Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2567

21 พฤษภาคม วันชาสากล

 

21 พฤษภาคม วันชาสากล วันแห่งเครื่องดื่มยอดนิยมของคนทั้งโลก



21 พฤษภาคม วันชาสากล หนึ่งวันสำคัญที่เกษตรกรผู้ปลูกชาต่างลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิอันชอบธรรมในการค้าชา และเป็นวันแห่งเครื่องดื่มยอดนิยมตลอดกาลของคนทั้งโลก


ชา คือ เครื่องดื่มที่อยู่คู่กับมนุษย์มายาวนานกว่า 2,000 ปี โดยชาวจีนเป็นชนชาติแรกที่รู้จักการปลูกและบริโภคชา และเมื่อเวลาผ่านไป ชาได้ถูกเผยแพร่ไปปลูกยังที่ต่าง ๆ จนกลายเป็นที่นิยม การดื่มชาถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในหลาย ๆ ชาติ ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และอินเดีย แน่นอนว่าทุกคนล้วนรู้จักชากันทั้งนั้น แต่รู้หรือไม่ว่ามีวันสำคัญวันหนึ่งที่จัดตั้งขึ้นเพื่อเครื่องดื่มชนิดนี้โดยเฉพาะ นั่นคือ วันชาสากล แล้ววันชาสากลคืออะไรและมีความสำคัญอย่างไร ? เรามาทำความรู้จักไปพร้อม ๆ กันเลย



ประวัติวันชาสากล



          วันชาสากล (International Tea Day) ตรงกับวันที่ 21 พฤษภาคม ของทุกปี โดยจุดเริ่มต้นเริ่มมาจากเกษตรกรผู้ปลูกชากลุ่มเล็ก ๆ หลายกลุ่มในเบงกอลตะวันตกและหลายรัฐทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย ได้รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องถึงสิทธิและความชอบธรรมในการค้าชาของตน โดยในช่วงนั้น แม้ว่าชาจะเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่มีการปลูกอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ แต่อุตสาหกรรมค้าชาในประเทศอินเดียกลับมีความอ่อนแอและบริหารจัดการได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก เกษตรกรผู้ปลูกชากลุ่มเล็ก ๆ ในหลายพื้นที่ได้นำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการปลูก ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตดีขึ้น ได้ผลิตผลเพิ่มมากขึ้น และชาที่ได้ก็มีคุณภาพดี


วันชาสากล


  ทว่าเกษตรกรเหล่านี้กลับไม่ได้รับความเป็นธรรมในการค้าขาย พวกเขาถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกกดราคา แทนที่คุณภาพชีวิตพวกเขาจะดีขึ้นกลับต้องแย่ลง แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น กระทั่งองค์กรเพื่อการสื่อสารและการศึกษาของประเทศอินเดีย (CEC - Centre for Communication and Education) ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือสิทธิของเกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยในประเทศ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ พวกเขาได้ร่วมมือกับองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ เข้ามาพัฒนาและช่วยเหลือเกษตรกรผู้ค้าชากลุ่มย่อย ๆ ให้ได้รับความเป็นธรรมในการค้าชา และทำให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้น

          ชาได้ถูกพัฒนาให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพนับตั้งแต่นั้น และได้มีการจัดตั้งให้วันที่ 21  พฤษภาคม ของทุกปี คือ วันชาสากล เพื่อระลึกถึงคุณประโยชน์ของชาและตระหนักถึงความสำคัญของเหล่าเกษตรกรตัวเล็ก ๆ ผู้ปลูกพืชซึ่งกลายเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่านี้


วันชาสากล

          ในปัจจุบันสภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ค้าชาในอินเดียดีขึ้นกว่าเดิมมาก และชาก็ยังคงเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างไม่เสื่อมคลาย ไม่ว่าจะเป็นชาเขียว ชาแดง ชาดำ หรือชาที่มาในรูปแบบชาเย็นผสมนม ก็ล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องดื่มโปรดของใครหลาย ๆ คน และการเฉลิมฉลองในวันชาสากลนั้นไม่ใช่เรื่องยากเลย เพียงแค่ชงชาถ้วยโปรดแล้วดื่ม ระลึกถึงเหล่าผู้ที่คัดสรรชาคุณภาพดี ทุก ๆ ใบ ทุก ๆ ยอดอันมีคุณค่านี้มาให้เราดื่ม เพียงเท่านี้ก็นับว่าเราได้มีส่วนร่วมในวันชาสากลแล้ว


