เคล็ดลับแนะลูกให้กินผัก ต้องปลูกฝังแต่วัยเยาว์ ผักเป็นอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยเด็กจำเป็นต้องได้รับสารอาหารครบ5 หมู่ ทว่าเป็นเรื่องชวนปวดหัวของพ่อแม่ผู้ปกครอง เพราะเด็กๆ มักไม่ชอบรับประทานผัก ซึ่งจากผลการสำรวจพบว่ามีเพียง 41% ของเด็กเท่านั้นที่รับประทานผักเป็นประจำ ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้รับประทานผักครึ่งกิโลกรัม/วัน ขณะที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในบ้านเราทุกวันนี้มีค่าเฉลี่ยการรับประทานผักต่ำกว่าที่ WHO แนะนำไว้มาก สุจิตต์ สาลีพันธ์ นักโภชนาการกลุ่มพัฒนาพฤติกรรมการบริโภคอาหาร กรมอนามัย แนะนำผู้ปกครองที่กำลังประสบปัญหานี้อยู่ว่า วิธีการจะสอนให้เด็กมีนิสัยชอบรับประทานผักนั้นเป็นเรื่องที่จะต้องปลูกฝังกันตั้งแต่วัยเยาว์กันเลย โดยหลังจาก 6 เดือนแรกของลูกที่ดื่มแต่น้ำนมอย่างเดียวและเมื่อเริ่มรับประทานข้าว พ่อแม่ควรแทรกอาหารประเภทผักให้ลูกด้วย เพื่อให้เกิดความคุ้นเคย โดยต้องเป็นผักที่ไม่มีกลิ่นฉุน เช่น ผักกาดขาว ผักกะหล่ำปลี ฟักทอง ตำลึง ผักบุ้ง เป็นต้น วิธีการคือ หั่นผักให้เป็นคำเล็กๆ หรือบดละเอียดผสม ในอาหารให้ลูกรับประทานโดยช่วงแรกๆ ที่ฝึกไม่ต้องใส่ผักในปริมาณมากก็ได้ แต่ให้ใช้แค่ใบเท่านั้น ไม่ควรมีก้านเพราะทำให้เด็กเคี้ยวยาก “เมื่อเด็กโตจนเริ่มมีฟันก็ควรแนะให้เด็กถือผักเล่น หรือกัดแทะเล่นก็ได้ หรือให้กินประเภทแกงจืดต่างๆ พอเขาโตขึ้นมาอีกหน่อยก็ให้แทรกเข้าไปในอาหารประเภทข้าวผัดหรือน้ำซุปต่างๆ สลัด หรือแม้แต่ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน” สุจิตต์ แนะนำ สำหรับเด็กที่ไม่ได้ถูกฝึกให้รับประทานผักตั้งแต่เล็กๆ พ่อแม่ ผู้ปกครองก็จะต้องพยายามหาวิธีการทำให้หันมารับประทานผัก โดยต้องชี้ชวนให้ลูกทราบถึงประโยชน์ของการรับประทานผัก จากนั้นให้เริ่มผสมผักลงในอาหารทีละน้อยๆ หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ให้ลูกลองรับประทานดู แต่ถ้าเด็กไม่ยอมรับประทานอีกก็ไม่ควรไปบังคับ “พ่อแม่ต้องใช้ความอดทนและพยายามอีกหน่อย อย่าไปบังคับ แต่ให้เขาลองชิมดูบางคนชิมแล้วติดใจรับประทานบ่อยๆ ก็มีหรือพวกผลไม้ก็ให้รับประทานชดเชยผักได้ เพราะมีวิตามินเช่นกัน แต่ต้องระวังผลไม้ที่มีรสหวาน เพราะจะทำให้ลูกอ้วน” นักโภชนาการ กล่าว สุจิตต์ ย้ำว่า วัยเด็กเป็นวัยที่ต้องได้รับสารอาหารที่หลากหลายและครบถ้วน ในผักมีทั้งวิตามิน แร่ธาตุ และใยอาหาร ไม่ว่าจะเป็นวิตามินเอ ที่จะช่วยในเรื่องการมองเห็นวิตามินซีช่วยให้หลอดเลือดแข็งแรง วิตามินเคทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือดและสร้างแคลเซียม การที่เด็กไม่ยอมรับประทานผัก ก็จะได้สารอาหารไม่ครบถ้วนที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายอ่อนแอเมื่อเติบโตขึ้น ที่สำคัญคืออาจจะเป็นโรคอ้วน เพราะเมื่อลูกไม่รับประทานผักก็จะหันไปรับประทานขนมขบเคี้ยวอื่นๆ ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วน แต่หากหันมารับประทานผักจะทำให้อิ่มท้อง เด็กจะลดการรับประทานของขบเคี้ยวลงและปลอดภัยจากโรคอ้วนอีกด้วย รู้เช่นนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายอย่าลืมนำเคล็ดลับดีๆ เหล่านี้ไปใช้เพื่อให้ลูกน้อยเติบโตอย่างมีสุขภาพแข็งแรง และเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บในอนาคตอีกด้วย ที่มา : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ เทคนิคสอนน้องหนู กินผัก คุณแม่ที่ทำงานนอกบ้านสามารถสร้างทัศนคติ ส่งเสริมลูกน้อยกินผักได้ตั้งแต่ยังเล็กๆ ได้นะคะ |
เพราะแค่นำเทคนิคง่ายๆ ต่อไปนี้ ไปสอนบอกต่อพี่เลี้ยงคนเก่งของลูก ก็สามารถเป็น ผู้ช่วยให้กับคุณแม่ได้แล้วค่ะ
เลือกผัก - เปลี่ยนรูปร่างหรือนำผักไปเป็นส่วนผสมในอาหารแบบอื่น เช่น หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ทำเป็นวุ้นน้ำผลไม้ หรือเมนูจานโปรด เช่น หั่น แครอทเป็นชิ้นเล็กๆ ผสมปนอยู่กับน้ำซุป หมูปั้นผสมแครอททอด - ที่สำคัญ บนโต๊ะอาหารของครอบครัวควรมีเมนูผัก อย่างน้อย 1 เมนูอยู่ด้วย เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีในการกินผักให้กับลูก |
เทคนิคจูงใจ
- ตั้งชื่อผักให้น่ากินมากขึ้น เช่น ฟักทองจอมพลัง นางฟ้าผักกาด อาจทำให้ลูกรู้สึกสนใจนึกอยากกิน
- ให้พี่เลี้ยงชักชวนลูกสนุกกับการกินผัก ด้วยการใช้นิ้วมือหยิบผักเข้าปากเอง เช่นแครอทต้ม ถั่วฝักยาวต้มหั่นเป็นท่อน ในที่สุดลูกก็จะกินผักเองได้
- เมื่อลูกกินผักได้ ควรชมเชย เป็นกำลังใจ เพื่อให้ลูกอยากเรียนรู้อาหารชนิดใหม่ๆ ครั้งต่อไป
- การให้พี่เลี้ยงสังเกต บันทึก หรือสอบถามว่าลูกชื่นชอบ พอใจ หรือปฏิเสธกับผักชนิดใดบ้าง
ก็สามารถช่วยให้คุณแม่รู้จักนิสัยการกินผักของลูกได้ค่ะ ซ่อนผักเทคนิคเบบี๋กินผักง่าย
ซ่อนผักเทคนิคเบบี๋กินผักง่าย
เพราะผักเป็นอาหารสารพัดประโยชน์ โดยเฉพาะบทบาทหน้าที่สำคัญในการเสริมสร้างพัฒนาการ และเสริมความแข็งแรงให้กับอวัยวะส่วนต่าง ๆ ผักจึงเป็นอาหารที่แม่ ๆ ควรเริ่มปลูกฝังให้กับลูกเล็ก โดยเพาะตอนที่เริ่มอาหารเสริมนี่แหละค่ะ เพราะเป็นการปูพื้นการกินผักได้ดีทีเดียว แต่การเริ่มอาหารเสริมให้ลูกรักด้วยผักมีสิ่งที่แม่ ๆ ควรทำความเข้าใจในเบื้องต้น 3 เรื่องดังนี้
