Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันอาทิตย์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

ประเทศสวิตเซอร์แลนด์




 
สมาพันธรัฐสวิส (The Swiss Confederation)



ข้อมูลทั่วไป
ที่ตั้ง:ตั้งอยู่กลางทวีปยุโรป ล้อมรอบด้วยเทือกเขาแอลป์ (Alps) ไม่มีทางออกทะเล ทิศเหนือติดกับเยอรมนี ทิศตะวันออกติดกับออสเตรีย และลิกเตนสไตน์ ทิศตะวันตกติดกับฝรั่งเศส และทิศใต้ติดกับอิตาลี
พื้นที่:๔๑,๒๘๕ ตารางกิโลเมตร
เมืองหลวง:กรุงเบิร์น (Bern)
ประชากร:๗.๗ ล้านคน (ปี ๒๕๕๒)
ภูมิอากาศ:เปลี่ยนแปลงตามความสูงของพื้นที่ ตั้งแต่ภูมิอากาศแบบแอลป์ จนถึง เมดิเตอร์เรเนียน ฤดูหนาว อากาศหนาว มีฝนและหิมะ ฤดูร้อน มีอากาศอบอุ่น เย็นชื้น มีฝนบางครั้ง
ภาษาราชการ:มี ๔ ภาษา คือ เยอรมัน ฝรั่งเศส อิตาเลียน และโรมานช์
ศาสนา:คริสต์นิกายโรมันคาทอลิก ร้อยละ ๔๑.๘ คริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ ร้อยละ ๓๕.๓ อิสลาม ร้อยละ ๔.๓ ศาสนาอื่น ๆ หรือมิได้นับถือศาสนา ร้อยละ ๑๖.๔
หน่วยเงินตรา:ฟรังก์สวิส (Swiss Franc: CHF) อัตราแลกเปลี่ยน ๑ ฟรังก์สวิส เท่ากับ ๒๙.๓๒ บาท (ณ วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๓)
ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ: ๔๘๔.๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี ๒๕๕๒)
รายได้ประชาชาติต่อหัว:๔๑,๖๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ (ปี ๒๕๕๒)
การขยายตัวทางเศรษฐกิจ:ร้อยละ - ๑.๘ (ปี ๒๕๕๒)
ระบอบการปกครอง:ประชาธิปไตยแบบสมาพันธรัฐ ประกอบด้วย ๒๖ มณฑล (Canton) อยู่ภายใต้รัฐบาลกลางเรียกว่าสมาพันธรัฐ (Confederation) แต่ละมณฑล มีรัฐธรรมนูญและรัฐบาลของตนเอง เป็นอิสระจากการบริหารส่วนกลาง ส่วนอำนาจบริหารส่วนกลางอยู่ที่คณะมนตรีแห่งสมาพันธ์ เทียบเท่าคณะรัฐมนตรี ซึ่งสมาชิกเรียกว่า มนตรีแห่งสหพันธ์ มี ๗ คน ดำรงตำแหน่งวาระละ ๔ ปี และใน ๗ คน จะได้รับเลือกจากรัฐสภาแห่งสมาพันธรัฐให้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีผลัดเปลี่ยนกัน วาระละ ๑ ปี สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีวาระปี ๒๕๕๓ คือ นาง Doris Leuthard ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ อีกตำแหน่งหนึ่ง (ดำรงตำแหน่งวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๓ จนถึงวันที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๓)

นโยบายรัฐบาลชุดปัจจุบัน

. การเมืองการปกครอง

๑.๑ นับตั้งแต่ปี ๒๕๐๒ เป็นต้นมา สมาพันธรัฐสวิสได้ปกครองและบริหารโดยพรรคการเมืองหลัก ๔ พรรค ได้แก่ พรรค Radical Democratic Party (RDP) พรรค Social Democratic Party (SDP) พรรค Christian Democratic People's Party (CDP) และพรรค Swiss People's Party (SVP) ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่า แต่ละพรรคจะได้รับจัดสรรตำแหน่งมนตรีของสมาพันธ์พรรคละ ๒ คน ยกเว้น Swiss People's Party ซึ่งได้ ๑ คน นอกจากนั้น ผู้ที่จะดำรงตำแหน่งมนตรีแห่งสมาพันธ์จะมาจาก Canton เดียวกันได้ไม่เกิน ๑ คน และเป็นธรรมเนียมว่าจะต้องมีผู้แทนจาก ๓ Canton หลัก ได้แก่ Zurich, Berne และ Vaud แห่งละ ๑ คน

๑.๒ สมาพันธรัฐสวิสมีลักษณะพิเศษของระบบประชาธิปไตย คือ อำนาจสูงสุดในทางนิติบัญญัติมิได้อยู่ที่รัฐสภา แต่อยู่ที่ประชาชนโดยตรง เพราะตามรัฐธรรมนูญ ประชาชนมีสิทธิในการออกเสียงประชามติ (referendum) และการริเริ่ม (initiative) กล่าวคือ กฎหมายทุกฉบับที่ผ่านสภาแห่งสมาพันธ์แล้ว จะยังไม่มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมาย จะต้องรอให้ครบ ๙๐ วันเสียก่อน ในระหว่างนั้น ประชาชนมีสิทธิคัดค้าน โดยจะต้องลงชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่า ๕๐,๐๐๐ คน เพื่อให้มีการจัดการลงประชามติ ส่วนอำนาจในการริเริ่มของประชาชน จะสามารถใช้ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนจะต้องลงชื่อร่วมกันไม่น้อยกว่า ๑๐๐,๐๐๐ คน เพื่อให้ประชาชนทั้งประเทศลงประชามติ

