“ประเทศยูเครน” กับสถานะ “รัฐกันชน” จุดยุทธศาสตร์ยุโรปตะวันออก
ทำความรู้จัก “ประเทศยูเครน” กับสถานะ “รัฐกันชน” เเละจุดยุทธศาสตร์ยุโรปตะวันออก หลังรัสเซียเปิดฉากรบสร้างความกังวลให้กับคนทั่วโลก
สิ่งที่โลกวิตกกังวัลได้เริ่มต้นขึ้น หลังจากตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ทหารรัสเซียไปประจำการบริเวณชายแดน แม้ว่าผู้นำรัสเซียจะยืนยันว่าไม่ได้บุกยูเครน แต่นานาชาติก็วิตกกังวลและมีการคาดการณ์ที่มีความเป็นไปได้สูงว่า “วิกฤตยูเครน” ระหว่าง ประเทศรัสเซีย-ประเทศยูเครน จะเกิดสงครามครั้งใหญ่โดยมียูเครนเป็นสมรภูมิ
ล่าสุด รัสเซียประกาศเปิดปฏิบัติการทางการทหารในภูมิภาคดอนบาส ทางตะวันออกของประเทศยูเครน ในช่วงเช้าของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โดย “วลาดิมีร์ ปูติน” ประธานาธิบดีรัสเซีย ประกาศสั่งให้มีการปฏิบัติการทางทหารอย่างเป็นทางการในพื้นที่ทางตะวันออกของยูเครน โดยประกาศ ว่าการปะทะระหว่างกองกำลังรัสเซียและยูเครนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ขณะที่ กระทรวงกลาโหมรัสเซีย เปิดเผยในวันเดียวกันว่า กองทัพรัสเซียยับยั้งยุทโธปกรณ์ที่ฐานทัพอากาศหลายแห่งของยูเครนได้แล้ว และเวลานี้กำลังป้องกันทางอากาศของยูเครนได้ถูกหยุดยั้ง อ้างอิงจาก เดลี่เมล รายงานว่า กองกำลังรัสเซียระดมยิงขีปนาวุธ โจมตีเป้าหมายในกรุงเคียฟ เมืองหลวง และหลายเมืองทั่วประเทศยูเครน
สงครามนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันหลังจากรัสเซียประกาศยอมรับเอกราชของเขตโดเนสตก์และลูฮันสก์ในแคว้นดอนบัส ทางตะวันออกของยูเครน เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
รู้จัก“ประเทศยูเครน”
"ยูเครน"ถือเป็นประเทศที่คั้นกลางระหว่างรัสเซีย และยุโรปตะวันออก มีรูปแบบการปกครอง ประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐ
- ทิศเหนือจรดพรมแดนรัสเซียและเบลารุส
- ทิศตะวันออกมีอาณาเขตติดกับรัสเซีย
- ทิศตะวันตกจรดพรมแดนโปแลนด์ สโลวาเกีย และฮังการี
- ทิศใต้ติดทะเลดำและทะเล Azov
- ทิศตะวันตกเฉียงใต้จรดพรมแดนโรมาเนีย และมอลโดวา
อาจกล่าวได้ว่า “ประเทศยูเครน” เปรียบเสมือน “รัฐกันชน” จากคำกล่าวของ ประธานาธิบดี “โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี” ผู้นำยูเครน ต่อที่ประชุมความมั่นคงมิวนิก (เอ็มเอสซี) เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2565 ว่า ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ยูเครนอยู่ในสถานะ “รัฐกันชน” กับหนึ่งในประเทศซึ่งมีกองทัพขนาดใหญ่ที่สุดเป็นลำดับต้นของโลก สถานการณ์ในเวลานี้สะท้อนว่า ยูเครนไม่ได้ป้องกันเพียงแผ่นดินของตัวเอง แต่ยูเครนกำลังเป็น “ผู้ปกป้องความมั่นคงให้ทั้งยุโรป”
ประเทศยูเครนมีพื้นที่ 603,700 ตารางกิโลเมตร (ใหญ่เป็นอันดับสองในยุโรป รองจากรัสเซีย และเป็น 1.17 เท่าของไทย) ร้อยละ 58 เป็นพื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ส่วนใหญ่ประกอบด้วยที่ราบลุ่มอันอุดมสมบูรณ์ มีเทือกเขา Carpathian ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ มีแม่น้ำสำคัญๆ ของทวีปยุโรปไหลผ่าน
- แม่น้ำดนีเปอร์
- แม่น้ำดนีสเตอร์
- แม่น้ำดานูบ ซึ่งไหลลงสู่ทะเลดำ
มีเมืองหลวง กรุงเคียฟ (Kyiv) เป็นเมืองหลวงเก่าของอาณาจักรคีฟรุสโบราณ (Kievan Rus) และเป็นเมืองใหญ่อันดับ 3 ในสมัยจักรวรรดิรัสเซีย และสหภาพโซเวียต รองจากมอสโก และเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1
นักประวัติศาสตร์เชื่อว่าชาว Nomad โดยเฉพาะชาว Scythian เป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งรกรากในยูเครน หลังจากนั้นชาวเผ่าสลาฟได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณตอนกลางและตะวันออกของยูเครน โดยชนชาติสำคัญที่มีบทบาทในการรวบรวมดินแดนบริเวณนี้คือชาวรุส (Rus) จากสแกนดิเนเวีย
