Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2563

เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่ 21-30 สร้างตัวตน

เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่ 21-30 สร้างตัวตน


  เลี้ยงลูกให้ได้ดีตอนที่ 21 : อิริคสันเรียกวัย 2-3 ขวบว่า Autonomy แปลง่ายๆว่าเราทำได้ ส่วนฟรอยด์เรียกวัย 2 ขวบว่า Anal phase เด็กค้นพบว่าตนเองกลั้นหรือปล่อยอุจจาระได้ด้วยตนเองจริงๆและใช้ความสามารถนี้ในการบงการคนอื่นๆได้ด้วย เป็นครั้งแรกที่เขาพบว่า "เราทำได้"
เมื่อเด็กพบว่าตนเองทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้เป็นครั้งแรก พ่อแม่มีหน้าที่สอนให้เขารู้ว่าเขาควรทำอะไรและไม่ควรทำอะไรเป็นครั้งแรกเหมือนกัน
พฤติกรรมแรกๆที่สอนกันคือการขับถ่าย พฤติกรรมถัดมาคือการกินข้าว วินัยในการขับถ่ายและกินข้าวจะเป็นต้นแบบของการควบคุมตนเองได้หรือไม่ได้ต่อไปในอนาคต
  เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่ 22 :
เด็กเล็กควรฝึกให้กินข้าวบนโต๊ะ ร่วมกับพ่อแม่ ให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด หากไม่กินหรือกินช้า เมื่อหมดเวลาคือเก็บ ไม่มีขนมระหว่างมื้อจนกระทั่งมื้ออาหารถัดไป นี่คือการฝึกให้เด็กมีความรับผิดรับชอบตั้งแต่แรกคือ accountability
ทำเช่นนี้เราจะได้เด็กที่คุมตนเองได้ รู้จักกติกา รู้จักเคารพส่วนรวม รู้จักทำเรื่องยากก่อนเรื่องง่ายคือกินเสร็จแล้วค่อยไปเล่น รู้จักกำหนดเป้าหมายของงานคือกินให้หมดตามเวลา
กินข้าวเป็นเรื่องยากที่ง่าย อนาคตเด็กๆต้องอ่านต้องท่องหนังสือซึ่งเป็นเรื่องยากยิ่งกว่าและเขาต้องคุมตัวเองทำให้ได้
บ้านที่เดินป้อนข้าวเด็กเล็กไปเรื่อยๆจะไม่ได้สิ่งเหล่านี้ เมื่อเด็กคุมตนเองในเรื่องที่เป็นปฐมบทของชีวิตไม่ได้ เรื่องอื่นๆจะยากขึ้นทุกทีๆ
  เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่ 23 : ถัดจากกินข้าวก็เป็นเรื่องทำงานบ้าน การฝึกลูกเล็กทำงานบ้านช่วยให้ลูกได้ฝึก 1. การวางแผน 2. เรียนรู้การควบคุมตนเองให้ทำงาน 3. รับรู้ว่าเราทำได้ 4. ส่งผลให้กระบวนการสร้างตัวตนแข็งแรงมากยิ่งขึ้นไปอีก
การฝึกลูกทำงานบ้านมี 3 ขั้นตอน 1. ทำให้ดู 2. ทำด้วยกัน 3. ปล่อยเขาทำ
ลูกทุกคนอยากให้พ่อแม่ "เล่น" ทำงานบ้านด้วยกันเสมอ นี่คือโอกาส ได้ทั้งตัวตน สายสัมพันธ์ และความสามารถในการทำงานให้เสร็จ เมื่อเขาเป็นเด็กโตจะเริ่มอิดออดตามธรรมชาติ แต่ก็ยังคง "ความสามารถในการอดทนทำงานที่ไม่สนุกให้เสร็จ" ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องการอย่างมาก
