ตรุษจีน 2565 ตรงกับวันอะไร
วันตรุษจีนหรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน
ในอดีต วันตรุษจีนจะไม่ตรงกันในแต่ละแคว้น แต่ละยุคสมัย เนื่องจากปฏิทินที่ใช้ในแต่ละยุคของจีน กำหนดวันตรุษจีนแตกต่างกัน บางยุคใช้แบบสุริยคติ บางยุคใช้แบบจันทรคติ จึงทำให้วันขึ้นปีใหม่ของชาวจีนไม่ตรงกันเลย
สมัยจีนยุคโบราณจะให้ความสำคัญกับ “วันลี่ชุน” ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นฤดูใบไม้ผลิ มากกว่าวันที่ 1 เดือน 1 โดยในวันดังกล่าวจะมีการเฉลิมฉลองและอัญเชิญเทพเจ้า ถือเป็นวันบวงสรวงสวรรค์ ประกอบพิธีเข้าเฝ้าจักรพรรดิ รวมถึงมีการเสี่ยงทายการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และขอพรจาก “เทพเจ้าการเกษตร”
ส่วนจุดเริ่มต้นที่กำหนดให้วันที่ 1 เดือน 1 ของทุกปี ตามปฏิทินจีน เป็นวันเริ่มต้นปีใหม่ของจีนและใช้กันมาจนถึงทุกวันนี้ กำเนิดขึ้นในยุคสมัยราชวงศ์ฮั่น ราวปี พ.ศ. 439 (ก่อนคริสต์ศักราชประมาณ 104 ปี) ถือเป็นจุดกำเนิดของวันตรุษจีนที่ชาวจีนในไทยยึดถือจนถึงปัจจุบัน
ตามปฏิทินจีน “วันตรุษจีน” หรือวันขึ้นปีใหม่ของชาวจีน จะอยู่ช่วงระหว่างปลายเดือนมกราคม ถึงช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งแต่ละปีอาจคลาดเคลื่อนแตกต่างกันไป (เนื่องจากจำนวนวันในเดือนของปฏิทินจีน บางเดือนมี 29 วัน บางเดือนมี 30 วัน แตกต่างกับปฏิทินสากล)
วันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว ตรงกับวันไหน
สำหรับวันตรุษจีนประจำปี 2565 นั้น ตรงกับวันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 โดยก่อนที่จะถึงวันตรุษจีน หรือ “วันเที่ยว” ยังมีอีก 2 วันสำคัญของเทศกาลตรุษจีน คือ “วันจ่าย” และ “วันไหว้”
- วันจ่าย ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 30 มกราคม 2565
- วันไหว้ ตรงกับวันจันทร์ที่ 31 มกราคม 2565
- วันเที่ยว ตรงกับวันอังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565
อย่างไรก็ตาม ปีนี้รัฐบาลไม่ได้ประกาศให้วันตรุษจีนเป็นวันหยุดยาวเหมือนในปี 2564 ซึ่งกำหนดให้วันที่ 12 กุมภาพันธ์ เป็นวันหยุดราชการกรณีพิเศษ
กิจกรรมวันจ่าย-วันไหว้
วันจ่าย คือ วันก่อนวันสิ้นปี เป็นวันที่ชาวไทยเชื้อสายจีนจะต้องไปซื้ออาหารผลไม้และเครื่องเซ่นไหว้ต่าง ๆ ก่อนที่ร้านค้าทั้งหลายจะปิดร้านหยุดพักผ่อนยาว ไม่จำเป็นจะต้องมีการจุดธูปอัญเชิญเจ้า ให้ลงมาจากสวรรค์เพื่อรับการสักการบูชาของเจ้าบ้าน
