การตายและมรดก
มนุษย์ทุกคนไม่ว่ายากจนหรือร่ำรวย ไม่ว่ามีฐานะสูงหรือต่ำย่อมจะต้องตายเหมือนกันหมด เมื่อมีการตายเกิดขึ้นกฎหมายจึงเข้ามาเกี่ยวข้องโดยกำหนดให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับผู้ตายมีหน้าที่ต้องไปแจ้งให้ทางราชการได้ทราบเพื่อจะได้ตรวจสอบเกี่ยวกับสาเหตุของการตายได้ว่าเกิดจากการกระทำผิดกฎหมายหรือไม่ นอกจากนั้นกฎหมายจะต้องเข้ามากำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดการแบ่งทรัพย์สินของผู้ตายหรือมรดกของผู้ตายให้แก่ญาติพี่น้องหรือบุคคลอื่น ๆ ที่ผู้ตายมีความประสงค์จะยกทรัพย์สินของตนให้ ในเรื่องนี้จะขอแยกกล่าว เป็น ๒ เรื่อง คือ
ก. การตาย
ตายเมื่อใด
คนเราทุกคนเกิดมาต้องตายด้วยกันทุกคน ผิดกันอยู่แต่ว่าจะตายช้าหรือตายเร็วเท่านั้น แต่ก่อนนี้ปัญหาที่ว่าตายเมื่อใดนั้น ไม่สู้จะมีปัญหาแต่อย่างใด เพราะเมื่อหัวใจหยุดเต้นและไม่หายใจแล้ว ก็ถือว่าคนคนนั้นตายแล้ว แต่ปรากฏว่าในปัจจุบันนี้ความเจริญทางวิทยาศาสตร์มีมากขึ้น หัวใจที่หยุดเต้นแล้วก็อาจทำให้เต้นใหม่อีกได้ โดยใช้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์เข้าช่วย หรือการหายใจที่หยุดแล้วก็อาจทำให้หายใจใหม่อีกได้เหล่านี้เป็นต้น เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญหาที่ว่าคนเราตายเมื่อไรนั้นจึงเริ่มมีปัญหามากขึ้น หลักการเดิมที่ว่าคนเราตายเมื่อหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้นจึงยังไม่เพียงพอ ยังต้องอาศัยหลักการอื่น ๆ อีก ในเรื่องนี้มีความเห็นของนักวิชาการท่านหนึ่ง ซึ่งผู้เขียนเห็นว่าเป็นความคิดเห็นที่น่าจะถูกต้อง ท่านได้ให้ความเห็นในเรื่องที่ว่าคนเราตายเมื่อใดนั้นไว้ดังนี้คือ การที่จะพิจารณาว่า คนเราตายเมื่อใดนั้นให้ดูที่การทำงานของร่างกาย ๓ ส่วนคือ สมอง หัวใจ และการหายใจ กล่าวคือ สมองหยุดทำงาน โดยตรวจด้วยการวัดคลื่นสมอง หัวใจหยุดเต้น และหายใจเองไม่ได้ ทั้ง ๓ ประการนี้ ประกอบกันจึงจะถือว่าคนคนนั้นได้ตายแล้ว เราจะรู้กันไปทำไมว่าคนเราตายเมื่อใด
เมื่อคนหนึ่งตายไปแล้วนั้น มรดกของเขาย่อมตกไปยังลูกหลาน พ่อแม่พี่น้อง ซึ่งในทางกฎหมายเราเรียกบุคคลที่ตายนั้นว่า “เจ้ามรดก” ส่วนลูกหลาน พ่อแม่ พี่น้อง ที่รับมรดกนั้น เราเรียกว่า “ทายาท” สำหรับเรื่องการรับมรดกนั้นมีหลักอยู่ว่าทายาทที่มีสิทธิจะรับมรดกได้นั้น จะต้องเป็นบุคคลที่มีชีวิตอยู่ในขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย กล่าวคือ ทายาทคนใดตายก่อนเจ้ามรดกแล้ว เขาก็ไม่มีสิทธิที่จะรับมรดกจากเจ้ามรดก ดังนั้นปัญหาในเรื่องที่ว่า ตายเมื่อใดนั้นจึงมีความสำคัญในเรื่องนี้เพราะว่าถ้าทายาทคนใดตายหลังเจ้ามรดกแม้เพียง ๕ นาที เขาก็จะมีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดก
การแจ้งตาย
ในกรณีที่มีคนตายเกิดขึ้น กฎหมายได้กำหนดหน้าที่ให้บุคคลต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ เป็นผู้มีหน้าที่แจ้งต่อเจ้าหน้าที่ในท้องที่ที่มีการตายเกิดขึ้นคือ
กรณีคนตายในบ้าน เจ้าบ้านต้องแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่ที่มีการตายเกิดขึ้นภายใน ๒๔ ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ตาย แต่ถ้าไม่มีเจ้าบ้านให้ผู้พบศพเป็นผู้แจ้ง
ตัวอย่าง
นายดำบิดาของนายแดงได้ถึงแก่ความตายด้วยโรคชราในบ้าน ดังนี้เราก็ต้องดูว่าใครเป็นเจ้าบ้าน ถ้านายแดงเป็นเจ้าบ้าน นายแดงก็มีหน้าที่ต้องแจ้ง ถ้าบิดานายแดงเป็นเจ้าบ้านก็เป็นกรณีของการที่ไม่มีเจ้าบ้าน ดังนั้น ถ้าแดงเป็นผู้มาพบศพ แดงก็ต้องเป็นผู้ที่มีหน้าที่แจ้งการตายของนายดำต่อนายทะเบียนท้องที่
