Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันพุธที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2554

เด็กเล็กกับการดูทีวี

          เด็กเล็กกับการดูทีวี  


        เด็กเล็กดูทีวีไม่เกิน 2 ชั่วโมง ช่วยเพิ่ม IQ กับ EQ





ทีวีก็ใช่ว่ามีแต่ของไม่ดี หากอยู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยเมื่อเร็วๆ






นี้ศ.นพ. วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาการแพทย์ เปิดเผยจากผลงานวิจัยเรื่องการดูโทรทัศน์กับพัฒนาการทางภาษา สังคม และอารมณ์ของเด็กอายุ 1-3 ปี







พบว่าการให้เด็กเล็กดูทีวีไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง จะช่วยลดความเสี่ยงมิให้พัฒนาการทางภาษาล่าช้า หรือภาวะด้อยสมรรถนะทางสังคมและอารมณ์ ในขณะเดียวกัน จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการทางระดับสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น


โดยในปัจจุบัน ระดับไอคิวของเด็กไทยในปัจจุบันค่อนข้างต่ำ หากดูรายการที่ให้สาระความรู้ จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางไอคิวดีขึ้น 23% ละมีระดับอีคิวดีขึ้น 37% นอกจากนี้ ยังพบว่าการเลี้ยงดูโดยให้แรงเสริมทาง บวก เช่น การชมเชยเมื่อเด็กทำสิ่งที่ถูกต้องและเสริมประสบการณ์
จะช่วยพัฒนาสมรรถนะทั้งสองด้านได้เช่นกัน












ที่มา : นิตยสาร Lisa

วิจัย-เด็กเล็กดูทีวีช่วยเพิ่มไอคิวอีคิว เสนอรัฐเพิ่มเวลารายการเด็ก ทั้งยังช่วยให้มีพัฒนาการ




แพทย์ไทยวิจัยพบ เด็กเล็กดูโทรทัศน์วันละ 1-2 ชั่วโมง ช่วยลดความเสี่ยงพัฒนาทางภาษาล่าช้า เพิ่มระดับไอคิว อีคิว เสนอรัฐบาลเพิ่มเวลารายการสำหรับเด็ก


ไทยโพสต์ * แพทย์ชี้เด็กเล็กดูทีวีวันละ 1-2 ชั่วโมง ช่วยลดความเสี่ยงพัฒนาการทางภาษาล่าช้า เพิ่มระดับไอคิวและอีคิวมากกว่าเด็กที่ไม่ดูโทรทัศน์ เน้นรายการให้สาระความรู้ เสนอรัฐบาลเพิ่มเวลารายการสำหรับเด็กมากขึ้น แต่ผู้ปกครองต้องควบคุมไม่ให้เด็กดูเกินวันละ 2 ชั่วโมง
ศ.นพ.วีระศักดิ์ จงสู่วิวัฒน์วงศ์ หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า ได้นำเสนอผลงานวิจัยเรื่องการดูโทรทัศน์กับพัฒนาการทางภาษา สังคมและอารมณ์ของเด็กอายุ 1-3 ปี โดยฝ่ายโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุมวิชาการประจำปีเมื่อเร็วๆ นี้ ผลวิจัยพบว่า การให้เด็กเล็กดูโทรทัศน์ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง จะช่วยลดความเสี่ยงต่อพัฒนาการทางภาษาล่าช้า และลดความเสี่ยงต่อภาวะด้อยสมรรถนะทางสังคมและอารมณ์ ในขณะเดียวกันจะส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทางระดับสติปัญญาและความฉลาดทางอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น

ศ.นพ.วีระศักดิ์กล่าวว่า ระดับเชาวน์ปัญญาหรือไอคิวของเด็กไทยในปัจจุบันค่อนข้างต่ำ ซึ่งถือเป็นปัญหาทางด้านสุขภาวะของประชาชน ตลอดเวลาหลายปีที่ผ่านมา มีนักวิจัยไทยพยายามค้นหาเหตุปัจจัยที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็กเล็ก โดยเฉพาะเด็กทารกอายุตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป เป็นช่วงวัยที่สมองกำลังมีพัฒนาการทางด้านภาษาสูงสุด เด็กจะเริ่มหัดฟัง เรียนรู้ที่จะพูดและต้องการการตอบรับจากคนรอบข้างเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทางด้านภาษา ในขณะที่ผลการศึกษาของผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศแนะนำไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีดูโทรทัศน์ ซึ่งจะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้า แต่ยังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ชัดเจนถึงผลเสียข้อนี้ อีกทั้งงานวิจัยต่างประเทศไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกับเด็กไทยได้ เพราะมีความแตกต่างกันในด้านโครงสร้างภาษา ค่านิยม แบบแผนการเลี้ยงดูและรายการโทรทัศน์ ทำให้ผลการศึกษามีความแตกต่างกัน

การทำงานวิจัยครั้งนี้ใช้เวลา 10 ปี เป็นการร่วมมือกันของนักวิจัยหลายสถาบัน เริ่มตั้งแต่ปี 2543-2553 เป็นโครงการระยะยาวที่เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างเด็กและครอบครัวที่อาศัยในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ จ.น่าน 760 คน, อ.กระนวน จ.ขอนแก่น 852 คน, อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี 774 คน, อ.เทพา จ.สงขลา 1,061 คน และกรุงเทพฯ บริเวณพื้นที่รอบโรงพยาบาลรามาธิบดี 710 คน รวมกลุ่มตัวอย่างทั้งสิ้น 4,157 คน แบ่งเป็นชาย 2,074 และหญิง 2,083 คน
ศ.นพ.วีระศักดิ์กล่าวว่า การเก็บข้อมูลได้จากการสัมภาษณ์พ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้เลี้ยงดูหลักเมื่อเด็กแต่ละคนมีอายุ 1 ปี, 2 ปี, 2.5 ปี และ 3 ปี สำรวจระยะเวลาเฉลี่ยที่ใช้ในการดูโทรทัศน์ต่อวัน รายการที่เด็กดูประจำและประเมินพัฒนาการทางภาษา โดยใช้คำถามจากแบบคัดกรองพัฒนาการสำหรับเด็กอายุ 1-2 ปี แบบประเมินการพูดและภาษาของเด็กไทยที่อายุ 2.5-3 ปี ส่วนสมรรถนะด้านสังคมและอารมณ์ วัดสองครั้งโดยใช้เครื่องมือวัดพัฒนาการด้านอารมณ์ จิตใจ สังคม จริยธรรม เมื่ออายุ 1 ปี และ 3 ปี