#ชา #สรรพคุณของชา #ประโยชน์ของชา #ใบชา #Tea #ข้อดีของการดื่มชา #ChineseTea #ThaiTea #BenefitsOfTea #Matcha #WhiteTea #GreenTea #OolongTea #BlackTea #Pu-erhTea #วันชาสากล #InternationalTeaDay



ขอบคุณข้อมูลจาก : fao.org, un.org, calendarr.com  ,  https://hilight.kapook.com/view/146468  ,  https://prinkotakoon.blogspot.com/2024/10/international-tea-day.html


3 ความคิดเห็น:

  1. 21 พฤษภาคม วันชาสากล (International Tea Day)


    วันชาสากล (International Tea Day) ตรงกับวันที่ 21 พฤษภาคม ของทุกปี มีไว้เพื่อระลึกถึงคุณประโยชน์ของชา และเฉลิมฉลองคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกชา ซึ่งกลายเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าไปทั่วโลก

    สายพันธุ์ชา มีถิ่นกำเนิดอยู่ 2 ที่ คือมณฑลยูนนาน และมณฑลเสฉวน ประเทศจีน และมีสายพันธุ์ย่อยอยู่ที่แคว้นอัสสัม ประเทศอินเดีย ซึ่งสายพันธุ์ชา แบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ชาอัสสัม และชาจีน

    ความแตกต่างของสีชา และรสชาติ เกิดได้จากหลายปัจจัย อาทิเช่น สถานที่ปลูก สภาพดิน สภาพภูมิอากาศ ปัจจัยด้านกรรมวิธีการผลิต ขนาดและอายุของใบชา ปฏิกิริยาออกซิเดชั่น เป็นต้น

    ชาแบ่งออกได้เป็น 6 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ ชาเขียว ชาขาว ชาเหลือง ชาอู่หลง ชาแดงหรือชาดำ และชาผูเอ่อร์

    ประโยชน์จากการดื่มชา

    - แก้กระหาย แก้ง่วง เพิ่มความสดชื่น

    - ช่วยป้องกัน และลดคอเลสเตอรอล

    - ช่วยชะลอความแก่ชรา และบำรุงผิวพรรณ

    ข้อควรระวังในการดื่มชา

    - การดื่มน้ำชาที่แต่งรสด้วยนมทุกชนิด จะเป็นการทำลายประสิทธิภาพสารออกฤทธิ์ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

    - ไม่ควรดื่มชาพร้อมกับรับประทานอาหารไปด้วย เนื่องจากตัวชาจะไปลดการดูดซึมของสารอาหารที่มีคุณค่าต่อร่างกาย

    - การดื่มชาเป็นประจำ จะเกิดการสะสม มีผลให้ไตวาย เกิดมะเร็งลำไส้ โรคกระดูกพรุน โรคข้อ และโรคอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับกระดูก


    หมายเหตุ: ในประเทศบังคลาเทศ, ศรีลังกา, เนปาล, เวียดนาม, อินเดีย ฯลฯ ยึดวันที่ 15 ธันวาคมเป็นวันชาสากล


    ตอบลบ
  2. International Tea Day Celebration เฉลิมฉลองวันชาสากลไปกับชาท้องถิ่นจาก 10 ประเทศทั่วโลก

    วัฒนธรรมการดื่มชาอยู่คู่กับหลายประเทศทั่วโลกมาอย่างยาวนาน องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO จึงประกาศให้วันที่ 21 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันชาสากล เพื่อรำลึกถึงประวัติศาสตร์และคุณค่าทางวัฒนธรรม ขบวนการการเพาะปลูก และการผลิตชา เป็นแหล่งรายได้หล่อเลี้ยงครอบครัวกว่าล้านครัวเรือนทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อีกทั้งการเฉลิมฉลองวันชาสากล จัดขึ้นเพื่อสนับสนุนขบวนการการเพาะปลูกชาอย่างยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม การบริโภค การซื้อขาย และโอกาสทางการค้าขาย ทั้งในระดับสากล ภูมิภาค และภายในประเทศ ทั้งนี้เพื่อทำให้ตลาดการค้าชาเป็นตลาดหนึ่งที่ช่วยแก้ปัญหาความจน ความหิวโหย และช่วยรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติ



    เพื่อร่วมเฉลิมฉลองวันชาสากล THE STANDARD POP ขอถือโอกาสนี้พาทุกท่านไปรู้จักกับวัฒนธรรมการดื่มชาที่นิยมและมีมาอย่างยาวนานจาก 10 ประเทศทั่วโลก จะมีประเทศไหนบ้าง เป็นชาที่คุณชื่นชอบหรือไม่ ตามมาดูกันเลย