  เลี้ยงลูกให้ได้ดีตอนที่ 24 : ลูกวัย 2-5 ขวบไม่มีหน้าที่เรียนหนังสือเลย ลูกควรได้เล่นกับพ่อแม่เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ที่คงกระพันอย่างที่สุด ค่อยๆฝึกการควบคุมการขับถ่าย ค่อยๆฝึกการควบคุมตนเองให้กินข้าวตามกติกาสังคม ฝึกดูแลตนเองและฝึกทำงานบ้านรอบตัว คือฝึกการใช้นิ้วมือทั้ง 10 ให้คล่องแคล่วทุกทิศทาง
การเล่นดิน ทรายและน้ำ การฉีกและขยำกระดาษ การขีดสีเทียนหรือป้ายสีน้ำอย่างเสรี การเล่นในสนาม การทำงานบ้านหลากหลายชนิด จะช่วยพัฒนากล้ามเนื้อนิ้วมือสองข้างนับร้อยมัดให้เติบโตแข็งแรงอย่างเร็ว
การเคลื่อนไหวที่ดีของกล้ามเนื้อนิ้วมือทุกทิศทางเรียกว่า fine movement จะกระตุ้นให้สมองส่วนต่างๆพัฒนาอย่างทั่วถึง
เด็กเล็กคิดเลขได้อาจจะดูดีแต่สมองพัฒนาแค่ส่วนนั้นๆแล้วละเลยส่วนที่สำคัญกว่า
ภาพจาก bubblejam.net
  เลี้ยงลูกให้ได้ดีตอนที่ 25 : ลูก 2-5 ขวบมีภารกิจสำคัญกว่าการไป รร อีกข้อคือพัฒนาการด้านภาษา
เด็กเล็กพัฒนาการด้านภาษาด้วยการเล่นบทบาทสมมติ(role play) เช่น เล่นเป็นพ่อแม่ เป็นหมอ เป็นตำรวจ เป็นแม่ค้า เป็นพ่อครัว เป็นครู พ่อแม่ที่อยากให้ลูกพัฒนาภาษาดีๆควรนั่งลงเล่นบทบาทสมมติกับลูก
ภาษาที่ได้มิใช่แค่การพูดจา แต่จะเป็นภาษากาย และภาษาสีหน้าท่าทาง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของมนุษย์ในการติดต่อสื่อสารกันยิ่งกว่าคำพูด เด็กไป รร จะสื่อสารดีหรือไม่ดีด้วย "อวจนะภาษา" เป็นส่วนสำคัญ
การเล่นบทบาทสมมติที่แท้คือพัฒนาการการใช้สัญลักษณ์เรียกว่า symbolization นั่นทำให้การให้และการถอดสัญลักษณ์ที่เป็นอักขระหรือตัวเลขดียิ่งขึ้น
พัฒนาการทางภาษามิได้แปลว่าต้องสอนภาษาอย่างเดียว
  เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่ 26 : พ่อแม่ควรอ่านหนังสือให้ลูกฟังก่อนนอนทุกคืนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงวันที่ลูกไม่เอาเราแล้ว
การอ่านหนังสือให้ฟังทุกคืนทำให้ 1. ความเป็นแม่และพ่อแจ่มชัด 2. สายสัมพันธ์แข็งแรง และ 3. ตัวตนของเขามั่นคงดังที่เล่ามาแล้วตั้งแต่ตอนที่1
การอ่านมิใช่เพื่อให้ลูกฉลาด การอ่านสำคัญกว่านั้น การอ่านโดยเปิดหนังสือให้ลูกดูรูปและตัวอักษรไปพร้อมๆกัน เป็นการเตรียมสมองลูกให้มีความสามารถในการให้สัญญะและถอดความหมายอักขระที่เห็น กล่าวคือเส้นสายที่เขียนมีความหมาย มิได้เป็นแค่เส้นสายสีดำไร้ความหมายบนกระดาษ(จะเห็นว่าเด็กที่อ่านไม่ได้เพราะให้สัญญะไม่ได้)