"ผลการวิเคราะห์พบว่า การดูโทรทัศน์ 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้าได้ร้อยละ 21-31 และลดความเสี่ยงของการด้อยสมรรถนะทางสังคมและอารมณ์ได้ถึงร้อยละ 43 เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้ดูโทรทัศน์" นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติเผย
ศ.นพ.วีระศักดิ์กล่าวอีกว่า การศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า เด็กที่ไม่ได้ดูโทรทัศน์จะมีพัฒนาการทางภาษา สังคมและอารมณ์ล่าช้ากว่าเด็กที่ดูโทรทัศน์ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง โดยถ้าหากดูรายการที่ให้สาระความรู้ จะทำให้เด็กมีพัฒนาการทางไอคิวดีขึ้น 23% และมีระดับความฉลาดทางอารมณ์หรืออีคิวเพิ่มขึ้น 37% เช่น สามารถรับฟังกติกาพ่อแม่ดีขึ้น แต่การดูโทรทัศน์มากกว่าวันละ 2 ชั่วโมงไม่ทำให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่า การเลี้ยงดูโดยให้แรงเสริมทางบวก เช่น การชมเชยเมื่อเด็กทำสิ่งที่ถูกต้อง และการเสริมประสบการณ์นอกบ้าน ช่วยพัฒนาสมรรถนะทางสังคมและอารมณ์ได้ดีอีกด้วย


ด้าน ผศ.พญ.อัจฉรีย์ อินทุโสมา หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ นักวิจัยโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก กล่าวว่า ผลการวิจัยครั้งนี้ต่างกับคำแนะนำของผู้เชี่ยว ชาญต่างประเทศที่ไม่ให้เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีดูโทรทัศน์ เนื่องจากงานวิจัยในวิทยานิพนธ์นี้มีขนาดตัวอย่างจำนวนมาก ครอบคลุมทั่วประเทศ ติดตามเด็กอย่างละเอียดโดยผู้เชี่ยวชาญและต่อเนื่องระยะยาว ใช้สถิติในการวิเคราะห์ที่เหมาะสม ทำให้ผลวิจัยมีความน่าเชื่อถือ อย่างไรก็ดียังต้องติดตามผลระยะยาวในเด็กกลุ่มนี้ต่อไป ทั้งนี้มีข้อแนะนำว่า ปัจจุบันเด็กทารกและวัยเตาะแตะดูโทรทัศน์เป็นส่วนใหญ่ อาจไม่จำเป็นต้องส่งเสริมให้ดูมากขึ้น แต่สิ่งที่ต้องทำคือ รัฐบาลและสถานีโทรทัศน์จะต้องเพิ่มรายการที่เป็นประโยชน์สำหรับเด็กเล็ก และยังควรจำกัดการดูโทรทัศน์ไม่เกินวันละ 2 ชั่วโมง

ผศ.พญ.อัจฉรีย์กล่าวว่า การเก็บข้อมูลเด็กดูรายการโทรทัศน์แบ่งเป็น 7 ประเภทคือ การ์ตูน สารคดี รายการเด็ก ข่าว โฆษณา กีฬาและรายการเพื่อความบันเทิง โดยรายการโทรทัศน์ที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางไอคิวและอีคิวได้ดีที่สุดคือ รายการเด็กที่ให้ความรู้ เช่น เจ้าขุนทอง หนูดีมีเรื่องเล่า และสารคดีชีวิตสัตว์โลก ส่วนการ์ตูนและรายการประเภทอื่นๆ ไม่มีประโยชน์สำหรับเด็ก ส่วนค่าเฉลี่ยระยะเวลาในการดูโทรทัศน์จะเพิ่มขึ้นตามวัยคือ เด็กอายุ 1 ปีดูวันละ 10 นาที, อายุ 2 ปีดูวันละ 40 นาที และอายุ 3 ปีดูวันละ 1 ชั่วโมง โดยเด็กเล็ก 11-15% ที่ดูรายการให้ความรู้และมีพัฒนาการทางภาษา สังคมและอารมณ์ดีกว่าเด็กที่ดูรายการประเภทอื่น.








ที่มา : ไทยโพสต์




8 ความคิดเห็น:

  1. เด็กเล็กอายุไม่ถึง 2 ขวบ ไม่ควรดูทีวี











    เนื่องจากการปล่อยให้เด็กดูทีวีตั้งแต่อายุยังน้อยขนาดนั้น สามารถขัดขวางพัฒนาการด้านภาษาของเด็ก และยังส่งผลต่อการมีสมาธิของเด็กอีกด้วย


    จากรายงานของเอเอฟพีบอกว่า นี่เป็นคำแนะนำที่นักวิชาการที่ทำการศึกษา จะนำเสนอให้ นิโคลา โรซอน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลีย พิจารณาเร็วๆ นี้ เพื่อดำเนินการให้ศูนย์รับเลี้ยงเด็กและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติตาม และขอความร่วมมือจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง ให้ช่วยกันเพื่อพัฒนาการที่ดีของลูกหลาน ซึ่งหนึ่งในข้อแนะนำจากรายงานชื่อว่า เก็ท อัพ แอนด์ โกรว์ (Get Up And Grow) ยังได้พูดถึงเด็กเล็กตั้งแต่ 2-5 ขวบ ว่าควรจะดูโทรทัศน์ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมง


    "จากข้อมูลหลายชิ้นที่เราได้รับเมื่อเร็วๆ นี้ ล้วนมีคำแนะนำว่า เด็กเล็กที่อายุยังไม่ถึง 2 ขวบ ไม่ควรดูทีวีหรือเล่นสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นดีวีดี คอมพิวเตอร์ และเกมอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ การใช้เวลาจุ้มปุ๊กอยู่หน้าจอทีวี อาจจะทำให้เด็กๆ มีกิจกรรมกรรมทางสังคม หรือได้ออกไปเล่นกับเพื่อนๆ น้อยลง ซึ่งสิ่งเหล่านั้นล้วนเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านภาษาของเด็ก นอกจากนั้นยังอาจส่งผลถึงพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อตาของเด็กๆ ด้วย" ข้อมูลส่วนหนึ่งที่ระบุในรายงานดังกล่าว ซึ่งมีข่าวว่าทางการออสเตรเลียยังไม่มีมติออกมามีผลบังคับใช้ ขณะนี้ยังรอผลสรุปอยู่ว่าจะทำอย่างไรต่อไป แต่ก็อยากใช้เป็นข้อมูลให้ประชาชนได้รู้ เพื่อช่วยกัน


    ทั้งนี้จากข่าวยังว่า เหตุที่มีการสำรวจเรื่องนี้ขึ้นมาก็เนื่องจากทางการออสเตรเลียได้รับข้อมูลว่ามีเด็กๆ เป็นโรคอ้วนกันมากขึ้น อีกทั้ง ดร.โจ ซัลมอน จากมหาวิทยาลัยดีคิน หนึ่งในทีมศึกษา ยังบอกด้วยว่า ที่ผ่านมายังไม่มีหลักฐานหรือผลการศึกษาใดๆ ระบุเลยว่าเด็กได้รับประโยชน์จากการดูทีวี เธอยังฝากเตือนพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่ใช้โทรทัศน์เป็น "พี่เลี้ยงเด็ก" ว่าเป็นสิ่งไม่ควรทำ!!!


    พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรหาทางเลือกอื่นให้ลูกๆ ได้เล่น ได้ผ่อนคลาย ซึ่งน่าจะเป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาการด้านสมองของเด็ก เรายังไม่พบหลักฐานหรือผลการศึกษาใดที่อ้างได้ว่า วิดีโอและเกมคอมพิวเตอร์มีประโยชน์หรือเป็นผลดีต่อสุขภาพจิตและพัฒนาการของเด็ก


    มิหนำซ้ำยังมีผลการศึกษาบางชิ้นบอกด้วยว่า เด็กเล็กและวัยรุ่นที่ดูทีวีมากเกินไป โดยดูเกินกว่า 2-3 ชั่วโมงต่อวัน มีแนวโน้มที่จะสุขภาพไม่ดีเมื่อมีอายุมากขึ้น




    ข้อมูลจาก มติชน







    .

    ตอบลบ
  2. เด็กๆ + ทีวี = ก่อให้เกิดปัญหา




    มีรายงานจากนักวิจัยพบว่า เด็กเล็กๆ ที่ดูทีวีมากเกินไป ก่อให้เกิดปัญหาได้ เพราะเป็นการ สร้างนิสัยที่ยากแก่การแก้ไข และบอกให้แด็กๆ หยุดดู

    ข้อมูลจากการวิจัยพบว่า เด็ก 1 ใน 4 คนอายุต่ำกว่า 3 ขวบ ใช้เวลาอยู่หน้าจอทีวีอย่างน้อย 3 ชั่วโมงทุกๆ วันจันทร์ถึงศุกร์ รวมทั้งเด็กทารกที่อายุต่ำกว่า 1 ขวบร้อยละ 17 และเด็กเล็กวัย ต่ำกว่า 2 ขวบร้อยละ 48 ดูทีวีอย่างน้อย 1 ชั่วโมงต่อวัน สมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐฯ แนะ นำว่า เด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบ ไม่ควรดูทีวีเลย และเด็กอายุ ประมาณ 2 ขวบควรจำกัดเวลาดู ทีวีแค่ 2 ชั่วโมงมากที่สุด โดยการศึกษานี้ได้ถูกนำเสนอต่อที่ประชุมของสมาคมกุมารแพทย์ ศาสตร์วิทยา ซึ่งจัดขึ้นที่รัฐบัลติมอร์ สหรัฐฯ เมื่อเร็วๆ นี้

    ทั้งนี้ เมื่อเด็กๆ เจริญวัยขึ้น จะดูทีวีมากขึ้นตามอายุ เช่น เด็กสองขวบที่ดูทีวีมากกว่าปกติ จะมีอัตราการดูทีวีมากกว่าเด็กวัยเดียวกันถึง 2 เท่าครึ่งที่ดูทีวีน้อยกว่าเมื่อเด็กอายุ 6 ขวบ ฉะนั้น เป็นการดีถ้าจะยับยั้งการดูทีวีของลูกไม่ให้มากเกินไปก่อนเข้าวัยสองขวบ

    ดร.ไมเคิล ริช กุมารแพทย์แห่งรพ.เด็กในบอสตัน สหรัฐฯ กล่าวว่า ถึงแม้เด็กจะดูรายการทีวีที่มีคุณภาพเช่น เซซามีสตรีท แต่เด็กก็ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไร และ ไม่ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองมากนัก เพราะเด็กๆ เป็นวัยที่จะต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการวิ่ง เล่น ต่อไม้บล็อก ออกกำลังกาย และมีสังคมกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง และคนรอบข้าง เพื่อพัฒนา ทักษะทางกาย, อารมณ์, สังคม และจิตใจ แม้ว่าการเรียนรู้เรื่อง สีต่างๆ เป็นสิ่งสำคัญ แต่ ถ้าเด็กๆ นั่งอยู่หน้าทีวีนานเกินไป เด็กก็จะรับทุกสิ่งทุกอย่างที่ทีวีนำเสนอต่อเด็กไม่ว่าเป็น สิ่งที่ดีหรือไม่ดีก็ตาม

    มีงานวิจัยหลายชิ้นที่พบว่า เด็กโตที่ดูทีวีมากเกินไป ก่อให้เกิดนิสัยก้าวร้าวและมีปัญหาทาง ด้านอารมณ์รุนแรงในโรงเรียน และนอกจากนั้น ยังพบว่า เด็กจะไม่มีน้ำหนักมากเกินไป และมีอารมณ์สงบลงเมื่อดูทีวีน้อยลง

    สำหรับสาเหตุที่ทำให้เด็กมีโอกาสดูทีวีได้มากนั้น มักจะมาจากทัศนคติของพ่อแม่และผู้ปก ครอง โดยแม่ที่อาศัยอยู่ในเมือง ไม่สามารถพาลูก หรือบอกให้ลูกไปออกกำลังกายข้างนอก ได้ เพราะไม่มีที่วิ่งเล่น การดูทีวีจึงเป็นทางออกในการใช้เวลาว่าง โดยเฉพาะแม่ที่อยู่ตัว คนเดียวและมีการศึกษาน้อย

    สำหรับพ่อแม่ ที่ไม่พอใจคำแนะนำของสมาคมกุมารแพทย์ที่จำกัดเวลาดูทีวีของเด็ก โดยกล่าว ว่า "ถ้าไม่ให้ลูกดูทีวีแล้วชั้นจะทำกับข้าวได้ยังไงล่ะ?" ดร. ริช กุมารแพทย์กล่าวว่า เมื่อ 50 ปีที่แล้วก็ไม่มีทีวีดูเหมือนกัน ทำไมคนเป็นพ่อแม่สมัยนั้นก็ยังทำกับข้าวรับประทานกันได้ พอมีทีวี คนในสังคมสมัยนี้ก็เลยหาทางออกอื่นกันไม่เป็น นอกจากใช้ทีวีเป็นเครื่องมือ เลี้ยงลูก

    นักวิจัยกำลังค้นหาสาเหตุต่อไปจากหลายครอบครัวถึงสาเหตุที่ทำให้เด็กเล็กดูทีวีมากเกินไป และผลกระทบระยะยาวที่มีต่อเด็กวัยดังกล่าว






    .

