พัฒนาสมองของลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในครรภ์
สมองเป็นอวัยวะที่สลับซับซ้อน ที่ประกอบไปด้วยเซลล์มากมายหลายล้านเซลล์และตัวเชื่อมโยงเซลล์ประสาทอีกมากมาย พัฒนาการของสมองนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับพัฒนาการทางสติปัญญา สมองของลูกน้อยนั้นเริ่มสร้างตั้งแต่อยู่ในครรภ์ สมองประมาณ 30 % พัฒนามาแล้วก่อนคลอด และเปลือกสมองส่วน Cortex จะพัฒนาต่อไปหลังคลอด และจะมีพัฒนาการที่รวดเร็วมากในช่วง 2 ปีแรกของชีวิตจากนั้นจะเริ่มมีการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ในช่วงอายุ 6–8 ปี แต่ยังพัฒนาอีกต่อไปจนอิ่มตัวเต็มที่เมื่ออายุ 25 ปี หลังจากนั้นการทำงานของสมองหรือพัฒนาการทางสมองก็อาจจะหยุด แต่มิได้แปลว่าหยุดการทำงาน เพียงแต่ว่าอาจจะไม่มีการเพิ่มเติมขึ้นมาใหม่ แต่ถ้าหากว่ายังมีการเรียนรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ ก็ยังคงมีพัฒนาการทางด้านสมองเติบโตต่อไปได้ ดังนั้นการจะเสริมสร้างให้ลูกน้อยมีอัจฉริยภาพก็ควรเริ่มกันตั้งแต่อยู่ในครรภ์
มารู้จักสมองของลูกกันดีกว่า
ก่อนที่เราจะรู้ถึงพัฒนาการของสมอง เรามาดูกันก่อนดีกว่าว่าสมองประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
สมองแบ่งออกเป็น 4 ส่วนคร่าวๆ ดังนี้
1. สมองส่วนหน้า (Frontal Lobe) ทำหน้าที่เสมือนผู้บริหารการเรียนรู้ ความจำ ความคิดขั้นสูง การวางแผน กรตัดสินใจ การกำหนด ทางเลือกต่างๆ
2. สมองส่วนหลัง (Parietal Lobe) ทำหน้าที่ในกระบวนการรับสัมผัส รับรู้มิติ และการแก้ปัญหา
3. สมองส่วนท้ายทอย (Occipital Lobe) ทำหน้าที่ด้านการมองเห็น จดจำสิ่งของหรือคน รับรู้ ทำความเข้าใจความหมายของข้อมูลใหม่ๆ และทำความเข้าใจกับสิ่งที่มองเห็น
4. สมองส่วนขมับ (Temporal Lobe) อยู่ด้านข้างเหนือใบหู รับรู้ข้อมูลจากการได้ยิน ความจำบางส่วน และการพูดบางประเภท
สมองหนูพัฒนาตั้งแต่ในครรภ์
ก่อนจะลืมตามาดูโลก สมองของเจ้าตัวเล็กก็เริ่มมีพัฒนาการแล้ว พัฒนาการของสมองจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ได้มีการปฏิสนธิเกิดขึ้นในครรภ์ เซลล์สมองจะเริ่มก่อตัวขึ้นที่จุดปลายด้านหนึ่งของตัวอ่อนก่อน โดยเริ่มแรกจะมีลักษณะเหมือนท่อ ที่ห่อม้วนมาจากทางด้านข้าง
จากนั้นในเวลา 3 สัปดาห์ครึ่ง ท่อของเซลล์ประสาทนี้จะเริ่มขยายตัวเติบโตขึ้นเป็นสมองและไขสันหลังต่อไป ขณะเดียวกันเซลล์ประสาทภายในก็จะเริ่มเติบโตขึ้น และพัฒนาตนเองให้สามารถส่งผ่านสัญญาณเพื่อติดต่อระหว่างกันได้ ระยะแรกเซลล์สมองจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอัตรา 250,000 เซลล์ต่อนาที แต่หลังจาก 20 สัปดาห์ผ่านไปแล้ว การเจริญเติบโตของเซลล์จะเริ่มช้าลง ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่สมองทำการ จัดระบบตัวเองให้แตกออกเป็นอวัยวะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมองถึง 40 ระบบด้วยกัน ภายใน 6 เดือน