การเล่นบทบาทสมมติกับลูกๆช่วยให้เขาให้สัญญะและถอดความหมายเก่งมากยิ่งขึ้น การเล่นที่ไม่มีอุปกรณ์สำเร็จแต่ต้องสมมติเอาเอง เช่น สมมติว่านี่เป็นตะหลิว สมมติว่ากำลังขี่ม้า สมมติว่ากำลังเหาะได้ เหล่านี้ยิ่งเพิ่มความสามารถของสมองในการให้สัญญะและถอดความหมายเรื่องราวต่างๆ
คณิตศาสตร์จะดีได้ต้องใช้ความสามารถในการให้และถอดความหมายสัญลักษณ์สูงมาก มิใช่แค่เส้นสายที่เป็นตัวเลข 1-9 แต่รวมถึงเส้นสายที่แทนความสัมพันธ์ เช่น + < ) > ~ % { และที่ซับซ้อนมากกว่านี้ในอนาคต
การให้สัญญะและการถอดความหมาย (symbolization) นี้จะเป็นต้นแบบของการถ่ายโอน (transfer) ทักษะและวิชาความรู้ในอนาคต กล่าวคือเรียนอะไรมาอย่างหนึ่งแต่ไม่ตายตัวแข็งกระด้างอยู่แค่นั้น สามารถถ่ายโอนหรือประยุกต์ไปยังเรื่องอื่นๆได้อีกด้วย
เล่นมากขึ้นอีกสัก 2-3 ปี เรียนช้าไปอีกสัก 2-3 ปี เป็นกำไรในภายหลัง
  เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่27 : บทสรุปสำหรับ3ขวบปีแรก เมื่อครบ 3 ขวบ มนุษย์จะมีพ่อแม่(object) มีสายสัมพันธ์(attachment) และมีตัวตน(self) เตรียมพร้อมด้านภาษา(language development) สามารถเล่นบทบาทสมมติ(role play) สามารถให้ความหมายและถอดสัญลักษณ์(symbolization) เวลา 0-3 ขวบ เป็นเวลาวิกฤต(critical period)แปลว่าเป็นนาทีทองที่ทำได้ง่ายที่สุดและได้ผลลัพธ์ดีที่สุด ไม่ทำก็อดทำ ทำหลังจากนี้ผลลัพธ์ไม่ดีเท่า 3 ขวบปีแรก
ทำอะไร? เลี้ยงลูก เล่นกับลูก และอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ไม่จ้างคนอื่นทำงานเหล่านี้และไม่ส่งลูกไปโรงเรียนที่เร่งเรียน หากไม่เข้าใจกรุณาอ่านใหม่ตั้งแต่ตอนที่1
ส่งเด็กที่พร้อมให้แก่โรงเรียน โรงเรียนศตวรรษที่ 21 จะรับช่วงต่อได้ดีกว่า

  เลี้ยงลูกให้พร้อมที่จะไป รร ตอนที่ 28 : ประมาณ 2 ขวบครึ่งถึง 3 ขวบ ที่เด็กจะเริ่มกระบวนการแยกตัวจาก "วัตถุที่เรียกว่าแม่" เป็นบุคคลอิสระ (separation-individuation)
เด็กส่วนหนึ่งพร้อมจะแยกตัวออกได้ เด็กบางคนอาจจะยังไม่พร้อม เขาจะถ่ายโอน "แม่ที่มีอยู่จริง" ไปไว้ที่ขวดนม ตุ๊กตา ผ้าห่ม หนังสือสักเล่ม หรือยอดมนุษย์ หรือสัตว์ยักษ์สักตัว แล้วถือ "วัตถุซึ่งมีอยู่จริง" ชิ้นนี้ไปไหนต่อไหนสักพักก่อนจะแยกตัวออกอีกทีหนึ่ง
เรียกของชิ้นนี้ว่า imaginary companion
หากจำเป็นต้องนำลูกเล็กไปฝากเลี้ยงและเขาขอผ้าห่มเก่าๆไปกอดนอน อย่าพรากผ้าห่มเก่าๆนั้นไปจากเขา เพราะ "คุณแม่" อยู่ในนั้นและเขายังไม่พร้อมจะพลัดพรากจากคุณแม่
"ก็ไหนแม่ว่ารักหนูที่สุดในโลกแล้วส่งหนูไปโรงเรียนทำไม?"