    ตอบลบ
  3. ผลกระทบของการดูโทรทัศน์ในเด็กโดยเฉพาะเด็กเล็ก ๆ เป็นเรื่องที่เถียงกันอย่างมาก ทุกๆ ปีมีการทำสถิติเกี่ยวกับพฤติกรรมการดูโทรทัศน์ของเด็ก และพบว่าเด็กบางกลุ่มมีสัญญาณเตือนที่น่ากลัว

    โดยเฉลี่ยเด็กอเมริกันดูโทรทัศน์ 4 ชม. ต่อวัน (ที่มา www.app.org) ในขณะที่ร้อยละ 20 ของเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบมีโทรทัศน์ในห้องพวกเขา ในเด็กทารกอายุ 3 เดือนลงมามีถึง 40 เปอร์เซ็นต์ที่ดูโทรทัศน์ และมีเปอร์เซ็นต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากสำหรับเด็กอายุ 2 ขวบ (ที่มา http://seattlepi.nwsource.com/local/314676_babytube08.html) การศึกษาพฤติกรรมการดูโทรทัศน์ของเด็กในปี ค.ศ. 2003 พบว่าเด็ก 6 เดือนถึง 6 ปี ใช้เวลาถึงสองชั่วโมงกับ “สื่อจอ” เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และวิดีโอเกม (ที่มา CBS News) การศึกษายังพบอีกถึงการใช้เวลาที่ใช้ดูโทรทัศน์มากขึ้นและการอ่านที่น้อยลง

    การศึกษาพฤติกรรมการดูโทรทัศน์ในเด็กเหล่านี้ทำโดยแพทย์ นักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญ ได้แนะนำให้ลดการดูโทรทัศน์ลงในเด็ก วีดีโอชุดหนึ่งที่ผลิตออกมาในต้นเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2007 อย่างเช่น “Baby Einstein” และ “Brainy Baby” พบว่าอาจเป็นอันตรายต่อพัฒนาการของเด็ก วิดีโอเหล่านี้ซึ่งมีผลิตในรูปแบบ VHS และ DVD ในเนื้อหามีบทสนทนาเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นภาพที่ทับต่อเนื่อง และมักจะไม่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งยากที่จะเข้าในเนื้อเรื่อง แต่วิดีโอชุดนี้ก็เป็นที่นิยมอย่างมาก อย่างเช่นชุด “Baby Einstein” ได้รับรายได้มากกว่า 500 ล้านเหรียญ (ที่มา Boston Globe) และ Disney ได้ซื้อบริษัทนี้ในปี ค.ศ. 2001 (ที่มา Denver Post)

    ผู้ปกครองส่วนมาก กล่าวว่าพวกเขาใช้วิดีโอเหล่านี้เป็นเหมือนพี่เลี้ยงเด็ก การเปิด DVD ชุด “Baby Einstein” ให้เด็กดูเพื่อที่จะให้คุณแม่หรือคุณพ่อสามารถทำความสะอาดบ้านหรือจัดเตรียมอาหาร หรือดูแลงานอื่นๆ ได้ แต่นักวิจัยพบปัญหาว่าวีดีโอเหล่านี้ไม่ได้เป็นประโยชน์และอาจจะเป็นอันตรายต่อพวกเด็ก ๆ ได้

    ปัญหาไม่เพียงเฉพาะเนื้อหาวิดีโอ ที่บทสนทนาที่มีเพียงเล็กน้อยหรือภาพต่อเนื่องที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว แต่วิดีโดชุดนี้ยังอาจมีผลถึงการพัฒนาการของสมองในเด็กทารก สมองของเด็กเป็นสิ่งสำคัญมากในเด็กก่อนอายุ 2 ขวบ ซึ่งเป็นการพัฒนาเชื่อมต่อระบบประสาทและเติบโตขนาดของสมอง จำเป็นต้องมีสิ่งเร้าในการกระตุ้นการพัฒนาการของสมอง นักวิจัยแย้งว่าวิดีโอไม่ให้สิ่งเร้านี้

    การศึกษาวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร “Journal of Pefiatrics” สุมตัวอย่าง 1,000 ครอบครัว ทดสอบเด็กอายุ 8 เดือนถึง 16 เดือน สำรวจให้เด็ก 32 เปอร์เซ็นต์ดูวิดีโอ โดยเด็ก 17 เปอร์เซ็นต์ของพวกเขาดูวิดีโดอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงต่อวัน ทดสอบใช้วิดีโอชุด “Baby Einstein” ว่ามีผลต่อการพัฒนาการของพวกเขาหรือไม่ โดยเน้นไปที่คำศัพท์ โดยเฉลี่ยทุกชั่วโมงของทุกวันเด็กที่ดูวิดีโอนี้เขารู้คำศัพท์น้อยลง 6-8 คำเมื่อเทียบกับเด็กอายุเดียวกัน แต่เด็กที่มีอายุ 17 -24 เดือน เมื่อทดสอบแล้วไม่มีผลกระทบใดๆ

    สถานบันชั่นนำ “Frederick Zimmerman” ของมหาวิทยาลัยวอชิงตันกล่าวว่า “ไม่มีหลักฐานชัดเจนถึงประโยชน์ที่มาจากดีวีดีและวิดีโอของเด็กเล็ก และมีคำแนะนำบางอย่างถึงอันตรายกับเด็กเล็ก” (ที่มา Forbes)

    ดังนั้นเราควรห้ามให้เด็กเล็กๆ ดูโทรทัศน์หรือไม่ ? ในตอนต่อไปเราจะไปถึงนักวิจัยคนอื่นพูดถึงการดูโทรทัศน์ในเด็กเล็ก และผู้เชี่ยวชาญแนะนำการดูโทรทัศน์ในเด็กเล็ก




    .