กรณีคนตายนอกบ้าน ให้ผู้ที่ไปกับผู้ตายหรือผู้พบศพแจ้งต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่มีการตายเกิดขึ้นหรือท้องที่ที่พบศพ หรือท้องที่ที่พึงจะแจ้งได้ในโอกาสแรก ภายใน ๒๔ ชั่วโมง หรือจะแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่สะดวกกว่าก็ได้
ตัวอย่าง
นายแดงกับนายขาวเดินทางไปเที่ยวเขาใหญ่ จังหวัดนครนายกด้วยกัน ปรากฏว่านายขาวเป็นไข้ป่าตาย ในกรณีนี้นายแดงเป็นผู้ที่ไปด้วยกับนายขาวผู้ตาย ดังนั้น นายแดงจึงเป็นผู้ที่มีหน้าที่ต้องแจ้งการตาย โดยแจ้งต่อนายทะเบียนท้องที่จังหวัดนครนายก หรือจะแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่เขาใหญ่ซึ่งสะดวกกว่าก็ได้
อย่างไรก็ดี เวลาในการแจ้งนั้น ผู้อำนวยการทะเบียนกลาง อาจขยายออกไปได้อีกไม่เกิน ๗ วันสำหรับท้องที่ที่การคมนาคมไม่สะดวก
ลูกตายในท้อง
ลูกตายในท้อง หมายถึง ลูกที่อยู่ในครรภ์มารดาเป็นเวลาเกิน ๒๘ สัปดาห์ และคลอดออกมาโดยไม่มีชีวิต ดังนั้น ถ้าลูกอยู่ในครรภ์มารดาไม่ถึง ๒๘ สัปดาห์ แม่จะคลอดออกมาโดยไม่มีชีวิต ก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องของลูกตายในท้อง
ผู้ที่มีหน้าที่ในการแจ้ง กรณีที่มีลูกตายในท้องดังนี้ คือ (เด็กที่อยู่ในครรภ์มารดาเกิน ๒๘ สัปดาห์หรือเกิน ๑๙๖วัน)
ถ้าลูกตายในท้องเกิดขึ้นในบ้าน ให้เจ้าบ้านแจ้งต่อนายทะเบียนภายใน ๒๔ ชั่วโมงนับแต่เวลาคลอด นายทะเบียนก็จะออกบัตรลูกตายในท้องไว้เป็นหลักฐาน
ถ้าลูกตายในท้องเกิดขึ้นนอกบ้าน ให้มารดาแจ้งต่อนายทะเบียนแห่งท้องที่ที่ลูกตายในท้องนั้น หรือแจ้งต่อท้องที่ที่อาจแจ้งได้ในโอกาสแรกภายใน ๒๔ ชั่วโมงนับแต่เวลาคลอด หรือจะแจ้งต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่สะดวกกว่าก็ได้
กรณีที่มีการตายเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นการตายภายในบ้านหรือนอกบ้านก็ตามเมื่อผู้มีหน้าที่ต้องแจ้งได้ไปแจ้งการตายต่อเจ้าหน้าที่ผู้รับแจ้งแล้ว เจ้าหน้าที่ก็จะออกสารที่เราเรียกว่ามรณบัตรให้ ซึ่งมรณบัตรนี้ก็คือเอกสารแสดงถึงการตายของบุคคลที่นายทะเบียนผู้รับแจ้งการตายออกให้แก่ผู้แจ้งเพื่อนำไปแสดงต่อผู้เกี่ยวข้องนำไปจัดการทรัพย์มรดกของผู้ตาย เป็นต้น
โทษ
สำหรับผู้ที่มีหน้าที่จะต้องแจ้งการตาย แต่ฝ่าฝืนไม่แจ้งภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดอาจจะถูกปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท
ข. มรดก
ในปัจจุบันกฎหมายมีความสำคัญกับชีวิตมนุษย์ตั้งแต่แรกเกิดจนกระทั่งตาย และกฎหมายในเรื่องมรดกนี่ก็นับว่าเป็นเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่เราจะทำความเข้าใจ เพราะว่าถ้าไม่มีกฎหมายมรดกแล้ว ก็จะทำให้สังคมวุ่นวาย เช่น อาจมีการฆ่ากันตาย เพราะแย่งทรัพย์สมบัติของผู้ตายเกิดขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันก็ได้ ต่างคนก็ต่างอยากได้ทรัพย์สมบัติมาเป็นของตัวเองมาก ๆ โดยไม่คำนึงถึงว่าคนอื่นจะเป็นอย่างไร ดังนั้นกฎหมายจึงต้องเข้ามาวางหลักในเรื่องมรดกของผู้ตาย ว่าภายหลังจากผู้ตาย ตายแล้วทรัพย์สมบัติของเขาตกแก่ผู้ใด เพื่อมิให้เกิดการแย่งชิงกันระหว่างญาติของผู้ตายด้วยกันเอง แต่การใช้กฎหมายในเรื่องมรดกของไทยนั้นไม่ใช้กับ ๔ จังหวัดภาคใต้ คือ ปัตตานี นราธิวาส ยะลา และสตูล ในกรณีที่โจทก์และจำเลยเป็นคนอิสลาม