วันไหว้ ตอนเช้ามืด จะไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ เครื่องไหว้คือ เนื้อสัตว์สามอย่าง ได้แก่ หมู เป็ด ไก่ หรือเพิ่มตับ ปลา เป็นเนื้อสัตว์ห้าอย่าง เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง
ตอนสาย จะไหว้บรรพบุรุษ พ่อแม่ญาติพี่น้องที่ถึงแก่กรรมไปแล้ว เป็นการแสดงความกตัญญูตามคติจีน การไหว้ครั้งนี้จะไหว้ไม่เกินเที่ยง เครื่องไหว้จะประกอบด้วย อาหารคาวหวาน (ส่วนมากจะทำตามที่ผู้ที่ล่วงลับเคยชอบ) รวมทั้งการเผากระดาษเงินกระดาษทอง เสื้อผ้ากระดาษเพื่ออุทิศแก่ผู้ล่วงลับ
หลังจากนั้น ญาติพี่น้องจะมารวมกันรับประทานอาหารที่ได้เซ่นไหว้ไปเป็นสิริมงคล และถือเป็นเวลาที่ครอบครัวหรือวงศ์ตระกูลจะรวมตัวกันได้มากที่สุด จะแลกเปลี่ยนอั่งเปาหลังจากรับประทานอาหารร่วมกันแล้ว
ตอนบ่าย จะไหว้ผีพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้ว เครื่องไหว้จะเป็นพวกขนมเข่ง ขนมเทียน เผือกเชื่อมน้ำตาล กระดาษเงินกระดาษทอง พร้อมทั้งมีการจุดประทัดเพื่อไล่สิ่งชั่วร้ายและเพื่อเป็นสิริมงคล
เปิดความหมาย อาหารคาว-ขนม-ผลไม้ เสริมมงคล
สำหรับการไหว้ขอพร หากจะไหว้เต็มรูปแบบต้องไหว้เจ้าที่ ไหว้บรรพบุรุษ ไหว้ทำทานดวงวิญญาณไร้ญาติ และไหว้เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย ส่วนผู้ที่ต้องการไหว้ขอโชคลาภเพิ่มเติม ของไหว้จะประกอบด้วย กลุ่มของคาว กลุ่มขนมหรือของหวาน และผลไม้
โดยจำนวนจะยึดของคาวหรือเนื้อสัตว์เป็นหลัก ได้แก่
- ไหว้ 3 อย่าง (ซาแซ) ประกอบด้วย หมูส่วนสะโพกติดหนัง (บะแซหรือบะแซะ) เป็ด (พร้อมเครื่องใน) ไก่ (พร้อมเครื่องใน)
- ไหว้ 5 อย่าง (โหงวแซ) ประกอบด้วย หมู (บะแซหรือบะแซะ) เป็ด (พร้อมเครื่องใน) ไก่ (พร้อมเครื่องใน) ปลาทั้งตัว หรืออาหารทะเล (เช่น ปลาหมึกแห้งทั้งตัวไม่ต้องต้ม กุ้งต้มสุก ปูต้มสุก หรือหอยลวกสุก) หรือ ตับ
กลุ่มอาหารคาว
ไก่ หมายถึง ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ความสง่างาม ยศ ตำแหน่ง ความขยัน
หมู หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ มีกินมีใช้ตลอดทั้งปี
เป็ด หมายถึง สิ่งที่บริสุทธิ์ ความสะอาด และความสามารถอันหลากหลาย
ปลา หมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ เหลือกินเหลือใช้
