Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันอังคารที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

เจ็บคอ (Sore throat) อาการ สาเหตุ และวิธีแก้เจ็บคอ 20 วิธี !!

เจ็บคอ (Sore throat) อาการ สาเหตุ และวิธีแก้เจ็บคอ 20 วิธี !!






























เจ็บคอ


เจ็บคอ (Sore throat) เป็นอาการเจ็บหรือรู้สึกระคายเคืองในลำคอ เนื่องจากมีการอักเสบของเนื้อเยื่อลำคอ เช่น ผนังช่องคอ ต่อมทอนซิล เพดานอ่อน โคนลิ้น กล่องเสียง เป็นต้น โดยอาการมักจะเป็นมากขึ้นเวลากลืน ส่วนใหญ่อาการเจ็บคอมักเกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ แต่บ่อยครั้งก็อาจเกิดจากการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ

อาการเจ็บคอเป็นอาการที่พบได้บ่อยมาก เกือบทุกคนต้องเคยมีอาการนี้อย่างน้อย 1 ครั้งในชีวิต สามารถพบได้ในทุกช่วงอายุตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ แต่จะพบได้บ่อยในเด็ก วัยรุ่น และคนวัยหนุ่มสาว ส่วนในเพศชายและเพศหญิงมีอัตราการเกิดใกล้เคียงกัน และพบเกิดได้ตลอดทั้งปี แต่จะพบได้สูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว

โดยทั่วไปอาการเจ็บคอจะเป็นอาการที่ไม่รุนแรง สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการพักใช้เสียง ดื่มน้ำให้มาก ๆ รับประทานยาแก้ปวดพาราเซตามอล ฯลฯ แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามีอาการเจ็บมากจนส่งผลทำให้รับประทานอาหารและดื่มน้ำได้น้อย และอาการไม่ดีขึ้นหลังการดูแลตนเองภายใน 1-3 วัน ก็ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเสมอ


สาเหตุของอาการเจ็บคอ


สาเหตุของอาการเจ็บคอ อาจแบ่งได้เป็น

  1. สาเหตุที่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เป็นสาเหตุของอาการเจ็บคอที่พบได้บ่อยที่สุดคิดเป็นประมาณ 80-90% ของอาการเจ็บคอทั้งหมด โดยมักเป็นการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจตอนบน (จมูก ช่องปาก และช่องคอ) ซึ่งเกิดได้ทั้งจากเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย และเชื้อรา
    • จากเชื้อไวรัส เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด เชื้อที่เป็นสาเหตุที่พบได้ เช่น จากโรคหวัด โรคไข้หวัดใหญ่ โรคคออักเสบ โรคกล่องเสียงอักเสบ โรคหลอดลมอักเสบ โรคหัด และโรคอีสุกอีใส (ในเด็กจนถึงวัยหนุ่มสาวจะพบอาการเจ็บคอจากเชื้อไวรัสได้ประมาณ 60-70% ส่วนในผู้ใหญ่จะพบได้ประมาณ 80-85%)
    • จากเชื้อแบคทีเรีย เช่น จากโรคไซนัสอักเสบ โรคต่อมทอนซิลอักเสบ โรคฝีรอบต่อมทอนซิล โรคฝาปิดกล่องเสียงอักเสบ โรคคออักเสบจากการติดเชื้อ โรคไอกรน โรคคอตีบ และโรคฉี่หนู (ในเด็กจนถึงวัยหนุ่มสาวจะพบอาการเจ็บคอจากเชื้อแบคทีเรียได้ประมาณ 25-50% ส่วนในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุจะพบได้ประมาณ 5-15%)
    • จากเชื้อรา เป็นสาเหตุที่พบได้น้อย โดยมักพบในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยโรคเอดส์ เป็นต้น
  2. สาเหตุที่เกิดจากการอักเสบที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เป็นสาเหตุที่พบได้น้อยคิดเป็นประมาณ 5-10% เช่น
    • จากการดื่มน้ำน้อย
    • จากการใช้เสียงมากเกินควร โดยเฉพาะเมื่อเป็นการตะโกน
    • จากการมีสิ่งแปลกปลอมค้างอยู่ในลำคอ เช่น ก้างปลา
    • จากช่องคอได้รับการบาดเจ็บโดยตรง เช่น อุบัติเหตุ
    • จากการสัมผัสกับสิ่งที่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ฝุ่นละอองหรือควันต่าง ๆ, ควันบุหรี่ (ทั้งจากการสูบโดยตรงหรือการสูบบุรี่มือสอง), สารเคมี, เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์, การคาท่อช่วยหายใจ, การคาท่อให้อาหารจากจมูกลงไปยังกระเพาะอาหาร รวมไปถึงการฉายแสงหรือการได้รับยาเคมีบำบัดแล้วทำให้เยื่อบุลำคออักเสบ
    • จากผลข้างเคียงของยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิตบางชนิด เช่น ยาอะทีโนลอล (Atenolol)
    • จากการระคายเคืองจากกรดในกระเพาะอาหารในโรคกรดไหลย้อน (กรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง)
    • จากการไอเรื้อรัง สายเสียงอักเสบเรื้อรัง
    • จากโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้และโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้
    • จากโรคของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณคอเกิดการอักเสบ
    • จากโรคเนื้องอกของคอหอยและกล่องเสียง


