Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2567

ชา สรรพคุณและประโยชน์ของชา ใบชา น้ำชา 36 ข้อ ! (Tea)

 ชา สรรพคุณและประโยชน์ของชา ใบชา น้ำชา 36 ข้อ ! (Tea) 




ชา 

ชา ชื่อสามัญ Tea, Thea ชา ชื่อวิทยาศาสตร์ Camellia sinensis (L.) Kuntze จัดอยู่ในวงศ์ชา (THEACEAE) 

สมุนไพรชา มีชื่อท้องถิ่นอื่น ๆ ว่า เมี่ยง เมี่ยงป่า (ภาคเหนือ), ชา (ภาคกลาง), ลาบ่อ (อาข่า), นอมื่อ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), แต๊ (จีนแต้จิ๋ว), ฉา (จีนกลาง) เป็นต้น


ลักษณะของต้นชา 

สมุนไพรชา เป็นไม้ยืนต้นที่เชื่อว่ามีถิ่นกำเนิดมาจากเทือกเขาทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของจีน เนื่องจากมีหลักฐานการค้นพบต้นชาสายพันธุ์ดั้งเดิมหลายสายพันธุ์ที่เป็นพืชพื้นเมืองประจำถิ่นของมณฑลยูนนาน และภายหลังได้แพร่กระจายไปปลูกตามประเทศทางเอเชียตะวันออกรวมถึงญี่ปุ่น ในการเพาะปลูกมักตัดแต่งกิ่งให้เป็นพุ่มสูงประมาณ 0.6-1 เมตร ทั้งนี้ก็เพื่อความสะดวกในการเก็บใบชา ส่วนการเก็บใบชามักจะเก็บแต่ใบอ่อน ๆ แรกผลิออกเป็น 3 ใบเท่านั้นชาเป็นพืชกึ่งร้อนที่เจริญเติบโตได้ดีในเขตอบอุ่นและมีฝน ปลูกได้ดีที่ระดับความสูงจากน้ำทะเลตั้งแต่ 200-2,000 เมตร โดยชาที่ผลิตทางการค้าส่วนใหญ่จะมีอยู่ 2 สายพันธุ์[4] ได้แก่ กลุ่มชาพันธุ์จีน (Chinese Tea) และกลุ่มชาพันธุ์อัสสัม (Assam tea)

- กลุ่มชาพันธุ์จีน (Chinese Tea) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis var. sinensis เป็นสายพันธุ์นำเข้ามาจากประเทศไต้หวันและจีน นิยมปลูกกันมากเนื่องจากให้ผลผลิตสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด ในประเทศไทยปลูกกันมากทางภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ซึ่งการปลูกจะปลูกเป็นแถวแบบขั้นบันได มีการจัดการแปลงปลูกอยากเป็นระบบและตัดแต่งกิ่งอย่างสม่ำเสมอ

ต้นชา ชาสายพันธุ์จีนจัดเป็นพรรณไม้ขนาดย่อมจนถึงขนาดกลาง มีความสูงของต้นประมาณ 1-6 เมตร ลำต้นแตกกิ่งก้านมาก ตามกิ่งอ่อนมีขนปกคลุม ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด พรรณไม้ชนิดนี้เป็นพันธุ์เดิมของประเทศจีน แต่ในบ้านเราก็มีปลูกมานานแล้ว เคยพบที่จังหวัดพะเยาแต่ไม่มากเท่าไหร่ แต่ก็มีปลูกกันบ้างประปรายทางภาคเหนือ




ใบชา ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ ลักษณะของเป็นรูปหอก ปลายใบแหลม ขอบใบเป็นจักเล็ก ๆ หรือเป็นฟันเลื่อย ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 6-12 เซนติเมตร หลังใบเป็นสีเขียวเข้ม ส่วนท้องใบเป็นสีเขียวอ่อน แผ่นใบหนาและเหนียว เรียบเป็นมัน คล้ายใบข่อยแต่จะยาวและใหญ่กว่า เส้นใบเป็นตาข่าย ส่วนก้านใบสั้น




ดอกชา ออกดอกเป็นช่อหรือออกเป็นกระจุกตามง่ามใบ ลักษณะของดอกคล้ายกับดอกส้มเขียวหวาน โดยดอกชาจะมีลักษณะใหญ่สีสวย ดอกเป็นสีขาวนวล และมีกลิ่นหอม ในช่อหนึ่งจะมีดอกประมาณ 1-4 ดอก กลีบดอกมี 5 กลีบ ส่วนกลีบเลี้ยงมี 2 กลีบ ดอกมีเกสรเพศผู้อยู่กลางดอกจำนวนมาก



ผลชา เป็นผลแบบแคปซูล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 เซนติเมตร เมื่อแก่จะแตกออก ในหนึ่งผลจะมีเมล็ดอยู่ประมาณ 1-3 เมล็ด ลักษณะของเมล็ดเป็นรูปสามเหลี่ยมแบน หรือค่อนข้างกลม ผิวเมล็ดเรียบ เป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบดำหรือสีน้ำตาลอมแดง มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10-14 มิลลิเมตร