๑. มรดกได้แก่อะไรบ้าง
“มรดก” หรือ “กองมรดก” ของผู้ตายนั้น ได้แก่ ทรัพย์สินของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะตาย แต่ไม่ใช่ว่ามรดกของผู้ตายมีเพียงทรัพย์สินของผู้ตายเท่านั้น มรดกของผู้ตายยังรวมตลอดถึงสิทธิ หน้าที่และความรับผิดชอบต่าง ๆ ของผู้ตายซึ่งมิใช่ทรัพย์สินของผู้ตาย แต่บางกรณี สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่าง ๆ ของผู้ตายอาจไม่ใช่มรดกก็ได้ ถ้าสิทธิหรือหน้าที่ต่าง ๆ นั้นเป็นเรื่องเฉพาะตัวของผู้ตายที่ต้องทำเอง
สิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบที่เป็นมรดกของผู้ตาย เช่น สิทธิหน้าที่ตามสัญญากู้ยืมเงิน ซื้อขาย จำนำ จำนอง หรือการละเมิด ตัวอย่างเช่น บิดา นาย ก ทำสัญญาจะขายนาให้กับนาย ค ต่อมา ค ได้ชำระเงินให้กับบิดา นาย ก เสร็จเรียบร้อยแล้ว และระหว่างนั้นบิดานาย ก ตาย ค จึงฟ้องขอให้บังคับ ก ปฏิบัติตามสัญญาจะขายนั้น ดังนี้ศาลก็จะต้องพิพากษาให้ ก ผู้เป็นทายาทของบิดาต้องปฏิบัติตามที่นาย ค เรียกร้อง คือ ต้องไปจดทะเบียนโอนที่นาให้กับนาย ค ตามสัญญานั่นเอง
ส่วนสิทธิหน้าที่และความรับผิดชอบที่ไม่อาจถือว่าเป็นมรดกของผู้ตายเพราะเป็นการเฉพาะตัวที่ผู้ตายต้องกระทำเองนั้น เช่น ก เป็นนักเขียนภาพ ข จึงไปจ้างให้นาย ก เขียนภาพตนเอง ต่อมาขณะนาย ก เขียนภาพยังไม่เสร็จ ก ถึงแก่ความตาย ดังนี้ ข จะไปบังคับให้ทายาทซึ่งอาจจะเป็นลูกของนาย ก วาดภาพนั้นแทนบิดาตนเองมิได้ เพราะถือว่าการวาดภาพนั้นเป็นการเฉพาะตัวของนาย ก เองที่จะต้องใช้ฝีมือตนเองกระทำขึ้นมา แต่ถ้า ข ไปให้ลูกของนาย ก วาดภาพให้ เพราะเห็นว่าลูกของนาย ก ก็เป็นนักเขียนเช่นเดียวกัน อย่างนี้ต้องถือว่าระหว่างลูกของนาย ก และ ข ได้มีการทำสัญญาต่อกันใหม่โดยไม่ถือว่าลูกนาย ก กระทำการในฐานะทายาทของนาย ก
๒. มรดกตกทอด เมื่อใด
มรดกจะตกทอดไปยังทายาททันที เมื่อเจ้ามรดกตาย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่มีข้อสังเกตว่าการตายของบุคคลนั้นในทางกฎหมายมีได้ ๒ อย่าง คือ ตายโดยธรรมชาติ และตายโดยผลของกฎหมาย
“การตายโดยผลของกฎหมาย” หรือที่เรียกว่า “สาบสูญ” คือการที่มีทายาทของบุคคลนั้นหรือพนักงานอัยการไปฟ้องร้องต่อศาลว่าบุคคลนั้นได้หายไปจากถิ่นที่อยู่เป็นเวลา ๕ ปี โดยไม่มีใครทราบข่าวของบุคคลนั้นเลย หรือไปอยู่ในสมรภูมิแห่งสงคราม หรือไปตกในเรืออับปาง เมื่อนับเวลาหลังจากที่หมดสงครามแล้ว นับจากเรืออับปางได้สิ้นสุดไปแล้วเป็นเวลา ๒ ปี และไม่มีใครรู้ว่าบุคคลนั้นอยู่ที่ไหนเป็นตายร้ายดีอย่างไร ดังนี้ถ้าศาลสั่งว่าบุคคลนั้นเป็น “คนสาบสูญ” ด้วยเหตุดังกล่าวแล้ว ก็ต้องถือว่าบุคคลนั้นได้ถึงแก่ความตายเช่นกัน และจะมีผลให้ “มรดก” ตกทอดไปยังทายาทเช่นเดียวกับการตายโดยธรรมชาติ
๓. ใครมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตาย
เมื่อบุคคลตายทรัพย์สินหรือมรดกของผู้ตายจะตกทอดได้แก่ใครนั้นกฎหมายให้ความสำคัญกับความตั้งใจของผู้ตายเป็นหลักว่าจะยกทรัพย์สินให้แก่ใคร ถ้าผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์ให้ผู้ใดก็จะเป็นไปตามพินัยกรรม แต่ถ้าผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ กฎหมายกำหนดให้มรดกตกทอดแก่ทายาทที่เป็นลูกหรือญาติพี่น้องของผู้ตาย ดังนั้นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดก กฎหมายจึงแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ ทายาทโดยธรรม และผู้รับพินัยกรรม
