มัทฉะ (Matcha) ต่างจากชาเขียวอย่างไร
ใครชอบดื่มเครื่องดื่มอย่างเมนูมัทฉะ หรือเมนูชาเขียว ขอให้ยกมือขึ้น! แต่ทุกคนรู้กันไหมคะว่าเมนูเครื่องดื่มที่เราดื่มกันอยู่ทุก ๆ วันนี้ระหว่าง “ชาเขียวกับมัทฉะต่างกันยังไง?” แตกต่างกันที่สี? รสชาตื? หรือกรรมวิธีการชงชา? วันนี้พิมรวบรวมคำตอบเกี่ยวกับชาเขียว และมัทฉะว่าแตกต่างกันยังไง มาไว้ที่นี่แล้วค่า ถ้าอยากรู้ว่าสิ่งที่เราคิดไว้จะตรงกับคำตอบที่พิมหามาให้ไหมก็ตามเลยค่า
1. ประเภทของชาเขียว
เพื่อน ๆ รู้กันไหมคะว่าใบชาเขียวที่เราเห็น หรือดื่มเวลาไปคาเฟ่จริง ๆ แล้วสามารถแยกย่อยออกมาได้หลายประเภทมาก ๆ เลยค่ะ ซึ่งจริง ๆ แล้วผงมัทฉะ คือหนึ่งของประเภทชาเขียวนั่นเองค่ะ แต่วันนี้พิมจะมาแนะนำใบชาเขียวที่เราใช้กันบ่อย ๆ หรือดื่มกันเป็นประจำให้เพื่อน ๆ ได้รู้กันน้า
1.1 เกียวคุโระ (Gyakuro)
ชาเขียวประเภทชาใหม่ที่ผ่านการเลี้ยงในที่ร่มเพื่อรักษาสารอาหารให้ได้มากที่สุด เก็บเกี่ยวได้ทีละน้อย ทำให้ชาเกียวคุโระมีราคาแพง เน้นใช้ในงานพิธีการ รสชาติหวาน และฝาดน้อย ลักษณะพิเศษของชาเกียวคุโระ คือ ใบชาที่ม้วนตัวอย่างสวยงาม และชื่อยังมีความหมายว่า “น้ำค้างหยก” ซึ่งสื่อถึงสีเขียวอ่อนของน้ำชาชนิดนี้ด้วยนะคะ
1.2 มัทฉะ (Matcha)
มัทฉะ มาจากชาเทนฉะ ที่ถูกเลี้ยงในที่ร่มเหมือนชาเกียวคุโระก่อนจะนำไปบดเป็นผงด้วยหินอย่างพิถีพิถัน มักจะใช้ในพิธีชงชา มัทฉะแบ่งเป็นหลายเกรด เช่น สำหรับทำขนม เครื่องดื่ม ชงในงานพิธีการ เป็นต้น สามารถสังเกตได้จากสีของมัทฉะ ยิ่งมัทฉะสีเข้มเท่าไหร่ คุณภาพก็ยิ่งดี หากดื่มมัทฉะ 1 ถ้วย จะได้รับสารอาหารเท่ากับดื่มชาเขียวประเภทอื่น 10-15 แก้วเลยทีเดียว
1.3 เซนฉะ (Sencha)
เซนฉะ คือชาเขียวที่ชาวญี่ปุ่นดื่มในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องเลี้ยงในร่ม เป็นชาที่ได้มาจากการเก็บเกี่ยวในเดือนแรกเท่านั้น จึงได้ชื่อเรียกว่า "ชาใหม่" มีวิธีการอบที่หลากหลายทำให้ชามีรสชาติที่แตกต่างกัน แต่จะมีความสมดุลระหว่างความอูมามิ และความขม ทำให้ความรู้สึกสดชื่นเวลาดื่ม
1.4 บังฉะ (Bancha)
บันฉะ จะมีคุณภาพรองลงมาจากชาเซนฉะ เพราะเก็บเกี่ยวใบชาเขียวในช่วงที่สามหรือสี่ของปี ใช้ดื่มทั่วไป เป็นใบชาเขียวที่เหลือจากยอดต้น มีรสชาติอ่อน มีวิธีการผลิตต่างกันไปตามแต่ละท้องที่ เมื่อชงแล้วมีทั้งแบบที่ได้น้ำสีเขียวชาเขียวทั่ว ๆ ไป และแบบที่ได้น้ำชาสีน้ำตาล
1.5 โฮจิฉะ (Hojicha)