    ตอบลบ
  4. เด็กเล็กกับการดูทีวี


    ทีวีนั้นมีประโยชน์ แต่ดูเท่าไหร่ถึงจะพอดีไม่เป็นภัย




    โทรทัศน์กับเด็กเล็กคือประเด็นที่มักมีการถกเถียงกันมากมายในกลุ่มคุณพ่อคุณแม่ และระหว่างคุณพ่อคุณแม่กับพี่เลี้ยงเด็ก เมื่อเร็วๆ นี้ BBC ได้นำเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับเด็กเล็กที่ดูโทรทัศน์ โดยกล่าวว่า การดูโทรทัศน์นานๆ อาจส่งผลเสียต่อการเรียนและส่งผลเสียต่อสุขภาพของเด็กได้ในระยะยาว




    ผลการวิจัยนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Archives of Pediatrics and Adolescent Medicine โดย Dr. Linda Pagani จากมหาวิทยาลัยมอนทรีออล เธอกล่าวว่า "วัยเด็กเล็กเป็นช่วงสำคัญสำหรับการพัฒนาสมองและการกำหนดพฤติกรรม ...การดูโทรทัศน์มากๆอาจทำให้เด็กวัยนี้มีพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเขาในอนาคต"




    เธอกล่าวต่อว่า "เรารู้เองโดยสามัญสำนึกว่า การดูโทรทัศน์จะแย่งเวลาที่เด็กควรใช้ในการทำกิจกรรมการพัฒนาต่างๆ ที่ช่วยส่งเสริมการใช้ตรรกะ พฤติกรรม และการเคลื่อนไหวของเด็กเล็ก"




    ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ค่ะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลี้ยงดูเด็กต่างก็แนะนำคุณพ่อคุณแม่ให้จำกัดเวลาดูโทรทัศน์ของลูกน้อยมาเป็นเวลานานแล้วค่ะ เมื่อช่วงต้นปี 2548 นักวิจัยชาวสหรัฐฯ จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน พบความสัมพันธ์ระหว่างการให้เด็กทารกชมโทรทัศน์กับความสามารถในการเรียนรู้ในอนาคตของเด็กที่ด้อยลง




    ฟังดูน่ากลัวนะคะ แต่ยังไงก็ตาม เราต้องยอมรับว่าโทรทัศน์มีประโยชน์สำหรับการเลี้ยงน้องมาก โดยเฉพาะเวลาที่ไม่มีผู้ใหญ่คนอื่นอยู่บ้านคอยดูแลเด็กๆ แล้วคุณกำลังติดธุระอื่น อย่างเช่น ตอบอีเมล์ที่สำคัญ จ่ายบิล หรือกำลังเตรียมกับข้าว โทรทัศน์จะเป็นเครื่องช่วยได้อย่างดี และถ้าเป็นรายการที่ช่วยให้ความรู้ ก็จะช่วยลดอันตราย (รวมทั้งความรู้สึกผิดด้วย) ที่คุณพ่อคุณแม่ปล่อยให้ลูกน้อยนั่งดูโทรทัศน์ได้ค่ะ




    สำหรับตัวฉันแล้ว ฉันไม่ยอมให้ลูกดูโทรทัศน์จนกระทั่งเขาอายุ 18 เดือนค่ะ วันที่ฉันให้น้องดูทีวีนั้นตรงกับวันหยุดของครอบครัวพอดี ซึ่งเป็นวันที่ฉันต้องลงมือทำกับข้าวให้น้องเองโดยไม่มีพี่เลี้ยงอยู่ด้วย รายการทีวี 30 นาทีช่วยให้ฉันสามารถเตรียมอาหารได้โดยไม่ถูกรบกวนค่ะ ตอนแรกฉันยอมให้ลูกดูทีวีได้วันละ 30 นาที จากนั้นค่อยๆ เพิ่มจนสูงสุดแค่ 1 ชั่วโมงค่ะ มีหลายวันที่น้องไม่ได้ดูทีวีเลย เพราะว่าเราจะพยายามหาเกมอื่นๆ ให้น้องเล่น หรือพาน้องไปสนามเด็กเล่น แต่ฉันก็ยอมรับค่ะว่าทีวีช่วยให้ฉันได้พักจริงๆ แม้ว่าฉันจะนั่งอยู่ข้างๆ เจ้าตัวน้อยอยู่ก็ตาม




    ต่อไปนี้เป็นวิธีการป้องกันไม่ให้โทรทัศน์กลายเป็นความบันเทิงหลักของลูกน้อยค่ะ


    • ตกลงกับคุณพ่อและพี่เลี้ยงว่าควรให้น้องดูโทรทัศน์ได้เมื่อเขามีอายุเท่าไหร่


    • จำกัดเวลาที่น้องจะได้รับอนุญาตให้ดูโทรทัศน์ในแต่ละวัน เพราะบางครั้ง พี่เลี้ยงเองก็อาจให้น้องดูทีวีเพื่อจะได้พักบ้าง ลองสังเกตว่าการที่น้องดูโทรทัศน์อาจเป็นเพราะเบื่อและขาดสิ่งกระตุ้นอื่นๆ ก็ได้นะคะ เช่น ของเล่นที่ท้าทายกว่าเดิม


    • เลือกรายการคุณภาพที่เหมาะกับอายุของเด็ก และเป็นรายการที่ให้ความรู้


    • ดูโทรทัศน์กับน้องทุกครั้งที่มีโอกาส และพูดคุยกับน้องเกี่ยวกับรายการที่ได้ดู การดูโทรทัศน์ร่วมกันจะช่วยให้คุณแม่มีกิจกรรมร่วมกับน้องมากขึ้น เป็นการเพิ่มการปฏิสัมพันธ์และการโต้ตอบระหว่างดูทีวี และช่วยให้คุณแม่ได้สังเกตว่าน้องเข้าใจสิ่งที่ดูมากน้อยแค่ไหน


    • วางแผนให้น้องดูโทรทัศน์ในระหว่างที่คุณแม่ต้องการพัก หรือต้องทำอย่างอื่น เพื่อไม่ให้น้องดูโทรทัศน์เกินเวลาที่จำกัดไว้


    • ซื้อหรือเช่าดีวีดีแทนที่จะดูรายการโทรทัศน์ เพื่อให้เป็นการจำกัด "เวลาดูโทรทัศน์" ที่ชัดเจน และน้องจะได้ไม่ต้องดูโฆษณา


    • ส่งเสริมให้น้องเล่นตามลำพังเป็นช่วงสั้นๆ และกำหนดเวลาให้เขาได้เล่นนอกบ้านด้วยนะคะ




    .