เป๋าฮื้อ หมายถึง มีความเชื่อว่าเป็นอาหารสิริมงคล เพราะมีความหมายช่วยห่อความมั่งคั่งให้เหลือกินเหลือใช้ นิยมกินในโอกาสสำคัญ
ปู หมายถึง การสอบได้ตำแหน่งที่ดี
กุ้งมังกร,กุ้ง หมายถึง ความมีอำนาจวาสนา ชีวิตที่รุ่งเรืองรวมทั้งเป็นตัวแทนของความสุข
สาหร่ายดำ หมายถึง ความร่ำรวย
ตับ หมายถึง อำนาจวาสนา
บะหมี่ยาวหรือหมี่ซั่ว หมายถึง การมีอายุยืนยาว
กลุ่มขนม
ขนมเข่ง หมายถึง ความหวานชื่น ความราบรื่นในชีวิต ความอุดมสมบูรณ์
ขนมเทียน หมายถึง ความหวานชื่น ราบรื่น รูปลักษณ์เป็นกรวยแหลมมีลักษณะเป็นมงคลเหมือนเจดีย์
ขนมไข่ หมายถึง ความเจริญเติบโต
ขนมถ้วยฟู หมายถึง เพิ่มความรุ่งเรือง เฟื่องฟู
ซาลาเปา, หมั่นโถว หมายถึง ไหว้เพื่อให้เปาไช้ ห่อโชค ห่อลาภ
จันอับ หมายถึง เพิ่มพูน มีความสุขตลอดไป ประกอบด้วยขนม 5 อย่าง คือ
- เต้ายิ้งปัง คือ ขนมถั่วตัด
- มั่วปัง คือ ขนมงาตัด
- ซกซา คือ ถั่วเคลือบน้ำตาล
- กวยแฉะ คือ ฟักเชื่อม
- โหงวจ๊งปัง คือ ขนมข้าวพอง
ขนมต้ม หมายถึง บรรพชนอวยพร
กลุ่มผลไม้
กล้วย หมายถึง กวักโชคลาภ มีลูกหลาน มีวงศ์วานว่านเครือสืบสกุล
ส้มสีทอง หมายถึง มหาสิริมงคล โชคดี ประสบแต่สิ่งดี ๆ
องุ่นสีแดง หมายถึง ความเพิ่มพูน ความเจริญงอกงาม และการมีอายุยืนนาน
แอปเปิลสีแดง หมายถึง ความสันติสุข สันติภาพ
สาลี่ หมายถึง รักษาคุณงามความดี รักษาโชคลาภเงินทองไม่ให้เสื่อมหาย
ส้มโอ หมายถึง ความสมบูรณ์
เมล่อน หมายถึง การเจริญเติบโต
วิธีไหว้ตรุษจีน
แบ่งเป็น 3 ช่วง
- เช้ามืด คือ การไหว้เทพเจ้าต่าง ๆ ด้วยเครื่องไหว้ที่เป็นเนื้อสัตว์ 3 อย่าง คือ หมูสามชั้นต้ม ไก่ต้ม เป็ดต้ม พร้อมทั้งเหล้า น้ำชา และกระดาษเงิน-กระดาษทอง โดยจะกระทำในช่วง 7-8 โมงเช้า
- สาย คือ การไหว้บรรพบุรุษที่เสียชีวิตแล้ว ด้วยซาแซ อาหารคาว-หวาน รวมถึงเผากระดาษเงิน-กระดาษทอง พร้อมเสื้อผ้าให้กับบรรพบุรุษ กระทำไม่เกินเที่ยงวัน นอกจากนี้หลังจากที่ทุกคนในครอบครัวร่วมรับประทานอาหารไหว้บรรพบุรุษเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการแลกเปลี่ยนอั่งเปากันอีกด้วย
- บ่าย คือ การไหว้ผีไม่มีญาติ ด้วยข้าว กับข้าว ขนม เช่น ขนมเข่งกับขนมเทียน และกระดาษเงิน-กระดาษทอง รวมถึงมีการจุดประทัดเพื่อปัดเป่าไล่สิ่งชั่วร้ายด้วย (ประมาณบ่ายโมงถึง 4 โมงเย็น)