๑.๓ ด้านอำนาจตุลาการ ศาลชั้นต้นและศาลชั้นกลางจะเป็นศาลของมณฑล โดยใช้กฎหมายสมาพันธ์ร่วมด้วย และประชาชนเป็นผู้เลือกตั้งผู้พิพากษาโดยตรง แม้แต่ผู้พิพากษาสมทบก็อาจเป็นบุคคลที่ประกอบอาชีพอื่น ๆ ที่ได้รับเลือกจากคนในท้องถิ่น ส่วนศาลฎีกาแห่งสมาพันธ์ (Federal Supreme Court) มีที่ตั้งอยู่ที่เมืองโลซานน์ เพื่อเน้นการแบ่งแยกอำนาจจากรัฐบาลกลางที่กรุงเบิร์น ศาลฎีกาเป็นทั้งศาลแพ่งและศาลอาญา ประกอบด้วย ผู้พิพากษาประมาณ ๓๐ คน ที่ได้รับเลือกตั้งจากรัฐสภาแห่งสมาพันธรัฐ

๑.๔ สมาพันธรัฐสวิสมีความเห็นแตกต่างกันบ้างระหว่างกลุ่มชนชาวสวิสที่พูดภาษาเยอรมัน กับกลุ่มที่พูดภาษาฝรั่งเศส แต่ไม่อยู่ในระดับที่รุนแรง โดยจะสะท้อนให้เห็นจากการลงประชามติ โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับการเข้าไปมีส่วนร่วมในเวทีระหว่างประเทศและความเป็นกลางของสมาพันธรัฐสวิส โดยกลุ่มชาวสวิสที่พูดภาษาฝรั่งเศสมีแนวโน้มพร้อมที่จะยอมรับการมีพันธะผูกพันระหว่างประเทศ รวมทั้งสนับสนุนการแทรกแซงในระบบเศรษฐกิจของรัฐบาล ในขณะที่ชาวสวิสที่พูดภาษาเยอรมันซึ่งมีจำนวนมากกว่า เน้นการรักษาความเป็นกลาง ของประเทศและไม่ประสงค์ให้มีการแทรกแซงทางเศรษฐกิจจากรัฐบาล นอกจากนี้ มีชาวสวิสจำนวนเพิ่มขึ้นที่เกิดความรู้สึกต่อต้านศาสนาอิสลามมากขึ้น

๒. ภาพรวมเศรษฐกิจ

๒.๑ สวิตเซอร์แลนด์เป็นประเทศมีสภาพเศรษฐกิจที่มั่งคั่งและมั่นคง มีอัตราการว่างงานยังค่อนข้างต่ำ มีกำลังซื้อสูง ปี ๒๕๕๒ มี GDP เกือบ ๕๐๐ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจโลกทำให้มีอัตราการขยายตัวลดลงในปี ๒๕๕๑ – ๒๕๕๒ ซึ่งเป็นปริมาณที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเปรียบเทียบกับ ๒๕๕๐ อย่างไรก็ตามตั้งแต่ไตรมาสที่ ๒ ของปี ๒๕๕๓ เศรษฐกิจสวิตฯ ปรับตัวขึ้นอย่างมากและคาดว่าจะฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี รายได้ของประเทศอยู่ในภาคอุตสาหกรรม ร้อยละ ๓๔.๐ ภาคเกษตรกรรม ร้อยละ ๑.๕ และ บริการต่างๆ ร้อยละ ๖๔.๕ ในปี ๒๕๕๓ อัตราเงินเฟ้อเป็นบวกอยู่ที่ ร้อยละ ๐.๖๖ อัตราการว่างงาน คิดเป็น ร้อยละ ๕.๐๓ และคาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น ในปี ๒๕๕๓ (มกราคม - มิถุนายน) สวิตฯ มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศรวม ๑๗๗,๙๖๓.๑๘ ดอลลาร์สหรัฐ โดยได้ดุลการค้า ๑๐,๗๑๗.๘ ดอลลาร์สหรัฐ ประเทศคู่ค้าที่สำคัญ ได้แก่ (๑) เยอรมนี (๒) สหรัฐฯ (๓) อิตาลี (๔) ฝรั่งเศส (๕) สหราชอาณาจักร สำหรับประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ ๒๙ สินค้าส่งออกที่สำคัญของสวิตฯ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์และเวชภัณฑ์ (๒๓%) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ (๑๑%) เคมัภัณฑ์ออกานิค (๙%) เลนซ์และเครื่องมือแพทย์ (๗%) นาฬิกา (๗%) และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (๑๐%) ผลิตภัณฑ์และเวชภัณฑ์ (๑๐%) อัญมณีและเครื่องประดับ (๙%) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ (๘%) รถยนต์นั่ง (๗%) และเชื้อเพลิงและน้ำมัน (๗%) สมาพันธรัฐสวิสเป็นประเทศเล็กที่ไม่มีทางออกทะเล แต่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่งคั่ง ตามรายงานของ World Economic Forum ปี ๒๕๕๒ - ๒๕๕๓ ประชากรสวิสมีรายได้ต่อหัว (GDP per capita) สูงเป็นอันดับ ๗ ของโลก และตามรายงานของ World Economic Forum ประจำปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ ได้จัดให้สมาพันธรัฐสวิสเป็นประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันเป็นอันดับ ๑ ของโลก โดยอันดับ ๒ ได้แก่ สวีเดน อันดับ ๓ ได้แก่ สิงคโปร์ อันดับ ๔ ได้แก่ สหรัฐฯ

๒.๒ สมาพันธรัฐสวิสมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่แข็งแกร่ง และเป็นประเทศผู้ลงทุนสำคัญ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการเงินและผู้นำระดับโลกด้านเวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรและการทำนาฬิกา โดยเป็นที่ตั้งของบริษัทชั้นนำของโลก อาทิ Novartis, Roche, UBS, ABB และ Credit Suisse เป็นต้น ส่วนภาค อุตสาหกรรมของสมาพันธรัฐสวิสเน้นการใช้เทคโนโลยีชั้นสูง โดยเครื่องจักรที่ผลิตจากสมาพันธรัฐสวิสถือว่ามีคุณภาพดีที่สุดในโลก

