ทุกอย่างเริ่มต้นจากสมมุติฐานว่า พ่อแม่ ครู ผู้ปกครอง และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวกับงานพัฒนาเด็กในวัยเรียนควรรู้เรื่อง EF หรือ Executive Function ให้มากที่สุด ไม่ใช่แค่คำพูดเก๋ๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกธรรมดาที่ไม่ได้มีอะไรแตกต่าง แต่ EF เป็นเรื่องที่มีพื้นฐานมาจากการค้นคว้าทางวิชาการ เป็นเรื่องของความสามารถระดับสูงของสมองที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และการกระทำ เพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย บนพื้นฐานของคำว่า สมอง ความคิด อารมณ์ การกระทำ และเป้าหมาย
แต่ EF ยังเป็นของใหม่ต่อสังคมไทย แม้ทุกวันนี้ หากใครเข้า Google แล้วค้นหาคำว่า ‘EF’ ก็จะพบคำตอบได้ไม่ยาก กระนั้นสิ่งที่เป็นคำถามจริงๆ ต่อความเข้าใจที่มีต่อ EF คือ คำถามที่ว่า EF จะมีส่วนในการพัฒนาลูกของเราได้อย่างไร? หรือ EF จะทำให้ลูกของฉันได้คะแนนสอบดีๆ เพื่อกรุยทางไปสู่อนาคตที่มั่นคงได้แค่ไหน?
เพื่อตอบคำถามนี้ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จิตแพทย์และนักวิชาการด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน ได้นำชุดความรู้ที่ตนได้ศึกษาเรื่อง EF มากล่าวในงานประชุม EF Symposium 2017 ซึ่งเป็นงานที่จัดขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมไปถึงองค์ความรู้ Executive Function ของนักวิชาการ ครู ผู้ดูแลเด็ก บุคลากรด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ ผู้ปกครอง และโดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบายของประเทศ เพื่อสร้างพลเมืองคุณภาพและวางรากฐานการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศไทยอย่างเข้มแข็ง
นพ.ประเสริฐเริ่มต้นว่า
“ทำไมเด็กคนหนึ่งถึงไปได้ดีกว่าเด็กอีกคนหนึ่ง เป็นคำถามที่ตัวผมเองสงสัยตลอดมา ตั้งแต่กลับไปทำงานที่โรงพยาบาลที่ต่างจังหวัด ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีจิตแพทย์เด็ก ผมก็ทำงานอยู่คนเดียวแทนจิตแพทย์เด็ก ก็จะถามตัวเองแบบนี้ทุกครั้งเวลาที่เห็นบ้านหลังหนึ่งอะไรๆ ก็ดีไปหมด ดูคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่เห็นจะยากลำบากอะไรนักหนา ขณะที่บ้านอีกจำนวนหนึ่งก็เละเทะ เหนื่อยมาก เหนื่อยไม่รู้จักจบ ตอนนั้นผมก็จะมีคำอธิบายในใจต่อคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายเสมอว่า ตอนเด็กๆ ให้ตั้งใจเลี้ยงลูก เงินได้น้อยหน่อย แต่โตขึ้นจะเป็นวัยรุ่นที่ดี เงินก็ยังเป็นของเรา แต่ถ้าตอนเด็กๆ ทุกคนต้องทำงานหาเงินมากไปหน่อย รักษาสมดุลที่จะให้เวลากับลูกไม่ได้ เงินที่ได้มาในวัยเด็กก็กลายเป็นเงินที่จ่ายค่าประกันตัวซะเยอะ จ่ายค่าความเสียหายเมื่อเป็นวัยรุ่นเยอะ คำถามที่ว่าบ้านหนึ่งทำไมถึงดีกว่าบ้านหนึ่งจึงเป็นคำถามที่คาใจผมมาตลอด จนกระทั่งห้าปีหลัง ถึงได้อ่านพบคำว่า Executive Function หรือ EF”
EF ในนิยามของ นพ.ประเสริฐ
แรกทีเดียวเมื่อได้รู้จักคำว่า Executive Function นพ.ประเสริฐผู้นิยามตัวเองว่าเป็นผู้คลางแคลงใจกับทุกๆ สิ่งที่เป็นความรู้ก็ยังคงไม่ค่อยเชื่อในหลักวิชาการด้านนี้มากนัก จนกระทั่ง สุภาวดี หาญเมธี ประธานสถาบัน RLG หรือ รักลูก กรุ๊ป ได้ชวนมาทำงานในเรื่องพัฒนาความรู้ด้าน EF นพ.ประเสริฐจึงได้มาทำการศึกมากขึ้นจนถึงจุดที่เชื่อว่า สิ่งนี้คือคำตอบของคำถามที่คาใจมาตลอด
แล้วอะไรคือ EF ที่แท้จริง?