9 ข้อห้ามสำคัญในวันตรุษจีน
- ห้ามทำความสะอาดบ้าน คนจีนจะถือว่าการทำความสะอาดบ้านในวันนี้จะเป็นการเอาโชคลาภออกไปจากบ้าน
- ห้ามสระผมหรือตัดผม การตัดผม หรือสระผม เหมือนเป็นการนำความมั่นคงออกไป ทางที่ดีสระก่อนวันสองวัน
- ห้ามพูดคำหยาบ การพูดสิ่งไม่ดี คำหยาบ พูดโกหก ในวันตรุษจีนนี้หมายถึงจะนำความเดือดร้อนมาสู่คุณ
- ห้ามร้องไห้ กุศโลบายจะทำให้ร้องไห้ทั้งปี และเจอเรื่องเสียใจไปตลอด
- ห้ามเข้าห้องนอนคนอื่น ความเชื่อนี้ระบุชัดว่าจะทำให้โชคร้าย
- ห้ามทำของแตก หมายถึง ลางร้ายกำลังมาเยือน ครอบครัวจะแตกแยก
- ห้ามใช้ของมีคมเพราะจะทำให้เหมือนกับตัดความโชคดีออกไป
- ห้ามให้ยืมเงินว่ากันว่าจะต้องให้ยืมไปตลอด และสำหรับคนเป็นหนี้หรือไปยืม ก็ว่าจะติดหนี้สินไปตลอดเช่นกัน
- ห้ามใส่ชุดขาว-ดำ คนจีนมีความเชื่อเรื่องการใส่เสื้อขาว-ดำในวันตรุษจีนจะเป็นเหมือนลางร้าย
ที่มา :: https://www.prachachat.net/
ประวัติวันตรุษจีน หรือปีใหม่จีน
วันตรุษจีน นั้นคล้ายคลึงกับวันปีใหม่ในประเทศทางตะวันตก ร่องรอยของประเพณี พิธีกรรมความเป็นมาของการฉลองตรุษจีนนั้น มีมานานกว่าศตวรรษ (100 ปี) จริงๆแล้วนานมาก จนไม่สามารถย้อนกลับไปดูว่าเริ่มต้นฉลองมาตั้งแต่เมื่อไร
ตรุษจีนนั้นเป็นที่รู้จักและจำได้ทั่วไปว่าเป็น การฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ และการฉลองเป็นเวลานานถึง 15 วัน การเตรียมงานฉลองส่วนใหญ่จะเริ่มหนึ่งเดือนก่อนวันตรุษจีน (คล้ายกับวัน คริสต์มาสของประเทศตะวันตก) เมื่อผู้คนเริ่มซื้อของขวัญ, สิ่งต่างๆ เพื่อประดับบ้านเรือน, อาหารและเสื้อผ้า การทำความสะอาดครั้งใหญ่ก็เริ่มขึ้นในวันก่อนตรุษจีน บ้านเรือนจะถูกทำความสะอาดตั้งแต่บนลงล่าง หน้าบ้านยันท้ายบ้าน ซึ่งหมายถึงการกวาดเอาโชคร้าย ออกไป ประตูหน้าต่างมีการขัดสีฉวีวรรณทาสีใหม่ซึ่งสีแดงเป็นสีนิยม ประตูหน้าต่างจะถูกประดับประดาด้วยกระดาษที่มีคำอวยพรอย่างเช่น อยู่ดีมีสุข ร่ำรวย และอายุยืน เป็นต้น
ที่มาของวันตรุษจีน เกิดจากการจัดขึ้น เพื่อตั้งใจที่จะฉลองฤดูใบไม้ผลิ เนื่องจากช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีนนั้น ประเทศจีนปกคลุมไปด้วยหิมะ จึงไม่สามารถทำการเกษตรได้ เมื่อเข้าถึงฤดูใบไม้ผลิ จึงจะสามารถเพาะปลูกพืนผักได้ตามปกติ ชาวจีนจึงกำหนดให้วันแรกของฤดูใบไม้ผลิตในแต่ละปีเป็นวันสำคัญที่เรียกว่า "วันตรุษจีน"
