
คุณพ่อคุณแม่หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า IQ และ EQ กันมาบ้าง ซึ่งลำพังแค่ 2 ตัวนี้ก็ทำให้แอบสับสนอยู่ไม่น้อย แต่ตอนนี้มีถึง 5Q แล้วค่ะ โดยแต่ละ Q ก็จะเป็นความฉลาดที่แตกต่างกันคนละด้าน เราไปดูกันดีกว่าว่าจะมีความฉลาดเรื่องใดบ้าง แล้วเราควรพัฒนาให้เจ้าตัวเล็กอย่างไรค่ะ
Intelligence Quotient (IQ)

ไอคิว (IQ) หรือ Intelligence Quotient คือ ความสามารถทางเชาวน์ปัญญา ซึ่งรวมไปถึงการคิด การเชื่อมโยง การใช้เหตุผล การคำนวณ สามารถวัดออกมาเป็นค่าสัดส่วนตัวเลขที่แน่นอนด้วยแบบทดสอบทางสติปัญญา โดยความสามารถทางเชาวน์ปัญญา เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดจากพันธุกรรม ดังนั้น พ่อแม่ที่มีไอคิวสูง ลูกมักมีไอคิวสูงด้วย
ตามธรรมชาติ อายุของสมองของคนปกติจะเป็นไปตามอายุจริง ถ้าเราสามารถจัดสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ และกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองให้กับลูก ลูกก็จะฉลาดขึ้นได้ซึ่งสิ่งที่จะช่วยพัฒนาสมองลูก มีดังนี้
- อาหาร :ให้ลูกได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน
- การออกกำลังกาย : ให้ลูกได้กระโดดโลดเต้นอย่างอิสระ เล่นกีฬาที่ลูกชอบ
- การพักผ่อน : การหลับสนิทอย่างเพียงพอ จะช่วยให้ลูกมีความจำที่ดี
- การอ่านหนังสือ : ฝึกให้ลูกรักการอ่านโดยอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ยังเล็ก
- การเล่น : เปิดโอกาสให้ลูกได้เล่นซนบ้างเพราะการเล่นคือหน้าที่ของเด็ก
- การสนทนา : การเอาใจใส่และพูดคุยกับลูก จะช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาและการคิดของลูก
- การแก้ปัญหา : ควรเปิดโอกาสให้ลูกเรียนรู้การคิดแก้ปัญหาเล็กๆน้อยๆที่เหมาะสมกับวัย แต่ถ้าลูกพยายามแล้ว ยังแก้ไขไม่ได้ก็ไม่ควรให้ลูกเผชิญปัญหาตามลำพัง
- การท่องเที่ยว : พาลูกไปเที่ยวเพื่อให้รู้จักสังเกตและจดจำ
Emotional Quotient (EQ)