๒.๓ ภาคบริการของสมาพันธรัฐสวิสมีการจ้างงานกว่า ๒ ใน ๓ ของการจ้างงานทั้งหมด โดยรายได้ประชาชาติ ๒ ใน ๓ ของสมาพันธรัฐสวิสมาจากภาคบริการ ที่สำคัญได้แก่ ภาคบริการผู้ผลิต (producer services) อาทิ การเงิน ประกันภัย และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ภาคบริการจำหน่าย (distribution services) เช่น การค้า และสื่อสารโทรคมนาคม ภาคบริการสังคม (social services) เช่น สุขภาพ และการศึกษา และภาคบริการบุคคล (personal services) อาทิ การท่องเที่ยว เป็นต้น ทั้งนี้ สมาพันธรัฐสวิสได้ดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นสัดส่วนต่อรายได้ประชาชาติสูงสุดของโลก ซึ่งเป็นผลจากการทำธุรกรรมด้านบริการ โดยเฉพาะภาคการเงิน

๓. นโยบายต่างประเทศ

ก่อนปี ๒๕๒๓ นโยบายต่างประเทศของสมาพันธรัฐสวิสยึดหลักนิยม ๔ ประการ ได้แก่ ความเป็นกลาง (neutrality) ความมีน้ำหนึ่งใจเดียว (solidarity) ความเป็นสากล (universality) และความเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม (availability) ต่อมา เมื่อเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์หลังการสิ้นสุดของสงครามเย็น สมาพันธรัฐสวิสได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการเข้าไปมีส่วนร่วม และการมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศและภูมิภาค รวมทั้งให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมมากขึ้น อย่างไรก็ดี สมาพันธรัฐสวิสยังคงนโยบาย ความเป็นกลางอยู่ โดยได้เผยแพร่เอกสาร White Paper on Neutrality เมื่อปี ๒๕๓๖ ซึ่งกำหนดแนวทางที่เปิดช่องให้สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมกับนานาประเทศในเรื่องการต่างประเทศและความมั่นคงได้มากขึ้น โดยไม่ขัดต่อนโยบายความเป็นกลางของสมาพันธรัฐสวิส

๓.๑ ความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป

โดยที่สมาพันธรัฐสวิสตั้งอยู่ใจกลางของทวีปยุโรปจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีความผูกพันทางเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรป (European Union-EU) ซึ่งปัจจุบันเป็นคู่ค้าสำคัญที่สุดของสมาพันธรัฐสวิส ทั้งนี้ รัฐบาลสมาพันธรัฐสวิสเคยแจ้งความประสงค์จะเข้าเป็นสมาชิก EU แต่ผลการลงประชามติเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๔๔ ประชาชนแสดงความไม่เห็นด้วยถึงร้อยละ ๗๖.๗ ดังนั้น ในระหว่างนี้ จึงพยายามให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการลงประชามติครั้งต่อไปในอนาคต และพยายามลงนามความตกลงความร่วมมือต่างๆ กับ EU ในสาขาที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย อาทิ ความตกลงว่าด้วยการเคลื่อนย้ายสินค้า เงินทุน และบุคคลอย่างเสรี การเข้าเป็นภาคีความตกลง Schengen เป็นต้น ทั้งนี้ เหตุผลสำคัญที่ชาวสวิสไม่สนับสนุนการเข้าเป็นสมาชิก EU เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการนิติบัญญัติของ EU จะอยู่เหนือกฎหมายสวิส อีกทั้งต้องการรักษาระดับความเป็นกลางในด้านเศรษฐกิจ ด้วยเกรงว่า การเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ EU อาจส่งผลต่อระบบภาษี และการเงินการคลังของสมาพันธรัฐสวิสได้

๓.๒ ความสัมพันธ์กับประเทศเอเชีย
  • ๑) การผลักดันการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement-FTA) กับประเทศในเอเชียมากขึ้น ในส่วนที่เกี่ยวกับไทย คือ การเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (European Free Trade Association-EFTA)
  • ๒) พัฒนาและส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์
  • ๓) ปัญหาคาบสมุทรเกาหลี และ
  • ๔) ปัญหานิวเคลียร์ในอิหร่าน
รัฐบาลสมาพันธรัฐสวิสให้ความสำคัญต่อการพัฒนาความร่วมมือกับประเทศเอเชีย-แปซิฟิก ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม โดยเฉพาะความช่วยเหลือในการฟื้นฟูประเทศที่มีระดับการพัฒนาน้อยที่สุด (least developed countries) รวมทั้งประเทศที่ได้รับผลพวงจากสงครามในช่วง ๒-๓ ปี ที่ผ่านมา สมาพันธรัฐสวิสหันมาสนใจเอเชียอย่างจริงจัง โดยเฉพาะจีน ไทย มาเลเซีย และเวียดนาม หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการเข้าไปลงทุนในยุโรปตะวันออก เพราะต้นทุนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ประเทศเหล่านี้เข้าเป็นสมาชิก EU

ในส่วนประเด็นเกี่ยวข้องกับไทยที่สมาพันธรัฐสวิสให้ความสำคัญ คือ การส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และความมั่นคงของมนุษย์ สมาพันธรัฐสวิสติดตามพัฒนาการของสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การใช้โทษประหารชีวิต สถานการณ์ในพม่า และชนกลุ่มน้อยชาวม้งลาว อย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเด็นการลดอาวุธ ทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตร (Compulsory Licensing) ซึ่งบริษัทยาสวิสในไทย รวมทั้ง Novartis ได้รับผลกระทบ