๓.๑ ทายาทโดยธรรม
ทายาทโดยธรรมตามกฎหมายได้แก่ ญาติ และคู่สมรสคือ สามีและภริยาของผู้ตาย
ญาติ กฎหมายได้จัดการลำดับญาติไว้แล้ว โดยให้ญาติสนิทที่สุดมาสิทธิได้รับมรดกเหนือกว่าญาติที่ห่างออกไป หากญาติที่สนิทที่สุดยังมีชีวิตอยู่ญาติที่สนิทน้อยลงไปจะไม่มีสิทธิได้รับมรดกเลย ตามหลักที่ว่า “ญาติสนิทพิชิตญาติห่าง” สำหรับลำดับญาตินั้น กฎหมายได้กำหนดไว้เรียงตามลำดับความสนิทดังนี้
ลำดับที่ ๑ ผู้สืบสันดาน ได้แก่ บุตรของผู้ตาย ซึ่งอาจจะได้แก่บุตรในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือ
(ก) บุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก ได้แก่ บุตรประเภทใดประเภทหนึ่งต่อไปนี้
(๑) บุตรที่เกิดจากบิด (ซึ่งเป็นเจ้ามรดก) กับมารดาซึ่งบิดามารดานั้นนั้นได้จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมาย
(๒) บุตรบุญธรรมของเจ้ามรดก กล่าวคือ เป็นบุคคลที่เจ้ามรดกได้จดทะเบียนรับเป็นบุตรบุญธรรม
(๓) บุตรซึ่งบิดา (ซึ่งเป็นเจ้ามรดก) กับมารดาได้จดทะเบียนสมรสกันภายหลังจากที่บุตรได้เกิดแล้ว
(ข) บุตรนอกกฎหมาย หมายถึง บุตรที่บิดา (ซึ่งเป็นเจ้ามรดก) ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดา แต่มีพฤติการณ์ที่เปิดเผยบางอย่างของบิดาที่เป็นการรับรองว่าเด็กนั้นเป็นบุตรของตน เช่น อนุญาตให้เด็กใช้นามสกุลของตน หรือเป็นธุระพาบุตรไปฝากเข้าโรงเรียน หรือใครถามก็บอกว่าเป็นบุตรของตน เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้ามีพฤติการณ์ดังเช่นว่านี้ เด็กนั้นก็มีสิทธิรับมรดกของบิดา (เจ้ามรดก) เหมือนกับบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายทุกประการ
ลำดับที่ ๒ บิดามารดาของเจ้ามรดก ในกรณีของบิดา บิดานั้นจะต้องเป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดก ถ้าเป็นบิดาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (กล่าวคือ ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของเจ้ามรดก) แม้ว่าจะได้มีพฤติการณ์รับรองบุตรนอกกฎหมายว่าเจ้ามรดกเป็นบุตรตน ดังกล่าวในข้อ ข. ก็ตาม ก็ไม่มีสิทธิได้รับมรดกของบุตรตน ส่วนมารดานั้นย่อมเป็นมารดาโดยชอบด้วยกฎหมายของเจ้ามรดกเสมอ ไม่ว่าจะจดทะเบียนสมรสกับบิดาของเจ้ามรดกหรือไม่ก็ตาม
ข้อสังเกต
(๑) บิดามารดาบุญธรรม ไม่มีสิทธิรับมรดกของบุตรบุญธรรม
(๒) ในกรณีที่บิดาหรือมารดาทำการสมรสใหม่ หลังจากขาดการสมรสแล้ว แม่เลี้ยง หรือพ่อเลี้ยงย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกของลูกเลี้ยง
(๓) ลูกเขยไม่มีสิทธิได้รับมรดกของพ่อตา หรือแม่ยาย และพ่อตาแม่ยายก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของลูกเขยเช่นกัน
(๔) ลูกสะใภ้ไม่มีสิทธิรับมรดกของแม่สามีหรือพ่อสามี และแม่สามีหรือพ่อสามีก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของลูกเขยเช่นกัน
(๕) ลูกสะใภ้ไม่มีสิทธิรับมรดกของแม่สามีหรือพ่อสามมี และแม่สามีหรือพ่อสามีก็ไม่มีสิทธิรับมรดกของลูกสะใภ้เช่นกัน
ลำดับที่ ๓ พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับเจ้ามรดก คือ พี่น้องเจ้ามรดกที่เกิดจากบิดามารเดียวกัน
ลำดับที่ ๔ พี่น้องร่วมแต่บิดา หรือพี่น้องร่วมแต่มารดาของเจ้ามรดก (หรือที่เรียกลูกติดพ่อลูกติดแม่)
ลำดับที่ ๕ ปู่ ย่า ตา ยาย ของเจ้ามรดก หมายถึง ปู่ ย่า ตา ยาย ของเจ้ามรดกจริง ๆ ไม่ใช่เป็นแต่เพียงนับถือว่าเป็นญาติ