  เลี้ยงลูกดีๆตอนที่ 29 : เรื่องเพศ
เด็กจะเริ่มติดตั้งโปรแกรมเพศเมื่อ 4-5 ขวบ เขาหมดไป3ขวบปีแรกสาละวนกับตัวเองในการสร้างตัวตน และพร้อมที่จะปะทะคนอื่นเมื่ออายุ 6 ขวบ ซึ่งก็คือเวลาที่ควรไป รร
เวลาตรงกลางคือ 4-5 ขวบคือช่วงเวลาที่เขาจะสนใจเรื่องเพศ
โลกมีชายหญิงและLGBT หากนับLและGเป็นอย่างละสอง โลกจะมีเพศวิถีอย่างน้อยที่สุด 8 กลุ่ม และเพศสภาพอีกมาก ศตวรรษที่ 21 ทุกเพศปรากฏตัวแล้ว
ที่พ่อแม่ห่วงคือลูกจะเป็นอะไร ที่ควรสนใจมากกว่าคือลูกควรปฏิบัติต่อเพศอื่นๆอย่างไร
ลูกจะเป็นอะไร เขาเลือกไม่ได้ ยีนและโครโมโซมที่เป็นผู้กำหนด เขาเกิดมาเป็นเช่นนั้นเอง คุณพ่อคุณแม่ไม่เกี่ยว เลิกโทษตนเองได้แล้ว แต่เรื่องเขาควรทำตัวภายใต้เพศที่พันธุกรรมกำหนดอย่างไร คุณพ่อคุณแม่บอกได้สอนได้
พันธุกรรมจะวางโปรแกรมเพศ พ่อแม่สอนวิธีปฏิบัติตัวในสังคมและต่อเพศอื่นๆให้เหมาะสม หลังจากนี้เขาจะพร้อมแล้วทั้งตัวตนและเพศวิถี พร้อมออกสู่โลกกว้าง และพร้อมไปโรงเรียน
ภาพจากหนังBBC ปี 2014 Pride เล่าเรื่องจริงใน ปี 1984 เมื่อกลุ่มคนงานเหมืองในเวลส์รับความช่วยเหลือจากกลุ่มLGBTในการประท้วงรัฐบาลมากาเร็ต แท็ธเชอร์ หนังดี น่ารัก สนุก เศร้า และจริงจัง
  เลี้ยงลูกให้ดีเพื่อส่งต่อ รร ตอนที่ 30 : ทบทวนอีกทีก่อนไปต่อ จะเห็นว่า 5 ขวบปีแรกคือเวลาเตรียมความพร้อม มิใช่เวลาเรียนหนังสือ
เตรียมความพร้อมคือสร้างฐานให้แข็งแรง
ฐานที่ 1 คือ 12 เดือนแรก เด็กสอบผ่านขั้นนี้ด้วยการมีความไว้เนื้อเชื่อใจโลก(trust) ไว้ใจโลกไว้ใจตัวเองจึงจะไปต่อ
ฐานที่ 2 คือ 2-3 ขวบ เด็กสอบผ่านขั้นนี้ด้วยการมีตัวตน(self) รู้ว่าตนเองเป็นใคร มาจากไหน จะไปไหน
ฐานที่ 3 คือ 4-5 ขวบ เด็กสอบผ่านขั้นนี้ด้วยการมีเพศวิถี(sexuality) จะเพศอะไรก็มีพ่อแม่ยอมรับและรักเขาในแบบที่เขาเป็นโดยไม่มีเงื่อนไข
รู้ว่าตนเองเป็นใคร เพศอะไร ไว้ใจโลก จึงถึงเวลาไป รร จริงๆเสียที
ฐานแข็งแรง ข้างบนก็แข็งแรง อนาคตพานพบอะไร ทุบอย่างไรก็ไม่ล้ม


ที่มา   ::   น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น