ลิซ ทรัสส์: นายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่ของอังกฤษ
จากนักศึกษาล้มเจ้า สู่ผู้นำฝ่ายขวา
การเฟ้นหาหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมล่วงเลยมา จนเหลือแคนดิเดตเพียง 2 คน คือ ‘ริชี ซูนัค’ กับ ‘ลิซ ทรัสส์’ สื่ออังกฤษหลายสำนักต่างก็ปักใจเชื่อว่า ‘ทรัสส์’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศภายใต้ บอริส จอห์นสัน จะได้นั่งเป็นนายกฯ สหราชอาณาจักรคนต่อไป
และก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ – พรรคอนุรักษนิยมประกาศเมื่อเวลา 12.30 น. ของวันนี้ (5 ก.ย.) ตามเวลาท้องถิ่น ว่าผู้ชนะในการแข่งขันเพื่อขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมคนใหม่ ก็คือ ‘ลิซ ทรัสส์’ ปูทางสู่การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหญิงคนใหม่แห่งสหราชอาณาจักร
โดยที่พรรคอนุรักษนิยมประกาศคะแนนของทรัสส์ คือ 81,326 คะแนน หรือ 57.4% เทียบกับคู่แข่งอย่าง ริชี ซูนัค ที่ได้ 60,399 คะแนน หรือ 42.6%
The MATTER ชวนย้อนดูประวัติของ ลิซ ทรัสส์ ว่าที่นายกฯ สหราชอาณาจักรคนใหม่ ผู้ได้รับขนานนามจากสื่อว่าเป็น ‘shapeshifter’ หรือผู้ที่กลายร่างได้เรื่อยๆ จากการ ‘เปลี่ยนใจ’ หลายๆ ครั้งบนเส้นทางการเมือง สะท้อนความไม่แน่นอนที่ต้องจับตาต่อไปในรัฐบาลชุดใหม่แห่งสหราชอาณาจักร
https://youtu.be/DAWQphbw1Jo
https://youtu.be/49xpE72QysA
จากนักศึกษาล้มเจ้า สู่หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยม
‘ลิซ ทรัสส์’ หรือชื่อเต็ม ‘แมรี เอลิซาเบธ ทรัสส์’ เกิดเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 1975 ในครอบครัวที่เธอพูดเองว่า เป็น ‘ฝ่ายซ้าย’ โดยมีพ่อเป็นศาสตราจารย์ด้านคณิตศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยลีดส์ แม่เป็นพยาบาล และนักเคลื่อนไหวใหกับแคมเปญยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์
นั่นจึงอาจจะไม่แปลกประหลาดนัก หากบนเส้นทางการเมือง เธอจะเกิดอาการ ‘เปลี่ยนใจ’ หลายครั้ง เริ่มต้นจากปี 1994 ที่เธอในวัย 19 ปี เคยออกมาเรียกร้องให้ล้มล้างสถาบันกษัตริย์ เมื่อครั้งเป็นผู้นำฝ่ายนักศึกษาของพรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democrats) ที่มหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด
“มีเพียงครอบครัวเดียวเท่านั้นที่มีสิทธิดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐได้ เราชาวเสรีประชาธิปไตยเชื่อในโอกาสที่เป็นของทุกคน เราไม่เชื่อในการที่จะมีใครเกิดมาเพื่อปกครอง” ทรัสส์กล่าวในการประชุมของพรรคครั้งนั้น
ต่อมาภายหลัง เธอเปิดใจถึงจุดยืนดังกล่าวว่า เธอแทบจะเปลี่ยนใจในทันทีหลังจากกล่าวสุนทรพจน์นั้นออกไป
ทรัสส์จบการศึกษาในสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ จากอ็อกซ์ฟอร์ด ชีวิตการเมืองของเธอเกือบจะได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2001 จากการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.พรรคอนุรักษนิยม เขตเฮมส์เวิร์ต ในเมืองเวสต์ยอร์กเชียร์ แต่ก็พ่ายแพ้ ก่อนจะลงสมัครอีกครั้งในปี 2005 และพ่ายแพ้อีกครั้ง
https://youtu.be/qEmovaRnZx4
