บล็อกหลังระงับปวดท้องคลอด...ดีหรือไม่
การทำ Epidural block… Epidural block หมายถึงการบล็อกหลังนั่นเอง คุณแม่บางท่านอาจจะเคยกับการบล็อกหลังมาแล้วกับท้องก่อนๆ แต่รายละเอียดต่างๆ มักจะไม่ค่อยรู้กัน บางครั้งบางคราวอาจจะรู้หรือเข้าใจไปในทางผิดๆ ทำให้พลาดโอกาสที่ดี หรือโอกาสเหมาะสมสำหรับตัวคุณเองไปได้
การบล็อกหลังหรือที่เรียกเป็นภาษาแพทย์ว่า Epidural block หมายถึงการฉีดยาชาจำนวนหนึ่งเข้าไปในเยื่อหุ้มประสาทไขสันหลัง สำหรับการบล็อกหลังเพื่อระงับอาการปวดท้องคลอด คุณหมอก็จะใช้เข็มยาวๆ แทงเข้าไปทางด้านหลังระดับต่ำกว่าบั้นเอวของคุณเล็กน้อย ผ่านช่องของรอยต่อของกระดูกสันหลังเข้าไปถึงช่องเยื่อหุ้มไขสันหลัง แต่ไม่ทะลุเข้าไปในชั้นของน้ำไขสันหลัง ซึ่งการจะทำได้เช่นนี้ก็ต้องอาศัยความชำนาญอย่างมาก เมื่อแทงเข็มเข้าไปได้ระดับที่ถูกต้องแล้ว คุณหมอก็จะใส่ยาชาเข้าไปตามต้องการ บางทีคุณหมอจะใช้สายยางขนาดจิ๋วใส่คาเอาไว้ในรอยที่แทงไว้นั้น ทั้งนี้เพื่อไว้เติมยาชาเมื่อถึงเวลาต้องการ โดยที่ไม่ต้องมาใช้เข็มแทงกันใหม่ เวลาที่ใช้ในการทำบล็อกหลังโดยเฉลี่ยประมาณสิบนาทีเท่านั้น เมื่อใส่ยาชาเข้าไปแล้ว หลังจากนั้นไม่นานเกินรอคุณจะเริ่มรู้สึกชาที่เท้าทั้งสองข้าง อาการปวดท้องคลอดก็จะเริ่มทุเลาลง หน้าตาที่แสดงความทุกข์กับความเจ็บปวดท้องคลอดก็จะดูดี มีความสุขขึ้น และสามารถยิ้มได้เมื่อคิดถึงลูกน้อยที่กำลังจะคลอดออกมาดูโลกและมาอยู่ในอ้อมกอดของแม่
ในทุกวันนี้การบล็อกหลังหรือการฉีดยาชาเข้าไปในไขสันหลัง เป็นวิธีการที่นิยมกันมาก ไม่ว่าจะเป็นบ้านเราหรือในประเทศอเมริกา ทั้งนี้เพื่อทำให้ไม่ปวดเวลาผ่าตัดบริเวณหน้าท้อง หรือไม่ปวดเวลาจะคลอดบุตร การบล็อกหลังจึงเป็นวิธีระงับอาการปวดที่ดีที่สุดสำหรับการปวดท้องคลอด ดีกว่าการฉีดยาแก้ปวด และยาแก้ปวดเหล่านั้นก็จะไปถึงตัวของทารกด้วยไม่มากก็น้อย การบล็อกหลังจึงเป็นที่นิยมและยอมรับกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีคุณแม่อีกจำนวนไม่น้อยที่กลัวเรื่องการบล็อกหลังอยู่ บางคนกลัวจนกระทั่งปฏิเสธการบล็อกหลัง และขอทนต่อความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นขณะปวดท้องคลอด แต่ก็มีบางคนที่ปฏิเสธการบล็อกหลังในตอนแรก เมื่ออาการปวดมีมากขึ้นและมากขึ้น สุดท้ายก็ขอการบล็อกหลังเพื่อการระงับปวด จึงได้พบความจริงถึงความแตกต่างระหว่างก่อนและหลังการบล็อกหลังแล้ว ว่ารู้อย่างนี้คงไม่ต้องทรมานทนปวดอยู่เป็นนาน
แน่นอนว่าการบล็อกหลังนั้นใช่ว่าจะปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์ มีอยู่บ้างที่เกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมา ดังนั้นการบล็อกหลังจึงควรอยู่ในมือของผู้สันทัดกรณีเท่านั้น และผู้สันทัดกรณีในเรื่องนี้เห็นทีจะหนีไม่พ้นแพทย์ดมยา ซึ่งมีหน้าที่และความชำนาญโดยตรงที่จะทำให้คนไข้ไม่เจ็บไม่ปวด ไม่ว่าจะหลับหรือตื่น คุณหมอดมยาท่านสามารถทำให้คนไข้ไม่เจ็บได้ รวมทั้งเวลาเจ็บท้องคลอดก็เช่นเดียวกัน การบล็อกหลังก็มักจะมอบให้เป็นหน้าที่ของคุณหมอดมยา ขณะเดียวกันอาจจะมีสูติแพทย์อยู่บ้างที่ทำการบล็อกหลังให้กับคนไข้เอง