๓.๓ ด้านพหุภาคี

สมาพันธรัฐสวิสให้ความสำคัญกับประเด็นการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นใหม่ของโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคงด้านอาหาร โรคระบาด และการย้ายถิ่นฐาน เป็นต้น นอกจากนี้ สมาพันธรัฐสวิส ยังมีนโยบายความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ซึ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศในแอฟริกา รวมทั้งประเทศ ในภูมิภาคอื่น เช่น บังกลาเทศ เนปาล ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง โบลิเวีย เป็นต้น รวมทั้งประเทศหรือดินแดนที่มี ความขัดแย้ง เช่น อัฟกานิสถาน มองโกเลีย คิวบา และปาเลสไตน์

สมาพันธรัฐสวิสเคยจัดการลงประชามติเพื่อหยั่งเสียงการสมัครเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ (United Nations-UN) แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ จนเมื่อวันที่ ๓ มีนาคม ๒๕๔๕ ประชาชนสวิสได้ลงประชามติให้ความเห็นชอบในสัดส่วน ร้อยละ ๕๔.๖๑ สมาพันธรัฐสวิสจึงได้เข้าเป็นสมาชิก UN ในเดือนกันยายน ๒๕๔๕ โดยภายหลังเข้าเป็นสมาชิก UN สมาพันธรัฐสวิสได้มีบทบาทแข็งขันในหลายเรื่อง โดยเฉพาะในเรื่องสิทธิมนุษยชน ผู้อพยพ สิ่งแวดล้อม การลดอาวุธ ความมั่นคงมนุษย์ การขจัดความยากจนในโลก และการปฏิรูป UN

๓.๔ ประเด็นสำคัญในนโยบายต่างประเทศของสมาพันธรัฐสวิส ในปี ๒๕๕๓

เมื่อวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๕๒ กระทรวงการต่างประเทศสมาพันธรัฐสวิสได้แถลงประเด็นการต่างประเทศ ในปี ๒๕๕๓ ที่สมาพันธรัฐสวิสจะให้ความสำคัญ ดังนี้
  • ๓.๔.๑ องค์การศาสนา (Faith Based Organizations –FBO)

    รัฐบาลสมาพันธรัฐสวิสเห็นความสำคัญของ FBO ที่มีบทบาทสำคัญมากขึ้นเป็นลำดับในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยชน ด้านการพัฒนาอื่นๆ และมีส่วนแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตาม FBO ดำเนินการเป็นอิสระไม่มีการประสานงานระหว่างกัน สมาพันธรัฐสวิสเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม FBO ระหว่างประเทศขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงเบิร์นในปี ๒๕๕๓ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีการเสวนาแลกเปลี่ยน (dialogue) และเพื่อให้เกิดโครงการความร่วมมือที่ชัดเจน รวมทั้งการประสานงานและการปฏิบัติงานร่วมกันโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางศาสนาระหว่าง FBO ต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การสร้างพลวัตของ FBO


  • ๓.๔.๒ การสมัครในตำแหน่งต่างๆ ในองค์การสหประชาชาติ

    สมาพันธรัฐสวิสจะลงสมัครในตำแหน่งประธานสมัชชาสหประชาชติ (President of the UN General Assembly) ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๔ ซึ่งมีการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งในที่ประชุมสมัชชาฯ ครั้งที่ ๖๕ ณ นครนิวยอร์ก โดยนาย Joseph Deiss อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสวิตฯ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสมัชชาสหประชาชาติ และสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (Human Rights Council) ต่ออีก ๑ วาระ ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๖ (ซึ่งไทยกับสมาพันธรัฐสวิสได้ตกลงที่จะแลกเสียงสนับสนุนกันและกันในการลงสมัครตำแหน่งดังกล่าววาระ ปี ๒๕๕๓-๒๕๕๖ แล้ว)

  • ๓.๔.๓ การประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศพูดภาษาฝรั่งเศส (Summit of Francophonie)
  • ๓.๔.๔ การเป็นประธานสภายุโรป (Council of Europe)

    สมาพันธรัฐสวิสดำรงตำแหน่งประธานสภายุโรป ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ จนถึงพฤศจิกายน ๒๕๕๓ โดยให้ความสำคัญกับ ๓ ประเด็นหลัก ได้แก่ การปกป้องสิทธิมนุษยชนและการเคารพกฎหมาย การเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับองค์กรประชาธิปไตย และการส่งเสริมประสิทธิภาพและความโปร่งใสของสภายุโรป
ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

๑. ความสัมพันธ์ทั่วไป

๑.๑ การทูต

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสมาพันธรัฐสวิสได้เริ่มพัฒนาขึ้นตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสสมาพันธรัฐสวิส ในปี ๒๔๔๐ และปี ๒๔๕๐ โดยภายหลังการเสด็จประพาสครั้งแรก รัฐบาลสมาพันธรัฐสวิสได้เริ่มความพยายามที่จะขอเจรจา เพื่อจัดทำสนธิสัญญาไมตรีและการค้ากับไทย แต่การเจรจายืดเยื้อเป็นเวลาหลายปี เนื่องจากติดขัดประเด็นสิทธิสภาพนอกอาณาเขต จนกระทั่งไทยยกเลิกการให้สิทธิสภาพนอกอาณาเขตกับประเทศต่างๆ การเจรจาจึงสำเร็จลง และทั้งสองฝ่ายได้ลงนามย่อในสนธิสัญญาไมตรี และการค้าระหว่างไทยกับสมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๔๗๔ ณ กรุงโตเกียว ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งได้ถือวันดังกล่าวเป็นวันสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่าง ไทยกับสมาพันธรัฐสวิส สำหรับการลงนามสนธิสัญญาฯ มีขึ้นเมื่อวันที่ ๒ ตุลาคม ๒๔๗๔

ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสมาพันธรัฐสวิสได้พัฒนาอย่างราบรื่นและใกล้ชิดเป็นพิเศษมาตลอด สืบเนื่องจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงศึกษาและเจริญพระชนม์ที่สมาพันธรัฐสวิส อีกทั้ง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ สมเด็จพระศรีนครินทรา- บรมราชชนนี และสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เคยประทับที่สมาพันธรัฐสวิส เป็นเวลานาน นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ เยือนสมาพันธรัฐสวิสอย่างเป็นทางการในปี ๒๕๐๓ ส่วนในปัจจุบัน พระบรมวงศานุวงศ์ได้เสด็จฯ เยือนสมาพันธรัฐสวิส ในหลายโอกาส

สมาพันธรัฐสวิสได้ตั้งสถานกงสุลแห่งแรกขึ้นในไทย เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๔๗๕ โดยมีนายออตโต อาดเลอร์ (Otto Adler) ผู้จัดการบริษัท Diethelm & Co. จำกัด เป็นกงสุลกิตติมศักดิ์สวิสประจำประเทศไทยคนแรก และรัฐบาลสมาพันธรัฐสวิสได้ส่งนาย Alfred Escher จากกระทรวงการต่างประเทศสวิส มาดำรงตำแหน่งนายเวร ประจำสถานกงสุลแห่งนี้ นาย Escher จึงนับเป็นนักการทูตสวิสคนแรกที่ประจำการที่ประเทศไทย และในปี ๒๕๐๒ จึงได้ยกระดับเป็นสถานเอกอัครราชทูต ในส่วนของไทย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอมรทัตกฤษดากร เป็นอัครราชทูตไทยประจำสมาพันธรัฐสวิสคนแรก (ทรงมอบพระราชสาส์นตราตั้งเมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๔๗๕) โดยมีถิ่นพำนักที่กรุงปารีส ต่อมาในปี ๒๔๙๑ จึงได้ ตั้งสถานราชทูตไทยขึ้นที่กรุงเบิร์น และยกระดับเป็นสถานเอกอัครราชทูตในปี ๒๕๐๒ เอกอัครราชทูตไทยประจำสมาพันธรัฐสวิสคนปัจจุบัน คือ นายรัฐกิจ มานะทัต นอกจากนี้ ยังได้มีการแต่งตั้งกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำนครซูริค เจนีวา และบาเซิล ด้วย

เมื่อปี ๒๕๔๐ ในโอกาสครบรอบ ๑๐๐ ปี แห่งการเสด็จประพาสสมาพันธรัฐสวิสของพระบาทสมเด็จ- พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น และกระทรวงการต่างประเทศสมาพันธรัฐสวิส ได้ร่วมกันจัดทำบัตรโทรศัพท์และดวงตราไปรษณียากรที่ระลึก รวมทั้งจัดพิมพ์หนังสือ "ร้อยปีสยาม-สวิตเซอร์แลนด์" (Siam-Swiss Centenary: The Growth of a Friendship) เพื่อเป็นที่ระลึกในโอกาสดังกล่าว

เมื่อปี ๒๕๔๙ ไทยและสมาพันธรัฐสวิสเฉลิมฉลองครบรอบ ๗๕ ปี ของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย ได้จัดงานเลี้ยงรับรองเฉลิมฉลองโอกาสดังกล่าว โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ร่วมงาน และสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ร่วมกับบริษัทไปรษณีย์ไทย และการไปรษณีย์สมาพันธรัฐสวิส ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์บัตรภาพตราไปรษณียากรด้วย

นอกจากนี้ สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ได้ดำเนินโครงการจัดสร้างศาลาไทยเฉลิมพระเกียรติ ณ สวนสาธารณะเดอน็องตู (Denantou) เมืองโลซานน์ เพื่อเฉลิมฉลองวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปี และการครบรอบ ๗๕ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ซึ่งปัจจุบันศาลาจัดสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ ทรงเป็นประธานพิธีเปิดและมอบศาลาไทยดังกล่าวให้แก่เมืองโลซานน์ เมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๕๒

ปัจจุบัน ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสมาพันธรัฐสวิสดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยมีการแลกเปลี่ยน การเยือนในทุกระดับอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์และความร่วมมือที่ดีในกรอบ ความร่วมมือระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญ เช่น องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) องค์การอนามัยโลก (WHO) องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และองค์การกาชาดสากล (ICRC) รวมทั้งในด้านการกำจัดทุ่นระเบิด เครือข่ายความมั่นคงของมนุษย์ (Human Security Network) การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน

๑.๒ เศรษฐกิจ

๑.๒.๑ การค้า

สมาพันธรัฐสวิสเป็นคู่ค้าอันดับที่ ๑๕ ของไทยในโลก เป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทยในยุโรป (รองจากเยอรมนี) และเป็นอันดับ ๑ ของไทยในกลุ่มประเทศ EFTA (สมาพันธรัฐสวิส นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ และลิกเตนส์ไตน์) ส่วนประเทศไทยเป็นคู่ค้าอันดับ ๒ ของสมาพันธรัฐสวิส รองจากสิงคโปร์ในกลุ่มอาเซียน

สมาพันธรัฐสวิสได้ให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) แก่ไทย ตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ ทำให้สินค้าอุปโภคบริโภคที่ไทยส่งออกไปยังสมาพันธรัฐสวิสเกือบทั้งหมด รวมทั้งอัญมณีและเครื่องประดับ สินค้าเกษตร และอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น รองเท้า สิ่งทอ ได้รับยกเว้นภาษีศุลกากรหรือถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราต่ำ ขณะเดียวกัน มีการจัดตั้งหอการค้าสมาพันธรัฐสวิส –ไทย ขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี ๒๕๓๕ และสมาพันธรัฐสวิสจัดตั้งหอการค้าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ขึ้นที่นครซูริค เมื่อปี ๒๕๓๗

