การเล่นกับการพัฒนาสมองลูกน้อย
สมองของคนเรามีอยู่ 2 ซีก ซีกขวา และซีกซ้าย ซีกขวาจะควบคุมการทำงานของร่างกายซีกซ้าย และสมองซีกซ้ายจะควบคุมการทำงานของร่ายการซีกขวา สมองทั้ง 2 ซีก จะมีใยประสาทจำนวนมากเชื่อมอยู่เพื่อให้สมองทั้ง 2 ส่วนรับรู้การทำงานซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ทั้งนั้น สมองแต่ละซีกจะมีการทำงานที่แตกต่างกันอย่างเด่นชัด โดยที่สมองทางซีกซ้าย เป็นส่วนที่ควบคุมการคิด และมีการทำงานที่ออกมาเป็นนามธรรม เช่น การนับจำนวนเลข, การบอกเวลา, การสรรหาถ้อยคำ, การหาเหตุผล เป็นต้น
ส่วนสมองซีกขวาจะทำหน้าที่จินตนาการ, ฝัน, สร้างสรรค์ความคิดใหม่, การซึมซาบในดนตรีและศิลปะ เป็นต้น ดังนั้นการที่คนเราสามารถคิดสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้นั้น เกิดจากการทำงานของสมองซีกขวานี้เอง เมื่อสมองซีกขวาทำงาน สมองซีกซ้ายจะรับหน้าที่แสดงผลการทำงานออกมาให้คนอื่นเห็น สิ่งที่สมองทั้งสองส่วนเหมือนกัน คือ การรับรู้ความเป็นไปของโลกภายนอกผ่านอวัยวะรับรู้ทางประสาทชุดเดียวกัน แต่สมองทั้งสองส่วนทำงานแตกต่างกันมาก คือในขณะที่สมองซีกซ้ายกำลังทำหน้าที่พูดคุย ใช้เหตุผลต่างๆ สมองซีกขวากำลังทำหน้าที่คิดจินตนาการต่างๆ โดยไม่มีการคำนึงถึงกาลเวลา อย่างไรก็ตาม สมองทั้ง 2 ซีก ควรได้รับการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน ปัจจุบันสามารถกล่าวได้ว่าการศึกษาส่วนใหญ่ที่จัดให้กับเด็กในทุกวันนี้ มักจะมุ่งไปในการพัฒนาสมองซีกซ้ายเป็นส่วนใหญ่ โดยการศึกษาในปัจจุบันเด็กต้องท่องจำ คิดเลข เรียนรู้ทางภาษา ระเบียบ กฎเกณฑ์ การวิเคราะห์ข้อมูล อันเป็นหน้าที่ของสมองซีกซ้ายทั้งนั้น ขณะที่สมองทางซีกขวาไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร
การศึกษาส่วนใหญ่ยังเน้นการที่ครูเป็นศูนย์กลาง คำตอบที่ถูกต้องต้องมาจากครู หรือจากหนังสือเรียนเท่านั้น โดยไม่เปิดโอกาสให้เด็กนักเรียนได้มีโอกาสคิดหาคำตอบที่แตกต่างไปจากคำตอบเหล่านี้ การเรียนแบบนี้เองเป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ของเด็ก ทำให้เด็กเกิดความกลัวในการคิดหาคำตอบใหม่ๆ ทั้งๆ ที่คำตอบนั้นอาจเป็นคำตอบที่ถูกต้องก็ได้ ในสภาพการเรียนรู้การสอนแบบนี้ สมองซีกขวาของเด็กอาจจะถูกทำลายไปอย่างสิ้นเชิง
เด็กในช่วงอายุ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 6 ปี เป็นวัยแห่งการคิดฝันจินตนาการ ดังนั้นสมองส่วนที่มีความสำคัญในวัยนี้ จะเป็นสมองซีกขวาเป็นส่วนใหญ่ เด็กในวัยนี้ควรจะได้รับการกระตุ้นให้สมองซีกขวาได้พัฒนาอย่างเต็มที่ โดยการส่งเสริมให้เด็กได้ใช้ความคิดจินตนาการของเด็กเอง โดยการพัฒนาสมองทั้ง 2 ซีกไปพร้อมกันและเท่าเทียมกัน โดยให้มีการเปลี่ยนแปลงในระบบการศึกษาจากระบบที่เป็นอยู่ เป็นระบบที่ให้เด็กมีอิสระในการคิดการหาคำตอบมาขึ้น การพัฒนาสมองซีกขวาอาจทำได้โดยการสอนให้เด็กได้มีกิจกรรมที่เกี่ยวกับการคิดการจินตนาการ เช่น การเล่านิทาน การแสดงละคร การเล่นเกมส์ เล่นกีฬา ดนตรี และศิลปะ เป็นต้น
ผลจากการวิจัยจำนวนมากได้แสดงให้เห็นว่า เมื่อเด็กในวัยนี้ถูกกีดกันจากนวนิยาย นิทานแล้วเด็กจะกลายเป็นคนที่มีจิตใจไม่มั่นคง อ่อนไหวง่าย เพราะการฟังนิทานนั้นเด็กสามารถใช้จินตนาการอย่างเต็มที่ และนิทานจะทำหน้าที่คล้ายๆ กับความฝันของเด็กๆที่จะช่วยระบายความเก็บกดต่างๆ ในใจ ที่เด็กไม่สามารถได้รับการตอบสนองในชีวิตจริง ดังนั้น ความรู้ทางวิชาการทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นทาง วิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ คณิตศาสตร์ หรือศีลธรรม สามารถสอนเด็กได้โดยอาศัยสื่อการสอนที่ชวนคิด ชวนฝัน พวกเด็กๆ จะสามารถเข้าใจความรู้ต่างๆ ได้ดีขึ้น ถ้าสามารถจินตนาการออกมาเป็นเรื่องราวได้ นอกจากการสร้างพัฒนาการทางสมองโดยใช้การเล่านิทานแล้ว การเล่นต่างๆ ที่สมวัยก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะสามารถส่งเสริมการพัฒนาทางสมองซีกซ้ายของเด็กในวัยแรกเกิดจนถึง 6 ปีได้