อาหารวันตรุษจีน ประเพณีและพิธีกรรมต่างๆ นั้นผูกไว้กับทุกสิ่งทุกอย่าง ตั้งแต่ อาหาร ไปจนถึงเสื้อผ้า อาหารค่ำนั้นประกอบด้วยอาหารทะเล และอาหารนึ่งเช่นขนมจีบ ซึ่งแต่ละอย่างจะมีความหมายต่างๆกัน อาหารอันโอชะอย่างเช่นกุ้งจะหมายถึงชีวิตที่รุ่งเรืองและความสุข เป๋าฮื้อแห้งหมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างที่ดี สลัดปลาสดจะนำมาซึ่งโชคดี จี้ไช่ (ผมเทวดา) สาร่ายดูคล้ายผมแต่กินได้จะนำความความร่ำรวยมาให้ และขนมต้ม (Jiaozi) หมายถึงบรรพชนอวยพร
เสื้อผ้าวันตรุษจีน การใส่เสื้อผ้าสีแดงถือเป็นสีที่เป็นมงคล เป็นการไล่ปีศาจร้ายให้ออกไป และการใส่สีดำหรือขาวเป็นสิ่งต้องห้าม ซึ่งสีเหล่านี้ถือว่าเป็นสีแห่งการไว้ทุกข์ หลังจากอาหารค่ำทุกคนในครอบครัวนั่งกันจนเช้าเพื่อรอวันใหม่โดยการเล่นเกม เล่นไพ่ หรือดูรายการทีวีที่เกี่ยวกับวันตรุษจีน และในวันนี้จะต้องไม่โกรธ ริษยา หรือ ไม่พอใจ เพื่อเป็นสิริมงคลที่ดีสำหรับปีที่กำลังจะมาถึง
อาหารไหว้เจ้า ตรุษจีน
ในวันฉลองตรุษจีน อาหารจะถูกรับประทานมากกว่าวันอื่นๆในปี อาหารชนิดต่างๆที่ปฏิบัติกันจนเป็นประเพณี จะถูกจัดเตรียมเพื่อญาติพี่น้องและเพื่อนฝูง รวมไปถึงคนรู้จักที่ได้เสียไปแล้ว ในวันตรุษครอบครัวชาวจีนจะทานผักที่เรียกว่า ไช่ ถึงแม้ผักชนิดต่างๆที่นำมาปรุง จะเป็นเพียงรากหรือผักที่มีลักษณะเป็นเส้นใยหลายคนก็เชื่อว่าผักต่างๆมีความหมายที่เป็น มงคลในตัวของมัน
- เม็ดบัว - มีความหมายถึง การมีลูกหลานที่เป็นชาย
- เกาลัด - มีความหมายถึง เงิน
- สาหร่ายดำ - คำของมันออกเสียงคล้าย ความร่ำรวย
- เต้าหู้หมักที่ทำจากถั่วแห้ง - คำของมันออกเสียงคล้าย เต็มไปด้วยความร่ำรวย และ ความสุข
- หน่อไม้ - คำของมันออกเสียงคล้าย คำอวยพรให้ทุกอย่างเต็มไปด้วยความสุข เต้าหู้ที่ทำจากถั่วสดนั้นจะไม่นำมารวมกับอาหารในวันนี้เนื่องจากสีขาวซึ่งเป็นสีแห่งโชคร้าย สำหรับปีใหม่และหมายถึงการไว้ทุกข์
- ปลาทั้งตัว - เป็นตัวแทนแห่งการอยู่ร่วมกันและความอุดม-สมบรูณ์
- ไก่ - สำหรับความเจริญก้าวหน้า ซึ่งไก่นั้นจะต้องยังมีหัว หางและเท้าอยู่ เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสมบูรณ์
- เส้นหมี่ - ไม่ควรตัดเนื่องจากหมายถึงชีวิตที่ยืนยาว
* ในทางตอนใต้ของจีน อาหารที่นิยมที่สุดและทานมากที่สุดได้แก่ ข้าวเหนียวหวานนึ่ง บ๊ะจ่างหวาน ซึ่งถือเป็นอาหารอันโอชะ ส่วนทางเหนือได้แก่ หมั่นโถและติ่มซำ เป็นอาหารที่นิยม