อีคิว (EQ) หรือ Emotional Quotient คือ การวัดความฉลาดทางอารมณ์เป็นความสามารถในการรู้จัก เข้าใจและควบคุมอารมณ์ของตนเองได้สอดคล้องกับวัย มีการประพฤติปฏิบัติตนในการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเหมาะสมและมีความสุข ซึ่งความฉลาดทางอารมณ์มีอิทธิพลต่อความสำเร็จของการสร้างสัมพันธภาพ หน้าที่การงาน หรือแม้แต่ชีวิตความเป็นอยู่ ยิ่งกว่าการมีเชาวน์ปัญญา (IQ) สูง
สำหรับสิ่งที่จะช่วยพัฒนา EQ มีดังนี้
- เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก : พ่อแม่ควรสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ให้ลูก โดยเป็นตัวอย่างที่ดีในการควบคุมอารมณ์ เช่น หากอยากให้ลูกรู้จักคำว่าขอโทษ หากตัวเองทำอะไรผิดก็ต้องรู้จักขอโทษเช่นกัน
- ให้เวลากับลูกเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี : หาเวลาใกล้ชิดสร้างความคุ้นเคยกับลูก คอยปกป้องและให้กำลังใจ โดยเฉพาะเวลาที่เริ่มทำอะไรด้วยตนเองเป็นครั้งแรก จะทำให้ลูกรู้สึกอบอุ่นใจ ไม่กังวล มีความมั่นคงทางอารมณ์ และกล้าที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยตนเองในระยะต่อไป
- ใส่ใจกับอารมณ์ ความรู้สึกของลูก และสิ่งที่ลูกทำ : ใช้คำพูดที่แสดงความรู้สึกเห็นใจและเข้าใจปัญหาของลูกอยู่เสมอ รับฟังความรู้สึกซึ่งกันและกันด้วยความเข้าใจ ยอมรับความเป็นตัวตนของลูก ไม่พูดย้ำแต่ความผิดพลาดของลูกที่ผ่านมา เลี้ยงดูลูกด้วยความรักและความเข้าใจในแบบที่ลูกเป็น
- สอนให้ลูกรับรู้อารมณ์ ความรู้สึกของตนเอง : ควรสอนให้ลูกรู้จักและจัดการกับความอารมณ์ ความรู้สึกเหล่านั้น และแสดงออกอย่างเหมาะสม ซึ่งวิธีการเรียนรู้การจัดการกับอารมณ์ที่ดี คือ การให้ลูกเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงให้มีโอกาสสัมผัสกับอารมณ์ด้านลบของตนเอง
- เลี้ยงลูกให้เหมาะสมกับวัย : สนับสนุนให้ลูกทำอะไรด้วยตนเองหรือแสดงความสามารถเฉพาะตัว ควรชมลูกเมื่อลูกทำดี และฝึกวินัยให้ลูกโดยการรับผิดชอบหน้าที่ง่ายๆ ที่ลูกทำได้ในบ้าน
Creativity Quotient (CQ)

ซีคิว (CQ) หรือ Creativity Quotient คือ ความฉลาดในด้านความคิดสร้างสรรค์ จินตนาการ จากความรู้สึก เสียง กลิ่น รส ความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ความยืดหยุ่น (Flexible) แนวคิดใหม่ๆ ในรูปแบบต่างๆ เช่น การ เล่น งานศิลปะ และการประดิษฐ์สิ่งของ
สำหรับสิ่งที่จะช่วยพัฒนา CQ มีดังนี้
- กระตุ้นให้ลูกได้คิดโดยการเปิดโอกาสให้ถาม ค้นหาข้อสงสัย และแสดงความคิดเห็น
- เสริมสร้างจินตนาการตามที่ลูกถนัด เช่น การฟังเพลง วาดรูป การแสดงบนเวทีต่างๆ
- ให้โอกาสลูกได้ทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยตัวเอง พร้อมให้คำชมเชยกับความพยายามของลูก และไม่ควรวิจารณ์ผลงานของลูกด้วยการเปรียบเทียบ หรือตัดสินว่าแค่ว่า สวย หรือไม่สวย เพราะนอกจากจะทำให้ลูกเสียกำลังใจ และึความมั่นใจแล้ว ยังไปปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของลูกด้วย
- พาลูกออกไปเปิดโลกกว้างตามแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ที่ถูกเติมเต็มด้วยความคิดสร้างสรรค์ของเหล่านักคิด และนักสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการความรู้ต่างๆ เป็นต้น
Adversity Quotient (AQ)

เอคิว (AQ) หรือ Adversity Quotient คือ ความสามารถในการฟันฝ่าอุปสรรค เป็นความสามารถในการอดทนทั้งด้าน ความยาก ลำบาก ทางกาย ความอดกลั้น ทางด้านจิตใจ และ จิตวิญญาณ ที่สามารถเผชิญ และเอาชนะเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ เมื่อต้องเผชิญ กับการเปลี่ยนแปลง ที่รวดเร็วและไม่มีความแน่นอน
สำหรับสิ่งที่จะช่วยพัฒนา AQ มีดังนี้
- สอนให้ลูกรู้จักกับความอดทน โดยอาจทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความอดทน เช่น การต่อจิ๊กซอว์ ต่อเลโก้
- ทำให้ลูกรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง โดยค้นหาในสิ่งที่ลูกทำดีแล้วชื่นชมเขา เพราะจะทำให้เกิดความมั่นใจ ภาคภูมิใจในตนเอง รักตัวเองเป็นและมีภูมิคุ้มกัน เกิดพลังที่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไปและสามารถต่อสู้กับอุปสรรคต่างๆ ได้
- สอนให้ลูกมีความเชื่อที่ดีๆ เสมอ เพราะ เชื่อว่าชีวิตนี้จะดีขึ้นในอนาคตแล้วเราจะเกิดกำลังใจ เกิดพลังในการอดทนรอคอยวันดีๆและสิ่งดีๆ จะเกิดความคิดสร้างสรรค์ที่ดีต่อไป
- ฝึกควบคุมอารมณ์ และรู้จักวิธีที่จะควบคุมอารมณ์นั้น และแสดงออกในเชิงที่สร้างสรรค์ ไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น
Moral Quotient (MQ)