กลุ่มชาพันธุ์อัสสัม (Assam tea) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Camellia sinensis var. assamica มีชื่อเรียกหลายชื่อ เช่น ชาอัสสัม ชาป่า ชาพื้นเมือง ชาเมี่ยง เป็นต้น ชาชนิดนี้จะเป็นพันธุ์ชาที่ใบใหญ่กว่าชาพันธุ์จีน เจริญเติบโตได้ดีในป่าเขตร้อนชื้นที่มีร่มไม้และแสงแดดพอประมาณ ในประเทศไทยพบได้ที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง แพร่ และน่าน


ต้นชา จัดเป็นไม้พุ่มขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผิวลำต้นเรียบ ตามกิ่งอ่อนปกคลุมไปด้วยขนอ่อน ๆ มีความสูงของต้นประมาณ 6-18 เมตร มีขนาดใหญ่กว่าชาจีนอย่างเด่นชัด กิ่งที่มีอายุมากจะเปลี่ยนเป็นสีเทา



ใบชา ใบเป็นใบเดี่ยว ออกสลับและเวียน ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อยเด่นชัด โดยมีหยักฟันเลื่อยประมาณ 9 หยัก ใบมีขนาดกว้างประมาณ 3-6 เซนติเมตร และยาวประมาณ 7-16 เซนติเมตร หรืออาจพบใบมีที่มีขนาดใหญ่กว่านี้ แผ่นใบเป็นสีเขียวอ่อนถึงสีเขียวเข้ม ก้านใบและท้องใบมีขนอ่อนปกคลุม



ดอกชา ดอกเจริญจากตาบริเวณง่ามใบบนกิ่ง ในแต่ละตาจะประกอบไปด้วยตาที่เจริญไปเป็นกิ่งอยู่ด้านบนของตา ส่วนใหญ่ดอกออกติดกันเป็นกลุ่ม ๆ ช่อละประมาณ 2-4 ดอกต่อตา ดอกมีกลีบเลี้ยงประมาณ 5-6 กลีบ ขนาดไม่เท่ากัน ลักษณะเป็นรูปทรงโค้งมนยาว ก้านดอกยาวประมาณ 10-12 มิลลิเมตร ส่วนกลีบดอกมีประมาณ 5-6 กลีบ โคนกลีบติดกับฐานดอกแคบ ส่วนปลายกลีบบานออก วงเกสรเพศผู้ประกอบไปด้วยอับละอองเกสรสีเหลืองติดอยู่ ส่วนปลายของก้านชูอับละอองเกสรเป็นสีขาว ยาวได้ประมาณ 5 มิลลิเมตร เกสรเพศเมียมีลักษณะเป็นก้านกลม ภายในรังไข่แบ่งออกเป็นช่อง 1-3 ช่อง เมื่อดอกบานเต็มที่จะมีขนาดกว้างประมาณ 3.65 เซนติเมตร



ผลชา ผลเป็นแบบแคปซูล มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2-4 เซนติเมตร เมื่อแก่เต็มที่เปลือกจะแตกออก ภายในมีเมล็ดลักษณะกลม ผิวเมล็ดเรียบแข็ง เป็นสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลอมแดง หรือสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ เมล็ดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 11-12 มิลลิเมตร




ในเรื่องของกระบวนการผลิตชาจะเริ่มจากการเก็บใบชาสด แล้วนำมาเข้ากระบวนการที่ทำให้เกิดการหมักในระดับที่แตกต่างกันไป ซึ่งเมื่อจัดแบ่งประเภทชาตามระดับของการหมักแล้วจะสามารถแบ่งชาหลัก ๆ ออกได้เป็น 3-4 ประเภท คือ ชาขาว (White tea), ชาเขียว (Green tea), ชาอู่หลง (Oolong tea) และชาดำ (Black tea) โดยชาขาวและชาเขียวนั้นเป็นชาที่ไม่ผ่านการหมักเลย ส่วนชาอู่หลงเป็นชาที่ผ่านการหมักบางส่วน และชาดำเป็นชาที่ผ่านการหมักอย่างสมบูรณ์