* อาหารจำนวน มากที่ถูกตระเตรียมในเทศกาลนี้มีความหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์และความร่ำรวยของบ้าน
ความเชื่อโชคลางในวันตรุษจีน
ทุกคนจะไม่พูดคำหยาบหรือพูดคำที่ไม่เป็นมงคล ความหมายเป็นนัย และคำว่า สี่ ซึ่งออกเสียงคล้ายความตายก็จะต้องไม่พูดออกมา ต้องไม่มีการพูดถึงความตายหรือการใกล้ตาย และเรื่องผีสางเป็นเรื่องที่ต้องห้าม เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในปีเก่าๆ ก็จะไม่เอามาพูดถึง ซึ่งการพูดควรมีแต่เรื่องอนาคต และทุกอย่างที่ดีกับปีใหม่และการเริ่มต้นใหม่
1. หากคุณร้องไห้ในวันปีใหม่ คุณจะมีเรื่องเสียใจไปตลอดปี
ดังนั้นแม้แต่เด็กดื้อที่ปฏิบัติตัวไม่ดีผู้ใหญ่ก็จะทน และไม่ตีสั่งสอน
2. การแต่งกายและความสะอาด
ในวันตรุษจีนเราไม่ควรสระผม เพราะนั้นจะหมายถึงเราชะล้างความโชคดีของเราออกไป เสื้อผ้าสีแดงเป็นสีที่นิยมสวมใส่ในช่วงเทศกาลนี้ สีแดงถือเป็นสีสว่าง สีแห่งความสุข ซึ่งจะนำความสว่างและเจิดจ้ามาให้แก่ผู้สวมใส่ เชื่อกันว่าอารมณ์และการปฏิบัติตนในวันปีใหม่ จะส่งให้มีผลดีหรือผลร้ายได้ตลอดทั้งปี เด็ก ๆ และคนโสด เพื่อรวมไปถึงญาติใกล้ชิดจะได้ อังเปา ซึ่งเป็นซองสีแดงใส่ด้วย ธนบัตรใหม่เพื่อโชคดี
3. วันตรุษจีนกับความเชื่ออื่น ๆ
สำหรับคนที่เชื่อโชคลางมากๆ ก่อนออกจากบ้านเพื่อไปเยี่ยมเยียนเพื่อนหรือญาติ อาจมีการเชิญซินแส เพื่อหาฤกษ์ที่เหมาะสมในการออกจากบ้านและทางที่จะไปเพื่อ เป็นความเป็นสิริมงคล
4. บุคคลแรกที่พบ
บุคคลแรกที่พบและคำพูดที่ได้ยินคำแรกของปีมีความหมายสำคัญมาก ถือว่าจะส่งให้มีผลได้ตลอดทั้งปี การได้ยินนกร้องเพลงหรือเห็นนกสีแดงหรือนกนางแอ่น ถือเป็นโชคดี
5. การเข้าไปหาใครในห้องนอนในวันตรุษ
การเข้าห้องนอนผู้อื่นในวันตรุษจีน ถือเป็นโชคร้ายมาก ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นคนป่วยหรือปกติ ก็ต้องแต่งตัวออกมานั่งในห้องรับแขก
6. ไม่ควรใช้มีดหรือกรรไกรในวันตรุษ
เพราะชาวจีนเชื่อว่าจะเป็นการตัดโชคดี
ทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าชาวจีนทุกคนจะคงยังเชื่อตามความเชื่อที่มีมา แต่ทุกคนก็ยังคงยึดถือและปฎิบัติตาม เพราะสิ่งเหล่านี้เปรียบเสมือนธรรมเนียม และวัฒนธรรม โดยที่ชาวจีนตระหนักดีว่า การปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมมาแต่เก่าก่อน เป็นการแสดงถึงความเป็นครอบครัวและเอกลักษณ์ของตน