    ตอบลบ
  5. ผลกระทบ เด็กกับการดูโทรทัศน์




    โทรทัศน์มีอิทธิพลกับเด็กตั้งแต่แรกเริ่มของชีวิตสามารถดึงความสนใจจากเด็กได้มากกว่าสิ่งอื่นๆ ให้ประโยชน์มากมาย ในแง่ของการเรียนรู้ด้วยการสังเกตให้ข้อมูลข่าวสาร กว้างไกล รวดเร็ว และให้ความบันเทิงในรูปแบบต่างๆ การที่โทรทัศน์มีประโยชน์มากมายดังกล่าว ทำให้เรา ให้การต้อนรับโทรทัศน์เข้ามาอย่างใกล้ชิดจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวไปแล้ว โดยลืมคำนึงถึงว่าโทรทัศน์ก็เหมือนเทคโนโลยีทั่วๆไป ซึ่งมีคุณอนันต์หากเราใช้ได้ถูกต้องเหมาะสมและควบคุมได้ แต่จะก่อให้เกิดโทษมหันต์ได้ เช่น หากเราใช้ไม่เป็นและปล่อยให้สิ่งเหล่านี้มีอิทธิพลเหนือวิถีชีวิตและ การควบคุมของเรา
    บ่อยครั้งที่พบว่าพ่อแม่ใช้โทรทัศน์ในการ เลี้ยงดูลูก โดยเข้าใจผิดว่าโทรทัศน์สามารถพัฒนาการพูดของเด็กให้เร็วขึ้น บางคนหวังว่าการให้ลูกดูการ์ตูนภาษาอังกฤษตั้งแต่เล็กๆ จะทำให้ลูกสามารถ พูดภาษาอังกฤษได้เร็วและพ่อแม่ที่นิยมเลี้ยงลูก ด้วยโทรทัศน์มักจะพูดเหมือนๆกันว่าลูกสนใจ ดูโทรทัศน์เป็นตั้งแต่อายุก่อน 3 เดือน เพราะพ่อแม่สังเกตว่าเด็กจ้องมองภาพ พร้อมทั้งหยุดการเคลื่อนไหว ทุกอย่างได้นานๆ ดูเหมือนเด็กกำลังสนใจดูโทรทัศน์ แต่จากการศึกษาพบว่า
    1.สิ่งที่เด็กสนใจมองจริงๆคือ แสง สี เสียง โดยเฉพาะรายการโฆษณา ซึ่งมีการเปลี่ยนภาพเร็วมากจะดึงดูดความสนใจได้มากที่สุด จึงไม่น่าแปลกใจ ที่พบว่า เด็กเล็กส่วนใหญ่จะสนใจและจำภาพโฆษณาได้ดีและนั่นก็หมายความว่าในเด็กทารกเด็ก

    ไม่เข้าใจความหมายอะไรในโทรทัศน์นอกจาก เป็นการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่มากระตุ้นเท่านั้น
    2.ในขณะที่เด็กใช้เวลาอยู่กับโทรทัศน์นั้นพบอัตราการเปล่งเสียงหรือเลียนเสียงน้อยมาก เนื่องจากโทรทัศน์เป็นการสื่อสารเพียงทางเดียว (One-way communication) ซึ่งตามปกติการเรียนรู้ทางภาษาที่ดีนั้นควรเรียนรู้จากการสื่อสาร2ด้าน(Two-way communication) หรือในลักษณะที่มี การโต้ตอบหรือมีปฏิสัมพันธ์กัน

    3.การปล่อยเด็กเล็กให้อยู่กับโทรทัศน์นานๆ นอกจากเป็นเหตุให้เด็กต้องทนฟังเสียงที่ไม่อาจ

    เข้าใจได้อยู่ข้างเดียวแล้วพบว่า 1 ใน 5 ของกลุ่มนี้ จะยังพูดไม่ได้เมื่อถึงวัยอันควร


    4. เด็กที่ใกล้ชิดกับบุคคลที่เป็นแบบอย่างจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านพัฒนาการได้มากกว่า







    .

    ตอบลบ
  6. ...ต่อ....



    เด็กที่เฝ้าดูโทรทัศน์เป็นแบบอย่าง

    โทรทัศน์สามารถก่อให้เกิดผลกระทบต่อพัฒนาการทางด้านอื่น ๆ ดังนี้
    1.สามารถเปลี่ยนแปลงให้เด็กหันไปนิยมวัตถุมากขึ้น เด็กที่ใช้เวลาในการดูโทรทัศน์หลายพันชั่วโมงจะรับเอาการโฆษณาสินค้าทางโทรทัศน์เข้าไป โดยไม่รู้ตัวหลายบริษัทใช้เด็กเป็นตัวดึงในการโฆษณาขายสินค้าของตน ผู้ผลิตรายการโฆษณามักจะรู้ดีว่าเด็ก เป็นกลุ่มที่ถูกชักจูงง่ายที่สุด
    2.ทำให้ความสัมพันธ์กับผู้ใหญ่ลดลง ขาดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน สำหรับเด็กเล็ก ความเชื่อผิดๆ ที่ได้รับ จากรายการโทรทัศน์จะมีอิทธิพลมากพอที่จะลบล้าง

    ความเชื่่อทั้งหมดที่เคยได้รับจากพ่อแม่ วัยที่เป็นอันตรายอย่างมากคือ ก่อนวัยเรียน เพราะเด็กวัยนี้ยังแยกแยะความจริงไม่ได้และเป็นวัยเลียนแบบด้วย จะสามารถทำลายความสัมพันธ์ยุติลงได้
    3.ในครอบครัวที่มีความเครียดสูง เช่น ปัญหาพี่น้องทะเลาะกันบ่อย ผู้ใหญ่มักคิดว่าโทรทัศน์จะช่วยเลี่ยงปัญหานั้นได้ แต่ความเป็นจริงกลับพบว่าหลังจากหยุดดูโทรทัศน์ การทะเลาะก็จะเริ่มขึ้นแทนและ มีความรุนแรงมากขึ้นด้วย
    4.ทำให้ขาดโอกาสในการเล่น หรือทำให้ การเล่นลดน้อยลง ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก ทั้งนี้เพราะการเล่นเป็นสิ่งสำคัญต่อพัฒนาการด้านการเจริญเติบโตสามารถช่วยขยายจินตนาการ

    ความคิดริเริ่มให้กว้างไกลออกไป อีกทั้งยังช่วยลดความวิตกกังวลลงได้

    5.เด็กที่ดูโทรทัศน์มากๆจะแสดงลักษณะของการไม่อยู่นิ่งหรือเหนื่อยล้า ทำให้มีแนวโน้มที่จะเป็นเด็กสมาธิสั้น เนื่องจากได้รับการกระตุ้นจาก แสง สี เสียงมากเกินไป มีผลรบกวนต่อขบวนการด้านความคิดของเด็ก ทำให้ไม่สามารถเก็บข้อมูลหรือนำไปใช้ได้

