วันพยาบาลแห่งชาติ 21 ตุลาคม
วันพยาบาลแห่งชาติ 21 ตุลาคม ประวัติความเป็นมาของวันพยาบาลแห่งชาติ อีกหนึ่งวันสำคัญเพื่อระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จย่า ที่ทรงอุทิศพระองค์เพื่อช่วยเหลือปวงชนชาวไทยผู้ยากไร้และด้อยโอกาส
ที่มาของวันพยาบาลแห่งชาติ
การที่ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพยาบาลนั้น เนื่องจากเมื่อครั้งอดีต สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ สมเด็จย่า ทรงสนพระราชหฤทัยในคุณภาพชีวิตของพสกนิกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนผู้ยากไร้และด้อยโอกาสในถิ่นห่างไกลความเจริญ จึงทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์ พยาบาล และการสาธารณสุข โดยทรงเจริญตามรอยพระยุคลบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก "พระบิดาแห่งแพทย์แผนปัจจุบันและสาธารณสุข" ผู้ทรงอุทิศพระองค์และพระราชทานพระราชทรัพย์เพื่อกิจการด้านนี้มากมาย
ดังนั้นเมื่อสิ้นสมเด็จพระบรมราชชนกแล้ว สมเด็จย่าจึงหันมาทุ่มเทให้แก่การแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุขอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะโครงการต่าง ๆ ที่สมเด็จพระบรมราชชนกเคยสนับสนุนมาแต่เดิม สมเด็จย่าได้ทรงดำเนินกิจกรรมทุกอย่างให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ เช่น การพระราชทานทุนการศึกษา การสนับสนุนการก่อสร้างปรับปรุงโรงพยาบาลศิริราช
รวมถึงการพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 500,000 บาท ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายในกำหนด 25 ปี เพื่อตั้งเป็นทุนสำหรับส่งคนไปศึกษาเพิ่มเติมในต่างประเทศ โดยในเวลาต่อมาได้โอนทุนนี้ให้มหาวิทยาลัยแพทย์ คือ มหาวิทยาลัยมหิดล ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ พระองค์ทรงรับเป็นผู้อุปถัมภ์สมาคม และมูลนิธิต่าง ๆ มากมาย เช่น
- ทรงเป็นประธานมูลนิธิอานันทมหิดล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2502 โดยมีวัตถุประสงค์ในการคัดเลือกบุคคลส่งไปศึกษาวิชาพิเศษ ณ ต่างประเทศ ในสาขาวิชาต่าง ๆ เพื่อให้กลับมาปฏิบัติงานให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ
- พระราชทานเงินรายปีสมทบทุนเพื่อเก็บดอกผลช่วยนักเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
- ทรงสนับสนุนส่งเสริมวิชาชีพและการศึกษาพยาบาลตั้งแต่เริ่มการก่อตั้งสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย สมัยแรก โดยทรงร่วมเป็นกรรมการของสมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราช
โดย พ.ศ. 2503 สมเด็จย่าพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อสร้าง "อาคารศรีสังวาลย์" ขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อให้เป็นที่ตรวจรักษาและบำบัดคนพิการ จากนั้น พ.ศ. 2535 พระองค์พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน 500,000 บาท เพื่อจัดตั้งมูลนิธิขาเทียม
ประวัติวันพยาบาลแห่งชาติ
และเนื่องจากวันที่ 21 ตุลาคม เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จย่า ในฐานะที่พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาวิชาการพยาบาล และตลอดพระชนม์ชีพของพระองค์ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจในการพัฒนาสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตของประชาชนทั่วประเทศด้วยพระวิริยะ อุตสาหะ สมควรเป็นแบบอย่างแก่ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ให้ตระหนักในภารกิจของวิชาชีพแห่งตน ว่าเป็นงานบริการสุขภาพที่มีความสำคัญและมีคุณค่าแก่สังคม ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขจึงเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้วันที่ 21 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันพยาบาลแห่งชาติ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2533 หลังจาก ครม. มีมติเห็นชอบในเรื่องดังกล่าว สภาการพยาบาล และสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในนามของพยาบาลและผดุงครรภ์ทั่วประเทศ จึงได้ร่วมกันจัดงานวันพยาบาลแห่งชาติเป็นครั้งแรก ในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2533 โดยมีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การจัดงานเดินเทิดพระเกียรติ การให้บริการตรวจสุขภาพแก่ประชาชน การประชุมวิชาการ การประกาศเกียรติคุณและมอบรางวัลพยาบาลดีเด่น ซึ่งทำเช่นนี้ต่อเนื่องกันเป็นประจำทุกปีมาจนถึงปัจจุบัน
นอกเหนือจากการจัดกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ยังมีการกำหนดให้ "ดอกปีบ" เป็นสัญลักษณ์ของพยาบาลไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เนื่องจาก "ดอกปีบ" เป็นดอกไม้สีขาวที่มีกลิ่นหอม และต้นปีบเป็นไม้ยืนต้น ที่เติบโตได้ในที่ดินแห้งแล้ง โดยส่วนราก ลำต้น และดอก สามารถใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรคได้ ดังนั้นจึงเปรียบได้กับพยาบาลในชุดสีขาวผู้พร้อมที่จะประกอบคุณงามความดี ประดุจกลิ่นหอมของดอกปีบ และพร้อมที่จะสร้างประโยชน์เช่นเดียวกับการเป็นสมุนไพรของดอกปีบนั่นเอง
เป็นอย่างไรกันบ้างกับประวัติความเป็นมาและความสำคัญของวันพยาบาลแห่งชาติที่เรานำมาฝากกันในครั้งนี้ หวังว่าข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจเรื่องวันสำคัญของไทย แม้วันพยาบาลแห่งชาติอาจไม่เป็นที่รู้จัก หรือไม่คุ้นหูกันมากนัก แต่ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งวันสำคัญที่มีความหมายต่อปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ
National Nurses Day , วันพยาบาลแห่งชาติ
ขอบคุณข้อมูล :: สภาการพยาบาล
ขอบคุณ :: ภาพ AI