เซลล์ประสาทเกือบทั้งหมด ที่จำเป็นสำหรับทารกจะถูกสร้างขึ้น โดยในช่วง 3 เดือนสุดท้ายก่อนที่ทารกในครรภ์จะคลอด ระบบเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทในสมองทารกจะยาวขึ้น หนาขึ้น และมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น เซลล์ที่แข็งแรงที่สุดจะเติบโตเป็นส่วนสำคัญต่างๆ ของสมอง ระบบต่างๆ ในสมองจะทำหน้าที่แตกต่างกันไป ทั้งในด้านการมองเห็น การใช้ภาษา การเคลื่อนไหว การได้ยิน และหน้าที่อื่นๆ อีกมากมาย โดยเซลล์ประสาทจะทำหน้าที่ส่งผ่านสัญญาณไปยังเซลล์ประสาทอื่นๆ ถึงล้านล้านเซลล์ด้วยกัน เพื่อการสร้างระบบประสาทขึ้นมาเมื่อโตขึ้น
พัฒนาสมองของลูกน้อยในครรภ์ได้อย่างไร
สมองทารกในครรภ์จะพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ถ้าหากระบบประสาทได้รับการกระตุ้นให้มีประสบการณ์ในด้านต่างๆ เช่น การได้ยินโดยพูดคุยกับลูกน้อยผ่านหน้าท้อง ว่าวันนี้ไปพบเจออะไรมาบ้าง เช่น “หนูรู้ไหมว่าแม่ไปตลาดซื้ออะไรมา รู้ไหมซื้อกล้วย ส้ม มะเขือเทศมาให้หนูไงจ๊ะไว้กินด้วยกันไง” การสัมผัส โดยนวดเบาๆ หรือลูบวนหน้าท้องเป็นวงกลม ลูกจะดิ้นไปตามทิศทางที่วนลูบไป การมองเห็น โดยปิดเปิดไฟที่ไม่สว่างจ้ามากนักตรงหน้าท้อง นอกจากนี้ความเครียดของแม่ยังส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมองทารกในครรภ์และภายหลังคลอด โดยอาจทำให้เด็กเรียนรู้ได้ช้า และมีปัญหาทางพฤติกรรมเมื่อโตขึ้น
อัลตราซาวนด์เสี่ยงต่อสมองของหนู ?
นักวิจัยชาวสวีเดนพบว่าการอัลตราซาวนด์ อาจจะทำให้ระบบสมองของเด็กผู้ชายเปลี่ยนไปได้ นักวิจัยติดตามเปรียบเทียบผู้ชาย 7,000 คนที่เกิดตั้งแต่ปี 1970 โดยแม่ของเขาเหล่านี้เคยใช้เครื่องอัลตราซาวนด์ เปรียบเทียบกับผู้ชาย 172,000 คนที่ตอนท้องแม่ไม่เคยตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ ผลการศึกษาพบว่า เด็กผู้ชายที่แม่เคยอัลตราซาวนด์ มีแนวโน้มจะมีความเสี่ยงในการถนัดซ้ายมากกว่าเด็กผู้ชายที่แม่ไม่เคยอัลตราซาวนด์ถึง 30% นักวิจัยจึงเชื่อว่าเป็นไปได้ว่าอัลตราซาวนด์มีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองเด็กในครรภ์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่นอกจากเรื่องการถนัดซ้ายหรือขวาแล้ว ยังไม่พบว่าอัลตราซาวนด์ทำอันตรายใดๆ ต่อสมองของเด็กหรือไม่ นักวิจัยกล่าวว่า ผลการวิจัยนี้ ไม่ได้ต้องการให้ แม่ท้อง ที่กำลัง ตั้งครรภ์ เลิกตรวจด้วยอัลตราซาวนด์ไปเลย เพียงแต่ผู้ที่กำลังจะเป็นแม่ทั้งหลายควรจะได้รู้ถึงความเสี่ยงที่อาจจะเป็นไปได้ของการใช้เครื่องมือชนิดนี้ และควรจะอัลตราซาวนด์เฉพาะในกรณีที่จำเป็นเท่านั้น
อย่างไรก็ตามการเสริมสมองของลูกน้อยนั้นควรเป็นไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เป็นไปตามวัยและพัฒนาการของลูก ที่สำคัญต้องส่งเสริมและพัฒนาให้พร้อมอย่างต่อเนื่อง
ที่มา :: http://www.pregnancysquare.com/aboutmom/healthy-pregnant/76/พัฒนาสมองของลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในครรภ์/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น