จนมาถึงปี 2010 เธอจึงได้เข้าสภาฯ ในฐานะ ส.ส.พรรคอนุรักษนิยม เขตเซาธ์เวสต์นอร์ฟอล์ก ก่อนจะเริ่มก้าวกระโดดขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยด้านการศึกษาและดูแลเด็กเมื่อปี 2012 และได้ขึ้นเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม อาหารและชนบท เมื่อปี 2014
การ ‘เปลี่ยนใจ’ ทางการเมืองของทรัสส์ เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อปี 2016 ในขณะที่สหราชอาณาจักรกำลังลงประชามติเพื่อออกจากสหภาพยุโรป (EU) ที่รู้จักกันในชื่อ ‘Brexit’
ครั้งนั้น ทรัสส์เป็นฝ่ายสนับสนุนให้สหราชอาณาจักร ‘อยู่ต่อ’ ใน EU เธอเคยบอกว่า การอยู่ต่อถือเป็น ‘ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ’ ของอังกฤษ และเป็นวิธีที่จะทำให้อังกฤษมุ่งหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจและสังคมภายในบ้านตัวเองได้ – แต่เมื่อผลการลงประชามติออกมาเป็นอีกอย่าง ทรัสส์ก็ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่า เธอผิดพลาดไป
ต่อมา ภายใต้รัฐบาลของ เทเรซา เมย์ เธอดำรงตำแหน่งอยู่ 2 ตำแหน่ง คือ ประธานฝ่ายตุลาการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เมื่อปี 2016-2017 และตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในปี 2017-2019
จนกระทั่ง บอริส จอห์นสัน ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำรัฐบาล ทรัสส์ก็ถูกแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ในช่วงปี 2019-2021 จนสุดท้ายเมื่อปี 2021 ได้ไต่เต้าขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในที่สุด เป็นผู้หญิงคนที่ 2 ที่ดำรงตำแหน่งนี้ ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในตำแหน่งที่อาวุโสที่สุดในรัฐบาล
นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3
การได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมคนใหม่ในครั้งนี้ จะปูทางให้ทรัสส์ก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรคนต่อไป เธอจะเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 3 ในประวัติศาสตร์ ต่อจากมาร์กาเรต แทตเชอร์ ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงปี 1979-1990 และ เทเรซา เมย์ ที่ดำรงตำแหน่งในช่วงปี 2016-2019
แต่การเปลี่ยนใจในหลายๆ ครั้งที่ผ่านมาบนเส้นทางการเมืองของเธอ ก็ยิ่งทำให้คาดเดาได้ยากว่า รัฐบาลภายใต้การนำของทรัสส์จะดำเนินนโยบายอย่างไร เรื่องนี้ยิ่งตอกย้ำว่า ไม่แปลกเลย ถ้าสื่อหลายสำนัก เช่น The Washington Post และ CNN จะขนานนามเธอว่าเป็น ’shapeshifter’ หรือเป็นผู้ที่กลายร่างได้เรื่อยๆ
แต่สิ่งที่แน่นอนสำหรับเก้าอี้นายกฯ คนใหม่ ก็คือ ‘วิกฤตเศรษฐกิจ’ เป็นปัญหาอย่างแรกๆ ที่ต้องรับมือ CNN รายงานว่า ค่าไฟและแก๊สหุงต้มรายปีโดยเฉลี่ยจะเพิ่มสูงถึง 80% นับตั้งแต่เดือน ต.ค. นี้เป็นต้นไป ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษคาดการณ์ว่า เงินเฟ้อจะพุ่งสูงถึง 13% ในช่วงปลายปีนี้
