16 ตุลาคม วันอาหารโลก World Food Day
16 ตุลาคม วันอาหารโลก
อาหารเป็นปัจจัยหลักสำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยอาหารช่วยทำให้ร่างกายเจริญเติบโต แข็งแรง สมบูรณ์ สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ แต่ปัจจุบันพบว่ามีประชากรโลกประมาณ 870 ล้านคน หรือ 1 ใน 8 คนของประชากรโลก ที่ยังอดอยากหิวโหยอยู่ ดังนั้น วันอาหารโลก จึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้สาธารณชนได้ตระหนักถึงปัญหาความอดอยาก และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงด้านอาหาร
เพื่อให้เพื่อน ๆ เข้าใจถึงความสำคัญของวันอาหารโลก วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีประวัติความเป็นมาของวันอาหารโลกมาฝากกันค่ะ
ประวัติวันอาหารโลก
โดย FAO เกิดขึ้นมาจากปัญหาความอดอยากหิวโหยและขาดแคลนอาหาร ซึ่งเป็นผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ประเทศต่าง ๆ 44 ประเทศ ร่วมกันจัดตั้งองค์การอาหารและเกษตร เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ก่อนการลงนามให้สัตยาบรรณในกฎบัตรสหประชาชาติ สำนักงานแรกตั้งอยู่ที่เมืองควิเบกซิตี รัฐควิเบก ประเทศแคนาดา ต่อมาในปี พ.ศ. 2490 ได้ย้ายสำนักงานใหญ่มาที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกา และปัจจุบันสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี
ภารกิจหลักของ FAO ประกอบด้วย การยกระดับโภชนาการและมาตรฐานความเป็นอยู่ของประชากรโลก ปรับปรุงสมรรถนะการผลิตและการกระจายผลิตผลการเกษตร ป่าไม้ และการประมง ส่งเสริมการพัฒนาชนบท ปรับปรุงความเป็นอยู่ของประชาชนในชนบท ซึ่งล้วนนำไปสู่การขจัดความหิวโหย
โดยกิจกรรมที่นำไปสู่ผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย ได้แก่ การส่งเสริมการลงทุนในการเกษตร ปรับปรุงคุณภาพดิน และจัดการเกี่ยวกับแหล่งน้ำ เพิ่มพูนผลิตผลด้านการเพาะปลูกและเลี้ยงสัตว์ ถ่ายทอดความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร ส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ส่งเสริมการใช้ปุ๋ยและสารเคมีทางการเกษตรให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ ขจัดโรคระบาดในสัตว์ พัฒนาการประมงน้ำจืดและน้ำเค็ม แสวงหาแหล่งพลังงานซึ่งใช้หมุนเวียนได้ ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรป่าไม้โดยประหยัด และมีการปลูกป่าทดแทน นอกจากนี้ยังให้ความช่วยเหลือทางวิชาการด้านโภชนาการ การปฏิรูปการเกษตร วิศวกรรมการเกษตร การสื่อสารเพื่อพัฒนาการเกษตร การใช้ดาวเทียมเพื่อรวบรวมข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติ และการป้องกันน้ำท่วมอีกด้วย
สำหรับวันอาหารโลกถูกกำหนดขึ้นโดยรัฐสมาชิกขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ในการประชุมทั่วไปครั้งที่ 20 เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2522 (ค.ศ. 1979) คณะผู้แทนฮังการี นำโดยอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและอาหารของฮังการี ดร.พอล โรมานี เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในสมัยการประชุมครั้งนั้น และได้เสนอแนวคิดในการเฉลิมฉลองวันอาหารโลกทั่วโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการเร่งเร้าให้ประเทศต่าง ๆ มีจิตสำนึกเรื่องอาหารและการพัฒนา เสริมสร้างความสมานฉันท์ระดับชาติและนานาชาติในการต่อสู้กับความอดอยากหิวโหย ทุพโภชนาการและความยากจน ซึ่งในแต่ละปี FAO จะเป็นผู้กำหนดแนวคิดของการดำเนินกิจกรรมเนื่องในวันอาหารโลกในประเด็นต่าง ๆ กัน โดยให้วันอาหารโลกเกิดขึ้นวันแรกในปี พ.ศ. 2524 (ค.ศ. 1981) ซึ่งเริ่มต้นที่ประเทศแรก คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา และมีสมาชิกกว่า 450 ประเทศ
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เป็นต้นมา ได้มีการปรับใช้คำขวัญที่แตกต่างกันไปในแต่ละปี เพื่อที่จะกำหนดขอบเขตสำหรับการดำเนินการและความเอาใจใส่ในประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น
และในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ในวันอาหารโลก มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1. เพื่อเป็นการเร่งเร้าให้ประเทศต่าง ๆ มีจิตสำนึกเรื่องอาหารและการพัฒนา
2. เพื่อเสริมสร้างความสมานฉันท์ระดับชาติและนานาชาติในการต่อสู้กับความอดอยากหิวโหย ทุพโภชนาการและความยากจน ซึ่งเป็นปัญหาของโลก
สำหรับประเทศไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การ เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2490 และเป็นสมาชิกลำดับที่ 45 นับตั้งแต่ได้เข้าเป็นสมาชิกแล้ว ประเทศไทยได้รับความช่วยเหลือทางด้านการเร่งฟื้นฟูการเกษตรของประเทศ ในระยะแรกมีโครงการที่ประสบความสำเร็จมาก คือ โครงการประมงน้ำจืด ซึ่งทางองค์การได้ส่งนักวิชาการด้านประมงมาให้คำแนะนำแก่ชาวประมงไทยในการเลี้ยงปลาหมอเทศและการเพาะพันธุ์ปลาสวาย
นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้รับความช่วยเหลือจากองค์การทางด้านการชลประทาน สหกรณ์ เศรษฐกิจการเกษตร ด้านสุขภาพอนามัยและโภชนาการ ตลอดจนสนับสนุนทุนการศึกษา ดูงานและฝึกอบรบอีกด้วย