เอ็มคิว (MQ) หรือ Moral Quotient คือ การพัฒนาความฉลาดทางคุณธรรม เป็นการสอนแนวทางในการประพฤติตนของเด็กที่จะไม่เบียดเบียนตนเอง และไม่เบียดเบียนผู้อื่น ทักษะในการใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นหรือคนในสังคมจึงเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งของคนเรา ทักษะเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องถูกปลูกฝังตั้งแต่ในวัยต้นๆ ของชีวิต
โดยจะต้องพัฒนาบุคลิกภาพ นิสัยใจคอ ความคิดด้านบวก ความมีระเบียบวินัยในตนเอง และการมีคุณธรรมควบคู่ไปด้วย เพื่อที่พวกเขาจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในสังคมได้ การมีระเบียบวินัยในตนเองและการมีคุณธรรมเป็นสิ่งที่เด็กๆ จะต้องเรียนรู้ควบคู่กันไป แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่เด็กจะเป็นคนที่มีคุณธรรมโดยปราศจากการมีระเบียบวินัยในตนเอง
สำหรับสิ่งที่จะช่วยพัฒนา MQ มีดังนี้
- ใช้คำพูดด้านบวกแทนคำพูดด้านลบ : ความรู้สึกว่าตัวเองด้อยกว่าผู้อื่น (inferiority feeling) ของคนเรามักจะเริ่มต้นขึ้นในสมัยที่เราเป็นเด็กๆ ความรู้สึกด้านลบต่างๆเหล่านี้จะติดตรึงอยู่ในจิตใต้สำนึกของเด็กๆจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ซึ่งจะนำมาซึ่งปัญหาต่างๆมากมายในอนาคต
- เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก : พฤติกรรมส่วนใหญ่ของเด็กๆจะเกิดจากการเลียนแบบ สิ่งที่ผู้ใหญ่บอกเด็กมีความสำคัญน้อยกว่าพฤติกรรมของตัวผู้ใหญ่เองมาก พ่อแม่พึงระลึกอยู่เสมอว่า พฤติกรรมของพ่อแม่ คือ บทเรียนที่ดีที่สุดของลูก
- เคารพและให้เกียรติลูก : ถ้าพ่อแม่แสดงความเคารพและให้เกียรติในตัวลูก รวมทั้งสัตว์ พืช และธรรมชาติรอบตัวลูก มากเท่าใด ความมีจิตสาธารณะของลูกก็จะมีมากขึ้นเท่านั้น
- ใช้นิทานคุณธรรมในการสอนคุณธรรมลูก : นิทานคุณธรรมที่สนุกสนาน มีข้อคิด กินใจ จะช่วยทำให้ลูกได้เรียนรู้การมีคุณธรรมได้ง่ายขึ้น
ข้อมูลอ้างอิง
- taamkru.com/th/ไอคิว/
- brainergythailand.com/iq%2C-eq%2C-aq%2C-cq-คืออะไร.html
- novabizz.com/NovaAce/Learning/Quatient_AQ.htm
- manager.co.th/family/ViewNews.aspx?NewsID=9550000131917
- taamkru.com/th/อีคิว/
- taamkru.com/th/เอ็มคิว/
- www.wisdommaxcenter.com/detail.php?WP=qmWZZJ1CM5O0hJatrTZo7o3Q
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น