1. กลิ่น ผักที่เลือกมาใช้ ไม่ควรมีกลิ่นฉุน หรือกลิ่นเหม็นเขียว เพราะเด็ก ๆ เขาจมูกไวและจะยี้เอาได้ง่าย ๆ
2.รสชาติของผัก โดยเฉพาะผักที่มีรสขมหรือเผ็ดร้อน อาจทำให้เจ้าตัวเล็กไม่ประทับใจ จนขยาดผักอื่น ๆ ตามไปด้วย
3.เนื้อสัมผัส ผักแต่ละชนิดมีลักษณะเนื้อสัมผัสที่ไม่เหมือนกัน รวมถึงใยอาหารที่มีในผักก็ต่างกันด้วย สำหรับผักที่แนะนำให้เป็นวัตถุดิบในการปรุงอาหารเสริมเจ้าตัวเล็ก ได้แก่ มะเขือเทศ แครอต ปวยเล้ง ฟักทอง บร็อกโคลี และใบตำลึง ค่ะ
ผัก...วัตถุดิบที่คุ้นเคยกันดีว่ามีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ก็มักตั้งตัวเป็นศัตรูกับผักทั้งหลาย ปัญหานี้แก้ไขได้ง่ายนิดเดียว เพียงแม่ ๆ อาศัยเคล็ดวิชาแปลงกายสักนิด ด้วยเทคนิคง่าย ๆ ไม่ซับซ้อน แต่รับรองว่าได้ผลเกินคาด
นอกจากผักต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วนั้นยังมีผักใบที่ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส และไม่มีสี เช่น กะหล่ำปลี ผักกาดขาว ที่สามารถนำมาปรุงอาหารได้นะคะ นอกจากสารอาหารต่าง ๆ แล้วข้อดีของผักที่มีหลายสี คือจะช่วยให้อาหารน่ากินมากขึ้น อาหารที่วางตรงหน้าถ้ามีสีสันที่สวยงามชวนกินแล้ว ก็ย่อมมีชัยไปกว่าครึ่งนะคะ
3 เทคนิคซ่อนผัก
1.ซ่อนกลิ่น ผักที่มีกลิ่น เช่น หอมหัวใหญ่เป็นผักที่มีกลิ่นฉุนและรสเผ็ดร้อน แต่เมื่อนำมาปรุงโดยผ่านความร้อนจะต้มหรือลวก ก็หมดกลิ่นฉุน แถมยังได้รสหวานเพิ่มมาอีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถใช้อาหารอย่างอื่นแต่งกลิ่นได้ เช่น การใช้ไข่แดง เป็นต้น
2.ซ่อนรส ผักที่มีรสแต่แก้ได้ไม่ยาก เพราะบ้านเรามีผักหลายชนิดที่เมื่อนำมาปรุงอาหารแล้วให้รสหวาน ได้แก่ กลุ่มของผักที่มีแป้งมาก มีรสหวาน เช่น ปวยเล้ง ฟักทอง แครอต หอมหัวใหญ่ มะเขือเทศ ลูกท้อ กะหล่ำปลี บร็อกโคลี ใบตำลึง ฟักเขียว หัวผักกาด ผักหวาน ข้าวโพดอ่อน ถั่วฝักยาว บวบ ฯลฯ
3.ซ่อนรูป ผักที่มีสีเขียวเข้มหรือผักที่เด็กมักจำได้ว่าเป็นใบ วิธีง่ายๆ ที่ใช้กัน คือการหั่น แต่เด็กก็ยังเขี่ยออกหรือคายทิ้งได้ จะให้ดีควรสับ บด หรือปั่นให้ละเอียด แล้วนำไปผสมกับอาหารอื่น ๆ เวิร์กกว่าค่ะ เช่น เนื้อสัตว์ ข้าว แป้งชนิดต่าง ๆ ที่เรียกว่าเป็นการดัดแปลงไม่ให้เด็กเห็นภาพของผัก
เลือกผักดีมีประโยชน์
การเลือกผัก เป็นการเริ่มต้นมอบสิ่งดี ๆ ให้กับลูก ที่สำคัญ หากเลือกอย่างถูกต้อง รับรองว่าลูกของคุณจะได้ประโยชน์มากกว่าที่คิดเสียอีกค่ะ