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 ก.ย. ที่ผ่านมา ทรัสส์ไม่ได้เปิดเผยว่าจะรับมือกับปัญหานี้อย่างไร แต่ได้ให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่า “สิ่งที่ดิฉันอยากจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนก็คือ ดิฉันจะลงมือทำตั้งแต่สัปดาห์แรกที่ได้รับเลือกเป็นนายกฯ” ก่อนจะมีกระแสข่าวว่า ตัวเลือกหนึ่งคือ เธออาจจะประกาศพักการชำระค่าไฟและแก๊สหุงต้ม
กับอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจะพอคาดเดาได้คือ รัฐบาลสหราชอาณาจักรภายใต้การนำของ ลิซ ทรัสส์ น่าจะสนับสนุนยูเครนให้ทำสงครามกับรัสเซีย ไม่แพ้ บอริส จอห์นสัน เธอเคยย้ำว่าเธอจะเป็น ‘เพื่อนที่ดีที่สุด’ ของยูเครน ถ้าชนะเก้าอี้นายกฯ และจะรีบโทรหา โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดียูเครน ทันทีที่เข้ารับตำแหน่ง
ลำดับต่อไป ทรัสส์จะต้องเดินทางไปที่ปราสาทแบลมอรัล ในสกอตแลนด์ เพื่อเข้ารับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในวันอังคารที่ 6 ก.ย. ที่จะถึงนี้ ก่อนจะขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ที่หน้าทำเนียบนายกฯ คือ บ้านเลขที่ 10 ถนนดาวนิง เพื่อเริ่มเดินหน้าการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่
จึงจะนับว่าปิดฉากรัฐบาลของ บอริส จอห์นสัน โดยสมบูรณ์ – อย่างน้อยก็ในตอนนี้
"ลิซ ทรัสส์" นายกฯหญิงคนที่ 3 ของอังกฤษ
ลิซ ทรัสส์ รมว.ต่างประเทศ ได้คะแนนนำคู่แข่ง อดีต รมว.คลัง 57.4% ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงอังกฤษ ต่อจากนายบอริส จอห์นสัน ในวันอังคาร (6 ก.ย.) นี้ ประกาศชัด พร้อมลุยงานในทันที
หลังจากที่ นายบอริส จอห์นสัน ประกาศลาออกจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรี นางลิซ ทรัสส์ หรือ ‘แมรี่ เอลิซาเบท ทรัสส์’ ก็กลายเป็นหนึ่งในตัวเต็ง ว่าที่หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมคนใหม่ ซึ่งจะขึ้นเป็น นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ โดยอัตโนมัติ เนื่องจากทางพรรคครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร โดยชื่อของเธอเบียดมากับ นายริชี ซูแนค อดีตรัฐมนตรีคลัง คู่แข่งเพียงคนเดียวในขณะนี้ แต่พอเข้าช่วงโค้งสุดท้ายของการแข่งขัน ทรัสส์ ก็เริ่มแซงหน้า และจะรู้ผลกันในวันที่ 5 กันยายนนี้ ว่าเธอจะเป็นผู้ชนะหรือไม่
ว่ากันถ้า นางลิซ ทรัสส์ ซึ่งปัจจุบันครองตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศ ได้รับชัยชนะได้รับเลือกเป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมคนใหม่ขึ้นมาจริงๆ เธอก็จะกลายเป็น ‘นายกรัฐมนตรีหญิง’ ของอังกฤษคนที่สาม ถัดจากนางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ และนางเทเรซา เมย์
สื่อดังเมืองอังกฤษเผยรายงานวงใน ระบุว่า ก่อนที่จะมีการประกาศว่าใครจะได้ดำรงตำแหน่งแทนที่นายบอริส จอห์นสัน อดีตหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมและอดีตนายกรัฐมนตรีของอังกฤษในวันนี้ (5 ก.ย. ซึ่งตรงกับเวลาประมาณ 18.30 น. ตามเวลาไทย) นางลิซ ทรัสส์ เต็งหนึ่งที่สื่ออังกฤษคาดว่าจะได้ครองตำแหน่งดังกล่าว ได้กล่าวย้ำถึงคำมั่นสัญญาผ่านทาง หนังสือพิมพ์ซันเดย์ เทเลกราฟ สื่อท้องถิ่นว่า เธอมีภารกิจเร่งด่วน ที่จะต้องจัดการหากชนะการเลือกตั้ง นั่นคือ ปัญหาเศรษฐกิจของอังกฤษ ซึ่งกำลังเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงถึง 10% และภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ลิซ ทรัสส์ รมว.