออกจากตัวผู้ป่วยโดยด่วน

    - การให้ยาปฏิชีวนะ

    การรักษาภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดด้วยยาปฏิชีวนะควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้

    * เลือกยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อที่เป็นสาเหตุ
    * โอกาสดื้อยาระหว่างการรักษา
    * ยาในกลุ่ม aminoglycosides ควรให้วันละครั้ง

    - ประคับประคองอาการ

    การประคับประคองอาการไตวายด้วยการทำ dialysis การดูแลรักษาภาวะเลือดออกผิดปกติ การป้องกันเลือดออกจากทางเดินอาหาร ตลอดจนการดูแลภาวะโภชนาการด้วย

    นอกจากนี้ควรควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ไม่สูงเกิน 110 มก./ดล. และควรตรวจหาคอร์ติซอลในเลือดด้วย

    วิธีป้องกันตัวเองจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ควรดูแลตัวเองอย่างไรดี

    ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ และอย่างที่บอกว่าในชีวิตประจำวันเราก็ต้องเจอกับเชื้อโรคและแบคทีเรียอยู่แล้ว ดังนั้นเราจึงควรเสริมภูมิคุ้มกันให้กับเม็ดเลือดขาว และเพิ่มขีดความสามารถให้กับระบบภูมิต้านทานในร่างกายด้วยการดูแลตัวเองดังนี้

    - หมั่นออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
    - รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
    - พักผ่อนให้เพียงพอ
    - ฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่สามารถลดความเสี่ยงด้วยการฉีดวัคซีนคุ้มกันได้
    - หมั่นสังเกตสุขภาพร่างกายของตัวเองอยู่เสมอ เมื่อเกิดความผิดปกติควรรีบพบแพทย์ทันที

    ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดรักษาให้หายได้ เพียงแต่ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที รวมทั้งแพทย์เองก็ควรวินิจฉัยอาการและชนิดของเชื้อที่ผู้ป่วยติดให้ถูกต้องด้วย



    ขอบคุณข้อมูลจาก
    หมอชาวบ้าน
    สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข
    กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข


    ตอบลบ