อาการเจ็บคอ


อาการและอาการแสดงของอาการเจ็บคออาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็น ได้แก่
  • เจ็บแสบหรือรู้สึกระคายเคืองในลำคอ ซึ่งอาการดังกล่าวนี้มักจะเป็นมากขึ้นในขณะที่กลืนหรือพูด
  • กลืนลำบาก รู้สึกว่าคอแห้ง เสียงอาจเปลี่ยน และอาจมีอาการปวดร้าวไปที่หู
  • เยื่อบุลำคอมีสีแดง อาจมีตุ่มแดงของเนื้อเยื่อน้ำเหลืองโตเป็นจุด ๆ, ต่อมทอนซิลบวม โต และแดง, มีจุดหนองสีขาวเหลืองหรือฝ้าขาวอยู่บนต่อมทอนซิล และอาจมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตและเจ็บ
  • ในเด็กอาจไม่ยอมรับประทานน้ำหรืออาหาร

นอกจากนี้ อาการเจ็บคออาจเกิดร่วมกับอาการอื่น ๆ ได้เสมอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น ถ้าผู้ป่วยมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ผู้ป่วยอาจมีอาการมีไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ปวดร้าวไปที่หู เสียงแหบ มีน้ำมูกใส ๆ คัดจมูก ไอ จาม มีเสมหะ มีกลิ่นปาก เยื่อบุตาแดง คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ท้องเสีย เป็นต้น

  • อาการที่มักเกิดร่วมกับอาการเจ็บคอที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อ ที่พบได้บ่อย ๆ เช่น อาการไข้ หนาวสั่น, ไอ (อาจมีเสมหะหรือไม่มีเสมหะ), จาม มีน้ำมูก, ตาแดง ตาสู้แสงไม่ได้, ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว, อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน, และอาจมีอาการท้องเสียแต่ไม่มาก
  • อาการที่มักเกิดร่วมกับอาการเจ็บคอทั้งที่เกิดจากการติดเชื้อและไม่ได้ติดเชื้อ ที่พบได้บ่อย ๆ เช่น อาการเจ็บคอมากขึ้นเมื่อกลืน กิน ดื่ม พูด หรือไอ, คอแดง, เสียงแหบ, ปาก คอ แห้ง, ต่อมทอนซิลแดง (อาจโตและมีแผ่นขาว ๆ เหลือง ๆ ปกคลุม), อาจมีต่อมน้ำเหลืองที่คอโตจนคลำได้ (อาจเกิดเพียงข้างเดียวหรือทั้งสองข้างและมักจะเจ็บ), อาจมีตุ่มนูนเล็ก ๆ สีแดงกระจายที่ผนังด้านหลังของคอหอยที่เกิดจากการโตของต่อมน้ำเหลืองที่เรียกว่า Lymphoid hyperplasia of pharyngeal wall, ในเด็กมักไม่ยอมกินเพราะจะเจ็บเวลากลืน