1. ใบนำมาต้มเคี่ยวเอาน้ำกิน ช่วยกระตุ้นทำให้กระชุ่มกระชวย ไม่ง่วงนอน ทำให้ตาสว่าง กระตุ้นให้หายเหนื่อย (ใบ)
2. ช่วยแก้อาการปวดศีรษะ หน้ามืดตามัว (ใบ)
3.ใบชานำมานึ่งแล้วหมักกับเกลือ ทำเป็นคำ ๆ ใช้อม จะช่วยทำให้คอชุ่ม แก้อาการกระหายน้ำได้ดีมาก (ใบ)
4. ช่วยแก้อาการร้อนในกระหายน้ำ (ใบ)
5. ใบชามีสรรพคุณช่วยบำรุงหัวใจให้ชุ่มชื่น (ใบ)
6. รากชามีสรรพคุณช่วยกระตุ้นให้หัวใจบีบตัวแรงขึ้น แก้โรคหัวใจบวมน้ำ (ราก)
7. ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด (ใบ)
8. กิ่งและใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้หืด (ใบ,กิ่ง)
9. ใบมีฤทธิ์เป็นยาฝาดสมานใช้รักษาและลดอาการท้องร่วง (ใบ)
10. ใบใช้เป็นยาแก้บิด (ใบ)
11. ใบแห้ง ใช้ชงใส่น้ำตาล กินเป็นยารักษาอาการปวดท้อง (ใบ)
12.  รากใช้เป็นยาแก้ท้องเสีย (ราก)
13. ช่วยในการย่อยอาหาร (ใบ)
14. ช่วยขับปัสสาวะ (ราก,ใบ)
15. ช่วยแก้ตับอักเสบ (ราก)
16. ใบมีสรรพคุณเป็นยาแก้พิษ (ใบ)  กิ่งและใบ นำมาชงแก่ ๆ ใช้รักษาอาการเป็นพิษของยาอันตรายที่เป็นอัลคาลอยด์ต่าง ๆ (กิ่งและใบ)
17. รากมีสรรพคุณช่วยต้านเชื้อ แก้ปากเป็นแผล (ราก)
18. กิ่งมีสรรพคุณเป็นยาสมานแผล (กิ่ง)
19. ใบใช้เป็นชะล้างแผล สมานแผล แก้บวม (ใบ)  
20. ราก เมล็ดและน้ำมันใช้เป็นยาภายนอก แก้แผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก แก้แผลเปื่อย (ราก,เมล็ดและน้ำมัน)  กากใบชาใช้เป็นยาพอกแผล สำหรับแผลที่ถูกไฟไหม้น้ำร้อนลวก (กากใบชา) ส่วนกิ่งและใบใช้ทำเป็นน้ำยาสมานของกรดแทนนิน ใส่แผลไหม้พอง (กิ่งและใบ)
21. ราก เมล็ดและน้ำมัน ใช้ภายนอกเป็นยาแก้โรคผิวหนัง กลากเกลื้อน (ราก,เมล็ดและน้ำมัน)  ส่วนใบก็มีสรรพคุณรักษากลากเกลื้อนได้เช่นกัน 
22. ใบชามีสรรพคุณช่วยรักษาอาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้ดี (ใบ)


หมายเหตุ : วิธีใช้ตาม [2] ในส่วนของใบให้ใช้ใบแห้งประมาณ 3-10 กรัม หรือกะเอาตามสมควร นำมาชงกับน้ำรับประทาน ส่วนรากให้ใช้รากแห้งประมาณ 30-50 กรัม[2] ส่วนอีกวิธีระบุให้ใช้ใบแห้งประมาณ 1 หยิบมือ ชงกับน้ำร้อน 1-2 แก้ว ทิ้งไว้ประมาณ 5-10 นาที นำมาจิบบ่อย ๆ ดื่มต่างน้ำ






- สารที่พบได้แก่ Caffeine 1-4%, Barringtogenol, Gallotannic acid, Theophylline, Theobromine, Theasapogenol A, B, C, D, E, Theafolisaponin, Xanthine, Vitamin C และน้ำมันหอมระเหย เป็นต้น[2] ส่วนอีกข้อมูลระบุว่า สารสำคัญที่พบในชา ได้แก่ acetaldehyde, acetamide, acetone, acetophenone, afzelechin, amyrin, apigenin, aromadendrin, benzaldehyde, benzolthiazole, brassinolide, butyroin, caffeine, camellia galactoglucanm camelliaside A, B, C, carvacrol, fluoride, linalool-β-D-glucopyranoside

ชามีฤทธิ์ลดระดับน้ำตาลในเลือด ลดความดันโลหิตสูง ลดคอเลสเตอรอลในเลือด ลดไขมัน กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยแก้อาการซึมเศร้า ป้องกันฟันผุ กระตุ้นภูมิคุ้มกัน
สาร Caffeine และสาร Theophylline มีฤทธิ์ทำให้หลอดเลือดหัวใจแข็งตัว ทำให้หัวใจถูกกระตุ้นและมีผลทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นด้วย
เมื่อนำสารที่สกัดได้จากใบชามาทดลองกับหัวใจที่อยู่นอกร่างของกบ พบว่า มีฤทธิ์กระตุ้นการบีบตัวของหัวใจกบ และมีผลต่อการเต้นของหัวใจให้แรงขึ้น โดยเฉพาะในใบชาเขียว จะมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน

เนื่องจากใบชามีสาร Caffeine และสาร Theophylline รวมอยู่ด้วย โดยสารเหล่านี้มีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของท่อดูดซึมน้ำในไต จึงมีประสิทธิภาพในการขับปัสสาวะได้มากขึ้น

คาเฟอีนยังมีฤทธิ์กระตุ้นกระเพาะอาหาร ทำให้หลั่งสารน้ำย่อยของกระเพาะมากขึ้น เพราะฉะนั้นผู้ที่เป็นโคกระเพาะเป็นแผล จึงห้ามดื่มน้ำชา

