เทศกาลมหาพรต-ปัสกา
การฟื้นคืนชีพของพระเยซูเจ้าสำคัญอย่างไร
การฟื้นคืนชีพของพระเยซูเจ้าสำคัญอย่างไร
ความเชื่อเรื่องการฟื้นคืนชีพของบรรดาผู้ตายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาโดยตลอด คนบางกลุ่มก็เชื่อว่าเป็นความจริง เช่นพวกฟารีสี แต่บางพวกก็ว่าไม่จริง เช่น พวกซัดดูสีเป็นต้น
สำหรับเราคริสตชน เชื่อว่าพระเยซูเจ้าทรงฟื้นคืนชีพจากความตายอย่างแน่นอน ความตายไม่สามารถเอาชนะพระองค์ได้ เพราะพระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้า ทรงเป็นพระเจ้าของคนเป็น ทรงเป็นอยู่ตลอดไป ทรงเป็นนิรันดร์ หลักฐานจากพระคัมภีร์ที่แสดงให้เราได้ทราบถึงความจริงประการนี้ก็คือ พระคูหาที่ฝังพระศพของพระองค์ว่างเปล่า และการที่พระองค์ทรงปรากฏพระองค์ให้บรรดาสานุศิษย์บางคนได้เห็น แม้ว่าคำตอบเช่นนี้อาจจะไม่สามารถทำให้หลายๆคนอิ่มใจได้แต่จากชีวิตของบรรดาอัครสาวกที่ได้เห็นพระองค์แล้ว กลับมีความกล้าหาญที่จะยืนยันถึงความจริงประการนี้ และออกไปเทศนาสั่งสอนเรื่องชีวิตและคำสั่งสอนของพระองค์อย่างถวายชีวิตเพื่อพระองค์นี้แหละที่ทำให้เราได้เห็นพลังชีวิตจากความเชื่อศรัทธาในพระเยซูเจ้า
คำสอนพระศาสนจักรคาทอลิกข้อที่ 651- 655 ได้สอนถึงความหมายของการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้าที่มีผลต่อชีวิตของเราไว้ดังนี้
1. การฟื้นคืนชีพของพระเยซูเป็นการยืนยันว่าทุกสิ่งที่พระเยซูเจ้าทรงกระทำและทรงสั่งสอนนั้นเป็นความจริงทุกประการ แม้มนุษย์อาจจะไม่สามารถเข้าใจได้หมดแต่ก็ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้อง นักบุญเปาโลยืนยันว่า “หากพระเยซูคริสต์มิได้ทรงฟื้นพระชนม์ การเทศนาของเราก็หาประโยชน์อะไรมิได้ และความเชื่อของเราก็ไร้ประโยชน์ด้วย” (1 คร.15:14)
2. การคืนชีพของพระเยซูคริสตเจ้าเป็นการกระทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้กล่าวไว้ในพระคัมภีร์ทั้งพันธสัญญาเดิมและพันธสัญญาใหม่สำเร็จลุล่วงไปตามคำทำนาย
3. การคืนชีพขององค์พระเยซูที่ทรงถูกตรึงบนไม้กางเขนเป็นการแสดงให้เห็นว่าพระเยซูเจ้าทรงเป็นพระบุตรของพระเจ้าและทรงเป็นพระเจ้าเอง
4. ในการกลับคืนชีพของพระเยซูเจ้านั้นทำให้เราเข้าสู่ “ชีวิตใหม่” คือ ได้รับความชอบธรรม จากการอภัยบาปของพระเจ้า การมีชัยชนะเหนือความตายอันเนื่องมาจากบาป การได้เข้ามีส่วนในพระหรรษทาน (พระพร) ของพระเจ้า และการได้รับเข้ามาเป็นบุตรของพระเจ้า
5. สุดท้ายการคืนชีพของพระเยซูเจ้าทำให้เราแน่ใจว่าเราจะได้กลับคืนชีพเช่นเดียวกับพระองค์ด้วย
CR :: สอนดีดี.คอม
วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ระลึกถึงพระทรมานของพระคริสตเจ้า
วันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์ ระลึกถึงพระทรมานของพระคริสตเจ้า
ตามธรรมเนียมเก่าแก่ที่สุด วันนี้และวันพรุ่งนี้ พระศาสนจักรไม่ประกอบพิธีศีลศักดิ์สิทธิ์ใดๆเลย และถือว่าเป็นวันบังคับให้ทุกคนทำการจำศีลอดอาหาร วันนี้แท่นบูชาต้องไม่มีของวางอยู่ คือ ไม่มีกางเขน ไม่มีเชิงเทียน และไม่มีผ้าปู
ในตอนบ่ายวันนี้ คือ ราวบ่ายสามโมง (เว้นแต่จะเลือกเวลาบ่ายกว่านั้นเนื่องจากเหตุผลด้านอภิบาลสัตบุรุษ) มีการประกอบพิธีระลึกถึงพระทรมานของพระคริสตเจ้า ซึ่งมีสามภาคคือ ภาควจนพิธีกรรม ภาคนมัสการกางเขน และภาครับศีลมหาสนิท
วันนี้มีการแจกศีลมหาสนิทแก่สัตบุรุษเฉพาะในระหว่างพิธีระลึกถึงพระทรมานของพระคริสตเจ้าเท่านั้น แต่พระสงฆ์จะส่งศีลให้คนไข้ได้ไม่ว่าเวลาใด
พระสงฆ์สวมอาภรณ์สีแดง เหมือนกับสำหรับประกอบพิธีบูชามิสซาฯ เดินไปยังแท่นบูชา เมื่อแสดงความเคารพแล้ว ก็หมอบราบลง หรือถ้าเห็นสมควรจะคุกเข่าก็ได้ แล้วทุกคนภาวนาเงียบๆครู่หนึ่ง ครั้นแล้ว พระสงฆ์กับผู้ช่วยเดินไปยังที่นั่ง หันหน้ามาทางสัตบุรุษ พนมมือ สวดภาวนาตามพิธีที่กำหนดไว้ต่อไป
ภาควจนพิธีกรรม
พิธีกรรมในวันนี้เราจะได้รับฟังบทอ่านจากพระคัมภีร์ 3 บทด้วยกัน ประกอบด้วยบทอ่านที่ หนึ่งจากพันธสัญญาเดิมอิสยาห์ 52:13-53:12 ซึ่งเป็นเรื่องที่กล่าวถึงผู้รับใช้ที่ต้องทนทุกข์ทรมาน และยอมตาย ยอมถูกกล่าวหาว่าเป็นคนบาป ยอมรับแบกบาปของคนทั้งหลาย และอ้อนวอนแทนคนบาป ซึ่งเป็นการบ่งบอกล่วงหน้าถึงองค์พระเยซูเจ้านั้นเอง บทอ่านที่สองเป็นบทจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวฮิบรู 4:14-16, 5:7-9 ซึ่งพูดถึงพระเยซูคริสต์ทรงเป็นมหาปุโรหิตที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาชน ทรงมาบังเกิดเป็นมนุษย์เพื่อช่วยมนุษย์ให้หลุดพ้นจากบาป บทอ่านที่สามเป็นบทอ่านจากพระวรสารของนักบุญยอห์น 18:1-9:42 เป็นเรื่องเล่าถึงเหตุการณ์พระทรมานของพระเยซูคริสตเจ้าทั้งแต่ตอนถูกจับกุมจนการนำพระศพของพระองค์ไปฝังในคูหา
จากนั้นเป็นบทภาวนาเพื่อมวลชนที่ค่อนข้างจะมากกว่าบทภาวนาเพื่อมวลชนปรกติที่เราภาวนากันในวันอาทิตย์ สำหรับจุดประสงค์ที่เราภาวนาในโอกาสนี้มี 10 เจตนาด้วยกัน เช่น เพื่อขอให้พระเจ้าทรงคุ้มครองพระศาสนจักรคาทอลิกให้มีความสงบสุขและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อพระสันตะปาปา เพื่อพระสังฆราช เพื่อพระสงฆ์นักบวช เพื่อผู้ที่เตรียมตัวรับศีลล้างบาป เพื่อเอกภาพของบรรดาคริสตชนนิกายต่างๆ เพื่อผู้ที่ไม่เชื่อพระเจ้า เพื่อผู้ปกครองประเทศ เพื่อผู้ที่มีความเดือดร้อนต่างๆ เป็นต้น