อาการเจ็บคอ
IMAGE SOURCE : www.menshealth.com


อาการเจ็บคออาจแบ่งตามระยะเวลาที่มีอาการเจ็บคอได้ดังนี้

  • อาการเจ็บคอเฉียบพลัน สาเหตุที่พบได้บ่อย ๆ คือ
    • โรคคออักเสบหรือต่อมทอนซิลอักเสบจากการติดเชื้อ
    • โรคสายเสียงหรือกล่องเสียงอักเสบ ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากการติดเชื้อไวรัส ได้แก่ เชื้อหวัด (Adenovirus ในเด็ก และ Rhinovirus และ Corona Virus ในผู้ใหญ่), เชื้อไข้หวัดใหญ่ (Influenza), เชื้อไวรัสหัด (Measles), เชื้อไวรัสอีสุกอีใส (Chicken pox), เชื้อเริม (Herpes simplex virus), เชื้อ Epstein-Barr Virus (Infectious mononucleosis) เป็นต้น รองลงมาจะเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ได้แก่ เชื้อสเตรปโตค็อกคัสกลุ่มเอ (Group A streptococcus), เชื้อหนองใน (Gonorrhea), เชื้อหนองในเทียม (Chlamydia), เชื้อคอตีบ (Diphtheria) และมีส่วนน้อยที่เกิดจากการติดเชื้อรา ได้แก่ เชื้อแคนดิดา (Candida)
  • อาการเจ็บคอเรื้อรัง เป็นอาการที่น่ารำคาญที่พบได้บ่อย และอาจทำให้ผู้ป่วยต้องไปพบแพทย์เป็นประจำเนื่องจากไม่หายสักที ทำให้ผู้ป่วยบางรายต้องรับประทานยาปฏิชีวนะหลายชนิดเป็นระยะเวลานาน การวินิจฉัยสาเหตุ แพทย์จำเป็นต้องซักประวัติ ตรวจร่างกาย และทำการตรวจจมูก ไซนัส ช่องคอ อย่างละเอียด ส่วนสาเหตุของอาการเจ็บคอเรื้อรังนั้นก็เกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่โรคจมูก ไซนัส ลำคอ กล่องเสียง หลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร เช่น
    • โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้และโรคจมูกอักเสบชนิดไม่แพ้ เป็นโรคที่เกิดจากเยื่อบุจมูกไวผิดปกติ เมื่อสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นจะทำให้เยื่อบุจมูกบวม มีอาการคัดจมูกเรื้อรัง ทำให้ต้องอ้าปากหายใจ เกิดเยื่อบุลำคอแห้ง และเกิดอาการเจ็บคอเรื้อรังได้ นอกจากนี้ยังมีน้ำมูกที่ไหลลงคอทำให้เกิดการระคายคอตลอดเวลา ซึ่งก็ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บคอเรื้อรังได้เช่นกัน
    • ไซนัสอักเสบเรื้อรัง เป็นโรคที่ทำให้เยื่อบุจมูกบวม มีอาการคัดจมูกเรื้อรัง ทำให้ต้องหายใจทางปากตลอด เกิดเยื่อบุลำคอแห้ง และเกิดอาการเจ็บคอเรื้อรัง นอกจากนี้สารคัดหลั่งจากไซนัสและจมูกที่อักเสบที่ไหลลงคอยังทำให้มีอาการอักเสบระคายเคืองของผนังคอ และเกิดอาการเจ็บคอเรื้อรังได้เช่นกัน
    • การติดเชื้อของลำคอ และ/หรือต่อมทอนซิลเรื้อรัง โดยอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียซึ่งดื้อต่อยาปฏิชีวนะ หรือเกิดจากการที่ผู้ป่วยรับประทานยาปฏิชีวนะไม่ครบตามระยะเวลาที่กำหนด หรือมีแหล่งของเชื้อโรคอยู่ในช่องปาก เช่น การมีฟันผุ หรือโรคเหงือกอักเสบ นอกจากนั้นอาจเกิดจากการติดเชื้อราบางชนิด เชื้อวัณโรค เชื้อไวรัสเอดส์ เชื้อซิฟิลิส เชื้อโรคเรื้อน อย่างไรก็ตาม การติดเชื้อดังกล่าวนี้ก็พบได้น้อย
    • โรคผนังช่องคอ และ/หรือสายเสียงอักเสบเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดจากการไอเรื้อรังเกิดจากการระคายเคืองจากการสัมผัสฝุ่น ควันบุหรี่ สารเคมี อาหารรสจัด หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือเกิดจากการใช้เสียง (เช่น การพูดเสียงดัง การพูดเป็นเวลานาน) ทำให้มีการกระแทกกันของสายเสียงและมีการใช้กล้ามเนื้อของผนังคอที่มากเกินไป
    • โรคของเส้นประสาทที่มาเลี้ยงบริเวณคอ เช่น เส้นประสาทสมองคู่ที่ 9 ที่มีการกระตุ้นหรือการระคายเคือง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ ได้ โดยอาการปวดมักจะเริ่มจากผนังคอแล้วร้าวไปที่หู คอ และศีรษะนานเป็นวินาที ซึ่งมักถูกกระตุ้นโดยการกลืน การเคี้ยว การหาว และการไอ
    • โรคเนื้องอกของคอหอยและกล่องเสีย ทำให้เนื้องอกไปกดเบียดเส้นประสาท ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บคอเรื้อรังได้
    • โรคกรดไหลย้อนขึ้นมาที่คอและกล่องเสียง ทำให้เยื่อบุและกล้ามเนื้อของผนังคอเกิดการอักเสบ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บคอเป็น ๆ หาย ๆ ได้
    • สิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ เช่น ก้างปลา เศษกระดูกชิ้นเล็ก ๆ ที่คาอยู่ในผนังลำคอหรือต่อมทอนซิลหรือที่โคนลิ้นเป็นระยะเวลานาน ทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดการอักเสบติดเชื้อ ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บคอเรื้อรังได้ แต่อย่างไรก็ตามสาเหตุนี้ก็พบเกิดได้น้อยมาก


การวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการเจ็บคอ


แพทย์สามารถวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการเจ็บคอได้จากลักษณะทางคลินิก เช่น ประวัติอาการของผู้ป่วย การตรวจร่างกาย การตรวจดูในลำคอ การตรวจคลำต่อมน้ำเหลืองลำคอ และอาจร่วมกับการตรวจทางหูคอจมูก แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจมีการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การตรวจย้อมเชื้อและ/หรือเพาะเชื้อจากสารคัดหลั่ง เสมหะ หรือจากลำคอ, การตรวจเลือดซีบีซี (CBC), การตรวจปัสสาวะ, การตรวจเลือดเพื่อดูสารก่อภูมิต้านทานโรคติดเชื้อต่าง ๆ, การเอกซเรย์ภาพปอดในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการไอมากร่วมกับมีเสมหะมาก เป็นต้น


ทำไงให้หายเจ็บคอ
IMAGE SOURCE : www.hilarymartinhiman.com


ภาวะแทรกซ้อนของอาการเจ็บคอ


อาจทำให้เกิดภาวะขาดอาหารและภาวะขาดน้ำจากการที่ผู้ป่วยไม่ยอมกลืน (เพราะกลืนแล้วจะเจ็บคอมาก) โดยเฉพาะในเด็กเล็กและในผู้สูงอายุ


