อาการไอเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกายเพื่อกำจัดของเสียหรือสิ่งแปลกปลอมที่ทำให้ทางเดินหายใจเกิดการระคายเคือง เช่น ฝุ่นหรือควัน โดยอาการไอมี 2 ประเภท คือ ไอแห้งและไอมีเสมหะ และส่วนใหญ่มักจะไม่ได้เป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะที่รุนแรงใด ๆ
โดยปกติแล้วอาการไอมักจะหายไปได้เองภายในระยะเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ และไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษา แต่หากมีอาการที่คงอยู่เป็นระยะเวลานานหรือเรื้อรัง ควรไปพบแพทย์
อาการไอมีสาเหตุมาจากอะไร ?
อาการไอที่มีระยะเวลาน้อยกว่า 3 สัปดาห์ จะหมายถึงอาการไอชนิดที่เกิดขึ้นชั่วคราวหรือชนิดเฉียบพลัน และอาการไอที่มีระยะเวลาติดต่อกันนานกว่า 8 สัปดาห์ขึ้นไป (4 สัปดาห์สำหรับเด็ก) จะหมายถึงอาการไอที่เกิดติดต่อกันเป็นระยะเวลานานหรือชนิดเรื้อรัง
สาเหตุของอาการไอที่เกิดขึ้นชั่วคราวหรือชนิดเฉียบพลันที่พบได้บ่อย ได้แก่
- การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนบน (Upper Respiratory Tract infection: URTI) ที่ส่งผลกระทบกับคอ ท่อลม หรือไซนัส เช่น ไข้หวัด กล่องเสียงอักเสบ โพรงจมูกอักเสบ หรือโรคไอกรน
- การติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง (Lower Respiratory Tract Infection: LRTI) ที่ส่งผลกระทบกับปอดหรือทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หลอดลมอักเสบหรือปอดบวม
- ภูมิแพ้ เช่น โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือไข้ละอองฟาง (Hay Fever)
- อาการไอที่กำเริบจากโรคทางเดินหายใจเรื้อรังบางโรค เช่น โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หรือหลอดลมอักเสบเรื้อรัง
- การสูดสารที่ก่อการระคายเคือง เช่น ฝุ่นหรือควัน เป็นต้น
สาเหตุของอาการไอเรื้อรังที่พบได้บ่อย ได้แก่
- การติดเชื้อระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น หลอดลมอักเสบเรื้อรัง
- โรคหืด นอกจากจะทำให้เกิดอาการไอแล้ว ยังทำให้เกิดอาการอื่น ๆ เช่น หายใจมีเสียง แน่นหน้าอก หรือหายใจตื้น
- โรคกรดไหลย้อน
- การสูบบุหรี่ นอกจากจะเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคร้ายมากมายแล้ว ยังอาจทำให้เกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ซึ่งทำให้เกิดอาการไอได้
- โรคหลอดลมโป่งพอง ภาวะที่หลอดลมโป่งกว้างหรือพองออกผิดปกติถาวรจากการอักเสบ
- โรคภูมิแพ้ เช่น แพ้ไรฝุ่น แพ้อาหาร หรือแพ้ยาบางชนิด
- วัณโรค เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดอาการไอเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน 3 สัปดาห์ขึ้นไป หรือไอเป็นเลือด และมีไข้ต่ำ ๆ
- น้ำมูกไหลลงคอ อาจเกิดจากโรคเยื่อจมูกอักเสบหรือโพรงจมูกอักเสบ
- ยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต
นอกจากนั้น อาการไอเรื้อรังอาจเป็นสัญญาณของโรคหรือภาวะที่รุนแรง เช่น มะเร็งปอด ภาวะหัวใจวาย โรคลิ่มเลือดอุดกั้นในปอด หรือวัณโรค แต่จะเป็นกรณีที่พบได้น้อยมาก
วิธีแก้ไอที่ได้ผล
อาจไม่มีความจำเป็นต้องทำการรักษาอาการไอที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวหรือชนิดเฉียบพลัน เพราะสามารถหายได้เองภายในไม่กี่สัปดาห์ ซึ่งผู้ที่มีอาการไอสามารถดูแลตนเองได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ดังต่อไปนี้
- ดื่มน้ำในปริมาณมาก เพราะจะช่วยเจือจางเสมหะ บรรเทาการระคายเคืองคอหรือคอแห้ง ซึ่งจะช่วยลดอาการไอให้น้อยลงได้
- ดื่มน้ำอุ่น เช่น น้ำอุ่นผสมน้ำผึ้งและมะนาว จะช่วยให้ชุ่มคอและช่วยบรรเทาอาการไอได้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- นอนหนุนหมอนสูงขณะนอนหลับ จะสามารถบรรเทาอาการไอแห้งได้