ลำดับที่ ๖ ลุง ป้า น้า อา ของเจ้ามรดก หมายถึง ลุง ป้า น้า อา ของเจ้ามรดกจริง ๆ ไม่ใช่แต่เพียงเรียกว่า ลุง ป้า น้า อา
การแบ่งมรดกระหว่างทายาทโดยธรรม
(ก) การแบ่งมรดกในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีคู่สมรสในขณะตาย
ในกรณีที่เจ้ามรดกไม่มีคู่สมรส เช่น แต่งงานโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส หรือคู่สมรสตายไปก่อน หรือจดทะเบียนหย่ากันแล้ว กรณีเช่นนี้ก็ต้องแบ่งมรดกกันในระหว่างญาติเท่านั้น
ในการพิจารณาว่า ทายาทประเภทญาติจะได้รับมรดกเพียงใดมีดังนี้ กฎหมายได้ให้ทายาทในลำดับที่ ๑ กับลำดับที่ ๒ ได้รับมรดกร่วมกันก่อนถ้าไม่มีบุคคลทั้งสองลำดับ ทายาทในลำดับที่ ๓ จึงจะได้รับมรดก เช่น เจ้ามรดกตาย ในขณะตายเจ้ามรดกไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีลูก มีแต่พี่น้องร่วมพ่อแม่เดียวกัน และมีลุงอีก ๑ คน ตามตัวอย่าง พี่น้องจึงไม่มีสิทธิได้รับมรดกเพียงลำดับเดียว ส่วนลุงไม่ได้เพราะเป็นทายาทในลำดับที่ห่าง
(ข) กรณีที่มีคู่สมรสอยู่ก่อนตาย
คู่สมรสของเจ้ามรดกนี้ หมายถึง สามีหรือภรรยาของเจ้ามรดกที่ได้จดทะเบียนสมรสกันถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น ฉะนั้น หากเป็นคู่สมรสของเจ้ามรดกที่เป็นแต่เพียงอยู่กินกับเจ้ามรดกฉันสามีภรรยา แต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันให้ถูกต้องตามกฎหมาย คู่สมรสนั้นย่อมไม่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกเลย แต่หากเจ้ามรดกต้องการให้คู่สมรสของตนที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันมีสิทธิได้รับมรดกของตน ก็จะต้องไปจดทะเบียนสมรสกันให้ถูกต้อง หรืออาจทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้กับคู่สมรสนั้น
คู่สมรสของเจ้ามรดกที่ถูกต้องตามกฎหมายนั้นก็ย่อมมีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกเสมอร่วมกับทายาทประเภทญาติที่มีสิทธิรับมรดกของเจ้ามรดกทุกลำดับ เพียงแต่ว่าส่วนบ่งคู่สมรสนั้นจะมากน้อยต่างกัน กล่าวคือ ถ้าเจ้ามรดกมีญาติในลำดับต้น ๆ คู่สมรสก็จะได้ส่วนแบ่งน้อย แต่ถ้าเจ้ามรดกมีญาติ ซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมในลำดับท้าย ๆ คู่สมรสก็จะได้รับส่วนแบ่งมรดกมากขึ้นโดยกฎหมายได้ว่างอัตราส่วนมากน้อยไว้แล้ว
การรับมรดกแทนที่
ในกรณีที่ทายาทโดยธรรมลำดับที่ ๑ (ผู้สืบสันดาน) ลำดับที่ ๓ (พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน กับเจ้ามรดก) ลำดับที่ ๔ (พี่น้องร่วมบิดาหรือพี่น้องร่วมแต่มารดาของเจ้ามรดก) หรือลำดับที่ ๖ (ลุง ป้า น้า อา ของเจ้ามรดก) ได้ตายไปก่อนเจ้ามรดก หรือถูกกำจัดมิให้ได้รับมรดก (ซึ่งจะอธิบายต่อไป) โดยถูกกำจัดก่อนเจ้ามรดกตาย ถ้าหากทายาทในลำดับดังกล่าวมีผู้สืบสันดานโดยสายโลหิตอยู่ (คือ บุตรของเจ้ามรดก ซึ่งไม่รวมถึงบุตรบุญธรรม) ก็ให้ผู้สืบสันดานโดยสายโลหิตนั้นเข้ามารับมรดกแทนที่ได้ ถ้าผู้สืบสันดานโดยสายโลหิตนั้นตายก่อนเจ้ามรดกหรือถูกกำจัดมิให้รับ
มรดกเช่นกัน ก็ให้ผู้สืบสันดานของผู้สืบสันดานนั้นรับมรดกแทนที่ต่อไปอีกจนกว่าจะหมดสายโลหิต (ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๓๙)
ตัวอย่าง
นายสมพงษ์ มีบุตรชื่อ นายสมศักดิ์ นายสมศักดิ์มีบุตรชื่อ นายสรพงษ์ ต่อมานายสมศักดิ์ตายและหลังจากนั้นนายสมพงษ์ตาย ปัญหามีว่าถ้าหากเราจะแบ่งมรดกของนายสมพงษ์ (ไม่ใช่ของนายสมศักดิ์) มรดกของนายสมพงษ์จะตกได้แก่ใคร?