วิธีรักษาอาการเจ็บคอ


การดูแลตนเองในเบื้องต้น เมื่อมีอาการเจ็บคอผู้ป่วยควรปฏิบัติตัวให้ถูกต้องและเหมาะสมตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  1. ควรหยุดงานหรือหยุดเรียนจนกว่าไข้จะลดลงแล้วอย่างน้อย 24 ชั่วโมง
  2. งดการใช้เสียงชั่วคราว
  3. ควรรับประทานอาหารอ่อน ๆ ที่มีรสจืด เช่น โจ๊กหรือข้าวต้มที่ไม่ร้อนจนเกินไป โดยรับประทานครั้งละน้อย ๆ แต่ให้บ่อยขึ้น
  4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่มีรสเผ็ดหรือรสจัด รวมไปถึงอาหารที่ปรุงด้วยการผัดหรือการทอด
  5. พยายามทำความสะอาดคอบ่อย ๆ โดยเฉพาะหลังการรับประทานอาหาร ด้วยการแปรงฟันหรือกลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ (ผสมเกลือ 1 ช้อนชาในน้ำอุ่น 1 แก้ว) น้ำยาบ้วนปาก หรือน้ำเปล่าทุก 1-2 ชั่วโมงหลังอาหารทุกมื้อ เนื่องจากการไม่รักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี อาจทำให้มีเศษอาหารตกค้างอยู่ในช่องปากและลำคอ ทำให้เกิดอาการเจ็บคอมากขึ้นได้
  6. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอและดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ (ควรเป็นน้ำอุณหภูมิปกติหรือน้ำพออุ่น) อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดการดื่มน้ำ เพื่อช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับเยื่อบุลำคอที่กำลังอักเสบ และยังช่วยลดอาการเจ็บคอและระคายคอได้ด้วย
  7. รับประทานยาแก้ปวดลดไข้พาราเซตามอลเมื่อมีไข้หรือเจ็บคอมาก
  8. วิธีแก้เจ็บคออื่น ๆ เช่น การกลั้วคอด้วยน้ำเกลืออุ่น ๆ, การดื่มชาคาโมไมล์, การดื่มน้ำผึ้งสูตรต่าง ๆ (เช่น สูตรน้ำร้อนผสมน้ำผึ้ง, น้ำมะนาว, อบเชย 1 ช้อนโต๊ะ และแอปเปิ้ลไซเดอร์อย่างละ 1 ช้อนโต๊ะ), การดื่มน้ำขิง, การดื่มชาชะเอมเทศผสมอบเชย, การรับประทานซุปไก่ (ทำจากไก่สด ๆ), การรับประทานซุปกระเทียม, การอมยาอมผสมมิ้นต์, การใช้ยาน้ำแก้ไอหรือยาอมแก้ไอ (ควรปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยาเสมอ) เป็นต้น
  9. หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่แออัด หรือมีฝุ่นละอองหรือควันต่าง ๆ หรือสถานที่ที่มีคนรอบข้างป่วยหรือไม่สบาย
  10. การเปิดเครื่องทำความชื้น ถ้าอากาศในบ้านแห้งจนเกินไปก็อาจทำให้อาการเจ็บคอแย่ลงได้ ซึ่งการเปิดเครื่องทำความชื้นจะช่วยรักษาสภาพของเนื้อเยื่ออ่อนต่าง ๆ ในลำคอได้
  11. พยายามอยู่ในที่ที่อากาศถ่ายเทได้สะดวก หลีกเลี่ยงฝุ่น ควัน ของฉุน และสิ่งระคายเคืองอื่น ๆ เพื่อลดอาการระคายคอ
  12. ควรให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายอย่างเพียงพอ และหลีกเลี่ยงการอาบน้ำเย็น การตากฝน หรือการสัมผัสอากาศที่เย็นมาก ๆ เช่น การนอนเปิดแอร์เย็นมาก ๆ หรือเปิดพัดลมเป่าจ่อ
  13. หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่
  14. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม รวมถึงชาและกาแฟ
  15. ระวังการแพร่เชื้อติดต่อไปยังบุคคลข้างเคียง ด้วยการใช้กระดาษชำระปิดปากปิดจมูกเวลาไอหรือจามทุกครั้ง และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะตอนหลังเข้าห้องน้ำ ก่อนการรับประทานอาหาร หรือหลังการไอหรือจาม
  16. ถ้าไปพบแพทย์มาแล้วควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ ไปพบแพทย์ตามนัดเสมอ และรับประทานยาต่าง ๆ ที่สั่งให้ครบถ้วน โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะที่ผู้ป่วยต้องรับประทานให้ครบตามที่แพทย์สั่ง แม้ว่าหลังจากรับประทานยาไปแล้ว 2-3 วันอาการจะดีขึ้นแล้วก็ตาม เพราะหากไม่รับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบ นอกจากจะทำให้โรคกำเริบได้บ่อยแล้วยังอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาได้ด้วย
    วิธีแก้เจ็บคอ
    IMAGE SOURCE : www.rd.com

ไปพบแพทย์เมื่อไหร่ ? เมื่อมีอาการเจ็บคอมากจนมีผลต่อการกิน ดื่ม และ/หรือมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยที่อาการยังไม่ดีขึ้นภายใน 2-3 วันหลังจากดูแลตนเองในเบื้องต้นตามวิธีดังกล่าว ควรไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป แต่ถ้ามีอาการเลวลงหลังจากดูแลตนเองในเบื้องต้นควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันทีโดยไม่ต้องรอจนถึง 2-3 วัน