การค้ารวม การค้าในปี ๒๕๕๒ มีมูลค่า ๕,๖๓๘.๖๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงจากปี ๒๕๕๑ ร้อยละ ๕.๑ โดยไทยเป็นฝ่ายได้เปรียบดุลการค้า ๖๔๘.๕๕ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การส่งออก ในปี ๒๕๕๒ การส่งออกของไทยไปสมาพันธรัฐสวิสมีมูลค่า ๓,๑๔๓.๔๑ ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๘.๘๓จากปี ๒๕๕๑ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ (สมาพันธรัฐสวิสเป็นตลาดส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอันดับ ๗ ของไทย รองจาก สหรัฐฯ ฮ่องกง อิสราเอล ออสเตรเลีย เบลเยียม และสหราชอาณาจักร) นาฬิกาและส่วนประกอบ ส่วนประกอบอากาศยานและอุปกรณ์การบิน เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องใช้สำหรับเดินทาง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และสิ่งทออื่นๆ

การนำเข้า ในปี ๒๕๕๒ นำเข้า ๒,๔๙๔.๘๖ ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลงร้อยละ ๓๖.๙๕
จากปี ๒๕๕๑ สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เคมีภัณฑ์ เครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบ แผงวงจรไฟฟ้า ธุรกรรมพิเศษ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชและสัตว์

๑.๒.๒ สถิติการค้า ๕ ปี ระหว่างไทยกับสวิตฯ
ปีมูลค่าการค้ารวม (ล้าน $)มูลค่าการส่งออกของไทยไปสวิตฯ (ล้าน $)มูลค่าการนำเข้าของไทย (ล้าน $)ดุลการค้าของไทย (ล้าน $)สวิตฯ GDP (พันล้าน $)สวิตฯ GDP Growth in %สวิตฯ GDP per capita ($)สวิตฯ ประชากร (ล้านคน)
2549289,351.43147,883.72141,467.716,416.01391.233.653,690.97,459.13
2550333,410.11172,122.40161,287.7110,834.70434.093.659,474.67,508.74
2551383,535.98200,335.65183,200.3317,135.31500.261.868,433.17,593.49
2552329,142.64173,147.93155,994.7117,153.22494.62-1.467,559.67,783.0
2553 (ม.ค.-มิ.ย.)177,963.1894,340.4983,622.6910,717.8512.06*1.5*69,838.8*7,868.6*

ที่มาของข้อมูล: สำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ นครแฟรงเฟิร์ต เยอรมนี * = estimated by World Trade Atlas/International Monetary Fund

๑.๒.๒ การลงทุน

ชาวสวิสเริ่มเข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี ๒๔๐๙ และได้ก่อตั้งบริษัท Jucker, Sigg & Co. ขึ้นในปี ๒๔๒๕ ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท Berli Jucker ปัจจุบันมีบริษัทสวิสกว่า ๑๕๐ บริษัท เข้ามาลงทุนในไทย โดยมีบริษัทชั้นนำหลายบริษัท อาทิ Diethelm Keller (ธุรกิจท่องเที่ยว), ETA (Swatch Group - ผลิตชิ้นส่วนนาฬิกา), Nestl? (อุตสาหกรรมอาหาร), Holcim (ปูนซีเมนต์นครหลวง), Roche และ Novartis (ยา และเวชภัณฑ์), ABB (ผลิตเครื่องจักรให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) เป็นต้น จนถึงปัจจุบัน สมาพันธรัฐสวิสลงทุนในไทย ผ่านสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มากกว่า ๑๕๐ โครงการ รวมมูลค่าประมาณ ๑,๔๓๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตั้งแต่ปี ๒๕๔๖ เป็นต้นมา มีการลงทุนผ่าน BOI จำนวน ๖๕ โครงการ มูลค่ารวมประมาณ ๓๓,๐๐๐ ล้านบาท

จากข้อมูลของ BOI ในปี ๒๕๕๒ สมาพันธรัฐสวิสได้ลงทุนในไทย ๑๑ โครงการ รวมมูลค่า ๘๒.๔๒ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นอันดับ ๒ ของการลงทุนจากยุโรป รองจากเนเธอร์แลนด์ โดยเพิ่มขึ้นจาก ปี ๒๕๕๑ ร้อยละ ๑๘๐ (จำนวน ๑๐ โครงการ รวมมูลค่า ๒๙.๓๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยส่วนใหญ่เป็นการ ลงทุนในอุตสาหกรรมเครื่องจักร ผลิตภัณฑ์โลหะ ชิ้นส่วนนาฬิกา และอุปกรณ์ไฟฟ้า และส่วนประกอบ

๑.๒.๓ การท่องเที่ยว

นับตั้งแต่ปี ๒๕๓๐ เป็นต้นมา จำนวนนักท่องเที่ยวสวิสที่เดินทางมาไทยมีอัตราการเติบโตในเกณฑ์ที่ดีมาโดยตลอด ยกเว้นในปี ๒๕๔๐ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวสวิสเป็นนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ใช้เวลาพำนักอยู่ในระยะยาว และนำรายได้จำนวนมากเข้าประเทศ (ประมาณกว่า ๕,๐๐๐ ล้านบาท) จำนวนนักท่องเที่ยวสวิสจัดอยู่ในอันดับที่ ๖ ของจำนวนนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศยุโรป และในแง่แหล่งท่องเที่ยวระยะไกลจากสมาพันธรัฐสวิส (long distance destination) ประเทศไทยได้รับความนิยมมากเป็นอันดับ ๒ รองจากสหรัฐอเมริกา ในปี ๒๕๕๒ มีนักท่องเที่ยวสวิสเดินทางมาไทย จำนวน ๑๔๑,๔๙๕ คน เพิ่มขึ้นร้อยละ ๒๙.๕๔ จากปี ๒๕๕๑ (จำนวน ๑๐๙,๒๒๗ คน) ทั้งนี้ การบินไทย มีเที่ยวบินระหว่างกรุงเทพฯ กับนครซูริคทุกวัน และสายการบิน Swiss International Airlines มีเที่ยวบิน ซูริค-กรุงเทพฯ-สิงคโปร์ จำนวน ๖ เที่ยวบิน/สัปดาห์