ต่างประเทศอังกฤษ ให้คำมั่นว่า พร้อมจะดำเนินการแก้ไขปัญหาราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นในทันที หากได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมแทนนายบอริส จอห์นสัน และเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษที่จะทราบผลในเย็นวันจันทร์นี้ (5 ก.ย. 65)
ล่าสุด สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า นางลิซ ทรัสส์ ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของสหราชอาณาจักรในวันนี้ (5 ก.ย.) โดยเธอได้รับคะแนนเสียง 81,326 คะแนน หรือคิดเป็น 57.4% ของผู้ลงคะแนน เฉือนคู่แข่งคือ “ริชี สุนัค” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลจอห์นสันที่ได้คะแนนเสียง 60,399 คะแนน หรือคิดเป็น 42.6% ของผู้ลงคะแนน
ย้อนไปในช่วงกลางเดือนกรฎาคม ที่ผ่านมา พรรคอนุรักษนิยมของอังกฤษได้ลงคะแนนเลือกผู้สมัคร 2 คนสุดท้ายที่จะเข้าสู่การแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค
2 คนที่ว่านั้นก็คือ นายริชี ซูแนค อดีตรัฐมนตรีคลังอังกฤษ ซึ่งขณะนั้นยังเป็นตัวเต็งเบอร์ 1 ได้คะแนนเสียงสูงสุด 137 คะแนน จากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมจำนวน 358 คนที่เป็นผู้ลงคะแนน ขณะที่นางลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีต่างประเทศคนปัจจุบันตามมาด้วยคะแนน 113 คะแนน
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า นางทรัสส์ ว่าที่นายกฯ คนใหม่ ที่รอการประกาศอย่างเป็นทางการวันนี้ ระบุว่า เธอเข้าใจดีว่าวิกฤตค่าครองชีพส่งผลกระทบต่อทุกคนอย่างไร พร้อมยืนยันจะดำเนินการอย่างเด็ดขาดเพื่อรับประกันว่า ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจจะสามารถผ่านพ้นฤดูหนาวในปีนี้และปีหน้าไปได้
ทั้งนี้ นางทรัสส์ ผงาดในฐานะผู้ชนะหลังการลงคะแนนเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยม (หรือพรรคคอนเซอร์เวทีฟ) ได้ปิดฉากลง ทำให้เธอออกมาเปิดใจเรื่องการแก้ปัญหาเศรษฐกิจรวมทั้งปัญหาราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูง เป็นภารกิจเร่งด่วนหลังได้รับตำแหน่ง
ทั้งเธอและนายริชิ ซูแนค อดีตรัฐมนตรีคลังอังกฤษ เป็น 2 ผู้สมัครที่ฟันฝ่ากันมาจนถึงการแข่งขันในรอบสุดท้ายของแคมเปญการเลือกตั้ง (ที่มีผู้แข่งขันทั้งหมด 11 คน) เพื่อควานหาหัวหน้าพรรคคนใหม่แทนนายบอริส จอห์นสันที่ลาออกไป การตัดสินรอบสุดท้ายจะมาจากการลงคะแนนของสมาชิกพรรคจำนวน 160,000 คน และการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะมีขึ้นในเวลา 12.30 น. ตามเวลาท้องถิ่น ของวันนี้ (5 ก.ย.) หรือตรงกับเวลาไทย 18.30 น.
ผู้ชนะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมจะขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ต่อจาก บอริส จอห์นสันโดยอัตโนมัติ เนื่องจากทางพรรคครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จากนั้น นายกฯคนใหม่จะได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรอังกฤษในวันอังคารนี้(6 ก.ย.)
