Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันเสาร์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2567

ยูเนสโกประกาศ "ภูพระบาท" เป็นมรดกโลก

 

ยูเนสโกประกาศ "ภูพระบาท" เป็นมรดกโลก



ยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียน "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" จ.อุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ซึ่งถือเป็นแห่งที่ 5 ของไทย ต่อจากเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่ประกาศไปเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่กรมศิลป์เปิดให้เข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ฟรี 28 ก.ค.-12 ส.ค.นี้

วันนี้ (27 ก.ค.2567) องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ได้ประกาศให้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period)

ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย โดยเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของ จ.อุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เมื่อ พ.ศ.2535

น.ส.สุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า การที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ ถือเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย ต่อจากนครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง จ.อุดรธานี และเมืองโบราณศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ ที่ได้รับการประกาศในปีที่ผ่านมา

โดยอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ได้รับการประกาศให้เป็นมรดกโลก ภายใต้คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล ได้แก่ การรักษาความเป็นของแท้และดั้งเดิมของแหล่งวัฒนธรรม สีมาหินสมัยทวารวดี และเป็นประจักษ์พยานที่ยอดเยี่ยมของการสืบทอดของวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องอย่างยาวนานกว่าสี่ศตวรรษ โดยเชื่อมโยงเข้ากับประเพณีของวัดฝ่ายอรัญวาสีในเวลาต่อมา

จึงขอเชิญชวนให้ชาวไทยทั่วประเทศร่วมแสดงความยินดี และเฉลิมฉลองในโอกาสที่ภูพระบาทได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของไทย โดยกระทรวงวัฒนธรรม จะพยายามผลักดันให้เกิดแหล่งมรดกโลกแห่งใหม่ อย่างต่อเนื่อง

น.ส.สุดาวรรณ กล่าวอีกว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมศิลปากร ได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จ.อุดรธานี ระหว่างวันที่ 28 ก.ค.-12 ส.ค.2567 เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคน ตลอดจนนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ร่วมเฉลิมฉลองการประกาศขึ้นทะเบียน ภูพระบาทเป็นมรดกโลกในครั้งนี้

ภูพระบาท ได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกวัฒนธรรมแบบต่อเนื่อง จำนวน 2 แหล่ง ประกอบด้วย

อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกห่างจากอำเภอบ้านผือ จ.อุดรธานี ประมาณ 12 กิโลเมตร เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมาในสมัยทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 12-16) อันโดดเด่นที่สุดของโลก ตามเกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล

ข้อที่ 3 คือสามารถอนุรักษ์ก ลุ่มใบเสมาหินสมัยทวารวดีที่มีจำนวนมาก และเป็นแหล่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยใบเสมาดังกล่าว มีความสมบูรณ์และยังคงตั้งอยู่ในสถานที่ตั้งเดิม แสดงถึงวิวัฒนาการที่ชัดเจนของรูปแบบ และศิลปกรรมที่หลากหลายของใบเสมา ซึ่งทำหน้าที่เป็นเครื่องหมายกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์

และเกณฑ์ข้อที่ 5 ภูมิทัศน์ของภูพระบาทได้รับการปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับการใช้พื้นที่เพื่อประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา และยังคงความสำคัญของกลุ่มใบเสมาหิน โดยความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับประเพณีสงฆ์ในฝ่ายอรัญญวาสี (พระป่า)

ภูพระบาทจึงเป็นประจักษ์พยานที่โดดเด่นของการใช้ประโยชน์ของธรรมชาติ เป็นตัวแทนของวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี ซึ่งได้รับการสืบทอด รักษาวัฒนธรรมดังกล่าวที่ต่อเนื่องยาวนาน เชื่อมโยงประเพณีวัฒนธรรมของอรัญวาสีมาถึงปัจจุบัน

ด้าน นายนมัสวิน นาคศิริ นักโบราณคดีชำนาญการ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เปิดเผยว่า การเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1.อุทยานฯ ภูพระบาท ได้ปรากฏวัฒนธรรมเสมา ซึ่งเป็นคติความเชื่อที่ผสมผสาน ระหว่างการนับถือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และการกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยหลักหินหรือใบเสมา

ซึ่งประเด็นนี้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นต้นแบบของการกำหนดพื้นที่อุโบสถที่มีใบเสมาล้อมรอบอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