คำตอบก็คือ มรดกของนายสมพงษ์ ตามธรรมดาแล้วย่อมตกได้แก่บุตรคือ นายสมศักดิ์ แต่นายสมศักดิ์ตายไปก่อนนายสมพงษ์ที่เป็นเจ้ามรดก แต่ในกรณีนี้นายสมศักดิ์ยังมีผู้สืบสันดานโดยสายโลหิตอยู่คือนายสรพงษ์ ดังนั้น นายสรพงษ์จึงเข้ารับมรดกของนายสมพงษ์ได้ โดยการเข้ารับมรดกแทนที่ คือเข้าแทนที่นายสมศักดิ์ได้ตามมาตรา ๑๖๓๙ ดังกล่าว สำหรับทายาทในลำดับที่ ๓, ๔ และ ๖ ก็วินิจฉัยทำนองเดียวกัน
๓.๒ ผู้รับพินัยกรรม
ผู้รับพินัยกรรม หมายถึง บุคคลหนึ่งซึ่งผู้ตายหรือเป็นบุคคลภายนอกทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินให้ผู้รับพินัยกรรมอาจเป็นญาติพี่น้องของผู้ตายก็ได้ พินัยกรรมนั้นกฎหมายบังคับว่าจะต้องทำเป็นหนังสือและถูกต้องตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้
ข้อสังเกต
หนังสือที่จะเป็นพินัยกรรมนั้น จะต้องมีข้อความ ระบุว่าจะยกทรัพย์สินให้ผู้ใดเมื่อผู้ทำพินัยกรรมถึงแก่ความตาย ถ้าไม่มีข้อความดังกล่าวระบุไว้ หนังสือนั้นอาจเป็นหนังสือยกทรัพย์สินให้โดยเสน่หาก็ได้ ผู้ทำพินัยกรรมจึงต้องระมัดระวังในเรื่องนี้
แบบของพินัยกรรม
กฎหมายกำหนดแบบของพินัยกรรมไว้ ๓ แบบ ผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะทำแบบใดแบบหนึ่งก็สามารถเลือกได้ตามใจชอบ
แบบที่ ๑ พินัยกรรมแบบธรรมดา
มีหลักเกณฑ์ในการทำดังต่อไปนี้
๑. ต้องทำเป็นหนังสือ ซึ่งจะเขียนหรือพิมพ์ก็ได้ เจ้ามรดกจะเขียนหรือพิมพ์เองก็ได้ หรือให้คนอื่นเขียนหรือพิมพ์แทนก็ได้
๒. ต้องลง วัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรมนั้น
๓. เจ้ามรดกผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเซ็นชื่อต่อหน้าพยานอย่างน้อย ๒ คนพร้อมกัน มีข้อสังเกตว่า ถ้ามีพยานอย่างน้อย ๒ คน ลงลายมือชื่อเป็นพยานขณะทำพินัยกรรม และได้เห็นผู้ทำพินัยกรรมลงลายพิมพ์นิ้วมือแทนการลงลายมือชื่อก็ถือได้ว่าพยาน ๒ คนนั้นได้รับรองการพิมพ์ลายนิ้วมือไปด้วยในตัว ไม่จำต้องมีพยาน ๒ คนลงลายมือชื่อรับรองลายพิมพ์นิ้วมือของผู้ทำพินัยกรรมอีกชุดหนึ่งต่างหากอีก (ฎ.๑๑๑/ ๒๔๙๗, ฎ.๖๑๙/๒๔๙๑)
ตัวอย่างแบบพินัยกรรมแบบธรรมดา
พินัยกรรม
ทำที่บ้านเลขที่ ๑๑ ซอยเพชรเกษม ๓๔
เขตภาษีเจริญ กทม.
วันที่ ๑๔ มกราคม ๒๕๒๔
ข้าพเจ้า นายเกิด มั่งมีทรัพย์ อายุ ๕๐ ปี ตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านเลขที่ ๑๑ ซอยเพชรเกษม ๓๔ เขตภาษีเจริญ กทม. ขอทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายเกี่ยวกับทรัพย์สินของข้าพเจ้าดังต่อไปนี้
๑. ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๑ ตำบลบางจาก เขตภาษีเจริญ กทม. พรน้อมสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งอุปกรณ์และสิ่งของภายในสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าขอยกให้แก่นายสำราญ มั่งมีทรัพย์ บุตรชายของข้าพเจ้า
๒. ข้าพเจ้าขอตั้งให้นางสดสวย มั่งมีทรัพย์ ภรรยาของข้าพเจ้าเป็นผู้จัดการมรดก ทำหน้าที่รวบรวมทรัพย์มรดกของข้าพเจ้าทั้งหมด และจัดการให้เป็นไปตามพินัยกรรมฉบับนี้
ในขณะที่ข้าพเจ้าทำพินัยกรรมฉบับนี้ มีสติสัมปชัญญะดี มีสุขภาพสมบูรณ์ และมิได้มีผู้ใดมาข่มขู่หรือหลอกลวงให้ข้าพเจ้าทำพินัยกรรมฉบับนี้แต่อย่างใด พินัยกรรมฉบับนี้ทำขึ้นเพียงฉบับเดียว ข้าพเจ้าได้ลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยาน และข้าพเจ้าได้มอบพินัยกรรมฉบับนี้ให้กับนางสดสวย มั่งมีทรัพย์ เก็บรักษาไว้
ลงชื่อ......................(ลายเซ็น).................ผู้ทำพินัยกรรม
