ไบโอติน
ไบโอติน (Biotin) หรือ วิตามินบี 7 (Vitamin B7) หรือ วิตามินเอช (Vitamin H) เป็นวิตามินที่ละลายในน้ำซึ่งมีซัลเฟอร์เป็นส่วนประกอบ และจัดอยู่ในกลุ่มวิตามินบีรวม มีหน่วยวัดเป็นไมโครกรัม (มคก. หรือ mcg.) โดยมีส่วนสำคัญในการเผาผลาญไขมันและโปรตีน การสังเคราะห์กรดแอสคอร์บิกต้องใช้ไบโอตินเป็นตัวช่วย โดยแบคทีเรียในลำไส้ก็สามารถสังเคราะห์ไบโอตินได้ สำหรับประโยชน์โดยรวมจะช่วยรักษาสุขภาพผิวพรรณ เส้นผม และเล็บ
- แหล่งที่พบไบโอตินตามธรรมชาติ ได้แก่ ตับวัว ไข่แดง นม แป้งถั่วเหลือง เนย ถั่วลิสง บริเวอร์ยีสต์ ข้าวที่ไม่ผ่านการขัดสี เป็นต้น
- โรคจากการขาดไบโอติน ได้แก่ ผมร่วง ซึมเศร้า เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรง การเผาผลาญไขมันทำงานไม่สมบูรณ์ เป็นผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณหน้าและตัว
- ผลเสียของการรับประทานเกินขนาด ปัจจุบันยังไม่พบผู้ที่มีอาการเป็นพิษจากการรับประทานไบโอตินเกินขนาดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน และศัตรูของไบโอติน ได้แก่ ไข่ขาวดิบ (เพราะมีอะวิดิน ซึ่งเป็นตัวขัดขวางการดูดซึมของวิตามินเอชหรือไบโอติน) น้ำ แอลกอฮอล์ ยาในกลุ่มซัลฟา ฮอร์โมนเอสโตรเจน และกระบวนการแปรรูปอาหาร
ประโยชน์ของไบโอติน
- ไบโอติน ช่วยป้องกันผมหงอกได้ดี
- ช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
- ช่วยในการเผาผลาญไขมันและโปรตีน
- ช่วยป้องกันและรักษาโรคเกี่ยวกับเส้นผมและหนังศีรษะล้าน
- ช่วยบรรเทาอาการผื่นผิวหนังอักเสบ ผดผื่นคันต่าง ๆ
- ช่วยป้องกันและบำรุงรักษาเล็บที่แห้งเปราะ
คำแนะนำในการรับประทานไบโอติน
- ไบโอตินในรูปแบบอาหารเสริม มีขนาดรับประทานทั่วไปตั้งแต่ 25 – 300 ไมโครกรัมต่อวัน โดยมักจะรวมอยู่ในอาหารเสริมประเภทวิตามินบีรวมและวิตามินรวมทั่วไป
- ขนาดที่แนะนำให้รับประทานต่อวันคือ 100 – 300 ไมโครกรัม
- ไข่ดิบจะลดการดูดซึมของวิตามินเอช
- หากรับประทานเครื่องดื่มปั่นโปรตีนสูงที่มีไข่ดิบผสมอยู่ ควรรับประทานไบโอตินเสริม
- ผู้ที่รับประทานยาปฏิชีวนะหรือยาในกลุ่มซัลฟา ควรรับประทานไบโอตินเพิ่มอย่างน้อย 25 ไมโครกรัม ต่อวัน
- ผู้ที่มีปัญหาผมร่วง การรับประทานไบโอตินก็เป็นทางออกที่ดี
- ขณะตั้งครรภ์ ระดับของไบโอตินจะลดลง คุณควรรับประทานไบโอตินเสริม
- การรับประทานไบโอติน 300 ไมโครกรัม ทุกวันเป็นเวลา 3 เดือน สามารถรักษาอาการเล็บแห้ง ฉีก เปราะได้ โดยหากอาการดีขึ้นค่อยปรับลดขนาดลง
- ไบโอติน หรือ Vitamin H จะทำงานเสริมซึ่งกันและกันกับวิตามินบี 1 วิตามินบี 3 วิตามินบี 6 และวิตามินเอ ได้เป็นอย่างดี
ที่มา : หนังสือวิตามินไบเบิล (ดร.เอิร์ล มินเดลล์)
เว็บไซต์เมดไทย (MedThai)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น