จากการศึกษาฤทธิ์ของสาร Catechins ในหนูขาวเพศผู้อายุ 7 สัปดาห์ โดยแบ่งการทดลองออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มควบคุมให้กินน้ำ และกลุ่มทดลอง 2 กลุ่ม ที่ให้กินสารละลาย catechins เข้มข้น 0.1% และ 0.5% ผสมในน้ำตามลำดับ หลังจากนั้น 3 สัปดาห์ พบว่าน้ำหนักตัวของหนูขาวในกลุ่มทดลองลดลง เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม และยังพบว่ากลุ่มทดลองที่กินสารละลาย catechins เข้มข้น 0.5% สามารถลดระดับไขมัน ระดับคอเลสเตอรอล และระดับไตรีกลีเซอไรด์ในเยื่อยึดลำไส้และตับได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลโดยรวมในซีรัม และลดระดับกรดน้ำดีในซีรัมด้วย จากการศึกษาครั้งนี้ได้แสดงให้เห็นว่าสาร catechins ในชาไม่เพียงแต่จะช่วยเผาผลาญไขมันได้ในคนอ้วนเท่านั้น แต่ยังได้ผลดีกับคนที่ไม่อ้วนอีกด้วย

เมื่อปี ค.ศ.2003 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ทำการทดลองผลการลดไขมันในเลือดของชา โดยทำการทดลองกับผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีไขมันในเลือดสูง แบ่งเป็นชาย 7 คน และหญิง 3 คน ทำการทดลองให้ชาผู้ป่วยดื่ม ในกลุ่มควบคุมให้ชาที่ free caffeine พบว่าหลังจาก 3 เดือนผ่านไป ผู้ป่วยที่ได้รับชา จะมีค่าคอเลสเตอรอลลดลง 6.5%, LDL-c 0.1%, lipoprotein 16.4% จึงสรุปได้ว่า ชาสามารถลดระดับไขมันในเลือดได้

เมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศบราซิล ได้ทำการศึกษาทดลองในผู้ป่วยที่มีระดับไขมันในเลือดสูงจำนวน 100 คน แบ่งกลุ่มการทดลองเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งให้ซุป (kinako) 50 กรัมต่อวัน กลุ่มที่สองให้ชาเขียว 3 กรัมต่อวัน กลุ่มที่สามให้ซุป (kinako) และน้ำชา ขนาด 50 กรัม และ 3 กรัมต่อวัน ส่วนกลุ่มที่สี่เป็นกลุ่มควบคุม โดยใช้เวลาทำการทดลอง 45 วัน และ 90 วัน ผลการทดลองพบว่ากลุ่มที่สองและสามที่ให้น้ำชา มีระดับคอเลสเตอรอลลดลง

เมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการทดลองในคนที่มีไขมันในเลือดสูง จำนวน 47 คน โดยให้สารสกัดใบชาในรูปของยาเม็ด ขนาด 333 มิลลิกรัม ส่วนกลุ่มควบคุมให้ placebo ให้กิน 3 เวลาต่อวัน ติดต่อกันเป็นเวลา 3 เดือน ผลการทดลองพบว่าอาสาสมัครมีระดับคอเลสเตอรอลลดลง 4.32-0.14 mol/L P<0.01 ค่า LDL-c ลดลง 3.81-0.13 mol/L ค่าไตรกลีเซอไรด์ลดลง P<0.01 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ

เมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศญี่ปุ่น ได้ทำการทดลองผลการลดไขมันในเลือดของ bleak tea ชาจีน ซึ่งสามารถลดระดับไขมันในเลือด หลังการให้สารละลายในหนูที่ให้ไขมันคอเลสเตอรอล 130 mg./kg. และให้ชาจีนขนาด 0.3 g./kg. หลังจากให้ชาแล้วพบว่า ค่า postprandial ของน้ำตาลในเลือดลดลง ระดับไขมันในเลือดลดลง แต่สำหรับชาเขียวที่ไม่ได้ผ่านการหมักบ่ม ไม่ได้ให้ผลดังกล่าว โดยใช้เวลาในการทดลอง 3 สัปดาห์ และพบว่าระดับไขมันในเลือดลดลง 1.36 mol/L P<0.05 และพบไขมันในไตลดลง 0.3% P<0.05 พบค่า LDL-c ลดลง 0.51 m mol/L , 0.1% P<0.05 ซึ่งค่าทางคลินิกดงกล่าวจะใช้ในการรักษาผู้ป่วยไขมันในเลือดสูงต่อไป

เมื่อปี ค.ศ.2008 ที่ประเทศเกาหลี ได้ทำการศึกษาผลการลดไขมันในเลือดของใบชา ซึ่งมี GCG-Rich Tea Catechins เป็นสารสำคัญในใบชา โดยทำการทดลองกับหนูทดลองที่ให้อาหารและกระตุ้นให้มีไขมันในเลือดสูง ผลการทดลองพบว่า หลังจากให้สารสกัดจากใบชาในหนูทดลองดังกล่าว ระดับไขมันในเลือดของหนูจะลดลง

