เมื่อลูกแพ้ถั่ว ทำอย่างไรดี?
ลั่นกลองรบ เมื่อลูกแพ้ถั่ว (M&C แม่และเด็ก)
เด็กในวัยนี้ไม่ได้ดื่มนมแต่เพียงอย่างเดียวเหมือนก่อนแล้วค่ะ เขาจำเป็นต้องหม่ำอาหารที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาการอย่างหนึ่งที่มาพร้อมกับอาหารก็คือ การแพ้อาหาร (Food Allergy) เช่น ไข่ นม และข้าวสาลี เมื่อโตขึ้นอาการแพ้อาจจะดีขึ้น แต่ถ้าหากแพ้ถั่วและอาหารทะเล อาการแพ้จะเป็นตลอดชีวิตค่ะ
ทำไม...หนูถึงแพ้ถั่ว
มีการศึกษาว่า การให้อาหารเสริมในวัยเด็กของคุณแม่มีผลต่อการแพ้ถั่วของลูกค่ะ โดยพบว่าอาการแพ้ที่เกิดจากถั่วนั้น อาจเป็นเพราะคุณแม่ให้เจ้าตัวเล็กหม่ำอาหารที่ทำจากถั่วเร็วไป โดยอาจจะให้เป็นอาหารเสริมตั้งแต่ขวบปีแรก ซึ่งช่วงนี้ระบบภูมิต้านทานร่างกายของลูกยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้เกิดอาการดังกล่าว
ส่วนอีกสาเหตุหนึ่งซึ่งหลีกเลี่ยงได้ลำบากก็คือ มาจากกรรมพันธุ์ค่ะ ครอบครัวที่มีประวัติว่าคนในบ้านแพ้ถั่ว ก็มีแนวโน้มว่าลูกน้อยอาจจะแพ้ถั่วก็เป็นได้
รู้ได้ยังไงว่า แพ้ถั่ว
เด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบอาจจะแพ้อาหารได้มากกว่าผู้ใหญ่ โดยอาการที่แสดงออกว่าแพ้ถั่วรวมไปถึงอาหารอื่น ๆ ก็สังเกตได้ง่าย ๆ ค่ะ คือมีผื่นขึ้น หากเป็นไม่มาก นอกจากผื่นขึ้นแล้วปากและลิ้นจะบวม คลื่นไส้ คัดจมูก แต่ถ้าเป็นรุนแรง อาจมีอาการหายใจไม่ออก จนถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตได้ ต้องรีบพาส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
จดบันทึกอาหารแต่ละมื้อ
เด็กบางคนอาจมีอาการแพ้ขึ้นมาทันทีหลังจากหม่ำอาหาร ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้ก็สังเกตได้ง่ายค่ะ รู้ว่าลูกแพ้อาหารอะไร ก็งดอาหารชนิดนั้นทันที แต่ในเด็กบางคนเกิดอาการแพ้หลังจากหม่ำอาหารไปแล้วเป็นชั่วโมง อันนี้ก็สังเกตได้ยากขึ้นมาหน่อย ดังนั้น คุณแม่ควรจดบันทึกประเภทอาหารที่ลูกน้อยหม่ำในแต่ละมื้อ แล้วคอยสังเกตว่ามีอาการแพ้หรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่จะปรากฏอาการหลังหม่ำอาหารไม่เกิน 2 ชั่วโมงค่ะ
ถ้าแพ้แล้วจะทำอย่างไร?
ถั่วเป็นอาหารชนิดนึงที่แพ้แล้วพบได้บ่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นถั่วลิสง หรือถั่วอื่น ๆ หากเป็นถั่วเหลือง อาจจะพอมีโอกาสหายจากอาการแพ้ได้บ้าง แต่รวม ๆ แล้ว มักจะมีอาการไปตลอดค่ะ
ซึ่งอาการแพ้ถั่วนั้น อาจจะรุนแรงแม้ว่าจะรับประทานเข้าไปแต่เพียงน้อยนิด อาหารบางชนิดไม่เห็นว่ามีถั่ว แต่ก็อาจมีถั่วเป็นส่วนผสม อย่างผลิตภัณฑ์ปรุงอาหารต่าง ๆ ดังนั้น ถ้าหากรู้ว่าลูกน้อยมีอาการแพ้ถั่วก็ควรรอบคอบให้มากยิ่งขึ้นค่ะ และลองหาอาหารชนิดอื่น ๆ ที่มีคุณค่าทางทางอาหารไม่แพ้กันมาป้อนแทนจะดีกว่า
ที่มา :: ปีที่ 35 ฉบับที่ 486 สิงหาคม 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น