การเล่นกับเด็ก ต้องจำไว้เสมอว่าเด็กแต่ละคนนั้นมีความเป็นตัวของตัวเอง มีความชอบหรือไม่ชอบในสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนกัน ดังนั้น การที่จะบอกว่า การเล่นแบบใด หรือของเล่นชนิดใดเหมาะกับเด็กในวัยนี้ มักจะเป็นไปไม่ได้ คุณพ่อคุณแม่ เป็นผู้ที่จะมีความสำคัญมากในการสรรหาของเล่นที่เหมาะกับลูกของตนและที่ลูกของตนชอบ โดยการสังเกตดูว่า เด็กชอบเล่นอะไร มีความถนัดในด้านใด จากการแสดงออกของเด็กเอง
พ่อแม่ต้องมีจินตนาการในการคิดหาวิธีในการเล่นกับลูก โดยกิจกรรมหรือของเล่นนั้นเน้นที่ความสนุกสนานและต้องเหมาะสมกับวัยของเด็ก ไม่ยากเกินไป หรือง่ายเกินไป การที่เล่นของเล่นที่ยากเกินความสามารถของเด็กจะทำให้เด็กเกิดความเบื่อหน่ายง่าย และมีผลต่อเด็กเหมือนกับว่าเด็กไม่สามารถทำงานให้สำเร็จได้
เมื่อโตขึ้นก็จะไม่มั่นใจในตนเองในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ส่วนถ้ากิจกรรมหรือของเล่นที่ง่ายเกินไป ก็จะไม่พัฒนาความสามารถทางการคิดจินตนาการของเด็กเลย คำถามที่ว่าต้องเล่นกับเด็กนานเท่าใดในแต่ละกิจกรรมนั้นเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ยากแก่การหาคำตอบที่ตายตัว เพราะต้องอาศัยดูจากตัวเด็กเอง ถ้ากิจกรรมสนุกสนานและเด็กชอบที่จะเล่นแล้ว เด็กจะเล่นได้นานโดยไม่เบื่อ แต่ถ้ากิจกรรมที่เล่นหรือของเล่นนั้นยากเกินไป เด็กก็จะเล่นได้ในระยะเวลาสั้นๆและเลิกสนใจในกิจกรรมนั้นไป ดังนั้นผู้ที่เป็นพ่อแม่ต้องสังเกตลูกของตนให้ดี ถ้าเด็กเบื่อในกิจกรรมที่กระทำอยู่ ก็จำเป็นที่จะต้องหากิจกรรมหรือของเล่นใหม่
สรุปได้ว่า พ่อแม่มีหน้าที่ที่จะส่งเสริมให้ลูกของตนได้รับการพัฒนาสมองทั้งซีกซ้ายและซีกขวาไปอย่างเท่าเทียมกัน โดยการเล่นของเล่นหรือหากิจกรรมต่างๆ มาเล่นกับลูกของตน เน้นที่ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน อย่าทำให้ลูกมีความรู้สึกเหมือนถูกบังคับ รวมทั้งพ่อแม่จำเป็นต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกของตน โดยทำตัวให้เหมือนกับที่ตนได้สั่งสอนลูก เด็กจะสามารถพัฒนาความสามารถทางสมองของเขาเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ และจะกลายเป็นเด็กที่มีความมั่นคงทางจิตใจ มีความมั่นคงในตนเอง มีเหตุมีผลในเรื่องต่างๆ และที่สำคัญเด็กจะเป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ
พัฒนาการของเด็กในแต่ละวัย อาจจะสรุปได้คร่าวๆ ดังนี้
วัยทารก 0 - 2 ปี
- 5 เดือน จะสามารถนั่งได้ตรง ถ้าจับนั่งในท่านั่ง
- 6 เดือน จับ / กำลูกสี่เหลี่ยมได้
- 1 ปี ยืนและเดินได้ประมาณ 2 - 3 ก้าว เริ่มจะพูดได้
- 1 - 2 ปี เริ่มพูดเป็นคำสั้นๆ รู้จักชื่อตัวเอง
วัยเยาว์ 2 - 3 ปี : วัยแห่งการเรียนรู้
- เดินถอยหลังได้
- เตะลูกบอลได้
- เริ่มที่จะป่ายปีนเฟอร์นิเจอร์ และถีบจักรยาน 3 ล้อได้
- ใช้กรรไกรได้
- ย่างเข้า 3 ปี จะเริ่มใช้ดินสอ และวาดภาพได้
- ใช้ช้อนและส้อมได้
3 - 4 ปี : วัยแห่งความปราดเปรียว
- ใช้กรรไกรตัดได้ในแนวตรง
- สามารถจับ / ขว้าง / เตะลูกบอล
- เริ่มที่จะวาดกากบาท และเขียนตัวอักษรบางตัว
- เริ่มที่จะวาดรูปคน มีหัว ตัว แขนและขา
4 - 6 ปี : เตรียมพร้อมสู่การเข้าโรงเรียน
- มีความสุขุมมากขึ้น
- สามารถจะช่วยทำงานบ้านได้
- เริ่มรู้จักสี และเขียนตัวอักษรได้
- แต่งตัวด้วยตนเองได้อย่างเรียบร้อย
- เริ่มรู้จักการเข้าสังคม
ที่มา :: http://www.babyplayshop.com/