    6.เด็กที่ดูโทรทัศน์มากๆจะทำให้กลายเป็นเด็กที่มีลักษณะสมยอมขาดความคิดริเริ่ม ผู้ป่วยที่มาด้วยปัญหาพูดช้าและมีลักษณะคล้ายเด็กออทิสติก มักพบประวัติถูกเลี้ยงดูด้วยโทรทัศน์มาตั้งแต่วัยทารก
    7.โทรทัศน์เป็นตัวกระตุ้นผลักดันภายในและอารมณ์ที่มีอยู่ให้ออกมารุนแรงได้ การดูรายการโทรทัศน์เกี่ยวกับความก้าวร้าวรุนแรงทำให้เด็กพอใจหรือมีการเล่นที่ก้าวร้าวรุนแรงกว่าเดิม อีกทั้งยังเฉยเมยต่อความรุนแรงที่ประสบในชีวิตจริงได้
    การควบคุมการดูโทรทัศน์สำหรับเด็ก
    1. ทารกที่อายุไม่ถึง 1 ขวบ ไม่ควรให้ดูโทรทัศน์หรือวีดีโอเลย
    2. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ไม่ควรดูโทรทัศน์ เกิน 7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ (วันละไม่เกิน 1 ชม.)
    3. เด็กอายุ 6 ขวบขึ้นไปควรปฏิบัติ ดังนี้
    - ช่วยกันวางโปรแกรมในการ จัดตารางรายการที่เด็กชอบ
    - ให้เด็กเขียนรายการที่ต้องการ ดูในแต่ละวัน
    - ให้เวลา 1 ชม. ต่อวันในการ ดูโทรทัศน์ในวันไปโรงเรียน
    - ให้เวลา 2 ชม. ต่อวันในการ ดูโทรทัศน์ในวันหยุด
    - ถ้าเด็กดูรายการพิเศษติดกัน 2 ชม. ในวันไปโรงเรียนต้องงดดูคืนถัดไป
    4.ไม่ควรอนุญาตให้มีโทรทัศน์ในห้องนอนการควบคุมควรกระทำอย่างจริงจัง

    จะสามารถ บรรลุตามเป้าหมายเด็กเล็กก่อนวัยเรียนพ่อแม่มีบทบาทสำคัญมาก จะเป็นแบบอย่างสำหรับเด็กสำหรับ การทำงานการอยู่ร่วมกัน หรือมีเวลาสงบเงียบสำหรับ การพักผ่อน เพื่อให้ครอบครัวที่มีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน





    .

    ตอบลบ
  7. คำแนะนำการดูโทรทัศน์ในเด็กเล็กๆ


    หนึ่งในนักวิจัยเกี่ยวกับโทรทัศน์ชุด “Baby Einstein” กล่าวว่าผู้ปกครองควรที่จะดูโทรทัศน์ร่วมกับเด็ก ถ้าจะให้เด็กเล็กๆ ดูโทรทัศน์ ซึ่งอย่างน้อยก็จะเป็นวิธีที่จะช่วยในการมีส่วนร่วมหรืออธิบายในเนื้อหาของโทรทัศน์ที่ไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน โดยผู้สร้างโทรทัศน์ชุด “Baby Einstein” ก็แนะนำเช่นเดียวกัน

    แต่ผู้เชี่ยวชาญมากมายต่างโต้แย้งว่าในเด็กเล็ก ๆ ไม่ควรให้ดูโทรทัศน์ สถาบัน “American Academy of Pediatrics (AAP)” กล่าวว่าเด็กอายุต่ำกว่า 2 ขวบไม่ควรดูโทรทัศน์และเด็กอายุมากกว่า 2 ขวบขึ้นไปไม่ควรดูโทรทัศน์มากกว่าหนึ่งหรือสองชั่วโมงต่อวัน

    ในเอกสารตีพิมพ์ “Frederick Zimmerman” และนักวิจัยอื่นๆ เน้นไปที่เวลา การดูโทรทัศน์ทำให้เด็กเล็กๆ เสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์เพราะว่าเด็กเล็กๆ ควรจะนอนอย่างน้อย 12 ชั่วโมงต่อวัน ผู้ปกครองควรใช้เวลากับเด็กๆ ในการพูดคุยด้วย (ช่วยให้เด็กพัฒนาในเรื่องของภาษา) และมีส่วนร่วมในการปฏิสัมพันธ์กัน ซึ่งในโทรทัศน์ไม่สามารถทำได้ การพัฒนาทางด้านร่างกายและสังคมช่วยให้เด็กมีการพัฒนาทางด้านภาษาได้ สถาบัน “American Speech-Language-Hearing Association” แนะนำว่าการฝึกหัดการพัฒนาความเข้าใจในเด็กเล็ก ๆ เช่นการเช่นสายตา (eye contact) การสนทนาโต้ตอบ การเล่นโดยพัฒนานิ้วมือเด็ก (เช่นบล๊อคหยอดรูปทรงต่างๆ) และการอ่านให้เด็กฟัง

    แต่นักวิจัยบางคนแสดงให้เห็นว่ารายการโทรทัศน์บางรายการก็ช่วยในเรื่องพัฒนาการของเด็ก เช่นรายการ “Sesame Street” ที่เป็นรายการสำหรับเด็กโดยเฉพาะ และรายการเกี่ยวกับการศึกษาก็เป็นประโยชน์กับเด็กก่อนวัยเรียน หรือรายการโทรทัศน์ของช่อง “BabyFirstTV” ที่ทำให้สำหรับเด็กเล็กๆ ซึ่งมีเสียงวิจารย์มากมายเกี่ยวกับรายการช่องนี้ BabyFistTV เป็นช่องรายการไม่แสวงผลกำไร มีโปรแกรมเกี่ยวกับการศึกษา โดยทางบริษัทกล่าวอ้างว่าผู้ปกครองทั่วไปจะปล่อยให้เด็กดูรายโทรทัศน์เพียงลำพัง แต่ผู้ชมรายการของเขาส่วนใหญ่มีผู้ปกครองดูรายการร่วมกับเด็กๆ

    มีความคิดที่หลากหลายเกี่ยวกับการดูโทรทัศน์ในเด็กที่มีทั้งในแง่ดีและไม่ดี แต่สถาบัน “AAP” และผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับเด็ก แนะนำว่าอย่างไรก็ตามถ้าจะใช้เด็กดูรายการโทรทัศน์ควรจะนั่งดูร่วมกับเด็ก ๆ ด้วย ซึ่งการดูร่วมกันจะมีการโต้ตอบร่วมด้วยซึ่งจะเป็นผลดี โดยผู้ปกครองจะอธิบายในสิ่งต่างๆ ที่เด็กไม่เข้าใจได้

    บทสรุป สำหรับการดูรายการโทรทัศน์ในเด็กเล็กๆ นั้นอาจจะกล่าวได้ว่า การดูโทรทัศน์ในเด็กเล็กส่วนใหญ่จะเป็นโทษมากกว่าผลดีในเด็กเล็กที่ต่ำกว่า 2 ขวบ ถ้าจะให้เด็กดูโทรทัศน์ในทุกๆ วัยผู้ปกครองควรจะมีส่วนร่วมไปด้วยซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ




    .