ประเด็นที่ 2 มีหลักฐานอันเด่นชัดว่า มีมนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ โดยมนุษย์เหล่านี้ได้เข้ามาดัดแปลงหินให้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ดังปรากฏพระพุทธรูปภายในถ้ำหิน

สำหรับอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เคยถูกเสนอเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกเมื่อปี 2547 ต่อมาถูกถอนรายชื่อกระทั่งปี 2559 ได้เสนอเพื่อให้มีการพิจารณาการขึ้นทะเบียนอีกครั้ง

เฮลั่น! "ภูพระบาท" เป็นมรดกโลกแห่งที่ 2 ของอุดรธานี


บรรยากาศในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท ที่ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี วันนี้ คึกคักเป็นพิเศษ มีหัวหน้าส่วนราชการ ประชาชน และนักท่องเที่ยว มารอลุ้น การประกาศให้ภูพระบาทขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

โดยหอนางอุสา ซึ่งมีลักษณะเป็นโขดหินคล้ายรูปดอกเห็ดหรือหอคอยขนาดเล็ก ตั้งอยู่บนลานหินกว้าง ภายในอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นไฮไลท์ที่สำคัญสำหรับแหล่งโบราณคดี เพื่อประกอบการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกต่อยูเนสโก

ภายนอกหอนางอุสา ยังมีภาพเขียนสีทั้งส่วนฐานและส่วนบน เชื่อว่าเป็นการบันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อของคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ บริเวณบริเวณโดยรอบรองไปด้วยใบเสมาและถ้ำหินที่มีพระพุทธรูปสมัยทวารวดี ซึ่งบ่งบอกถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา โดยหอนางอุสาเชื่อว่าใช้ในการทำพิธีกรรมทางศาสนา จึงถือว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และชาวบ้านในละแวกนี้ให้ความเคารพศรัทธา

ไทยพีบีเอสได้พูดคุยกับนักท่องเที่ยว ซึ่งเดินทางมาจาก จ.เชียงใหม่ บอกว่า เป็นครั้งแรกที่มาท่องเที่ยวอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท และเพิ่งจะทราบข่าวว่าวันนี้คณะกรรมการจะมีการพิจารณาการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกลำดับที่ 6

ขณะที่นายนมัสวิน นาคศิริ นักโบราณคดีชำนาญการ อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เปิดเผยว่า การเสนอขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกมีอยู่ 2 ประเด็น คือ 1 อุทยานฯ ภูพระบาท ได้ปรากฏวัฒนธรรมเสมา ซึ่งเป็นคติความเชื่อที่ผสมผสานระหว่างการนับถือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์และการกำหนดขอบเขตพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ด้วยหลักหินหรือใบเสมา ซึ่งประเด็นนี้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นต้นแบบของการกำหนดพื้นที่อุโบสถที่มีใบเสมาล้อมรอบอย่างที่เห็นในปัจจุบัน

และในประเด็นที่ 2 มีหลักฐานอันเด่นชัดว่ามีมนุษย์เข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์เรื่อยมาจนถึงสมัยประวัติศาสตร์ โดยมนุษย์เหล่านี้ได้เข้ามาดัดแปลงหินให้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ดังปรากฏพระพุทธรูปภายในถ้ำหิน



Phu Phrabat Historical Park


CR  ::    https://www.thaipbs.or.th/news/content/342432

2 ความคิดเห็น:

  1. เปิดเข้าชมฟรี “ภูพระบาท” หลังขึ้นทะเบียนยูเนสโก ถึง 12 ส.ค.2567

    กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชม อุทยานประวัติศาสตร์ “ภูพระบาท” จังหวัดอุดรธานี ถึงวันที่ 12 สิงหาคม 2567 ภายหลัง ยูเนสโก ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ประจำปี 2567
    นางสาวสุดาวรรณ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ กรมศิลปากร ได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมเข้าชม "อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท" จังหวัดอุดรธานี ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม – 12 สิงหาคม 2567 เพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคน และนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ร่วมเฉลิมฉลองการประกาศขึ้นทะเบียนภูพระบาทเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม จากองค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก

    สำหรับการประกาศขึ้นทะเบียน อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นมรดกโลก ของยูเนสโกครั้งนี้ เป็นผลมาจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญ ครั้งที่ 46 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21- 31 กรกฎาคม 2567 ณ กรุงนิวเดลี สาธารณรัฐอินเดีย