นพ.ประเสริฐกล่าวว่า ความยากต่อการทำความเข้าใจเรื่อง EF อยู่ที่ตำราหลายเล่มให้คำศัพท์หลากหลายเพื่ออธิบายความหมายของ EF ในขณะเดียวกัน ตำราอีกหลายเล่มก็ใช้คำศัพท์เพียงหนึ่งคำเพื่ออธิบายความหมาย EF ที่ไม่ซ้ำกันเลย และการพัฒนาทักษะด้านสมองในวัยเด็กไปสู่จุดที่เรียกว่า 21 century skills หรือทักษะศตวรรษที่ 21 นั้น เป็นปลายทางของบันไดทั้งเจ็ดขั้นของ EF ซึ่งการจะไปสู่บันไดขั้นที่ 7 ได้นั้น เราต้องรู้ก่อนว่าบันไดตั้งแต่ขั้นที่ 1-6 มีอะไรบ้าง
บันไดทั้งเจ็ดขั้น
บันไดขั้นที่ 1 คือ แม่ นพ.ประเสริฐกล่าวว่า ตอนที่แม่ได้คลอดลูกออกมาดูโลกนั้น ทารกจะยังไม่รู้ว่าใครคือแม่ของตน จนกระทั่งช่วง 6-12 เดือน แม่จึงจะได้รับอนุญาตจากลูกให้มอบสิทธิ์การเป็นแม่ที่อาจสละไปชั่วชีวิต ดังนั้น ช่วงระยะเวลาเพียงหนึ่งปีเศษนี้ เป็นช่วงเวลาสำคัญที่แม่ทุกคนจะต้องใช้เวลาเอาใจใส่เพื่อให้ลูกยอมรับว่าตนนั้นคือแม่ ไม่ใช่แค่การคลอดลูกออกมาแล้วจะถือสิทธิ์ในฐานะผู้ให้กำเนิดเพียงฝ่ายเดียว
บันไดขั้นที่ 2 คือ สายสัมพันธ์ บันไดขั้นนี้เริ่มตั้งแต่เมื่อแรกเกิดจนถึงหนึ่งปี และเมื่อพ้นหนึ่งปี หรือเข้าเดือนที่ 13 แล้ว เด็กจะคอยหันมามองผู้เป็นแม่เป็นครั้งคราวเมื่อหัดเดิน และผู้เป็นแม่ก็จะคอยแต่ปรบมือดีใจ ที่ลูกหันมามองนั้นเพื่อให้แน่ใจว่าแม่นั้นมีอยู่จริงๆ จึงจะเดินต่อไป ซึ่งสิ่งนี้คือสายสัมพันธ์ที่จะก่อเกิดขึ้นได้ก็ด้วยจากบันไดขั้นที่ 1 ที่ผู้เป็นแม่ได้สร้างไว้เท่านั้น และไม่ว่าเด็กคนนั้นจะเติบโตไปไกลเพียงใด สายสัมพันธ์ที่ดีตั้งแต่ขั้นที่ 1 จะคอยรั้งคอยดึงให้ลูกกลับมาหาแม่
บันไดขั้นที่ 3 การสร้างตัวตน อยู่ในช่วง 2-3 ปี เมื่อพัฒนาการทางกล้ามเนื้อใหญ่ของเด็กแข็งแรงขึ้น เด็กรู้จักเตะ ถีบ ปัดสิ่งของ เมื่อไม่ได้ดั่งใจ จนเมื่ออายุ 4-6 ปี กล้ามเนื้อเล็กที่บริเวณนี้จึงเริ่มใช้งานได้ เป็นช่วงของการพัฒนาไปสู่การใช้มือทั้งสิบเพื่อหยิบจับ ขีดเขียน ซึ่งจะนำไปสู่ทักษะของสมองในเรื่องการอ่าน การคิด ต่อไป