เมื่อปี ค.ศ.2009 ที่ประเทศจีน ได้ทำการศึกษาทดลองผลในการลดระดับไขมันในเลือดของ Kombucha tea ในหนูทดลอง โดยพบว่าใบชาดังกล่าวจะกระตุ้นการผลิต D-saceharic acid-1, 4-lactone และเพิ่ม antioxidant enzyme ทำให้สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดของหนูได้ภายหลังการทดลอง

จากการทดสอบความเป็นพิษ สารสกัดจากชาด้วยเอทานอลและน้ำ ในอัตราส่วน 1:1 ในขนาด 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ให้ทางปาก มีสารสกัด Sapponin เป็นสารพิษ เกิดความเป็นพิษผสม tannic acid จากชาปริมาณ 0.25-15.25% ในอาหาร ให้หนูขาวกินเป็นเวลา 80 สัปดาห์ จะทำลายลำไส้ ตับและไต ถ้าให้หนูขาว หนูตะเภากินสารสกัดจากชา ขนาดต่ำกว่า 5 กรัมต่อกิโลกรัม ครั้งเดียว หนูจะตายภายใน 14 วัน






1. ในช่วงที่อากาศร้อน ๆ การดื่มชาจะช่วยทำให้คุณรู้สึกสดชื่นขึ้นได้ เนื่องจากในใบชามีสารโพลีฟีนอล กรดอะมิโน และคาร์โบไฮเดรต เมื่อสารเหล่านี้เกิดปฏิกิริยากับน้ำลายจะช่วยกระจายความร้อนส่วนเกินในร่างกายได้

2. ชาเป็นเครื่องดื่มที่มีธาตุอาหารอยู่หลายชนิดที่ช่วยบำรุงร่างกายให้มีสุขภาพดี ช่วยกระตุ้นระบบประสาทและร่างกายให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะใบชามีสารคาเฟอีนที่ช่วยกระตุ้นระบบประสาท ช่วยหมุนเวียนโลหิต มีอิทธิพลต่อกระบวนการเมตาบอลิซึมของเซลล์ภายในร่างกาย และยังมีการใช้ชาผสมกับยาแก้ปวด รักษาโรคไมเกรน เพื่อช่วยเพิ่มฤทธิ์ในการรักษาและทำให้ยาออกฤทธิ์ได้นานยิ่งขึ้น

3. การดื่มชาเป็นประจำจะทำให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงสดชื่น ช่วยขับสารพิษออกจากร่างกาย ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ช่วยชะลอความชราและมีส่วนช่วยบำรุงผิวพรรณ

4. การดื่มชามีผลต่อระบบต่อมไร้ท่อ และช่วยสลายไขมัน ลดระดับคอเลสเตอรอล โดยไปเพิ่มการขับคอเลสเตอรอลในร่างกายผ่านทางน้ำดีในอุจจาระ

5. ในประเทศจีนรู้กันมานานแล้วว่า ชาจีนสามารถควบคุมการเกิดโรคอ้วนได้ มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรค ต้านจุลชีพ ลดการอักเสบ สมานแผล ช่วยขับและล้างสารพิษในร่างกาย เนื่องจากใบชามีสารโฟลีฟีนอลที่สามารถช่วยฆ่าเชื้อแบคทีเรียในลำไส้ใหญ่ได้ ส่วนฤทธิ์ต้านการอักเสบเชื่อว่าชาสามารถช่วยป้องกันโรคที่ก่อการอักเสบเรื้อรังได้ เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์

6. คนญี่ปุ่นเชื่อว่าการดื่มชาสามารถช่วยลดการเกิดโรคมะเร็งในกระเพาะอาหาร เพราะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและเสริมสุขภาพ

7. ชามีประโยชน์ต่อระบบหัวใจและการไหลเวียนของโลหิต ช่วยขยายหลอดเลือด ป้องกันโรคเส้นเลือดหัวใจตีบตัน และการดื่มชายังช่วยรักษาอาการเจ็บหน้าอก และกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้อีกด้วย

8. การดื่มชาแก่ ๆ สักถ้วย จะช่วยกระตุ้นการหลั่งน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร และช่วยในการย่อยอาหารจำพวกวิตามินกลุ่มต่าง ๆ

9. ชายังมีสารไอโอดีน และฟลูออไรด์ ซึ่งเป็นสารที่ช่วยป้องกันภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป ฟลูออไรด์ในจำนวนที่เพียงพอกับความต้องการของร่างกายจะช่วยป้องกันฟันผุและเสริมมวลกระดูกได้

10. ใบอ่อนมีรสฝาด หอม หวาน ใช้ยำกินได้อร่อยมาก

11. ใบอ่อนนำมาปรุงแต่งและอบกลิ่นเป็นใบชา ส่งไปขายเป็นสินค้าตามต่างประเทศ ในบ้านเราเรียกว่าต้นเมี่ยง ส่วนมากทางภาคเหนือรู้จักกันมานาน

12. กากเมล็ดมีสารซาโปนิน (Saponin) ที่มีคุณสมบัติช่วยล้างสิ่งต่าง ๆ ได้สะอาดดีมาก และยังใช้สระผมเพื่อล้างสิ่งสกปรกออกจากผล นอกจากนี้น้ำมันที่ติดกากเมล็ดยังช่วยทำให้เส้นผมชุ่มชื้นเป็นมันอีกด้วย