    ทั้งนี้ที่ประชุมมีการพิจารณาการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมของไทย 2 วาระ ได้แก่

    1. การพิจารณาให้ความเห็นชอบการนำเสนอแหล่งมรดกทางวัฒนธรรม “สงขลา และชุมชนที่เกี่ยวเนื่องริมทะเลสาบสงขลา” เข้าสู่บัญชีรายชื่อเบื้องต้น (Tentative List) ของศูนย์มรดกโลก
    2. การพิจารณาขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทเป็นมรดกโลก และเสนอให้เปลี่ยนชื่อเป็นแหล่ง “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมาสมัยทวารวดี”

    โดยมติของคณะกรรมการมรดกโลกเห็นชอบให้ขึ้นทะเบียนภูพระบาทฯ เป็นมรดกโลกด้วยเกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value) ในกลุ่มของภูมิทัศน์วัฒนธรรม (Cultural Landscape) ในชื่อ “ภูพระบาท ประจักษ์พยานแห่งวัฒนธรรมสีมา สมัยทวารวดี” (Phu Phrabat, a testimony to the Sīma stone tradition of the Dvaravati period)

    ทั้งนี้ถือเป็นแหล่งมรดกโลกลำดับที่ 8 และแหล่งมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 5 ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นแหล่งมรดกโลกแห่งที่ 2 ของจังหวัดอุดรธานี ต่อจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากยูเนสโก เมื่อปี 2535


    ตอบลบ
  2. ความสำคัญอุทยานประวัติศาสตร์ “ภูพระบาท”

    อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท เป็นแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมแบบต่อเนื่องจำนวนสองแหล่ง ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาทและแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน รวมพื้นที่นำเสนอขึ้นทะเบียนมรดกโลก 3,622 ไร่ 89 ตารางวา
    อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

    ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกห่างจากอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี 12 กิโลเมตร ส่วนแหล่งวัฒนธรรมสีมา วัดพระพุทธบาทบัวบาน ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท 8 กิโลเมตร

    ขอบเขตของแหล่งวัฒนธรรมทั้งสองแหล่งอยู่ภายใต้เกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากลได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานตาม พระราชบัญญัติโบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ.2504 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 2 พ.ศ.2535

    ทั้งนี้อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท มีแหล่งโบราณสถานสำคัญกระจายทั่วพื้นที่ อาทิ หอนางอุสา เป็นเสาเฉลียงรูปเห็ด ประกอบด้วย แกนหินขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายเสาหินและมีก้อนหินเป็นแผ่นหนาขนาดใหญ่ทับอยู่ด้านบน แกนหินสูง 10 เมตร ก้อนหินด้านบนกว้าง 5 เมตร ยาว 7 เมตร แกนของเสาหินมีการก่อหินกั้นเป็นห้องไว้

    ส่วนบนของเสาที่อยู่ใต้แผ่นหิน มีการเจาะเป็นช่อง ๆ เป็นประตูและหน้าต่างคล้ายช่องสังเกตการณ์ของหอคอย ที่เพิงหินโบราณแห่งนี้ได้พบหลักฐานภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่บริเวณผนังด้านทิศเหนือของหินก้อน


    มรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทย มีที่ไหนบ้าง

    การที่อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท จังหวัดอุดรธานี ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ ถือเป็นมรดกโลกนับเป็นมรดกโลกแห่งที่ 8 ของประเทศไทย และส่งผลให้จังหวัดอุดรธานีเป็นจังหวัดแรกของประเทศไทยที่มีมรดกโลก 2 แห่งต่อเนื่องจากแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง

    ปัจจุบันประเทศไทยได้รับการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกโลกแล้ว จำนวน 8 แหล่ง แบ่งเป็น

    มรดกโลกทางวัฒนธรรม จำนวน 5 แหล่ง ได้แก่

    * นครประวัติศาสตร์ พระนครศรีอยุธยา
    * เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัยและเมืองบริวาร
    * แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
    * เมืองโบราณศรีเทพ
    * อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท

    แหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่

    * เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ - ห้วยขาแข้ง
    * กลุ่มป่าดงพญาเย็น - เขาใหญ่
    * กลุ่มป่าแก่งกระจาน


    ตอบลบ