การเลือกผัก ควรเลือกซื้อโดยดูจากสีของผัก ขนาด รูปร่าง ความอ่อนแก่ ความสดใหม่และไม่ช้ำ และเลือกซื้อตามฤดูกาล
เนื่องจากผักมีอยู่หลากหลายประเภท เราจึงมีหลักการเลือกที่ต่างกันไปในแต่ละชนิด เรารวบรวมหลักการเลือกผักแต่ละแบบ มาเป็นความรู้ก่อนจ่ายตลาดครั้งต่อไปให้แม่ ๆ ได้ประหยัดเวลา
เลือกซื้อผักหัว ควรจะมีน้ำหนักมาก เนื้อแน่น ผิวเรียบไม่มีรูแมลง เช่น ฟักทอง ผลหนักแน่น เนื้อเหลืองอมเขียว ผิวเปลือกแข็งขรุขระ เป็นต้น
เลือกซื้อผักฝัก เช่น ผักประเภทถั่วต่าง ๆ ควรเลือกฝักอ่อน สีเขียว แน่น ไม่พอง และไม่คดงอ
เลือกซื้อผักใบ ดูจากใบสีเขียวสด ไม่เหี่ยว ไม่มีรอยช้ำ และไม่มีหนอน ต้นใหญ่อวบ และใบแน่นติดกับโคน
เลือกซื้อผักผล เลือกที่ขั้วติดแน่น สด มีน้ำหนักมาก ไม่เหี่ยว ผิวนวลและไม่มีรอยช้ำ
ล้างผักให้สะอาดปลอดสารเคมี
1. ลอกหรือปอกเปลือกแล้วแช่น้ำสะอาดนาน 5-10 นาที จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 27-72
2.ล้างด้วยน้ำไหลจากก๊อกนาน 2 นาที ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 25-39
3.การใช้ความร้อน ได้แก่ วิธีการลวก ต้ม สามารถลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 48-50
4.แช่น้ำส้มสายชูหรือเกลือป่น (น้ำส้มสายชูหรือเกลือใน 1 ช้อนโต๊ะ ผสมน้ำ 4 ลิตร และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 29-38
5.แช่น้ำซาวข้าวนาน 10 นาที และล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 29-38
6.แช่น้ำด่างทับทิมนาน 10 นาที ด่างทับทิม 10-20 เกล็ด ผสมน้ำ 4 ลิตร ล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 25-43
7.แช่น้ำปูนใสนาน 10 นาที จากนั้น ล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง ลดปริมาณสารพิษตกค้างได้ร้อยละ 34-52
5 วิธี สงวนคุณค่าสารอาหารใบผัก
1. เมื่อซื้อผักมาแล้ว ควรเด็ดใบที่เน่าเสียทิ้งก่อน
2.ควรล้างผักด้วยน้ำที่ไหลผ่าน การแช่ผักในน้ำจะทำให้สูญเสียวิตามินที่ละลายน้ำได้ คือ วิตามินบีและซี
3.การต้มผักด้วยน้ำน้อยหรืออบในเตาไมโครเวฟ ช่วยให้สารอาหารต่าง ๆ ไม่สูญเสียไปกับน้ำ วิธีที่ดีที่สุดคือการนึ่ง
4.การผัดผักที่ดีที่สุดคือ การผัดผักด้วยไฟร้อนใช้เวลาน้อย
5.น้ำซุปผักที่ต้มไว้แล้สามารถเก็บไว้ได้นาน โดยการแบ่งเป็นถุงเล็กแล้วแช่แข็ง
มีเทคนิคซ่อนผักดี ๆ แบบนี้แล้ว คุณแม่ไม่ต้องกังวลว่าเบบี๋จะยี้ผักอีกต่อไปแล้วนะคะ หากลองเอาเทคนิคเหล่านี้ไปใช้แล้วได้ผลอย่างไร หรือปิ๊งเทคนิคดี ๆ เฉพาะตัวก็อย่ามัวเก็บเอาไว้เขียนมาเล่าสู่ Modern Mom ฟังด้วยนะคะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น