13. กากชามีประโยชน์ช่วยในการดูดกลิ่น ส่วนใบชายังใช้ใส่ลงในโลงศพ เพื่อดูดกลิ่นเหม็นจากศพได้ด้วย

14. ส่วนคนเมืองจะใช้ใบอ่อนหมักเป็นเมี่ยงขาย ส่วนยอดอ่อนเก็บเป็นผลผลิตไว้ขาย






- สำหรับบางคน การดื่มชาอาจจะไม่เหมาะสมและอาจทำให้เกิดโทษได้ ได้แก่ ผู้ที่ไตทำงานบกพร่องหรือมีอาการไตวาย ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะอาหารและลำไส้ กระเพาะเป็นแผล สตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิด สตรีตั้งครรภ์ สตรีให้นมบุตร ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ผู้ที่มีไข้สูง ผู้ที่เป็นโรคนอนไม่หลับ รวมไปถึงเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ขวบก็ไม่ควรดื่มชา

ผู้ที่มีปัญหานอนไม่ค่อยหลับ นอนหลับยาก หรือเป็นโรคนอนไม่หลับ ไม่ควรดื่มชาก่อนเข้านอน เพราะคาเฟอีนที่มีอยู่ในชาจะมีฤทธิ์กระตุ้นประสาท ทำให้ไม่ง่วงนอน และลดความสามารถและระยะเวลาในการนอนหลับ

ผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ ไม่ควรดื่มชา เพราะคาเฟอีนจะทำให้หัวใจเต้นเร็ว หลอดเลือดหดตัว ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองและหัวใจได้ไม่สม่ำเสมอ ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น

คาเฟอีนยังทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้อีกด้วย ดังนั้นชาจึงไม่เหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน

ส่วนผู้ที่มีไข้สูง สาเหตุที่ไม่ควรดื่มชาก็เพราะจะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น หัวใจเต้นเร็ว ยิ่งทำให้ตัวร้อนมากขึ้น และแทนนินยังทำให้ร่างกายขับเหงื่อออกมาน้อยกว่าปกติ

คาเฟอีนมีฤทธิ์เพิ่มการหลั่งกรดในกระเพาะ ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ หรือมีปัญหาเกี่ยวกับกระเพาะและลำไส้จึงไม่ควรดื่ม เพราะจะทำให้รู้สึกอึดอัด อาเจียนออกมาเป็นน้ำใส ๆ และไม่ควรดื่มชาเวลาท้องว่างในตอนเช้า เพราะจะทำให้ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ แต่ถ้าอยากดื่มชาในตอนเช้า ก็ควรหาอะไรกินรองท้องก่อน

ผู้ที่ไตทำงานบกพร่องหรือมีอาการไตวาย ก็ไม่ควรดื่มชามากจนเกินไป เพราะร่างกายจะไม่สามารถขับน้ำออกทางปัสสาวะได้ตามปกติ และทำให้ไตทำงานหนักขึ้น

ผู้ป่วยไทรอยด์ไม่ควรดื่มชา เพราะอาการกระสับกระส่ายจะยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีกเพราะฤทธิ์ของคาเฟอีน

สำหรับสตรีที่รับประทานยาคุมกำเนิดไม่ควรดื่มชา โดยเฉพาะก่อนและหลังกินยาคุม 4 ชั่วโมง เพราะสารแทนนินจะทำให้สารต่าง ๆ ในยาคุมกำเนิดละลายตัวยากและดูดซึมได้น้อยลง

สตรีตั้งครรภ์ที่ไม่ควรดื่มชา สาเหตุก็เพราะอาจเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ได้

แม่ลูกอ่อนที่ให้นมลูก ก็ไม่ควรดื่มชา เพราะจะทำให้สารต่าง ๆ ในน้ำชาจะผ่านไปทางนมแม่ ทำให้ทารกขาดแร่ธาตุสำคัญ และยังทำให้ความสามารถในการขับน้ำนมของแม่ลดลงด้วย

เด็กเล็กก็ไม่ควรดื่มชา เพราะจะทำให้ร่างกายย่อยและดูดซึมอาหารได้ไม่เต็มที่ เป็นอุปสรรพคุณต่อการเจริญเติบโต

สารคาเฟอีนในชา มีฤทธิ์กระตุ้นประสาทและมีผลเสพติดอ่อน ๆ ถ้าไม่ได้ดื่มแล้วอาจจะรู้สึกหงุดหงิดได้ และร่างกายไม่ควรได้รับคาเฟอีนเกินวันละ 200 มิลลิกรัม (ประมาณ 4-5 ถ้วย) ผลของคาเฟอีนจะอยู่ได้ประมาณ 8-14 ชั่วโมง และร่างกายจะต้องใช้เวลามากกว่า 48 ชั่วโมงในการสลายคาเฟอีน ถ้าหากร่างกายได้รับคาเฟอีนในปริมาณสูงหรือประมาณ 3,000-10,000 มิลลิกรัม จะทำให้ตายได้ในเวลาอันสั้น