  • สำหรับผู้ป่วยเด็กที่มีอาการเจ็บคอ ผู้ปกครองควรพาเด็กมาพบแพทย์เมื่อเด็กมีอาการน้ำลายไหลตลอดเวลา ซึ่งบ่งบอกว่าเด็กกลืนไม่ได้ ไม่ยอมรับประทานอาหาร, กลืนลำบาก หรือหายใจลำบาก
  • สำหรับผู้ป่วยที่เป็นผู้ใหญ่ที่มีอาการเจ็บคอ ควรไปพบแพทย์เมื่อมีอาการเจ็บคอมาก หรือเจ็บคอเรื้อรังนานเกิน 1 สัปดาห์ แล้วยังไม่หาย, มีอาการเจ็บคอบ่อย เป็น ๆ หาย ๆ, มีอาการเจ็บคอมากจนรับประทานอาหารและดื่มน้ำได้น้อย, กลืนลำบาก มีน้ำลายไหล, หายใจลำบาก ไอ หอบเหนื่อย, ไม่สามารถอ้าปากได้, มีอาการปวดหู หูอื้อ หรือปวดตามข้อร่วมด้วย, มีไข้สูงมากกว่า 38.3 องศาเซลเซียส, มีผื่น, มีน้ำลายหรือเสมหะปนเลือด, คลำก้อนได้ที่คอ, มีเสียงแหบหรือต่อมน้ำเหลืองโตร่วมด้วยนานเกิน 2 สัปดาห์, เป็นผู้ป่วยที่เคยมีประวัติเป็นโรคไข้รูมาติกหรือโรคลิ้นหัวใจ, เป็นผู้ป่วยที่เป็นโรคที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ (เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน เอดส์ มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคไขกระดูกฝ่อ ไม่มีม้ามหรือได้รับการผ่าตัดม้ามออก กำลังได้รับยาเคมีบำบัดหรือยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น ในผู้ป่วยที่ได้รับการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยไทรอยด์เป็นพิษที่ได้ยาคาร์บิมาโซล (Carbimazole) เป็นต้น))
  • สำหรับการไปพบแพทย์ก่อนนัด หลังจากได้พบแพทย์ ผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเสมอเมื่ออาการต่าง ๆ เลวลง เช่น มีอาการเจ็บคอมากขึ้นจนกลืนไม่ได้, ยังคงมีไข้สูงหรือกลับมามีไข้อีก หรือมีอาการเจ็บคออีก หลังจากอาการเดิมดีขึ้นแล้ว, ยังคงมีเสียงแหบหลังอาการต่าง ๆ ดีขึ้นแล้ว (อาจเป็นอาการของโรคมะเร็งกล่องเสียงในผู้สูงอายุ), รับประทานอาหารหรือดื่มน้ำได้น้อย, มีผื่นขึ้นตามมาหลังจากมีไข้หรือหลังไข้ลง, มีน้ำมูกหรือเสมหะเปลี่ยนเป็นสีเขียวเหลืองหรือยังคงมีน้ำมูกหรือเสมหะเรื้อรังหลังจากอาการต่าง ๆ หายแล้ว (เป็นอาการของไซนัสอักเสบเรื้อรัง) หรือเมื่อมีความกังวลในอาการที่เป็นอยู่