(นายเกิด มั่งมีทรัพย์)
ข้าพเจ้าผู้มีนามข้างท้ายนี้ได้นั่งเป็นพยานในการทำพินัยกรรมและขอรับรองว่าผู้ทำพินัยกรรมได้ลงลายมือชื่อข้างบนนี้ต่อหน้าข้าพเจ้าทั้ง ๒ คนนี้พร้อมกัน
ลงชื่อ......................(ลายเซ็น).................ผู้ทำพินัยกรรม
(นายสมาน ลมโชย)
ลงชื่อ......................(ลายเซ็น).................ผู้ทำพินัยกรรม
(นายสำรวย ร่ำรวยทรัพย์)
แบบที่ ๒ พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ
หลักเกณฑ์
๑. เจ้ามรดกผู้ทำพินัยกรรมจะต้องเขียนข้อความในพินัยกรรมทั้งฉบับ ด้วยลายมือของตนเอง
๒. ลงวัน เดือน ปี ในขณะที่ทำพินัยกรรมนั้น
๓. เจ้ามรดกผู้ทำพินัยกรรม จะต้องลงลายมือชื่อ(ลายเซ็น) ไว้ในพินัยกรรมนั้นจะลงลายพิมพ์นิ้วมือไม่ได้
ข้อสังเกต
พินัยกรรมแบบที่ ๒ นี้ไม่ต้องมีพยานรู้เห็นในการทำพินัยกรรมแต่อย่างไร
แบบที่ ๓ พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง
เป็นพินัยกรรมที่ทางบ้านเมืองเป็นผู้จัดทำให้ คือต้องไปติดต่อขอทำพินัยกรรมแบบนี้ที่ที่ว่าการอำเภอให้จัดการทำให้ โดยเป็นหน้าที่ของนายอำเภอ สำหรับขั้นตอนในการทำพินัยกรรมแบบนี้มีดังต่อไปนี้ คือ
๑. ผู้ทำพินัยกรรมต้องไปแจ้งข้อความที่ตนประสงค์จะให้ใส่ไว้ในพินัยกรรมของตน แก่นายอำเภอ
๒. นายอำเภอต้องจดข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งให้ทราบนั้นลงไว้และอ่านข้อความนั้นให้พยานและผู้ทำพินัยกรรมฟัง
๓. เมื่อผู้ทำพินัยกรรมและพยานทราบแน่ชัดว่า ข้อความที่นายอำเภอจดนั้นเป็นการถูกต้องตรงกันกับที่ผู้ทำพินัยกรรมแจ้งไว้แล้วให้ผู้ทำพินัยกรรมและพยานลงลายมือชื่อไว้เป็นสำคัญ
๔. ข้อความที่นายอำเภอจดไว้นั้น ให้นายอำเภอลงลายมือชื่อและลงวัน เดือน ปี ทั้งจดลงไว้ด้วยตนเองเป็นสำคัญว่าพินัยกรรมนี้ได้ทำขึ้นถูกต้องตามข้อ ๑ ถึงข้อ ๓ ข้างต้นแล้วประทับตราตำแหน่งไว้เป็นสำคัญ
ดังนั้น พินัยกรรมแบบนี้ ขั้นตอนในการทำต่าง ๆ เป็นหน้าที่ของนายอำเภอที่จะจัดการให้ การทำพินัยกรรมแบบนี้จึงสะดวกและไม่ผิดพลาดเพราะผู้ทำพินัยกรรมเพียงแต่แจ้งความประสงค์ให้นายอำเภอทราบว่าต้องการจะทำพินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมืองก็เพียงพอแล้ว ต่อจากนั้นเป็นหน้าที่ของนายอำเภอที่จะจัดการให้ซึ่งการทำพินัยกรรมแบบนี้อาจจะทำนอกที่ว่าการอำเภอก็ได้ โดยไปยื่นคำร้องต่อนายอำเภอ
แบบที่ ๔ พินัยกรรมแบบเอกสารลับ
เป็นพินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยมีลักษณะเป็นเอกสารลับ กล่าวคือ ผู้ทำพินัยกรรมกับผู้เขียนพินัยกรรม(ในกรณีผู้อื่นเป็นผู้เขียน) เท่านั้นที่จะรู้ว่าพินัยกรรมนั้นมีข้อความอย่างไร ซึ่งพินัยกรรมแบบนี้มีหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการทำดังนี้คือ
๑. ผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม
๒. ผู้ทำพินัยกรรมต้องผนึกพินัยกรรมนั้นแล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกนั้น
๓. ผู้ทำพินัยกรรมต้องนำพินัยกรรมที่ผนึกนั้นไปแสดงต่อนายอำเภอและพยานอีกย่างน้อย ๒คนและให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดเหล่านั้นว่าเป็นพินัยกรรมของตน ถ้าพินัยกรรมนั้นผู้ทำพินัยกรรามิได้เป็นผู้เขียนเองโดยตลอด ผู้ทำพินัยกรรมจะต้องแจ้งนามและภูมิลำเนาของผู้เขียนให้ทราบด้วย
๔. เมื่อนายอำเภอจดถ้อยคำของผู้ทำพินัยกรรมและวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมมาแสดงไว้บนซองนั้นและประทับตราตำแหน่งแล้ว ให้นายอำเภอ ผู้ทำพินัยกรรม และพยานลงลายมือชื่อบนซองนั้น
