IQ ดี EQ สูง ปั้นที่หนึ่งได้ไม่ยาก
IQ ดี EQ สูง ปั้นที่หนึ่งได้ไม่ยาก (M&C แม่และเด็ก)
IQ (Intellingence Quotient) ความสามารถทางเชาวน์ปัญญาหรือความฉลาดในการเรียนรู้ ส่วน EQ (Emotional Quotient) ความสามารถในการพัฒนาอารมณ์และสังคม เป็นความฉลาดในการแยกแยะ ควบคุม และจัดการกับอารมณ์ของตัวเอง ซึ่งการที่อยู่ในโลกเร่งด่วนและเคร่งเครียดอย่างนี้ การปั้น IQ และ EQ ดี ๆ ให้ลูก ก็เป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยค่ะ
เตรียมพร้อมรับ IQ–EQ
เด็กที่มีการเตรียมพร้อมพัฒนาการด้านต่าง ๆ อย่างดี จะเรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งเราสามารถใช้ความอยากรู้อยากเห็นมาช่วยเตรียมความพร้อมให้ลูกได้
รู้จักช่วยเหลือตัวเอง หัดให้เขารู้จักช่วยเหลือตัวเองตามวัยอย่างเหมาะสม เมื่อเขาทำสำเร็จก็จะเกิดความเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ
การควบคุมอารมณ์และรู้จักรอคอย อย่าใส่ใจกับพฤติกรรมไม่ดีของลูก แต่ต้องคอยตักเตือนด้วยเหตุผลไม่ให้ลูกทำพฤติกรรมอย่างนั้นอีก รวมทั้งชมเชยลูกเมื่อเขาแสดงออกอย่างเหมาะสม
เรียนรู้จากสิ่งรอบ ๆ ตัว เพราะจะช่วยให้ลูกมีพัฒนาการด้านสติปัญญาและจิตใจอย่างสมบูรณ์ ด้วยการพาลูกไปเที่ยวนอกบ้าน หมั่นตั้งคำถามง่าย ๆ กับลูก เล่านิทาน หรืออ่านหนังสือให้ฟังบ่อย ๆ
การเข้าสังคม เพราะจะทำให้ลูกไม่เขินอาย หรือกลัว ยามเจอคนแปลกหน้า เล่นกับคนอื่นได้ เมื่อถึงวัยเข้าเรียนก็สอนให้รู้จักสิทธิส่วนบุคคล ไม่ควรหยิบของผู้อื่น รู้จักแบ่งปัน และขอบคุณเมื่อใครทำอะไรให้ หรือรู้จักขอโทษเมื่อทำความผิด
เทคนิคเสริมสร้าง IQ–EQ
ดูแลอาหารการกินให้หลากหลาย และครบห้าหมู่
ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ หากลูกมีความสามารถด้านกีฬาชนิดใดชนิดหนึ่ง ก็ควรส่งเสริมโดยตรง
พักผ่อนนอนหลับให้เต็มที่ เมื่อสมองแจ่มใสปลอดโปร่งจะตื่นตัว ความคิดสร้างสรรค์ก็จะตามมา
ชวนกันอ่านหนังสือ เล่านิทาน ทำกิจกรรมสนุก ๆ ร่วมกันทั้งครอบครัวเป็นประจำ
ผ่อนคลายด้วยดนตรี ศิลปะ หรือออกไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ เพราะจะช่วยเปิดโลกทัศน์ และปลูกฝังสร้างจินตนาการที่ดีให้แก่ลูก
มองความสามารถของลูกตามความเป็นจริง อย่าคาดหวังกับลูกมากเกินไป จนกลายเป็นการบีบบังคับกดดัน ให้ลูกทำในสิ่งที่ยากเกินความสามารถและพัฒนาการตามวัย
เลี้ยงลูกด้วยความรัก โอบกอดลูกเสมอให้เขารู้สึกในความอบอุ่นอิ่มเอมใจ
จำเป็นต้องวัด IQ–EQ หรือไม่ ?
ไม่จำเป็นหรอกค่ะ เพราะเด็กที่วัดไอคิวส่วนใหญ่ คือเด็กที่สงสัยว่ามีปัญหาทางด้านสติปัญญา ซึ่งความจริงแล้ว เราสามารถประเมินไอคิวของลูกได้เอง โดยหมั่นสังเกตปฏิกิริยาของลูกเมื่อถูกสิ่งเร้ามากระตุ้น ดูว่า เขาจะจัดการสนองตอบต่ออารมณ์แบบไหน ผลที่ได้จะแม่นยำกว่าแบบทดสอบทางด้านสติปัญญาอีกค่ะ
ที่มา :: ปีที่ 35 ฉบับที่ 487 กันยายน 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น