ในระหว่างการหาเสียงนั้น นางทรัสส์ให้คำมั่นสัญญาว่า จะเสนอการปรับลดภาษีมูลค่าหลายพันล้านปอนด์ในงบประมาณฉุกเฉิน ขณะที่นายซูแนค อดีตรัฐมนตรีคลังที่เป็นคู่แข่ง ประกาศว่าเขาจะลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในราคาเชื้อเพลิงลงเป็นเวลา 1 ปี ส่วนการลดภาษีแบบถาวรอย่างที่นางทรัสส์เสนอนั้น เขาเห็นว่าสมควรต้องรอไปก่อนจนกว่าวิกฤตเงินเฟ้อของอังกฤษจะดีขึ้น
นอกจากนี้ เธอยังประกาศความมุ่งมั่นที่จะออกมาตรการปฏิบัติฉุกเฉินเพื่อแก้ปัญหาราคาเชื้อเพลิง และเพิ่มปริมาณสินค้าพลังงานให้มากขึ้น
“หากได้รับการเลือกตั้ง ดิฉันวางแผนว่า ภายในสัปดาห์แรกของรัฐบาลใหม่ ดิฉันจะออกมาตรการเชิงปฏิบัติฉุกเฉินด้านราคาน้ำมันและสินค้าพลังงาน” ทรัสส์กล่าวถึงแผนภารกิจเร่งด่วนที่จะลงมือจัดการเป็นเรื่องแรก
ที่กล่าวกันว่า ลิซ ทรัสส์ จะขึ้นเป็นนายกรัฐมตรีหญิงคนที่ 3 ของอังกฤษนั้น เนื่องจากก่อนหน้านี้อังกฤษมีนายกฯหญิงมาแล้ว 2 คน คือ นางมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (ดำรงตำแหน่ง 4 พฤษภาคม 2522 – 28 พฤศจิกายน 2533) และนางเทเรซา เมย์ (ดำรงตำแหน่ง 13 กรกฎาคม 2559 – 24 กรกฎาคม 2562)
หากเธอได้รับการประกาศชื่อขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษวันนี้ (5 ก.ย.) ลิซ ทรัสส์ ก็จะได้ครองตำแหน่งไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือน ม.ค. ปี 2568
ทว่า เกมเริ่มพลิกหลังจากที่ทั้งสองคนเริ่มการรณรงค์หาเสียงเพื่อเรียกคะแนนจากบรรดาสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมทั่วประเทศจำนวนราว 200,000 คน เริ่มเห็นแววว่าเทพีแห่งโชคและชัยชนะกำลังมาอยู่ฝั่งของทรัสส์ สาเหตุหลัก ๆก็คือ สมาชิกพรรคฝ่ายฝักใฝ่ขั้วการเมืองแบบอนุรักษนิยม นับตั้งแต่นายเดวิด คาเมรอน นางเทเรซา เมย์ รวมทั้งนายบอริส จอห์นสัน มีท่าทีไม่ปลื้มหากนายกรัฐมนตรีคนต่อไปจะมีเชื้อชาติอื่นที่ไม่ใช่อังกฤษ ทำให้คะแนนความนิยมของนายซูแนค ที่มีเชื้อสายอินเดีย ลดลงชัดเจน และแสงไฟก็สาดส่องมาที่นางลิซ ทรัสส์ แทน
แม้กระทั่ง YouGov ซึ่งเป็นบริษัทฯ ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นผ่านระบบออนไลน์ ได้ทำการสำรวจเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ก็พบว่า นายซูแนค อาจจะต้องพ่ายแพ้ต่อนางทรัสส์ แม้ว่าเขาจะมีคะแนนนำเป็นอันดับ 1 ในการลงคะแนนทุกรอบของ ส.ส. พรรคอนุรักษนิยมก็ตาม
YouGov เผยว่า จากการสำรวจสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมทั่วอังกฤษ พบว่า นางทรัสส์จะได้รับคะแนนเหนือกว่านายซูแนค 54 ต่อ 35
อย่างไรก็ตาม เหตุผลไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติของเขา แต่เป็นเพราะที่ผ่านมา นายซูแนคมีความเห็นคัดค้านการปรับลดอัตราภาษี โดยเขามองว่า ภารกิจสำคัญของรัฐบาลคือการสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ซูแนคยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ผลงานระหว่างที่ครองตำแหน่งรัฐมนตรีคลังภายใต้การนำของนายกฯ บอริส จอห์นสันด้วย อีกทั้งประชาชนส่วนหนึ่ง ยังมีความไม่พอใจที่นายซูแนค เป็นผู้หนึ่งที่ไปเข้าร่วมงานเลี้ยงสังสรรค์ที่บ้านพักนายกรัฐมนตรี (บอริส จอห์นสัน) ขณะที่อังกฤษยังคงมีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโควิด-19
การประกาศรายชื่อผู้ชนะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมจะมีขึ้นในวันที่ 5 ก.ย.นี้ ผู้ชนะนอกจากจะได้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่แล้ว ยังจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ด้วย เนื่องจากพรรคอนุรักษนิยมครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร
เปิดประวัติ หญิงแกร่ง ‘ลิซ ทรัสส์’ ตัวเต็งเบอร์หนึ่ง ว่าที่หัวหน้าพรรคอนุรักษนิยมและนายกรัฐมนตรีอังกฤษคนใหม่ ซึ่งหากไม่พลิกโผ ที่จะมีการประกาศผลวันที่ 5 ก.ย. นี้ เธอก็จะเป็นนายกฯหญิง คนที่สามของประเทศอังกฤษ
เปิดประวัติ ว่าที่นายกฯคนใหม่ของอังกฤษ
ลิซ ทรัสส์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษมาตั้งแต่ปี 2021 โดยก่อนหน้านั้น เธอดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสตรีและความเท่าเทียมในปี 2019 เธอเป็นสมาชิกสภาจากนอร์โฟล์คตะวันตกเฉียงใต้มาตั้งแต่ปี 2010 และเคยร่วมงานคณะรัฐบาลมาตั้งแต่ยุคการบริหารประเทศของนายเดวิด คาเมรอน นางเทเรซา เมย์ และนายบอริส จอห์นสัน
ผู้หญิงเก่งมากความสามารถคนนี้ จบการศึกษาจากวิทยาลัยเมอร์ตัน ในออกซ์ฟอร์ด สมัยเรียนเธอเคยเป็นประธานของพรรคเสรีประชาธิปไตยของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เมื่อจบการศึกษาในปี 1996 เธอก็เข้าร่วมกับพรรคอนุรักษนิยม และในเวลาเดียวกันก็ทำงานประจำที่บริษัทเชลล์ เคเบิล แอนด์ ไวร์เลส ในตำแหน่งรองผู้อำนวยการฝ่ายปรับโครงสร้างใหม่ของบริษัท
ลิซ ทรัสส์ ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2010 ทำให้เธอกลายเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหน้าใหม่ แต่เธอก็ได้แสดงศักยภาพและมีบทบาทในการปฏิรูประบบสุขอนามัยเด็ก การศึกษาคณิตศาสตร์ รวมทั้งการปฏิรูปเศรษฐกิจ เธอก่อตั้งกลุ่ม สส. อิสระ ของพรรคอนุรักษนิยม และได้เขียนหนังสือออกมาหลายเล่ม อาทิ After the Coalition (2011) และ Britannia Unchained (2012)
เธอขยับขึ้นเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขเยาวชนและการศึกษา ในปี 2012-2014 จากนั้นก็เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมในสมัยของนายเดวิด คาเมรอน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีการปรับเก้าอี้รัฐมนตรีในปี 2014
ในช่วงที่มีการถกประเด็นการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือที่เรียกว่า ‘เบร็กซิท’ (Brexit) นั้น ตอนแรกเธอแสดงจุดยืนสนับสนุนกลุ่ม ‘บริเทน สตรองเกอร์’ ที่เห็นว่าอังกฤษควรจะอยู่ในอียูต่อไป ต่อเมื่อผลการโหวต(ประชามติ) ออกมาว่า ชาวอังกฤษต้องการจะเลือกแยกตัวออกจากอียู เธอก็ไม่ได้ต่อต้านแต่อย่างใด
หลังนายคาเมรอน ประกาศลาออกในปี 2016 และนางเทเรซา เมย์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ทรัสส์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งนับเป็นสตรีรายแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ของอังกฤษในรอบหนึ่งพันปี ต่อมาในปี 2017 เธอได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีคลังจนกระทั่งถึงเดือน ก.ค. 2019
หลังจากที่นางเทเรซา เมย์ ประกาศลาออกในปี 2019 ทรัสส์สนับสนุนให้นายบอริส จอห์นสันขึ้นมาเป็นผู้นำพรรคอนุรักษนิยม และเขาก็แต่งตั้งให้เธอเป็นรัฐมนตรีพาณิชย์ ก่อนจะย้ายมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศแทนนายโดมินิก ร้าบ ในปี 2021 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ เธอยังได้รับแต่งตั้งให้เป็นคณะผู้เจรจาในเวทียุโรป-สหราชอาณาจักร อีกด้วย
เผยชีวิตส่วนตัว
ลิซ ทรัสส์ เธอเกิดเมื่อวันที่ 26 ก.ค. 1975 (พ.ศ. 2518) ปัจจุบันอายุ 47 ปี เธอสมรสแล้วกับนายฮิวจ์ โอเลียรี และมีบุตร 2 คน
อ้างอิง
BBC (1) (2) , The Washington Post , CNN (1) (2) , www.nationtv.tv/