ต่อมาชาวรุสสถาปนาอาณาจักร Kievan Rus ขึ้นในศตวรรษที่ 6 และปกครองชาวสลาฟและขยายดินแดนออกไปรวบรวมเผ่าสลาฟและชนชาติต่างๆ จนเป็นอาณาจักรที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปในศตวรรษที่ 11 แต่ในศตวรรษที่ 12 อาณาจักรนี้ได้เสื่อมสลายลง เพราะสงครามระหว่างเจ้าผู้ครองนครต่างๆ และการรุกรานจากชาวมองโกลในศตวรรษต่อมา จากนั้นดินแดนบางส่วนของยูเครนได้ผนวกกับอาณาจักรต่างๆ อาทิ ลิทัวเนีย โปแลนด์ ออสโตร-ฮังกาเรียน และรัสเซีย
หลังสงครามโลกครั้งที่ 1
ยูเครนประกาศเอกราชจากจักรวรรดิรัสเซียและราชวงศ์ฮับสบวร์กเป็นครั้งแรกในปีค.ศ.1918 กระแสการปฏิวัติในรัสเซียได้ลุกลามมายังยูเครน เกิดสงครามกลาง จากนั้นดินแดนส่วนตะวันตกของยูเครนได้ผนวกรวมกับโปแลนด์ ขณะที่ดินแดนตอนกลางและตะวันออกถูกผนวกกับรัสเซียในฐานะ Ukrainian Soviet Socialist Republic ในปีค.ศ.1922 ภายใต้ระบอบสหภาพโซเวียต ยูเครนถูกบังคับให้เลิกใช้ภาษาของตน
ช่วงปี ค.ศ. 1932-1933 ประธานาธิบดีสตาลิน แห่งสหภาพโซเวียต ยังได้ใช้มาตรการ Holodomor (Famine) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายระบบนารวมของสหภาพโซเวียตกับชาวยูเครน ส่งผลให้เกิดภาวะข้าวยากหมากแพง ขาดแคลนอาหารทั่วประเทศ
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ยูเครนสนับสนุนกองทัพของนาซีเยอรมัน เพื่อเป็นอิสระจากสหภาพโซเวียต แต่ต่อมาได้หันไปต่อต้าน เพราะกองทัพเยอรมันปกครองอย่างกดขี่และทารุณ ในช่วงนั้น ชาวยิวในยูเครนกว่า 1 ล้านคนถูกสังหารหมู่และกรุงเคียฟ ถูกเผาทำลาย เเต่หลังจากที่กองทัพนาซีบุกโปแลนด์ในปีค.ศ.1939 ดินแดนส่วนตะวันตกของยูเครนที่เดิมอยู่ภายใต้โปแลนด์ได้ถูกผนวกรวมกับสหภาพโซเวียต
หลังสงครามโลกครั้งที่ 2
กระแสชาตินิยมในยูเครนขยายตัว ด้วยความไร้ประสิทธิภาพของระบบสหภาพโซเวียต ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วสหภาพโซเวียตและการพยายามปิดบังข้อมูลของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหภาพโซเวียตต่อกรณีการระเบิดของโรงงานปฏิกรณ์ปรมาณู Chernobyl ที่ตั้งอยู่ในยูเครนในปีค.ศ.1986
และเมื่อประธานาธิบดีกอร์บาชอฟดำเนินนโยบายเปิดกว้างทางการเมือง ได้ส่งผลให้รัฐบาลของสหภาพโซเวียตจำเป็นต้องให้อำนาจแก่สาธารณรัฐและดินแดนปกครองตนเองต่างๆ มากขึ้น
กระแสการเรียกร้องสิทธิที่จะปกครองตนเองในยูเครนดำเนินไปอย่างเข้มแข็ง ในที่สุดยูเครนได้ประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ. 1991 ต่อมา 1 ธันวาคม ค.ศ.1991 ชาวยูเครนได้ลงประชามติให้ยูเครนประกาศเอกราชจากสหภาพโซเวียต
องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต เป็นอีกตัวละครสำคัญ เป็นกลุ่มพันธมิตรทางการทหารของประเทศประชาธิปไตย ฝั่งซีกโลกเหนือ ก่อตั้งขึ้่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อต่อสู้ภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ ขณะนั้นคือสหภาพโซเวียต ยึดถือหลักการว่าการโจมตีประเทศใดประเทศหนึ่ง ถือเป็นการโจมตีประเทศสมาชิกทั้งหมด
โดยตามกฎบัตรของนาโต ประเทศใดประเทศหนึ่งที่เป็นสมาชิกนาโต ถูกรุกราน สมาชิกนาโตทั้งหมดจะเข้าช่วย แต่เบลารุส และยูเครน ไม่ใช่สมาชิกของนาโต ซึ่งผู้นำยูเครน “เซเลนสกี” ก็เรียกร้อง ให้นาโตเสนอกรอบเวลาที่ชัดเจนว่ารัฐบาลเคียฟจะเข้าเป็นสมาชิกนาโตได้เมื่อใด
จุดเริ่มต้นความขัดแย้ง “วิกฤตยูเครน” ทำไมถึงขัดแย้งหนักจนอาจจุดชนวน “สงคราม ”
ที่มา : กระทรวงการต่างประเทศ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น