ภาคนมัสการกางเขน
ภาคนี้เป็นการแสดงกางเขนต่อหน้าสัตบุรุษอย่างสง่า พระสงฆ์ถือไม้กางเขนที่มีผ้าคลุมไว้พร้อมกับผู้ช่วยพิธีกรรมสมองคนถือเทียนที่จุดแล้วมายังพระแท่น พระสงฆ์ยืนหน้าพระแท่น เปิดผ้าคลุมตอนบนออกเล็กน้อย ชูกางเขนขึ้นร้องเพลงว่า “นี่คือไม้กางเขนที่พระผู้ไถ่โลกได้ตรึงแขวนอยู่” สัตบุรุษหรือนักขับร้องร้องรับว่า “เชิญมากราบนมัสการร่วมกันเถิด” จากนั้นพระสงฆ์เปิดผ้าคลุมเป็นครั้งที่สองโดยเปิดผ้าคลุมจากแขนขวา ชูขึ้นแล้วขับร้องเหมือนครั้งแรก จากนั้นพระสงฆ์เปิดผ้าคลุมด้านแขนซ้าย และทำเช่นเดียวกับสองครั้งแรก เมื่อขับร้อง “เชิญมากราบฯ”จบทุกครั้งให้สัตบุรุษคุกเข่ากราบลง นมัสการพระเจ้าเงียบๆครู่หนึ่ง จากนั้นพระสงฆ์นำกางเขนไปวางไว้ตรงกลางพร้อมกับเชิงเทียนเพื่อให้สัตบุรุษเข้ามาแสดงความเคารพกางเขนเป็นรายบุคคลหรือเป็นหมู่คณะ
กางเขนที่นำมาให้แสดงความเคารพนั้นให้มีแต่กางเขนเดียว ถ้ามีคนจำนวนมากให้พระสงฆ์ชูกางเขนไว้เพื่อให้สัตบุรุษนมัสการอย่างเงียบ ๆ เมื่อแสดงความเคารพหมดแล้วให้นำกางเขนไปตั้งไว้ในที่ที่เคยตั้งบนพระแท่น ให้ตั้งเชิงเทียบที่จุดข้างพระแท่นหรือใกล้กางเขน
ภาครับศีลมหาสนิท
เมื่อทุกคนได้แสดงความเคารพต่อกางเขนแล้ว พระสงฆ์จะนำศีลมหาสนิทจากที่ที่ได้นำไปรักษาไว้มายังพระแท่น เริ่มภาครับศีลฯด้วยการสวดบทข้าแต่พระบิดาฯ บทลูกแกะพระเจ้า แล้วนั้นเชิญสวดสัตบุรุษเข้ามารับศีลมหาสนิทพร้อมกัน เมื่อทุกคนรับศีลมหาสนิทเสร็จแล้วพระสงฆ์จะภาวนาและการปกมืออวยพรสัตบุรุษทุกคน จากนั้นให้ทุกคนเดินออกจากวัดอย่างเงียบๆ ให้เอาทุกสิ่งทุกอย่างออกจากแท่น คงเหลือแต่แท่นบูชาว่างเปล่า เป็นอันเสร็จพิธีในวันนี้
CR :: สอนดีดี.คอม
วันพฤหัสฯศักดิ์สิทธิ์(Holy Thursday)
วันพฤหัสฯศักดิ์สิทธิ์(Holy Thursday)
วันพฤหัสฯศักดิ์สิทธิ์คือวันพฤหัสฯในสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์ของเราคริสตชน ในวันนี้เป็นวันสำคัญเพราะเป็นวันระลึกถึงเหตุการณ์สำคัญในชีวิตของพระเยซูเจ้า คือการรับทานอาหารค่ำครั้งสุดท้ายกับบรรดาอัครสาวกก่อนที่จะถูกจับกุมและรับการพิพากษาให้ประการชีวิตโดยการตรึงร่างไว้กับไม้กางเขน
การรับทานเลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้ายครั้งนี้ถือว่าเป็น “ต้นแบบ” หรือ “กำเนิด” ของพิธีทานเลี้ยงศักดิ์สิทธิ์ที่เราเรียกว่า “พิธีศีลมหาสนิท” หรือ “พิธีบูชามิสซาขอบพระคุณ” นั้นเอง