ใบชาที่มีคุณภาพต่ำจะมีกรดแทนนินอยู่มาก มีผลต่อกระเพาะอาหารหรือลำไส้ ส่งผลให้ดูดซึมอาหารได้ไม่เต็มที่ ซึ่งอาจนำไปสู่การเจ็บป่วยด้วยอาการขาดธาตุเหล็กในเลือด และเมื่อแทนนินรวมกับโปรตีนจะทำให้ย่อยโปรตีนยากขึ้นด้วย

การดื่มชาที่เข้มข้นมาก ๆ จะมีผลทำให้กระเพาะอาหารดูดซับอาหารได้น้อยลง ทำให้ระบบการย่อยอาหารทำงานผิดปกติ ซึ่งจะทำให้ท้องผูกได้ ยิ่งถ้าดื่มตอนท้องว่างติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาทำให้เป็นโรคกระเพาะอาหารได้ แต่ทางที่ดีควรจะดื่มชาหลังรับประทานอาหารไปแล้วประมาณ 2-3 ชั่วโมง

ใบชามีสารออกซาเลต (Oxalate) แม้จะมีอยู่น้อย แต่ถ้าดื่มมาก ๆ และดื่มเป็นประจำ สารนี้ก็อาจสะสมในร่างกายและเป็นอันตรายต่อไตได้

ใบชายังมีองค์ประกอบอื่น ๆ ที่มีโทษต่อร่างกาย แต่ไม่ค่อยมีคนกล่าวถึง นั่นก็คือฟลูออไรด์ที่มีในปริมาณสูง อาจทำให้เกิดการสะสมและมีผลทำให้ไตวาย เกิดมะเร็งลำไส้ โรคข้อ โรคกระดูกพรุน และโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับกระดูกได้ แต่ถ้าดื่มไม่มากก็ไม่ต้องเป็นกังวล

ไม่ควรดื่มชาขณะกินยา ไม่ว่าจะยาแผนโบราณหรือยาแผนปัจจุบัน เพราะสารต่าง ๆ ในน้ำชาอาจไปทำปฏิกิริยากับยาที่กินเข้าไป เช่น ทำให้คุณสมบัติของยาลดลง หรืออาจกลายเป็นพิษได้ แต่หากต้องดื่มชาในยามป่วยก็ควรต้องดื่มก่อนหรือหลังกินยาประมาณ 2 ชั่วโมง และให้ชงอ่อน ๆ เข้าไว้

ผู้ที่รับประทานวิตามินหรืออาหารเสริม เช่น เกลือแร่ ธาตุเหล็ก หรือยาที่คล้ายคลึงกัน ควรหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำชาร่วมด้วย เพราะสารสำคัญจากใบชาจะไปตกตะกอนธาตุเหล็กหรือเกลือแร่ ทำให้ไม่ถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย

ในระหว่างที่กินยาบำรุงโลหิตก็ไม่ควรดื่มชา เพราะแทนนินจะไปทำปฏิกิริยากับธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นสารสำคัญในการช่วยบำรุงโลหิต ทำให้ดูดซึมธาตุเหล็กได้น้อย รวมไปถึงผู้ที่กินยาบำรุงต่าง ๆ เช่น โสม เขากวาง ก็ไม่ควรดื่มชาเช่นกัน เพราะมันจะไปหักฤทธิ์กัน

การดื่มชาไม่ควรดื่มชาในขณะที่ยังร้อนจัด เพราะความร้อนจะไปทำลายเนื้อเยื่อในช่องปากจนทำให้เกิดอันตรายในช่องปาก ลำคอ รวมถึงลำไส้ได้

ไม่ควรดื่มชาที่ชงค้างไว้นานหลายชั่วโมง เพราะจะมีกรดแทนนินสูง และสารต่าง ๆ ในน้ำชาอาจทำปฏิกิริยาจนกลายเป็นสารพิษได้




เคล็ดลับการชงชา 

- อุ่นกาใส่ชาให้ร้อนก่อนเสมอ : ขั้นตอนแรกของการที่จะทำให้สามารถดึงรสชาติของชาได้มากที่สุดก็คือ การใส่น้ำร้อนลงไป แล้ววนรอบในกา แล้วเททิ้ง เพื่อเป็นการวอร์มทำให้การ้อนก่อน สาเหตุก็เพราะใบชาต้องการความร้อน