อั่งเปา
สัญลักษณ์ที่ทุกคนทราบดีในวันตรุษจีนคือ อั่งเปาสีแดง โดยมีธรรมเนียมคือ ผู้ใหญ่ที่ผ่านการแต่งงานมาและทำงานมีรายได้แล้ว จะมอบซองสีแดง(ที่มีเงินจำนวนหนึ่งข้างใน) ให้กับเด็กๆที่มีอายุต่ำกว่า หรือยังไม่ได้ทำงาน พร้อมกล่าวสวัสดีปีใหม่ ซึ่งสีแดงของอั่งเปานั้นมีความหมายถึงโชคดี และเงินที่ใส่ในซองอั่งเปานั้น มักจะมีจำนวนเป็นเลขนำโชคของจีนนั่นคือเลข 8
15 วันแห่งการฉลองตรุษจีน
- วันแรกของปีใหม่ เป็นการต้อนรับเทวดาแห่งสวรรค์และโลก หลายคนงดทานเนื้อ ในวันนี้ด้วยความเชื่อที่ว่าจะเป็นการต่ออายุและนำมาซึ่งความสุขในชีวิตให้กับตน
- วันที่สอง ชาวจีนจะไหว้บรรพชนและเทวดาทั้งหลาย และจะดีเป็นพิเศษกับสุนัข เลี้ยงดูให้ข้าวอาบ น้ำให้แก่มัน ด้วยเชื่อว่า วันที่สองนี้เป็นวันที่สุนัขเกิด
- วันที่สามและสี่ เป็นวันของบุตรเขยที่จะต้องทำความเคารพแก่พ่อตาแม่ยายของตน
- วันที่ห้า เรียกว่า พูวู ซึ่งวันนี้ทุกคนจะอยู่กับบ้านเพื่อต้อนรับการมาเยือน ของเทพเจ้าแห่งความร่ำรวย ในวันนี้จะไม่มีใครไปเยี่ยมใครเพราะจะถือว่าเป็นการนำโชคร้าย มาแก่ทั้งสองฝ่าย
- วันที่หก ถึงสิบชาวจีนจะเดินทางไปเยี่ยมเยียนญาติพี่น้องเพื่อนฝูงของ ครอบครัว และไปวัดไปวาสวดมนต์เพื่อความร่ำรวยและความสุข
- วันที่เจ็ด ของตุรุษจีนเป็นวันที่ชาวนานำเอาผลผลิตของตนออกมาชาวนาเหล่านี้จะทำน้ำที่ทำมาจากผักเจ็ดชนิดเพื่อฉลองวันนี้ วันที่เจ็ดถือเป็นวันเกิด ของมนุษย์ในวันนี้อาหารจะเป็น หมี่ซั่วกินเพื่อชีวิตที่ยาวนานและปลาดิบเพื่อความสำเร็จ
- วันที่แปด ชาวฟูเจียน จะมีการทานอาหารร่วมกันกับครอบครอบอีกครั้ง และเมื่อถึงเวลาเที่ยงคืนทุกคนจะสวดมนต์ของพรจาก เทียนกง เทพแห่งสวรรค์
- วันที่เก้า จะสวดมนต์ไหว้และถวายอาหารแก่ เง็กเซียนฮ่องเต้
- วันที่สิบถึงวันที่สิบสอง เป็นวันของเพื่อนและญาติๆ ซึ่งควรเชื้อเชิญมาทานอาหารเย็น และหลังจากที่ทานอาหารที่อุดมไปด้วยความมัน วันที่สิบสามถือเป็นวันที่เราควรทานข้าวธรรมดากับผักดองกิมกิ ถือเป็นการชำระล้างร่างกาย
- วันที่สิบสี่ ความเป็นวันที่เตรียมงานฉลองโคมไฟซึ่งจะมีขึ้น ในคืนของวันที่สิบห้าแห่งการฉลองตรุษจีน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น