ความปลอดภัยของคนไข้ต้องเป็นเรื่องที่สำคัญ สูติแพทย์บางท่านมีความชำนาญในการบล็อกหลังไม่แพ้วิสัญญีแพทย์ สรุปว่าถ้าหากการบล็อกหลังอยู่ในมือของผู้ชำนาญมีประสบการณ์มาดีแล้ว อย่างไรก็ตามการบล็อกหลังย่อมมีทั้งข้อดีข้อเสียเช่นกัน
ข้อดี
1.ช่วยให้หายปวดอย่างชัดเจน และเป็นที่พอใจทั้งตัวคนไข้เองและตัวคุณหมอ
2. ช่วยให้สภาพจิตใจของคนไข้ดีขึ้นเป็นอย่างมาก ยอมรับได้ดีกับการคลอดลูกที่กำลังจะมีขึ้น และพร้อมรับสภาพกับการที่จะมีลูกคนต่อไปตามจำนวนที่วางแผนครอบครัวเอาไว้
3. การบล็อกหลังช่วยให้แม่หายปวด ขณะเดียวกันไม่ส่งผลเสียถึงตัวลูกน้อยในครรภ์แต่อย่างใด ไม่เหมือนกับการใช้ยาแก้ปวดชนิดฉีดหรือดม เพราะฤทธิ์ของยาจะไปถึงตัวลูกด้วย ทำให้คลอดออกมาในสภาพที่มีฤทธิ์ยาแก้ปวดหลงหรือตกค้างอยู่ เป็นต้นว่าอาการสะลึมสะลือหรือหลับจนตัวอ่อนปวกเปียกไม่ค่อยแอ็กทีฟ ไม่ร้องเสียงดัง สิ่งเหล่านี้เป็นอาการที่ไม่อยากจะให้เกิดขึ้นกับเด็กหลังคลอด และการบล็อกหลังมักจะไม่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้นมากับเด็กทารก
ข้อเสีย
1. ทำลายความรู้สึกที่ดีของคุณ เป็นเรื่องของจิตใจ ความรู้สึกที่ว่าจะต้องเอาเข็มมาแทงที่หลังทำให้รู้สึกกลัว หรืออย่างน้อยก็ทำให้เสียวสันหลัง
2. พูดถึงเรื่องอาการแทรกซ้อนของการแทงหลัง หรือบล็อกหลังว่าไปแล้วเกิดขึ้นน้อยมาก โดยเฉพาะอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง จะมีบ้างก็อาการแทรกซ้อนชนิดเบาๆ เช่น ทำให้ความดันโลหิตต่ำลงจนถึงจุดหนึ่ง อาจทำให้คุณมีอาการหน้ามืด วิงเวียน และอาเจียนได้
3. อาจทำให้การดำเนินของการคลอดเป็นไปด้วยความล่าช้า จนสุดท้ายต้องลงเอยด้วยการผ่าตัดคลอดซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี เรื่องนี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าหากเลือกเวลาบล็อกหลังที่เหมาะสม และสามารถควบคุมการทำงานของมดลูกให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ การดำเนินการของการคลอดดูเหมือนจะราบรื่นกว่าไม่มีการบล็อกหลังเสียด้วยซ้ำไป
4. ที่เข้าใจผิดกันมากๆ ก็คือเรื่องของอาการปวดหลัง ที่หลายคนเข้าใจว่าการบล็อกหลังจะทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรังเมื่ออายุมากขึ้น ครับเมื่ออายุมากขึ้นหรือเมื่อเข้าสู่วัยทองนั้น อาการปวดหลัง ถ้าหากเกิดขึ้นก็คงเป็นเพราะโรคกระดูกพรุนมากกว่าจะเป็นเพราะสาเหตุอย่างอื่น และโดยเฉพาะการบล็อกนั้นว่าไปแล้วไม่น่าจะทำให้เกิดการปวดหลังเรื้อรัง ทั้งนี้เพราะว่าการทำนั้นคุณหมอเพียงแค่เอาเข็มขนาดเล็กแทงเข้าไปเท่านั้น ก็เหมือนการฉีดยาธรรมดาทั่วไปไม่น่าจะทำให้เกิดทุพพลภาพของเนื้อเยื่อบริเวณนั้นจนเป็นเหตุให้เกิดปวดหลังชนิดเรื้อรังขึ้นมา ผมว่าไม่เกี่ยวกันหรอกครับ อย่าไปโทษการบล็อกหลังเลย
ทั้งข้อดีและข้อเสียจากการบล็อกหลัง เพื่อระงับอาการปวดท้องคลอดอาจจะมีมากกว่าที่ยกมาให้อ่านกัน แต่ถ้าจะสรุปกันแล้วในความเห็นของตัวว่าการได้บล็อกหลังเพื่อระงับอาการปวดดีกว่าการที่จะต้องทนปวดท้องคลอดอย่างแน่นอน
โดย นพ.พนิตย์ จิวะนันทประวัติ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น