Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2555

กัดเล็บดูดนิ้ว ระวังติดเชื้อจากแผลหนอง!

กัดเล็บดูดนิ้ว ระวังติดเชื้อจากแผลหนอง!
กัดเล็บ ดูดนิ้ว

กัดเล็บดูดนิ้ว ระวังติดเชื้อจากแผลหนอง! (รักลูก)


เด็กเล็ก ๆ ที่กัดเล็บหรือดูดนิ้วเป็นเวลานาน ๆ พฤติกรรมดังกล่าวที่ดูว่าธรรมดา แต่หากนิ้วนั้นมีแผล ก็มีโอกาสติดเชื้อจนเป็นแผลอักเสบเป็นหนองที่ขอบเล็บจนอาการรุนแรงได้!


แผลหนองที่ขอบเล็บเกิดจากอะไร

แผลหนองที่ขอบเล็บหรือโรคพาโรไนเคีย (Paronycia) เกิดจากการติดเชื้อและมีอาการอักเสบบริเวณขอบเล็บหรือโคนเล็บ ซึ่งสามารถแบ่งอาการได้เป็น 2 ระยะ คือ
ระยะเฉียบพลัน พบได้บ่อยในเด็ก ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ 2 ชนิด คือ Staph.aureus และ Strep.pyogenes
ระยะเรื้อรัง มักเกิดจากการติดเชื้อรา
โดยทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรามีอยู่ตามสิ่งแวดล้อมทั่ว ๆ ไป และยังพบว่ามีอยู่ตามผิวหนังของเราด้วย แต่สิ่งที่ทำให้เชื้อโรคเหล่านี้เข้าไปทำร้ายเราได้ คือบาดแผลบริเวณเล็บที่จะเป็นตัวนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย


กัดเล็บ ดูดนิ้ว ทำหนูติดเชื้อ

เด็กที่มีอาการแผลหนองที่ขอบเล็บ ส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมดูดนิ้ว กัดเล็บ ซึ่งจะอยู่ในช่วง 1-3 ปี โดยได้รับเชื้อโรคจากการมีบาดแผลบริเวณรอบโคนเล็บ เช่น การดูดนิ้วนาน ๆ จนนิ้วเปื่อย หรือการกัดเล็บจนโดนเนื้อด้านในเล็บ

นอกจากนี้ ยังมีพฤติกรรมอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น ชอบถูไถโคนเล็บจนเนื้อขอบเล็บย่นไปด้านหลัง ซึ่งจะเป็นทางเข้าของเชื้อโรคได้ มักเกิดในเด็กวัยตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไปจนถึงวัยเรียนชั้นประถมศึกษา หรือแม้แต่การเล่นซุกซนโดยเอามือแช่ในน้ำนาน ๆ จนทำให้นิ้วเปื่อยเป็นสาเหตุของการติดเชื้อที่ขอบเล็บได้เช่นกันค่ะ

เมื่อเด็กได้รับเชื้อโรคจะมีการอักเสบบริเวณรอบโคนเล็บสังเกตได้จากอาการบวมแดง ร้อน และเจ็บบริเวณรอบโคนเล็บและขอบเล็บ ถ้าหากมีการอักเสบมากจะทำให้เกิดหนองขึ้นมาได้ในกลุ่มที่มีอาการระยะเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อรา จะทำให้เล็บเปลี่ยนสี แต่อาการนี้จะไม่ค่อยพบในเด็กค่ะ

ลูกติดเชื้อที่ขอบเล็บทำอย่างไรดี

ถ้าพบว่าขอบเล็บของลูกมีอาการบวมแดง ควรรีบไปหาคุณหมอ โดยคุณหมอจะให้กินยาฆ่าเชื้อเป็นเวลา 7-10 วันอาการก็จะดีขึ้น ถ้ากินยาแล้วยังไม่หายหรือเป็นหนองเยอะมาก คุณหมอจะเจาะหนองออก การพาลูกไปรับการรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการเพียงเล็กน้อย คุณหมอจะให้กินยาฆ่าเชื้อ ซึ่งสามารถควบคุมอาการได้ ไม่ถึงกับต้องเจาะเอาหนองออกให้ลูกน้อยต้องเจ็บตัว แต่หากปล่อยไว้นานจนอักเสบมีหนองมากสามารถติดเชื้อไปถึงเอ็นกระดูกหรือเข้าไปในกระแสเลือดได้ค่ะ ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกิดได้น้อยในเด็ก

นอกจากนี้ คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถช่วยบรรเทาอาการให้ลูกได้ โดยการนำผ้าชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณแผลของลูก หรือให้ลูกเอามือแช่ในน้ำอุ่น ประมาณ 5-10 นาที วันละ 3-4 ครั้ง และต้องเช็ดให้แห้งอย่าให้เปียกชื้นพยายามอย่าให้ลูกเล่นดินเล่นทราย หรือโดนผงซักฟอกและสารเคมีต่าง ๆ ในขณะที่มีอาการติดเชื้อ เพราะจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบมากยิ่งขึ้น ในกรณีที่ขอบเล็บติดเชื้อจนหนองแตกเอง ควรเช็ดทำความสะอาดรอบแผลด้วยแอลกอฮอล์ และใช้น้ำเกลือเช็ดบริเวณแผลค่ะ

4 วิธีป้องกัน

อาการแผลหนองที่ขอบเล็บสามารถป้องกันได้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ลูก ดังนี้

1.ไม่ให้ลูกกัดเล็บหรือดูดนิ้ว สามารถทำได้โดยการดึงดูดความสนใจให้ลูกเอามือออกจากปากด้วยตัวของเด็กเอง เช่น ชวนลูกทำกิจกรรมที่ต้องใช้มืออย่างการปั้นหรือวาดรูป

2.ขณะที่ลูกกัดเล็บหรือดูดนิ้ว ไม่ควรดุหรือตีมือลูก เพราะจะทำให้ลูกยิ่งทำพฤติกรรมดังกล่าว บางครั้งการที่ลูกกัดเล็บหรือดูดนิ้ว อาจเกิดจากความเครียดและอาการวิตกกังวลได้ คุณพ่อคุณแม่ควรคุยกับลูก เพื่อให้ทราบถึงปัญหาต่าง ๆ และช่วยกันแก้ไขสาเหตุที่ทำให้ลูกเครียดก่อนค่ะ

3.หลีกเลี่ยงการทำอันตรายต่อเล็บ เช่น ควรตัดเล็บหลังจากอาบน้ำ เพราะเล็บจะนุ่มกว่าปกติ ถ้าเป็นนิ้วมือให้ตัดโค้งไปตามรูปเล็บ แต่ถ้าเป็นนิ้วเท้าให้ตัดเป็นทางตรงเพื่อไม่ให้เล็บขบ และลดการเกิดแผลบริเวณจมูกเล็บได้ค่ะ

4.ไม่ขูดสารเคลือบเล็บ เพราะเล็บของคนเรามีสารเคลือบอยู่บริเวณโคนเล็บ มีลักษณะเป็นเนื้อสีขาว ๆ หากมีการขูดออก จะเป็นทางเข้าของเชื้อโรคได้ค่ะ

ดูแลสุขภาพและสังเกตพฤติกรรมของลูกอยู่เสมอ หากพบว่ามีความผิดปกติควรพาลูกไปหาคุณหมอโดยเร็ว เพื่อลดโอกาสที่ลูกจะเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อลงค่ะ
 
 
 
 
 
 
 
ที่มา :: ปีที่ 30 ฉบับที่ 355 สิงหาคม 2555
 
 
 
 
 
 
 
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น