บันไดขั้นที่ 4 Self Esteem หรือการนับถือตัวเอง หมายถึงความสามารถที่จะนิยามหรือกำหนดชีวิต โดยใช้สายสัมพันธ์จากบันไดขั้นที่ 2 เพื่อสร้างตัวตนผ่านกล้ามเนื้อใหญ่และกล้ามเนื้อเล็กจนมาถึงขวบปีของการทดสอบกฎต่างๆ ทั้งในบ้านและในโรงเรียน การชื่นชมเด็กๆ ในวัยนี้ก่อให้เกิดพลังที่พุ่งไปข้างหน้า ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยสายสัมพันธ์ที่ดีที่แม่ได้สร้างไว้ตั้งแต่บันไดขั้นที่ 2 จะเป็นทั้งตัวรั้งให้เด็กอยู่ในร่องในรอย ไม่เข้าหาอบายมุขโดยง่าย และเป็นตัวผลักให้เด็กพุ่งไปข้างหน้าผ่านการศึกษาสมัยใหม่ที่เปิดกว้างไม่มุ่งทำลาย self esteem
บันไดขั้นที่ 5 Self Control หรือการควบคุมตัวเอง อยู่ในช่วง 3-7 ปี เป็นปฐมบทของ Executive Function ที่ไม่เพียงแต่การศึกษาในช่วงนี้ควรมุ่งเน้นไปที่เรื่องของการเล่นและเรียนรู้อย่างเปิดกว้างเพื่อเตรียมความพร้อมของสมองให้ครบองค์รวมเท่านั้น นพ.ประเสริฐยังกล่าวว่า สิ่งที่เด็กในยุคนี้มีและเด็กในยุคก่อนหน้านี้ไม่มี คือ WiFi และสมาร์ทโฟน ซึ่งการมาถึงของเครื่องมือทางเทคโนโลยีที่เข้าถึงง่ายนี้จะทำให้เด็กกลายเป็นผู้กำหนดเป้าหมายของพวกเขาเอง ไม่ใช่ผู้ใหญ่อีกต่อไป แต่การจะปล่อยให้เด็กสามารถกำหนดเป้าหมายชีวิตของเขาเองได้จำเป็นต้องมีการพัฒนา Executive Function ให้มั่นคงเสียก่อน
บันไดขั้นที่ 6 Executive Function หรือ EF นั่นเอง โดยบันไดขั้นนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยบันไดทั้งห้าขั้นที่ว่ามาทั้งหมดมั่นคงแข็งแรงดีแล้ว การจะปีนป่ายต่อไปยังบันไดขั้นสุดท้าย ทักษะศตวรรษที่ 21 อันได้แก่ ทักษะเรียนรู้ ทักษะชีวิต และทักษะด้านไอทีนั้น จะเกิดขึ้นได้จากการประกอบสร้างทักษะย่อยจากทั้งที่บ้านและระบบการศึกษาด้วยวิธีออกแบบอย่างถูกต้อง
ทำไมเราต้องรู้เรื่อง EF
นพ.ประเสริฐกล่าวว่า เราต้องรู้เรื่อง EF ด้วยปรากฏการณ์ด้านชีววิทยาสองข้อ คือ 1.การตัดแต่งสมอง (synaptic pruning) เพราะสมองของเด็กอายุ 9 ปี จะหนาแน่นด้วยวงจรประสาท ด้วยจุดเชื่อมต่อประสาทต่างๆ ซึ่งวงจรเหล่านี้จะจางลงไปเมื่ออายุ 15 ปี
“ระหว่าง 9-15 ปี สมองจะทำการ 5 ส.ตัวเอง สะสางวงจรประสาท จุดเชื่อมต่อประสาทไหนที่เด็กไม่ค่อยใช้ เอาออก เก้าขวบเริ่มต้น 15 ขวบเสร็จสิ้น นี่เป็นเส้นตายทางชีววิทยา ความหมายก็คือหากเราไม่สามารถสร้าง EF ก่อนลูกอายุ 9 ขวบ เรื่องจะเริ่มยากมากขึ้น อายุ 15 ยังสร้าง EF ไม่สำเร็จอีก ถ้าพูดแบบไม่รักษาน้ำใจก็…ลาก่อน”