-  ปริมาณต้องพอเหมาะ อุณหภูมิน้ำเดือดต้องพอดี : เมื่อพูดถึงวิธีการชงชาว่า นักชงชามักแนะนำว่าให้ใช้ชา 1 ช้อนสำหรับคนหนึ่งคน แล้วบวกเข้าไปอีก 1 เสมอ เมื่อชงแล้วหากว่ามีรสเข้มเกินไป คราวต่อไปก็ให้ลดจำนวนชาลง ทั้งนี้ความเข้มของชาจะขึ้นอยู่กับจำนวนชาและจำนวนน้ำเป็นหลัก สำหรับชาดำนั้นควรใช้อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส นั่นก็คือ อุณหภูมิน้ำเดือด เมื่อน้ำเดือดแล้วก็ให้ใส่น้ำร้อนเข้าไปในชาได้เลย และไม่ควรทิ้งน้ำให้เดือดนาน ๆ เพราะออกซิเจนในน้ำจะหายไป ทำให้รสชาติน้ำเปลี่ยน แต่ถ้าเป็นชาขาว ชาเขียว และชาอู่หลง ให้ใช้อุณหภูมิต่ำกว่าเล็กน้อย เมื่อน้ำเดือดแล้ว เราอาจจะต้องปิดไฟแล้วรอสัก 2-3 นาที เพื่อให้อุณหภูมิลดลงเล็กน้อย เพราะชากลุ่มนี้เป็นชาที่ละเอียดอ่อนกว่า ถ้าใช้อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสจะทำให้ชากลุ่มนี้ขมเกินไป

ชาแบบซองไม่ต้องแกว่ง แต่ให้ใช้เวลา : หลายคนนิยมนำชาที่เป็นซองมาชงดื่ม สิ่งที่เป็นปัญหาก็คือ หลายคนไม่ทราบว่าต้องทิ้งระยะไว้นานเท่าไหร่ หลาย ๆ คนคิดว่าเมื่อเทน้ำร้อนลงไป หลังจากผ่านไป 30 วินาที แล้วก็กระตุกถุงชา จะทำให้น้ำเริ่มเปลี่ยนสี แต่ความจริงแล้วมันเป็นวิธีที่ผิด สิ่งที่คุณเห็นในแก้วชา มันก็เป็นแค่น้ำที่มีสีเหมือนชาเท่านั้น แต่รสชาติยังไม่ใช่ชา เพราะแท้จริงแล้วการชงชาจะต้องใช้เวลาประมาณ 3 นาที ถึงจะดึงรสชาติและคุณภาพจริง ๆ ออกมาได้ ข้อสำคัญอีกอย่างก็คือ ไม่ควรกระตุกซองชา แต่ควรปล่อยไว้นิ่ง ๆ อย่างนั้นแล้วรอจนกว่าจะครบ 3 นาที แล้วจึงค่อยนำถุงชาออกมา

คุณภาพของชา : เพื่อรักษาคุณภาพของชา ควรเก็บใบชาไว้ในภาชนะที่มีผาปิดสนิท และไม่วางรวมกับของที่มีกลิ่นแรง เพราะชามีสรรพคุณในการดูดซับกลิ่น

น้ำที่ใช้ชงชา : ไม่ใช้น้ำที่ผ่านการต้มมาแล้วหลายครั้งมาใช้ชงชา เพราะน้ำที่ต้มจะมีปริมาณออกซิเจนน้อย ทำให้น้ำมีรสชาติชืด นำมาชงชาไม่อร่อย

กาที่ใช้ชงชา : ควรล้างให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะหากกาชามีคราบฝังอยู่เนื่องจากล้างกาไม่สะอาด จะทำให้น้ำชาที่ได้มีรสชาติขมเกินไป ส่วนวิธีการล้างกาชงชาให้สะอาดก็ทำได้ไม่ยาก นั่นก็คือ ให้ใช้เบคกิ้งโซดา 2 ช้อนชา เทลงไปในกาที่มีน้ำเดือดอยู่ จากนั้นแช่ทิ้งไว้ประมาณ 2-3 ชั่วโมง แล้วล้างออกเบา ๆ อีกครั้ง จะทำให้คราบหลุดออกมาอย่างง่ายดาย

การเสิร์ฟชา : ก่อนเสิร์ฟชา ควรหมุนวนกาน้ำชาสักสามรอบก่อนนำมาเสิร์ฟ ที่สำคัญหลังชงชาเสร็จควรเสิร์ฟในทันที เพราะถ้าหากปล่อยไว้นานเกิน 10 นาที จะทำให้รสชาติของชาเปลี่ยนไป

การดื่มชา : การดื่มชาเข้มข้นก่อนอาหารหรือหลังอาหารทันที จะทำให้กระเพาะลำไส้ดูดซึมอาหารได้น้อยลง ซึ่งเวลาที่เหมาะสมสำหรับการดื่มชาก็คือหลังอาหารประมาณ 2-3 ชั่วโมง และไม่ควรดื่มชาที่ชงทิ้งไว้นานหลายชั่วโมง เพราะน้ำชาอาจบูด และทำให้สารต่าง ๆ ทำปฏิกิริยากัน ทำให้ชาเสื่อมคุณภาพ


 #ชา #สรรพคุณของชา #ประโยชน์ของชา #ใบชา #Tea #ข้อดีของการดื่มชา #ChineseTea #ThaiTea #BenefitsOfTea #Matcha #WhiteTea #GreenTea #OolongTea #BlackTea #Pu-erhTea #วันชาสากล #InternationalTeaDay 


 


ขอขอบคุณที่มา     ::     เว็บไซต์เมดไทย (Medthai)

 ,   https://medthai.com/%e0%b8%8a%e0%b8%b2/ | Medthai   ,