ดังนั้นพิธีกรรมสำคัญในวันนี้ประกอบด้วย การรื้อฟื้นคำมั่นสัญญาแห่งการเป็นสงฆ์ พิธีเสกน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ การระลึกถึงการเลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้ายของพระเยซูคริสตเจ้าหรือการล้างเท้าอัครสาวก ซึ่งพิธีกรรมต่างๆเหล่านี้เกี่ยวข้องกับพิธีศีลมหาสนิททั้งสิ้น
ตั้งแต่เช้าของวันพฤหัสฯพระสังฆราชจะเฉลิมฉลองพิธีบูชามิสซาขอบพระคุณพร้อมกับบรรดาพระสงฆ์ที่อยู่ภายใต้การปกครอง ณ อาสนวิหารประจำสังฆมณฑล (ถ้ามีเหตุผลจำเป็นอาจจะใช้สถานที่อื่นก็ได้) ทั้งนี้เพื่อแสดงถึงความเป็นหนึ่งเดียวของสังฆภาพภายในสังฆมณฑล (เขตปกครอง) ดังนั้นจึงห้ามไม่ให้พระสงฆ์ถวายพิธีบูชามิสซาฯใดๆที่ไม่มีสัตบุรุษเข้าร่วมพิธี แต่ให้มีพิธีมิสซาฯในวัดเพื่อระลึกถึงการทานเลี้ยงอาหารค่ำของพระเยซูเจ้าในเวลาค่ำเท่านั้น
การรื้อฟื้นคำสัญญาแห่งการเป็นสงฆ์ของพระเยซูคริสตเจ้า
ในระหว่างพิธีมิสซาฯหลังจากบทเทศน์แล้ว พระสังฆราชจะปราศรัยกับบรรดาพระสงฆ์ในการปกครองของท่านให้ซื่อสัตย์ในการปฏิบัติหน้าที่ โดยให้รื้อฟื้นคำปฏิญาณที่ได้ให้ไว้กับพระสังฆราชและต่อหน้าพี่น้องสัตบุรุษ 3 ประการ คือ ให้ยึดมั่นคำสัญญาที่ได้ให้ไว้ในวันรับศีลบวช (นบนอบ ยากจน บริสุทธิ์) ให้มีชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์สนิทสนมกับพระเยซูคริสตเจ้า และให้ปฏิบัติหน้าที่โปรดศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆและอบรมสั่งสอนสัตบุรุษด้วยความเสียสละซื่อสัตย์
นอกจากนั้นพระสังฆราชยังได้ขอให้พี่น้องสัตบุรุษได้สวดภาวนาให้พระสงฆ์และพระสังฆราชเองจะได้เป็นนายชุมภาพบาลที่ดี เป็นอาจารย์ และผู้รับใช้ที่ของทุกคน
การเสกน้ำมันศักดิ์สิทธิ์
ต่อจากการรื้อฟื้นและบทภาวนาของมวลชนจะเป็นพิธีเสกน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ 3 ประเภท คือ น้ำมันเจิมคนไข้ น้ำมันคริสตังค์สำรอง และน้ำมันคริสตมา
น้ำมันเจิมคนไข้ พระสงฆ์จะใช้เจิมทาให้กับบุคคลที่อยู่ในภาวะวิกฤติหรืออันตรายต่อชีวิต เช่น ไม่สบายอย่างหนัก ต้องผ่าตัด ต้องเข้าไปในสถานที่เสี่ยงต่อชีวิต ต้องไปออกรบ ฯลฯ เพื่อขอพระเจ้าประทานพลังกำลังให้สามารถต่อสู้กับโรคภัยไข้เจ็บทั้งทางร่างกายและเป็นต้นทางจิตใจ เพราะผลของการรับพิธีเจิมคนไข้นี้อาจจะทำให้ผู้ป่วยหายจากความเจ็บป่วย และช่วยชำระล้างโทษของบาปที่ผู้รับได้กระทำมาในชีวิต
น้ำมันคริสตังค์สำรอง พระสงฆ์จะเจิมทาน้ำมันนี้ให้กับบรรดาผู้ที่สมัครเข้ามาเป็นคริสตชนหลังจากที่ได้เรียนคำสอนจนมีความรู้และความเชื่อในพระเจ้าอย่างพอเพียงแล้ว รวมทั้งเจิมทาให้กับบันดาลูกๆของคริสตชนที่นำมาเข้าพิธีล้างบาปเพื่อเป็นลูกของพระเจ้าอย่างสมบูรณ์