ข้อควรระวังในการทำพินัยกรรม
๑. ผู้เขียน หรือพยานในพินัยกรรม รวมทั้งคู่สมรสของผู้เขียนหรือพยานในพินัยกรรมแบบต่างๆ นั้นจะเป็นผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมนั้นไม่ได้
๒. บุคคลที่มีสถานะดังต่อไปนี้จะเป็นพยานในพินัยกรรมไม่ได้คือ
ก. ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ
ข. บุคคลวิกลจริตหรือบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ
ค. บุคคลที่หูหนวกเป็นใบ้หรือตาบอดทั้ง ๒ ข้าง
๔. ทายาทอาจไม่มีสิทธิรับมรดก
๔.๑ การตัดไม่ให้รับมรดก
ถ้าเจ้ามรดกไม่ต้องการให้ทายาทโดยธรรมที่เป็นญาติหรือคู่สมรสของตนได้รับมรดก ก็อาจจะทำการตัดสิทธิบุคคลเหล่านั้นมิให้รับมรดกของตนเลยก็ได้ โดยกฎหมายบัญญัติวิธีการไว้ ๒ วิธีคือ
วิธีแรก เจ้ามรดกทำเป็นหนังสือซึ่งมีข้อความกำหนดว่าขอตัดทายาทโดยธรรมคนไหนของตนมิให้ได้รับมรดกและนำหนังสือนั้นไปมอบให้แก่นายอำเภอ
วิธีที่สอง เจ้ามรดกทำพินัยกรรมขึ้นฉบับหนึ่ง โดยระบุข้อความในพินัยกรรมว่า ขอตัดทายาทโดยธรรมคนไหนไม่ให้ได้รับมรดก
การแสดงเจตนาตัดทายาทโดยธรรมของตนมิให้ได้รับมรดกนี้ เมื่อเจ้ามรดกกระทำการดังกล่าวไม่ว่าโดยวิธีใดวิธีหนึ่งแล้วทายาทโดนธรรมที่ถูกตัดย่อมไม่มีสิทธิได้รับมรดกของเจ้ามรดกเลย
๔.๒ การสละมรดก
ในบางกรณีทายาทโดยธรรมซึ่งเป็นญาติหรือคู่สมรสทายาท ผู้รับพินัยกรรมอาจจะไม่ต้องการทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกเลยก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้น ทายาทนั้น ๆ ก็จะต้องทำการสละมรดกตามวิธีการที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ
วิธีแรก การทำเป็นหนังสือสละมรดกมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ระหว่างทายาทด้วยกันเองว่าตนขอสละมรดก ซึ่งทายาทผู้สละอาจจะได้ค่าตอบแทน แต่ค่าตอบแทนทีได้นั้นจะต้องไม่ใช่ค่าตอบแทนที่นำมาจากกองมรดก เพราะมิฉะนั้นแล้วจะกลายเป็นเรื่องแบ่งปันทรัพย์มรดกไม่ใช่การสละมรดก
๔.๓ การถูกกำจัดมิให้รับมรดก
ในบางครั้ง ถ้าทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกนั้นมีความประพฤติไม่สมควร หรือมีพฤติการณ์ที่ เอาเปรียบทายาทคนอื่น กฎหมายจึงเห็นว่าทายาทผู้กระทำการดังกล่าวไม่สมควรจะได้รับมรดกจึงบัญญัติตัดสิทธิทายาทคนนั้นไว้ ๒ กรณีคือ
๑. ถ้าทายาทนั้นทำการยักย้ายปิดบังทรัพย์มรดก เช่น นำทรัพย์ไปซ่อนเสีย ปิดบังไม่ให้ทายาทอื่นรู้ว่าตนครอบครองทรัพย์มรดกอยู่ เป็นต้น ซึ่งหากมีพฤติการณ์เช่นนี้แล้วทายาทผู้นั้นย่อมถูกกฎหมายตัดสิทธิไม่ให้ได้รับมรดก ซึ่งการตัดสิทธินั้นจะมากน้อยเพียงใดมีรายละเอียดในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตร ๑๖๐๕
๒. ถ้าทายาทนั้นประพฤติตนไม่สมควร กล่าวคือมีพฤติการณ์ไม่สมควรตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เช่น ฆ่าเจ้ามรดก ข่มขู่เจ้ามรดกให้ทำพินัยกรรม ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งหากทายาทผู้นั้นมีพฤติการณ์ดังกล่าวแล้ว ก็จะถูกกฎหมายตัดสิทธิมิให้รับมรดกเลย สำหรับพฤติการณ์ต่าง ๆ นั้นมีบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๖๐๖
๕. อายุความ
ทายาทผู้ใดได้รับมรดกอาจตกลงแบ่งมรดกกันเองได้ก็ได้โดยไม่ต้องฟ้องร้องต่อศาล โดยทำสัญญาตกลงกันเองว่าจะให้ใครได้มรดกส่วนไหนบ้าง
ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องฟ้องขอให้ศาลแบ่งมรดก .ภายใน ๑ ปี นับแต่เจ้ามรดกตาย
มิฉะนั้นท่านว่าอาจจะเสียสิทธิเพราะคดีขาดอายุความ