ข้อที่ 2. Myelinization หรือกระบวนการเพิ่มปลอกมัยอิลินบนเส้นประสาท เพื่อเพิ่มสื่อนำสัญญาณประสาทให้เร็วขึ้น 3,000 เท่า ซึ่งกระบวนการนี้จะเป็นการทำให้เด็กมีชุดข้อมูลมากพอจากประสาททุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นตา หู จมูก ลิ้น สัมผัส ใจ หรือความจำ) ในเวลาอันรวดเร็ว ก่อนที่สมองส่วนลิมบิค (limbic system) หรือสมองที่ทำงานตามความปรารถนา หรืออารมณ์จะพัฒนาเต็มที่เมื่ออายุครบ 15 ปี ซึ่งจะแปรไปเป็นการกระทำที่ไม่ผ่านการยับยั้ง (ในอีกแง่คือขาดสายสัมพันธ์ที่จะดึงรั้งไว้นั่นเอง) อธิบายง่ายๆ คือ เด็กในวัยนี้หากอยากมีเพศสัมพันธ์ก็จะทำทันที โดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ใดๆ อยากใช้ยาเสพติดก็ใช้โดยไม่มีการตริตรอง
“ส่วนนี้เอง สมองส่วนหน้า ที่เป็นส่วนควบคุม Executive Function ซึ่ง Executive Function จะมาจากไหน ก็มาจากการสัมผัสต่างๆ ทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ประสบการณ์ส่วนตัว ความจำในลิ้นชัก จะต้องมาถึงสมองส่วนหน้าโดยเร็ว และจะต้องประมวลเพื่อตัดสินใจ แต่กว่าสมองส่วนหน้าจะพัฒนาเต็มที่กลับปาเข้าไปตั้ง 20 ปี นั่นหมายความว่าเราจะต้องเจอวัยรุ่นใจร้อนตั้ง 10 ปี”
แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง?
นพ.ประเสริฐบอกว่า หากพัฒนาการของเด็กไปช้ากว่าที่ควรเป็นถึง 10 ปีแล้ว การสร้างสายสัมพันธ์เพื่อดึงรั้งไว้รอให้สมองส่วนหน้าเติบโตอย่างเต็มที่ คือคำตอบที่หนึ่ง
คำตอบที่สอง ให้เด็กได้เล่นให้มากที่สุดพร้อมไปกับการทำงานบ้าน ขณะเดียวกันก็ไม่ปล่อยให้เด็กมุ่งแต่การเรียนเพียงอย่างเดียว
องค์ประกอบของ EF
ในการสร้างความสามารถระดับสูงของสมองเพื่อพาเด็กไทยออกจากวิกฤตินั้น ประกอบไปด้วยองค์ประกอบสามส่วนที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นเป็น Executive Function
องค์ประกอบที่ 1 การควบคุมตัวเอง (self control)
ข้อนี้จะกลับไปยังบันไดตั้งแต่ที่ 1-4 โดยพ่อแม่จะเป็นส่วนสำคัญในการสร้าง ‘ตนเอง’ ของเด็กๆ ด้วยการเลี้ยงดู เอาใจใส่ ซึ่งกระบวนการนี้จะดำเนินผ่านสามขั้นตอน คือ ทารกสร้างแม่ (mother existence) สร้างสายสัมพันธ์ (attachment) แล้วจึงสร้างตนเอง (self)