  • ในรายที่อาการเจ็บคอเกิดจากเชื้อไวรัส แพทย์จะให้การรักษาไปตามอาการเท่านั้น เช่น การให้พักผ่อนอย่างเต็มที่, การดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว, การกลั้วคอด้วยน้ำเกลือหรือน้ำยาบ้วนปากเพื่อรักษาความสะอาดในช่องปากและช่วยให้ช่องปากชุ่มชื้นและลดการระคายเคือง, การให้ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ (เช่น ยาอม ยากลั้วคอหรือพ่นคอ จิบยาน้ำ ซึ่งยาเหล่านี้จะช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นและลดอาการระคายคอได้), ยาบรรเทาอาการปวดหรือเจ็บคอหรือยาลดไข้ (เช่น ยาพาราเซตามอล, ยาต้านอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์), ยาลดน้ำมูกหรือยาแก้แพ้ (Antihistamines), การให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำเมื่อกินดื่มได้น้อย เป็นต้น โดยไม่จำเป็นต้องให้รับประทานยาปฏิชีวนะหรือยาฆ่าเชื้อ (เพราะยาปฏิชีวนะมีไว้ใช้สำหรับฆ่าเชื้อแบคทีเรีย แต่ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้ นอกจากนี้ยังทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลข้างเคียงจากยาหรือความเสี่ยงที่จะแพ้ยาซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกาย รวมไปถึงความเสี่ยงต่อการดื้อยาของการติดเชื้อครั้งต่อไปอีกด้วย)
  • ในรายที่อาการเจ็บคอเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แพทย์จะรักษาไปตามอาการดังกล่าวร่วมไปกับการให้รับประทานยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลินวี (Penicillin V), อะม็อกซีซิลลิน (Amoxicillin) หรืออิริโทรมัยซิน (Erythromycin) เป็นต้น โดยให้รับประทานติดต่อกันประมาณ 7-10 วัน หรือตามที่แพทย์สั่ง โดยเฉพาะถ้าเกิดจากเชื้อสเตรปโตค็อกคัส (Streptococcus) ทั้งนี้เพื่อป้องกันไข้รูมาติกและกรวยไตอักเสบเฉียบพลัน
  • ในรายที่อาการเจ็บคอเกิดจากเชื้อรา แพทย์จะให้ยาต้านเชื้อราชนิดใดชนิดหนึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อรา เช่น ให้ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) ในกรณีที่มีสาเหตุมาจากเชื้อราแคนดิดา (Candida) เป็นต้น
  • การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคกรดไหลย้อน โรคภูมิแพ้ โรคเนื้องอกของกล่องเสียง รวมไปถึงการแนะนำให้ผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ หรือหยุดใช้ยาที่เป็นสาเหตุ เป็นต้น
  • การรักษาอาการเจ็บคอเรื้อรัง สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องหาสาเหตุของอาการเจ็บคอที่เป็นอยู่เรื้อรังให้พบและรักษาไปตามสาเหตุ อาการผู้ป่วยถึงจะหาย และมีโอกาสน้อยที่จะกลับมาเป็นอีก



โดยทั่วไปอาการเจ็บคอมักจะเป็นอาการที่ไม่รุนแรง และมักสามารถรักษาที่สาเหตุและอาการให้หายได้เสมอ ส่วนความรุนแรงของการเจ็บคอนั้นก็ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่สำคัญคือ สาเหตุการเกิด (เพราะโรคต่าง ๆ มีความรุนแรงไม่เท่ากัน เช่น โรคไข้หวัดใหญ่จะรุนแรงมากกว่าโรคไข้หวัดธรรมดา), อายุ (ในเด็กเล็กและผู้สูงอายุจะมีอาการรุนแรงมากกว่าเพราะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำกว่าผู้ใหญ่ทั่วไป), สุขภาพร่างกาย (ในผู้ที่มีสุขภาพไม่แข็งแรงจะมีอาการรุนแรงมากกว่า) และโรคประจำตัวต่าง ๆ (เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่จะมีอาการรุนแรงกว่า)



วิธีป้องกันอาการเจ็บคอ


การป้องกันอาการเจ็บคอที่สำคัญคือการป้องกันสาเหตุ ซึ่งประมาณ 80-90% เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ โดยการ
  1. ไม่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ
  2. รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  3. รักษาสุขอนามัยพื้นฐานให้ดี
  4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนทุกวัน
  5. ฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อต่าง ๆ ตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข โดยฉีดตั้งแต่วัยเด็ก เช่น วัคซีนโรคไอกรน โรคหัด โรคคอตีบ เป็นต้น ส่วนในผู้ใหญ่ควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ด้วย


เรื่องที่เกี่ยวข้อง




เอกสารอ้างอิง

  1. ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เจ็บคอ…จะแย่แล้ว”.  (รศ.นพ.ปารยะ อาศนะเสน).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.si.mahidol.ac.th.  [11 ม.ค. 2017].
  2. หาหมอดอทคอม.  “เจ็บคอ (Sore throat)”.  (ศ.เกียรติคุณ พญ.พวงทอง ไกรพิบูลย์).  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : haamor.com.  [11 ม.ค. 2017].
  3. หน่วยคลังข้อมูลยา, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล.  “เป็นหวัดเจ็บคอ จำเป็นหรือไม่ที่ต้องกินยาฆ่าเชื้อ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : www.pharmacy.mahidol.ac.th.  [12 พ.ย. 2016]
  4. wikiHow.  “วิธีการแก้เจ็บคอ”.  [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จาก : th.wikihow.com.  [12 ม.ค. 2017].

5.   เว็บไซต์เมดไทย (MedThai)


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น