    ***หมายเหตุ: มีหลายประเทศในกลุ่มผู้ผลิตชา เช่น บังคลาเทศ, ศรีลังกา, เนปาล, เวียดนาม, อินเดีย, แทนซาเนีย ฯลฯ ยึดเอาวันที่ 15 ธันวาคมของทุกปีเป็นวันชาสากล

    1. Zavarka, รัสเซีย
    ชาถูกนำเข้ามาในประเทศรัสเซียครั้งแรกในศตวรรษที่ 17 ผ่านเส้นทางสายไหม การดื่มชาที่เป็นเอกลักษณ์ของประเทศรัสเซียเรียกว่า Zavarka นิยมชงใบชาดำโดยใช้หม้อ Samovar ต้มน้ำจนเดือด จากนั้นจึงใช้น้ำเดือดชงชาในกาแยกให้เข้มข้น เรียกน้ำชานั้นว่า ‘Zavarka’ เนื่องจาก Zavarka มีความเข้มข้นสูงมาก จึงรินใส่แก้วสำหรับดื่มเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และเจือรสให้จางลงโดยการเติมน้ำ หรือเพิ่มรสชาติด้วยเลมอน, น้ำตาล, น้ำผึ้ง, ผลไม้ หรือสมุนไพรอื่นๆ

    2. English Afternoon Tea, อังกฤษ
    English Afternoon Tea ถือเป็นวัฒนธรรมการดื่มชาที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก นิยมดื่มคู่กับขนมหวานหลากหลายชนิดในยามบ่าย เป็นมื้อระหว่างอาหารกลางวันกับอาหารเย็น โดยประเภทชาที่นิยมเสิร์ฟใน Afternoon Tea มักจะเป็นชาดำชนิดต่างๆ หรือชาสมุนไพร หากเป็นชาดำ สามารถเพิ่มรสชาติโดยการเติมน้ำตาลและนม หากเป็นชาสมุนไพร นิยมดื่มโดยไม่แต่งรสชาติเพิ่มเติม

    3. Touareg Tea, โมร็อกโก
    Touareg Tea หรือที่รู้จักกันในนาม Moroccan Mint Tea ชาที่นิยมมากทางตอนเหนือของทวีฟแอฟริกา เป็นชาเขียวผสมกับใบสะระแหน่ มักมีรสหวานมาก ดื่มคู่กับของหวานหรือถั่วต่างๆ

    ตอบลบ
  3. ... ต่อ ...

    4. Turkish Tea, ตุรกี
    นอกจากกาแฟจากประเทศตุรกีจะโด่งดังมากๆ แล้ว ชาจากตุรกีก็มีดีไม่แพ้กัน ประเทศตุรกีเป็นประเทศผู้ผลิตชารายใหญ่เป็น 1 ใน 5 ของโลก ชาวตุรกีนิยมดื่มชาเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่าทุกบ้านต้องมีหม้อต้มชาพร้อมเสิร์ฟแก่สมาชิกในครอบครัวและแขกผู้มาเยี่ยมเยือนได้ตลอดเวลา ชาวตุรกีสามารถดื่มชาได้ทุกช่วงเวลาตั้งแต่เช้าไปจนถึงก่อนนอน แต่ช่วงเวลาที่นิยม คือ 15.00-17.00 น. ของวัน โดยจะเสิร์ฟชาดำ ไม่ใส่นม คู่กับขนมหวานตุรกี เช่น Baklawa, Turkish Delight, Helva และ Kunefe

    5. Yerba Mate, อาร์เจนตินา
    Yerba Mate หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Mate เป็นชาสมุนไพรรสขมยอดนิยมของประเทศอาร์เจนตินา Mate มีกาเฟอีนสูงไม่แพ้กาแฟเลย การดื่ม Mate เรียกได้ว่าเป็นวิถีชีวิตของชาวอาร์เจนตินา สามารถดื่มได้ทุกเวลา มักดื่มเมื่อมีการรวมกลุ่ม โดยดื่มจากแก้วและหลอดเดียวกันวนรอบครบทั้งกลุ่ม วัฒนธรรมการดื่ม Mate ดั้งเดิมนิยมดื่มเป็นชาร้อน ใช้ลูกเต้ามาทำเป็นแก้วและใช้หลอด ‘Bombilla’ ในการดื่ม เพราะ Mate จะเสิร์ฟทั้งใบชา จึงต้องใช้หลอดเพื่อกรองชา ปัจจุบันนอกจากดื่มเป็นชาร้อนแล้ว ยังสามารถดื่มเย็นได้ด้วยการเติมน้ำเย็นแทนน้ำร้อน หรือใช้น้ำผลไม้แทนน้ำเปล่าเพื่อเพิ่มความสดชื่น ซึ่งเรียกเครื่องดื่มนี้ว่า Tereré