น้ำมันคริสมา เป็นน้ำมันที่ใช้ในหลายโอกาสด้วยกัน คือ เจิมทาให้กับผู้รับศีลล้างบาปใหม่เป็นศีลกำลังหรือรับรองผู้รับศีลล้างบาปให้เป็นคริสตชนที่สมบูรณ์โดยรับพระพรจากพระจิตอย่างสมบูรณ์ เจิมทาที่มือของผู้ที่เข้ารับศีลบวชเป็นสังฆนุกรและพระสงฆ์ เจิมทาที่ศีรษะของพระสังฆราชในพิธีบวชเป็นพระสังฆราช
น้ำมันคริสตมา โดยปรกติทำมาจากน้ำมันมะกอกอย่างดี (แต่อนุญาตให้ทำจากน้ำมันพืชอื่นๆได้ตามความจำเป็น) ในระหว่าพิธีพระสังฆราชจะผสมน้ำมันหอมหรือเครื่องหอมลงไปในน้ำมันมะกอก น้ำมันหอมนี้หรือที่เรียกว่า Balsam มีคุณสมบัติเป็นเครื่องหอมและเป็นยา ในสมัยโบราณใช้เจิมผู้ที่จะเป็นกษัตริย์และสงฆ์ เป็นเครื่องหมายถึงการประทับอยู่ของคุณความดีและการบำบัดรักษา
การระลึกถึงการทานเลี้ยงอาหารค่ำครั้งสุดท้ายของพระเยซูเจ้า
ในตอนค่ำจะมีพิธีบูชามิสซาของพระคุณเพื่อระลึกถึงอาหารค่ำครั้งสุดท้ายของพระเยซูคริสเจ้า เคยมีธรรมเนียมที่ให้วัดต่างๆในสังฆมณฑลทำพิธีต้อนรับน้ำมันศักดิ์สิทธิ์ที่ได้รับการเสกจากพระสังฆราชในตอนเช้าที่อาสนวิหาร บทเทศน์ของพระสงฆ์จะอ้างอิงถึงเหตุการณ์สามประการนี้คือ การรื้อฟื้นคำมั่นสัญญาของการเป็นพระสงฆ์ การตั้งศีลมหาสนิท และความสุภาพถ่อมตนเพื่อรับใช้โดยการล้างเท้าให้บรรดาอัครสาวก
หลังจากบทเทศน์แล้วมีธรรมเนียมทำพิธีล้างเท้าอัครสาวกโดยการเลือกสัตบุรุษ 12 มาแทนอัครสาวกแล้วพระสงฆ์ทำพิธีล้างเท้าให้ (พิธีนี้ไม่บังคับ) จากนั้นเป็นพิธีรับศีลมหาสนิทซึ่งจะต้องเตรียมแผ่นศีลฯให้เพียงพอสำหรับวันศุกร์ด้วย เพราะวันศุกร์จะไม่มีพิธีบูชามิสซาฯ
เมื่อรับศีลมหาสนิทเสร็จแล้วจะมีพิธีแห่ศีลมหาสนิทอย่างสง่าไปยังตู้ศีลฯที่จัดเตรียมไว้เป็นพิเศษเพื่อให้สัตบุรุษได้ทำการนมัสการศีลมหาสนิทจนกระทั่งถึงเที่ยงคืน และเชิญชวนให้สัตบุรุษมาภาวนาเฝ้าศีลมหาสนิทในวันศุกร์ศักดิ์สิทธิ์
อาทิตย์ใบลาน (Palm Sunday)
อาทิตย์ใบลาน (Palm Sunday)
“อาทิตย์ใบลาน” เป็นวันฉลองของคริสตชนก่อนการฉลองวันปัสกาหนึ่งสัปดาห์ ช่วงเวลาหนึ่งสัปดาห์ระหว่างนี้ เราเรียกว่า “สัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์”
ในวันนี้เรามีพิธี “แห่ใบลาน” ธรรมเนียมแห่ใบลานนี้เราจำลองเอาเหตุการณ์ที่บรรดาประชาชนชาวอิสราเอลถือใบปาล์มออกไปรับเสด็จพระเยซูเจ้าครั้งที่พระองค์เสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มอย่างสง่า (เทียบ ยอห์น 12:13) เพื่อรับทรมานและความตายมาระลึกถึงเพื่อเตรียมจิตใจให้เข้าสู่พระธรรมล้ำลึกแห่งการไถ่บาปของพระองค์บนไม้กางเขน