โฮจิฉะ ทำมาจากใบชาเขียวบันฉะ และใบชาเขียวเซนฉะ และใบชาเขียวคุคิฉะที่ถูกเก็บเกี่ยวครั้งสุดท้ายมาผสมรวมกันก่อนจะนำไปคั่วทำให้ชามีสีน้ำตาล มีรสชาติอ่อน กลิ่นหอมหวาน เหมาะสำหรับดื่มระหว่างมื้อหรือหลังอาหารเย็น และเหมาะสำหรับเด็กเพราะมีคาเฟอีนต่ำ
1.6 เกนไมฉะ (Genmaicha)
เกนไมฉะมีชื่อเล่นอีกชื่อว่า “ชาป๊อปคอร์น” เพราะเสียงที่เกิดขึ้นเมื่อใบชาถูกนำไปคั่ว หรือบางคนก็เรียกว่า “ชาเขียวข้าวกล้อง” จากการนำใบชาเขียวไปผสมกับข้าวกล้อง สมัยก่อนขึ้นชื่อว่าเป็น ‘ชาของทุกคน’ เพราะเมื่อก่อนชามีราคาแพง ชาวญี่ปุ่นจึงนำชาไปคั่วกับข้าวกล้องเพื่อให้ราคาถูกลงและคนทุกชนชั้นสามารถซื้อได้ แต่ปัจจุบันชาชนิดนี้เป็นที่นิยมของคนทั่วไป เพราะดื่มง่าย มีความอุ่น และรสคล้ายถั่ว ขณะที่ตัวใบชาจะให้กลิ่นคล้ายใบหญ้า สีของน้ำจะมีสีเหลืองอ่อน มีปริมาณคาเฟอีนน้อย
2. ชาเขียวกับมัทฉะต่างกันยังไง
2.1 ลักษณะการใช้ชาเขียว และมัทฉะ
ปกติแล้วเวลานำทั้งสองอย่างนี้มาประกอบเมนูส่วนมากเราจะใช้เป็นใบชาเขียว และผงมัทฉะ มาชงเป็นเครื่องดื่มกันกันใช่ไหมคะ แต่มีใครเคยสังเกตไหมคะว่าเราไม่นิยมนำใบชาเขียวมาประกอบอาหารหรือขนมหวานต่าง ๆ สักเท่าไหร่ มักจะใช้ผงมัทฉะในการทำแทนเพราะสะดวกกว่านั่นเองค่ะ
2.2 ลักษณะการชงชาเขียว และการชงมัทฉะ
การชงชาเขียว และอุปกรณ์การชง
อุปกรณ์การชงชาเขียว
🟢ใบชาเขียว
🟢น้ำอุณหภูมิประมาณ 70-80 องศาเซลเซียส
🟢ที่กรองใบชาเขียว
🟢ถ้วยชาเขียว
วิธีชงชาเขียว
1. นำใบชาเขียวมาแช่ในน้ำอุณหภูมิประมาณ 70-80 องศาเซลเซียสประมาณ 3 นาที แบบปิดฝาถ้วย
2. เมื่อครบเวลากรองเอาใบชาเขียวออก พร้อมดื่มแล้วค่า
การชงมัทฉะ และอุปกรณ์การชง
อุปกรณ์การชงมัทฉะ
🟢 ผงมัทฉะ
🟢 น้ำอุณหภูมิประมาณ 70-80 องศาเซลเซียส
🟢 กระชอนร่อนผงมัทฉะ
🟢 ชะฉะคุ คือ ช้อนตักผงมัทฉะโดยทั่วไปทำจากไม้ไผ่ มีลักษณะยาว ปลายแหลมเล็ก
🟢 ชะเซน คือ อุปกรณ์ที่คนชาให้เข้ากัน
🟢 ที่เก็บแปรงชงมัทฉะ
🟢 ถ้วยชา
วิธีชงมัทฉะ
1. อุ่นถ้วยชา และแปรงชงชา ด้วยน้ำร้อนพักไว้ 10 วินาที แล้วจึงเทน้ำทิ้ง
2. ตักผงมัทฉะใส่ถ้วยประมาณ 1-2 กรัม
3. เทน้ำร้อนอุณหภูมิประมาณ 70-80 องศาเซลเซียสลงไปในถ้วย แล้วคนผงมัทฉะให้ละลาย
4. จากนั้นให้ใช้แปรงตีชาจนเกิดเป็นฟอง ถือว่าเสร็จเรียบร้อย
2.3 รสชาติของชาเขียว และมัทฉะ
🟢 ชาเขียว จะให้ลักษณะเครื่องดื่มที่ใส มีกลิ่นหอมอ่อน ๆ และมีรสชาติคล้ายสาหร่าย เมื่อดื่มจะให้ความรู้สึกดื่มง่าย ๆ เบา ๆ สดชื่น และไม่ค่อยมีรสขม