- อมยาอมแก้ไอ ช่วยลดการระคายเคืองในคอและช่วยลดอาการไอลงได้
- อาบน้ำอุ่น จะช่วยให้น้ำมูกลดลงและบรรเทาอาการไอ โดยเฉพาะอาการไอจากไข้หวัดและภูมิแพ้
- ใช้เครื่องทำความชื้นในอากาศ เนื่องจากสถานที่ที่มีอากาศแห้งจะทำให้สารคัดหลั่งในจมูกหรือน้ำมูกแห้งตัว ทำให้คัดจมูกและรู้สึกไม่สบาย รวมไปถึงอาจทำให้เกิดอาการไอ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และการใช้ยาสูบในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในขณะที่มีอาการไอ
- หลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์น้ำหอม เช่น สเปรย์น้ำหอมปรับอากาศ เพราะเป็นสาเหตุให้โพรงจมูกเกิดการระคายเคืองเรื้อรัง ทำให้มีเสมหะเพิ่มมากขึ้นและทำให้เกิดอาการไอเรื้อรังได้ในที่สุด
- หลีกเลี่ยงการสูดดมสิ่งที่ก่อให้เกิดการระคายเคือง เช่น ฝุ่น ควัน หรือมลพิษ โดยสามารถป้องกันตนเองได้ด้วยการใส่หน้ากากป้องกัน ซึ่งปัจจุบันมีให้เลือกหลายแบบและยังหาซื้อได้ง่าย นอกจากนั้นยังสามารถสอบถามรายละเอียดจากแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อช่วยให้เลือกหน้ากากป้องกันได้อย่างเหมาะสม
- หากวิธีต่าง ๆ ข้างตนยังไม่สามารถช่วยบรรเทาอาการไอได้ ผู้ที่มีอาการไอสามารถซื้อยามาใช้เอง โดยก่อนใช้ยาควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร รวมไปถึงปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรอย่างเคร่งครัดและอ่านรายละเอียดวิธีการใช้ยาอย่างละเอียด โดยยาที่นำมาใช้บรรเทาอาการไอ เช่น
- ยาลดน้ำมูก (Decongestants) จะช่วยลดการบวมของเนื้อเยื่อในจมูก ทำให้หลอดเลือดในปอดและจมูกหดตัวลง มีทั้งยาชนิดเม็ด ยาน้ำ และสเปรย์พ่นจมูก ตัวอย่างเช่น ยาฟีนิลเอฟรีน (Phenylephrine) เป็นยาชนิดรับประทาน โดยผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ควรใช้ยาอย่างระมัดระวัง เนื่องจากยาชนิดนี้อาจทำให้ความดันโลหิตเพิ่มสูงได้ หรือหากใช้ยาในปริมาณที่มากกว่ากำหนดอาจกระตุ้นให้มีอาการไอแห้งได้ นอกจากนั้น ยาลดน้ำมูกชนิดสเปรย์พ่นจมูก หากใช้เป็นระยะเวลานานกว่า 3 หรือ 4 วัน อาจทำให้เกิดการคั่งของน้ำมูกย้อนกลับคืน (Rebound Congestion) ตามมาได้ ดังนั้นควรใช้ประมาณ 2-3 วันแล้วจึงหยุดใช้
- ยาแก้แพ้ ช่วยลดอาการคัดจมูกและลดสารคัดหลั่งที่ผลิตจากปอด เช่น ยาคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine)
- ยาบรรเทาอาการไอ สำหรับผู้ที่มีอาการไอแห้ง ซึ่งออกฤทธิ์ที่ระบบประสาท เช่น ยาเดกซ์โทรเมทอร์แฟน (Dextromethorphan)
- ยาขับเสมหะ สำหรับผู้ที่มีอาการไอแบบมีเสมหะ การใช้ยาขับเสมหะ เช่น ยาไกวเฟนิซิน (Guaifenesin) จะช่วยให้เสมหะน้อยลงและไอน้อยลงได้
- ไม่ควรซื้อยาแก้หวัดหรือยาแก้ไอมาให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 4 ปี รับประทาน เนื่องจากอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงต่อเด็กได้
- รักษาโรคประจำตัวที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการไอ ตัวอย่างเช่น
- โรคหืด สามารถใช้ยาพ่นสเตียรอยด์เพื่อบรรเทาการอักเสบของทางเดินหายใจ
- โรคภูมิแพ้ สามารถบรรเทาได้ด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ หรือใช้ยาแก้แพ้เพื่อลดอาการแพ้ที่เกิดขึ้น
- การติดเชื้อแบคทีเรีย รักษาด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ
- โรคกรดไหลย้อน รักษาด้วยยาลดกรดหรือยาอื่น ๆ ที่ช่วยลดกรดในกระเพาะอาหาร
- โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รักษาด้วยยาขยายหลอดลม
นอกจากนั้น หากพบว่าตนเองมีอาการไอติดต่อเป็นระยะเวลานานหลายสัปดาห์ โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น หายใจมีเสียง มีไข้สูง หายใจตื้น หายใจลำบาก ควรไปพบแพทย์โดยเร็ว
CR :: เว็บไซต์ pobpad.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น