เราเรียกว่าแห่ใบลานไม่ใช่แห่ใบปาล์มเพราะในเมืองไทยของเราในสมัยก่อนนั้นหาใบลานได้ง่ายกว่า แต่ความจริงแล้วเราจะใช้ใบไม้ของต้นไม้อะไรก็ได้ที่หาง่ายๆในท้องถิ่นมาใช้ก็ได้ เพราะเป็นเพียงสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายเท่านั้น
พิธีในวันนี้จะจัดขึ้นก่อนพิธีบูชามิสซาขอบพระคุณหลักในวันอาทิตย์โดยให้สัตบุรุษชุมนุมกันอยู่นอกวัดในสถานที่ที่ได้จัดเตรียมไว้เป็นพิเศษ พระสงฆ์จะทำพิธีอวยพร (เสก:ทำให้ศักดิ์สิทธิ์) แล้วแจกให้สัตบุรุษทุกคนถือแห่กันเป็นกระบวนเข้ามาในวัด โดยร่วมกันขับร้องสรรเสริญสดุดีพระเยซูคริสตเจ้าในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นกษัตริย์และพระผู้ไถ่ของเรา
การกระทำเช่นนี้เป็นสัญลักษณ์ที่หมายถึงการเสด็จเข้ากรุงเยรูซาเล็มทั้งจิตวิญญาณและร่างกายของพระเยซูเจ้าเองเพื่อรับทรมานด้วยความเต็มพระทัย เพื่อทำให้แผนการไถ่บาปด้วยการรับความตายบนไม้กางเขนสำเร็จไปตามความในพระคัมภีร์
บทภาวนาเพื่อการอวยพร (เสก) ใบลานนั้นเตือนใจเราที่ชุมนุมพร้อมกันอยู่นั้นให้ต้อนรับพระเยซูเจ้าเข้าสู่ชีวิตของเราทุกคน และให้เราเป็นประจักษ์พยานแห่งความเชื่อเรื่องของพระองค์แก่ทุกๆคนต่อไป
คริสตชนมักจะนำเอาใบลานที่ได้รับในวันนี้ไปประดับบ้านเรือนด้วยความเคารพเพื่อเตือนใจให้คิดถึงของพระเยซูเจ้าเป็นต้นในเรื่องพระมหาทรมานของพระองค์ พระศาสนจักรถือว่าใบลานเป็นเครื่องหมายศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับรูปหรือภาพที่ผ่านการอวยพร(เสก)จากพระสงฆ์แล้ว
CR :: สอนดีดี.คอม
การทำบุญ
การทำบุญ
เข้าสู่เทศกาลมหาพรตแล้ว อยากจะทำบุญทำกุศลบ้างจะทำอะไรดี??
การทำบุญตามหลักคาทอลิก คือ กิจการที่เรากระทำกับผู้อื่นเพื่อแสดงออกถึงความรัก ความเห็นอกเห็นใจ หรือการช่วยเหลือผู้ที่กำลังตกอยู่ในความยากลำบากต่างๆ คนที่สิ้นหวัง คนที่กำลังอยู่ในความทุกข์
เราคาทอลิก แยกการทำบุญออกเป็น 2 ประเภท คือ การทำบุญฝ่ายกาย และ การทำบุญฝ่ายจิตใจ
การทำบุญฝ่ายกาย (Corporal Works) ได้แก่
(1) การให้อาหารคนที่หิว
(2) ให้น้ำแก่คนที่กระหาย
(3) ให้เสื้อผ้าแก่คนที่ไม่มีนุ่งไม่มีห่ม
(4) ให้ที่พักแก่คนที่ไร้ที่อยู่
(5) เยื่ยมคนเจ็บไข้ได้ป่วย
(6) เยี่ยมคนติดคุก
(7) ฝังศพผู้ล่วงลับ
การทำบุญฝ่ายจิตใจ (Spiritual Works) ได้แก่
(1) ให้คำแนะนำแก่ผู้ที่สงสัย
(2) สอนคนที่ไม่รู้
(3) ตักเตือน-แก้ไขคนบาป
(4) บรรเทาใจผู้ตกทุกข์ได้ยาก
(5) ให้อภัยแก่ผู้ที่ทำผิด
(6) อดทนและมีความเพียรต่อความผิดของคนอื่น
(7) ภาวนาให้กับผู้อื่นทั้งที่มีชีวิตอยู่และที่ได้ตายไปแล้ว
CR :: สอนดีดี.คอม
ที่มา :: คำสอนดีดี.คอม https://www.kamsondeedee.com/main/doccuments/docs-liturgy/82-lent-pascal