๑.๓ สังคมและวัฒนธรรม

ปัจจุบัน มีคนไทยในสมาพันธรัฐสวิสประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน เป็นหญิง ร้อยละ ๘๐ ส่วนใหญ่สมรสกับ ชาวสวิส โดยเป็นแม่บ้านหรือเปิดร้านอาหารไทย นอกจากนี้ยังมีวัดไทย ๔ แห่ง สมาคม กลุ่มและชมรมไทย ๑๔ แห่ง และมูลนิธิ จำนวน ๒ มูลนิธิ รวมทั้งร้านอาหารและร้านขายสินค้าไทยกว่า ๑๕๐ ร้าน ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมีชาวสวิสอาศัยอยู่ในไทยประมาณ ๖,๕๐๐ คน

เมื่อปี ๒๕๔๘ สมาพันธรัฐสวิสให้ความช่วยเหลือในการฟื้นฟูหมู่บ้าน ๓ แห่ง ที่จังหวัดพังงา ซึ่งประสบ ภัยสึนามิ โดยเป็นการบูรณะโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมทั้งจัดหาเครื่องมือประกอบอาชีพให้แก่หมู่บ้านดังกล่าว

๒. ความตกลงที่สำคัญกับไทย
ความตกลงที่ได้ลงนามไปแล้ว
๒.๑ หนังสือสัญญาว่าด้วยทางพระราชไมตรีและการค้าขาย (ลงนามเมื่อปี ๒๔๗๔)
๒.๒ สนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ (ลงนามเมื่อปี ๒๔๘๐)
๒.๓ ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (ลงนามเมื่อปี ๒๔๙๙)
๒.๔ ข้อตกลงทางการค้า (ลงนามเมื่อปี ๒๕๐๗)
๒.๕ ความตกลงเพื่อแก้ไขความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศ (ลงนามเมื่อปี ๒๕๐๙)
๒.๖ ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจและวิชาการเพื่อโครงการลิกไนท์แม่เมาะในประเทศไทย (ลงนามเมื่อปี ๒๕๑๓)
๒.๗ ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศระหว่างอาณาเขตของแต่ละฝ่ายและพ้นจากนั้นไป (ลงนามเมื่อปี ๒๕๒๗)
๒.๘ หนังสือแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการยกเว้นการตรวจลงตราหนังสือเดินทางทูตและราชการ (ลงนามเมื่อ ปี ๒๕๓๓)
๒.๙ อนุสัญญาเพื่อการเว้นการเก็บภาษีซ้อนในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีเก็บจากเงินได้ (ลงนามเมื่อปี ๒๕๓๙)
๒.๑๐ สนธิสัญญาว่าด้วยการโอนตัวผู้กระทำผิด (ลงนามเมื่อปี ๒๕๔๐)
๒.๑๑ ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนในลักษณะต่างตอบแทน (ลงนามเมื่อปี ๒๕๔๐)
๒.๑๒ บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการลงทุน (ลงนามเมื่อปี ๒๕๔๒)
๒.๑๓ พิธีสารว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจประสานงาน (ลงนามเมื่อปี ๒๕๔๖) ๒.๑๔ ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศระหว่างอาณาเขตของทั้งสองฝ่ายและพ้นจากนั้นไป
(ลงนามเมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๕๓)

ความตกลงที่อยู่ระหว่างการจัดทำ

๒.๑๕ สนธิสัญญาว่าด้วยการช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางอาญา
๒.๑๖ สนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