    6. Indian Chai, อินเดีย
    นอกจากอินเดียจะเป็นประเทศผู้ผลิตชารายใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ยังเป็นประเทศที่บริโภคชามากที่สุดในโลกอีกด้วย ชาอินเดียเรียกว่า ‘Chai’ เป็นชาดำผสมนม มีรสหวาน สามารถดื่มได้ทุกวัน สิ่งที่ทำให้ชาอินเดียมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวคือ เครื่องเทศต่างๆ ที่ผสมลงไปในชา ไม่ว่าจะเป็น ลูกกระวาน, ลูกยี่หร่า, อบเชย, กานพลู, ขิง และอื่นๆ ทำให้ชาอินเดียมีกลิ่นและรสชาติที่เฉพาะตัว ชาอินเดียสามารถหาดื่มได้ทั่วทั้งประเทศอินเดีย มักเสิร์ฟในถ้วยดินเผาแบบใช้แล้วทิ้ง

    7. Chinese Cha Dao, จีน
    ประเทศจีนเป็นประเทศแรกของโลกที่บริโภคชา และได้พัฒนาวัฒนธรรมการดื่มชาของตัวเองขึ้นมาที่เรียกว่า Cha Dao โดยคำว่า Cha หมายถึง ชา คำว่า Dao คือ ลัทธิเต๋า ปรัชญาที่สื่อถึงการใช้ชีวิตอย่างมีสมดุลกับธรรมชาติ ทำให้วัฒนธรรมการดื่มชานี้ไม่ได้ทำเพื่อความพึงพอใจเท่านั้น แต่ยังเป็นการเรียนรู้เกี่ยวกับปรัชญาอีกด้วย ชาที่ใช้ในการดื่ม Cha Dao มีหลากหลายทั้งชาดำและชาขาว เช่น ชาอู่หลง ชามะลิ


    8. Japanese Tea Ceremony, ญี่ปุ่น
    พิธีการดื่มชาของประเทศญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลมาจากพุทธศาสนานิกายเซน ซึ่งพัฒนาไปเป็นพิธีการชงชาแบบญี่ปุ่น หรือ ชาโนยุ (Chanoyu) เป็นการทำให้จิตใจสงบโดยการมีสมาธิจดจ่อกับการชงชาอย่างประณีต แสดงออกถึงความงามของความเรียบง่ายและกลมกลืนไปกับธรรมชาติ โดยชาที่ใช้คือ ‘มัทฉะ’ มีลักษณะเป็นผง มีรสขม ชงโดยการผสมน้ำกับผงมัทฉะ และใช้ ‘ฉะเซ็น’ ไม้ไผ่ซี่ตีมัทฉะให้ละลายและดื่มได้ทันที ในปัจจุบันนิยมนำไปผสมกับนมหรือเครื่องดื่มอื่นๆ เพื่อให้ดื่มได้ง่ายขึ้น


    9. Thai Tea, ไทย
    ชาที่อยู่กับคนไทยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ ชาไทยหรือชาเย็น ชาสีส้มเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใช้ชาซีลอนเข้มข้นผสมนมข้น นมจืด และน้ำตาล มีรสหวานมัน นิยมดื่มเย็น ช่วยดับกระหายจากอากาศที่ร้อนจัดของประเทศไทย


    10. Taiwanese Bubble Tea, ไต้หวัน
    Taiwanese Bubble Tea หรือ ชานมไข่มุก เป็นชาอีกหนึ่งประเภทที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี สามารถใช้ได้ทั้งชาดำ ชาเขียว ชามะลิ หรือชาอู่หลง ชงกับนมผงและน้ำเชื่อมให้มีรสหวาน นิยมดื่มเย็นคู่กับไข่มุก แป้งมันสำปะหลังปั้นก้อน เคี้ยวหนุบหนับ เพลินๆ

    อ้างอิง:

    www.fao.org/international-tea-day/en
    www.pastemagazine.com/drink/tea/unique-tea-traditions-from-around-the-world/#moroccan-atai-tea
    https://travel.earth/fascinating-tea-traditions-around-the-world
    www.thespruceeats.com/turkish-tea-and-coffee-culture-3274135
    www.wellbeing.com.au/body/health/cha-dao-tea-drink-drinking-chinense.html



    ตอบลบ