เมื่อเด็กสร้างตนเองขึ้นได้แล้ว จึงจะนำไปสู่กระบวนการ ‘ควบคุมตนเอง’ ผ่านกระบวนการสามส่วน คือ 1. ความสามารถในการจดจ่อได้นาน (focus) 2. มีความสามารถที่จะไม่วอกแวก (distraction) 3. มีความสามารถจะประวิงเวลามีความสุข (delayed gratification) รู้จักอดเปรี้ยวไว้กินหวาน
องค์ประกอบที่ 2 ความจำใช้งาน (working memory) คือความจำพร้อมใช้ ซึ่งถูกบริหารจัดการโดยสมองส่วน dorsolateral cortex ซึ่งพ่อแม่มีส่วนช่วยพัฒนาการบริหารความจำใช้งานให้คล่องแคล่วด้วยการเล่นและฝึกทำงานบ้าน เพราะทั้งสองกิจกรรมจำเป็นต้องบริหารความจำตลอดเวลา งานจึงจะสำเร็จ นพ.ประเสริฐกล่าวว่า ความจำใช้งานเกิดจากการลงมือ คือ action เท่านั้น ไม่ได้เกิดจากการนั่งเรียนทฤษฎี
องค์ประกอบที่ 3 การคิดวิเคราะห์ยืดหยุ่น (cognitive flexibility) หมายถึงความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ผ่านการเปลี่ยนมุมมอง หรือเปลี่ยนตัวแปร ตลอดจนการเปลี่ยนกระบวนการคิดเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย ซึ่งพ่อแม่ช่วยได้ด้วยการส่งเสริมให้ลูกๆ เล่นตั้งแต่ช่วง 2-7 ขวบ และในช่วง 8-12 ปี ซึ่งทั้งสองช่วงนี้จะเป็นช่วงเวลาที่สมองจะวางโครงสร้างด้านตรรกะ การใช้เหตุผล แล้วจึงนำไปสู่การคิดวิเคราะห์ที่ยืดหยุ่นพลิกแพลงต่อไป
ทั้งหมดนี้ นพ.ประเสริฐกล่าวถึงจุดมุ่งหมายที่โยงใยไปยังหัวข้อว่า
“สรุป เราอยากให้เด็กทุกคนทั้งประเทศพัฒนาไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งเด็กสักคนไว้ข้างหลัง เราพูดแบบนี้จนเบื่อแล้ว ผมก็ได้ยินแบบนี้จนเบื่อแล้ว เราเคยไม่รู้ว่าจะต้องทำยังไง แต่ด้วยความรู้เรื่อง EF เรื่องทักษะศตวรรษที่ 21 เราพบว่า เราทำได้แล้ว เราทำให้เด็กทุกคนไม่ว่าสติปัญญาเท่าไหร่ก็ตาม นิสัยไม่ดีอย่างไรก็ตาม กำหนดเป้าหมายให้เป็น เสร็จแล้วควบคุมตัวเอง ไม่วอกแวก อดเปรี้ยวไว้กินหวาน ไปให้ถึงเป้าหมายที่ตัวเองกำหนด สร้าง self esteem เพื่อให้เด็กกำหนดเป้าหมายขั้นต่อไป ภายใต้จังหวะก้าวของตัวเอง ทั้งหมดที่พูดนี้เป็นไปได้ในทางทฤษฎี และเป็นไปได้ในบ้านทุกบ้านที่เข้าใจ ว่าเขาควรจะเลี้ยงลูกอย่างไรเพื่อให้เขามี EF ที่ดีพอที่จะกำหนดเป้าหมายแล้วไปด้วยกำลังของเขาเอง ไปสู่ศตวรรษที่ 21”
EF Executive Function นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ที่มา :: https://waymagazine.org/ef-prasert-phalittaphonkanphim/