๓. การเยือนที่สำคัญ
๓.๑ ฝ่ายไทย

พระราชวงศ์

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • ปี ๒๔๔๐ และปี ๒๔๕๐ เสด็จประพาสสมาพันธรัฐสวิส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ
  • วันที่ ๒๙ - ๓๑ สิงหาคม ๒๕๐๓ เสด็จพระราชดำเนินเยือนสมาพันธรัฐสวิส
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • วันที่ ๑๘ - ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๓ เสด็จฯ เยือนนครเจนีวา เพื่อร่วมในงานเฉลิมฉลองครบรอบ ๑๐๐ ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
  • วันที่ ๑๘ - ๑๙ เมษายน ๒๕๔๕ เสด็จฯ เยือนนครเจนีวา เป็นการส่วนพระองค์
  • วันที่ ๑๗ - ๒๐ กันยายน ๒๕๔๕ เสด็จฯ เยือนสมาพันธรัฐสวิส เพื่อทรงเข้าร่วมการสัมมนาทางวิชาการระหว่างประเทศว่าด้วยการให้การศึกษาหลังประถมศึกษาแก่ผู้ลี้ภัย ครั้งที่ ๑ ณ นครเจนีวา
  • วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๖ เสด็จฯ เยือนนครซูริค (เป็นเวลา ๑๔ ชั่วโมง) เพื่อทรงเปลี่ยนเครื่องบินพระที่นั่งในวโรกาสเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐแทนซาเนีย
  • วันที่ ๑๔ - ๑๗ ธันวาคม ๒๕๔๘ เสด็จฯ เยือนสมาพันธรัฐสวิส เพื่อทรงร่วมประชุมประจำปี คณะมนตรีมูลนิธิเพื่อการศึกษาของผู้ลี้ภัย (Refugee Education Trust - RET) ณ นครเจนีวา
  • วันที่ ๑๕ - ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เสด็จฯ เยือนสมาพันธรัฐสวิส เพื่อทรงเป็นประธานพิธีเปิด ศาลาไทย ณ เมืองโลซานน์
  • วันที่ ๑๒ - ๑๔ เมษายน ๒๕๕๒ เสด็จฯ เยือนสมาพันธรัฐสวิส เพื่อทรงเป็นประธานพิธีเปิด อาคารหลังใหม่ของโรงเรียน Ecole Nouvelle de la Suisse Romande ที่เมืองโลซานน์ ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเคยศึกษาอยู่
สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
  • วันที่ ๒๑ - ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๔๓ เสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิส เป็นการส่วนพระองค์ี
  • วันที่ ๒๒ - ๒๘ กันยายน ๒๕๔๓ เสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิส เป็นการส่วนพระองค์
  • วันที่ ๙ - ๑๕ กันยายน ๒๕๔๔ เสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิส เพื่อทรงเข้าร่วมการสัมมนา Phytochemical Society of Europe ณ มหาวิทยาลัยโลซานน์
  • วันที่ ๑๒ - ๒๐ ธันวาคม ๒๕๔๗ เสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิส เพื่อทรงเข้าร่วมงานสัมนนาด้านวิชาการ ณ นครเจนีวา
  • วันที่ ๖ - ๑๘ กรกฎาคม ๒๕๔๘ เสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิส ตามคำกราบทูลเชิญของประธานบริษัท Novartis และ Roche
  • วันที่ ๒๔ พฤษภาคม - ๘ มิถุนายน ๒๕๔๙ เสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิส เพื่อทรงเข้าร่วมการประชุม International Conference on Natural Products: A Chance for the Future of Mankind ครั้งที่ ๔ ณ นครเจนีวา
  • วันที่ ๒๓ – ๓๐ เมษายน ๒๕๕๐ เสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิส เพื่อทรงรับการทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญ Albert Hofmann Gold Medal for Advances in Natural Products Chemistry จากสถาบันเคมีอินทรีย์แห่งมหาวิทยาลัยซูริค
  • วันที่ ๒๓ – ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๑ เสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิส เพื่อทรงเข้าร่วมการประชุม 2008 World Cancer Summit ณ นครเจนีวา
  • วันที่ ๑๖ - ๒๐ สิงหาคม ๒๕๕๒ เสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิส เพื่อทรงเข้าร่วมการสัมมนา International Congress and Annual Meeting of the Society for Medicinal Plant Research ณ นครเจนีวา
สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
  • วันที่ ๔ - ๗ ตุลาคม ๒๕๔๓ เสด็จเยือนเมืองโลซานน์ เป็นการส่วนพระองค์
  • วันที่ ๒๒ - ๒๔ มิถุนายน ๒๕๔๔ เสด็จเยือนเมืองโลซานน์ เป็นการส่วนพระองค
  • วันที่ ๑๑ - ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๔๕ เสด็จเยือนนครเจนีวา ในโอกาสการเปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เส้นทาง กรุงเทพฯ-เอเธนส์-เจนีวา
  • วันที่ ๒๓ - ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๖ เสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิส เป็นการส่วนพระองค์
  • วันที่ ๑๖ - ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๔๗ เสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิส เป็นการส่วนพระองค์
ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี
  • วันที่ ๑๑ - ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๔๙ เสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิส เพื่อทรงเข้าร่วมงาน Swiss Red Cross Ball ครั้งที่ ๕ ณ นครเจนีวา
  • วันที่ ๒๔ – ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ เสด็จเยือนสมาพันธรัฐสวิส เพื่อเป็นองค์ประธานในโครงการประชาสัมพันธ์อุตสาหกรรมภาพยนตร์และบันเทิงไทย
นายกรัฐมนตรี/ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
  • เดือนมกราคม ๒๕๓๙ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี เยือนสมาพันธรัฐสวิส เพื่อเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ณ เมืองดาวอส
  • วันที่ ๑๑ - ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๔๓ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสมาพันธรัฐสวิส เพื่อเข้าร่วมประชุมด้านความมั่นคงของมนุษย์ ณ เมืองลูเซิร์น
  • วันที่ ๑๒ - ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๔๗ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสมาพันธรัฐสวิส เพื่อเข้าร่วมการประชุม ISC-Symposium ครั้งที่ ๓๔ ณ เมืองแซง กาลอง
  • วันที่ ๒๘ มกราคม – ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ณ เมืองดาวอส
  • วันที่ ๒๙-๓๐ มกราคม ๒๕๕๓ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เยือนสมาพันธรัฐสวิส เพื่อ เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ณ เมืองดาวอส
  • วันที่ ๒๙-๓๐ มกราคม ๒๕๕๓ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนสมาพันธรัฐสวิส เพื่อเข้าร่วมการประชุม World Economic Forum ณ เมืองดาวอส
๓.๒ ฝ่ายสวิส
ประธานาธิบดี/รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
  • วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๐ นายอาร์โนลด์ คอลเลอร์ (Arnold Koller) ประธานาธิบดี และภริยา เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล
  • วันที่ ๑๗ - ๑๙ มีนาคม ๒๕๔๗ นายโยเซ็ฟ ไดส์ (Joseph Deiss) ประธานาธิบดี ซึ่งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาล
  • วันที่ ๘ - ๑๑ ตุลาคม ๒๕๔๓ นายโยเซ็ฟ ไดส์ (Joseph Deiss) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ
  • วันที่ ๒ - ๓ มกราคม ๒๕๔๘ นางมิเชอลีน กาลมี เรย์ (Micheline Calmy-Rey) รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการต่างประเทศ เยือนไทยเพื่อเยี่ยมชาวสวิสที่ได้รับบาดเจ็บจากภัยสึนามิ

กรมยุโรป
กระทรวงการต่างประเทศ และ
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น
กันยายน ๒๕๕๓




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น