🟢 มัทฉะ จะให้ลักษณะเครื่องดื่มที่เข้มข้น นวล มีกลิ่นหอม และมีรสชาติอูมามิที่ชัดเจน เมื่อดื่มจะให้ความรู้สึกที่เป็นผง ๆ จากการชงผงมัทฉะ มักนำผงมัทชามาชงเป็นเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของนม และทำขนมหวานต่าง ๆ เช่น ไอศกรีมมัทฉะ
2.4 ลักษณะของสีน้ำชา
🟢 น้ำชาเขียว จะมีสีเขียวชาเขียวอ่อน ๆ คล้ายสีสาหร่าย และใส เมื่อชงชาเขียวทิ้งไว้จะไม่มีก่อนตกตะกอน
🟢 น้ำมัทฉะ มีสีเขียวมัทฉะทั้งเข้ม และอ่อน ขึ้นอยู่กับชนิดของผงมัทฉะที่ใช้ แต่จะมีสีเขียวนวล เมื่อชงชามัทฉะทิ้งไว้ผงมัทฉะจะลงไปตกตะกอนอยู่ที่ด้านล่างแก้ว ก่อนดื่มอีกครั้งควรคนให้เข้ากัน
3. ประโยชน์ของชาเขียว และมัทฉะ
🟢 ป้องกันฟันผุ กลิ่นปาก และโรคเหงือก เนื่องจากมีสารโพลีฟีนอล และแคทีชิน ที่มีอยู่ในใบชาเป็นตัวช่วยกำจัดแบคทีเรียในช่องปาก
🟢 ชะลอความชรา และช่วต้านสารอนุมูลอิสระ เพราะในใบชาเขียว และผงมัทฉะมีสารโพลีฟีนอล และสาร OPC ซึ่งเป็นสารที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ โดยช่วยป้องริ้วรอยก่อนวัย และจุดด่างดำต่างๆ ได้อีกด้วย
🟢 ป้องกันผมร่วง และช่วยกระตุ้นการงอกของผม เนื่องจากชาเขียว และมัทฉะนั่นอุดมไปด้วยสารแคทีชิน ที่ช่วยป้องกันผมร่วง และสาร EGCG ที่ช่วยกระตุ้นการงอกของผมนั่นเอง
🟢 อุดมไปด้วยวิตามินเอ ซี และอี ที่มีส่วนช่วยชะลอวัยทำให้ดวงตา และผิวพรรณสดใส
🟢 ลดระดับของน้ำตาลในเลือด เนื่องจากมัทฉะ และชาเขียวมีสรรพคุณช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน อีกทั้งการดื่มชาเขียวสามารถช่วยกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนอินซูลินในตับอ่อน และช่วยดูดซึมกลูโคสในผู้ป่วยเบาหวาน
Reference :
MATCHA. (2564). อยากรู้ เรามีคำตอบให้ “ประเภทของชาญี่ปุ่น" มีอะไรบ้าง. สืบค้นเมื่อ 6 พฤษภาคม 2565. จาก. https://matcha-jp.com/th/898#matcha_4.
Hearbest Tastegood. (2561). "ชาเขียว" กับความลับที่นักดื่มชาต้องรู้. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2565. จาก. https://www.wongnai.com/food-tips/things-to-know-about-green-tea.
vanwongyai. (2560). ประเภทของชาเขียว มีอะไรบ้าง ชนิดไหนอร่อย มาดูกัน!. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 2565. จาก. https://www.wongnai.com/food-tips/green-tea-secrets.
https://www.wongnai.com/food-tips/matcha-and-green-tea
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น