    ตอบลบ
  8. การดูโทรทัศน์กับเด็กเล็ก




    “ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำให้เด็กอายุมากกว่า 2 ปี ดูโทรทัศน์รวมทั้งสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ วีซีดี หรือ เกมส์คอมพิวเตอร์ รวมกันไม่เกิน 1 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปีไม่แนะนำให้ดูโทรทัศน์เลย”


    มาว่ากันด้วยหัวข้อ Top Hit เลยดีกว่า โทรทัศน์ ไม่ใช่เราไม่รู้ว่ามันไม่ดีสำหรับเด็กๆ แต่ทำไงได้ ใครไม่มีลูกไม่มีทีวันเข้าใจว่าบางทีเลี้ยงลูกมันเหนื่อยยากยังไง ขนาดรู้ๆอยู่ว่ามันไม่ดี บางทียังต้องใช้ TV เพื่อหยุดเจ้าจอมซนให้อยู่นิ่งๆบ้าง จะได้มีเวลาอาบน้ำ หรือกินข้าว มีเวลาส่วนตัวซักกะนิดก็ยังดี หรือหากที่บ้าน อาม่า อากง หรือคุณตาคุณยายเลี้ยงลูกละก็ เรายิ่งเข้าใจได้เลยว่าทำมั้ย ทำไม TV จึงแทบจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตลูกในทุกๆวันเลยเชียว ก็ขนาดเราอายุเท่านี้วิ่งไล่จับเจ้าตัวเล็กยังหอบกิน แล้วอาม่า อากงอายุปูนฉะนี้แล้วเลยจำเป็นต้องใช้ตัวช่วยคือ เจ้า TV ในการตรึงเจ้าตัวเล็กไว้กับที่จะได้ไม่เหนื่อยจนเกินไป อันนี้เราเข้าใจจริงๆ


    แต่ที่ KiDO เราพบว่าเด็กจำนวนมากที่บางครั้งมีพัฒนาการไม่สมวัยนั้น สืบๆประวัติแล้วพบว่าดู TV มากเกือบทุกคน ไม่งั้นก็โตมาในสิ่งแวดล้อมที่ถึงไม่ได้ตั้งใจดูก็มี TV เปิดไว้ทั้งวัน อาการที่เห็นได้ชัดเหรอคะ ก็คือพูดช้ามาเป็นอย่างแรก หรืออีกอย่างที่พบคือพูดนะ แต่พูดเป็นการ์ตูน


    ปกติ เด็กอายุขวบครึ่งเนี่ยต้องพูดคำที่มีความหมายได้อย่างน้อยหนึ่งคำแล้ว เช่นพ่อ หรือ แม่ หากช้ากว่านี้ ก็ถือว่าเริ่มช้าแล้วล่ะ ต้องหาสาเหตุและเริ่มแก้ไขโดยด่วน เพราะพัฒนาการของเด็กวัยนี้ก้าวหน้าเร็วมาก หากช้าเพียงหนึ่งอย่างก็อาจมีผลประทบพัฒนาการด้านอื่นๆให้ช้าตามไปด้วย


    สำหรับ KiDO เราเคยพบเห็นเด็กมากมาย ที่ 2 ขวบแล้วยังไม่พูดเลย หรือพูดก็พูดภาษาที่คนฟังไม่เข้าใจ (พูดภาษาการ์ตูน) และเคยพบเด็กหญิงคนนึงอายุประมาณ 4 ขวบ บทพูดเหมือนนางร้ายในละครช่อง 7 เห็นได้ชัดเลยว่า ความไม่เหมาะสมที่เราเห็นในโทรทัศน์นั้น เป็นเรื่องยากที่จะไม่ให้เด็กปฏิบัติตามหรือเลียนแบบ


    ก็จริงๆแล้วการเลียนแบบนั้น เป็นวิธีการเรียนรู้หลักๆของเด็กๆเลยเชียว วิธีแก้ไขที่ง่ายที่สุดก็คือ เลือกรายการที่เหมาะสมให้ลูกดูและดูกับลูกด้วยจะเป็นการดีที่สุดค่ะ แต่เด็กต่ำกว่าสองขวดต้องห้ามดูโดยเด็ดขาดนะคะ


    จริงอยู่ที่ TV อาจใช้เป็นสื่อการศึกษาที่ทำให้คนเรียนเห็นภาพได้มาก แต่นั่นก็ดีสำหรับเด็กวัยเรียนคือวัยประถมขึ้นไปเท่านั้นนะคะ ยังไงก็ตามการดูโทรทัศน์นั้นเป็นการสื่อสารทางเดียว ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการได้น้อย นอกจากนี้ยิ่งเด็กใช้เวลาอยู่หน้าจอโทรทัศน์นานขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสพบเห็นภาพและเหตุการณ์ที่ไม่เหมาะสมมากขึ้นเท่านั้น


    ฉะนั้นการดูโทรทัศน์ของเด็กทุกวัย คุณควรเลือกรายการให้ลูกดู และดูไปพร้อมกับลูกด้วย เพื่อสอนเขาถึงความเหมาะสมและไม่เหมาะสมจากสิ่งที่เขาเห็นค่ะ



    สรุปได้ว่า

    • เด็กอายุน้อยกว่า 2 ขวบไม่ควรดูเลยนะคะ

    • เด็กอายุเกิน 2 ขวบ อนุญาตให้ดู TV รวมกับ Computer ได้ไม่เกินวันละ 1 ชั่วโมงเพราะเป็นการเรียนรู้ทางเดียว เป็นการส่งเสริมแค่ในเรื่องของความจำ ไม่เกิดประโยชน์อื่นใด

    • ข้อเสียหลักของ TV คือเด็กเสียทักษะทางสังคม

    • อีกข้อเสียหนึ่งคือเด็กจะขาดกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาการทางด้านร่างกาย เช่นปัจจุบัน เด็กเป็นโรคอ้วน และโรคภูมิแพ้มากขึ้นเพราะได้ออกกำลังกายน้อยลง เพราะนั่งดู TV กันทั้งวันนั่นเอง








    .

    ตอบลบ