Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2563

เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่71-80:สุดสิ้นกลิ่นน้ำนม

เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่71-80:สุดสิ้นกลิ่นน้ำนม



  เลี้ยงลูกให้ได้ดีตอนที่ 71 : เด็กจะไม่หลงทางง่ายๆเมื่อกี่ขวบ?
แม้ว่าเพียเจต์จะเขียนว่าอายุ 2-7 หรือ 8 ปี เป็ระยะ ก่อน-ปฏิบัติการ หรือ pre-operation และอายุ 8-12 ปีเป็นระยะ คิดเชิงรูปธรรม concrete operation แต่ตัวเลขเหล่านี้ไม่เคร่งครัด เด็กแต่ละคนเร็วช้าต่างกันและมีพัฒนาการตามจังหวะก้าวของตนเอง อย่างไรก็ตามเด็กต้องพัฒนาไปตามลำดับชั้น วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ได้แสดงให้เห็นว่าเซลล์สมองจะก่อรูปเป็นวงจรประสาทตามลำดับชั้นพัฒนาการจริงๆ และหากเราข้ามอะไรไปเราจะหวนกลับมาสร้างใหม่ไม่ได้ หลังจากพัฒนาความสามารถในการกำหนดความคงที่ (conservation) ความสามารถในการมองมากกว่าหนึ่งมิติหรือหนึ่งตัวแปรหรือจากมุมมองเดียว (decentration) การย้อนกลับ (reversible) การจำแนกหมวดหมู่ (classification) และการจัดเรียงลำดับ (seriation) จึงจะมาถึงความสามารถที่น่าตื่นตาตื่นใจมากที่สุดเรื่องหนึ่งของชีวิตมนุษย์นั่นคือการมองภาพสามมิติและการเปลี่ยนมุมมอง (spatial relation)
เด็กเล็กมีมุมมองมุมเดียว "อะไรที่อยู่ใกล้กว่าย่อมมีขนาดใหญ่กว่าอะไรที่อยู่ไกลกว่า" สำหรับเด็กโต จะรู้ว่าอะไรที่อยู่หน้าอะไรที่อยู่หลัง และขนาดที่แท้ควรเป็นอย่างไร
ตอนต่อไป:เปลี่ยนมุมมอง
ภาพจากเพจ themousetrap

  เลี้ยงลูกให้ได้ดีตอนที่ 72 : เด็กเล็กจะบอกว่าสิงห์ใหญ่กว่าพระ เด็กโตจะบอกว่าพระใหญ่กว่าสิงห์ เพราะเขาวางตำแหน่ง (placement) และเปลี่ยนตำแหน่ง (displacement) ของวัตถุ โดยคงคุณสมบัติเดิมได้แล้ว และสามารถมองได้มากกว่ามุมเดียว เก่งยิ่งกว่านั้นคือเปลี่ยนมุมมองได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนตำแหน่งที่ตนเองยืน
เด็กเล็กอยากให้สิงห์หมุนมาจะบอกว่าขวาหันคือขวาของตัวเอง เด็กโตจะบอกว่าซ้ายหันเพราะเขาสามารถไปยืนในตำแหน่งที่สิงห์ยืนได้แล้วด้วยใจ สิงห์ต้องทำซ้ายหันถึงจะถูกต้อง
เด็กโตจะรู้ว่าถ้าตนเองไปยืนในตำแหน่งที่พระยืนจะเห็นอะไรบ้าง โดยไม่ต้องไปยืนจริงๆก็ได้ ความสามารถประมวลผลที่เป็นรูปธรรมระหว่าง 8-12 ขวบ นี้ทำให้เด็กสำรวจเก่งและทำแผนที่เป็น การเรียนหนังสือในห้องเรียนจึงเป็นเรื่องเสียของและเสียเวลามาก การศึกษาสมัยใหม่จึงเอาเด็กออกนอกห้องสำรวจโลกเสมอๆ
เป็นรากฐานของการมองและเปลี่ยนมุมมองเรื่องที่เป็นนามธรรมยิ่งกว่าในช่วงวัยรุ่นตอนต้น

  เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่ 73 : "ความต่อเนื่องและเป็นลำดับชั้นของพัฒนาการ"
ทบทวนตอนที่แล้ว และดูรูปตอนที่แล้ว เด็กโต ประมาณระหว่าง 8-12 ขวบสามารถคิดออกได้ว่าถ้าตนเองไปยืนที่ตำแหน่งของพระ ควรเห็นอะไรบ้าง โดยที่ไม่ต้องขึ้นไปยืนจริงๆก็ได้ นี่คือ spatial relation อันเป็นหมุดหมายสุดท้ายของความคิดเชิงรูปธรรม(concrete) ก่อนจะพ้นวัยนี้ไปสู่วัยรุ่นเพื่อพัฒนาความคิดเชิงนามธรรม (abstrat) ต่อไป
กว่าจะมาถึงหมุดหมายสุดท้ายนี้ได้ ทารกและเด็กเล็กต้องพัฒนาแนวคิดมากมายมาอย่างต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเรื่อง วัตถุมีจริง (object constancy) อีกครั้งหนึ่ง
ทารก6เดือนไม่รู้ว่าวัตถุมีอยู่จริง ถ้าเราเอาตุ๊กตาที่เขากำลังเล่นซ่อนใต้ผ้าห่ม ถึงจะทำต่อหน้าต่อตา เด็กก็เลิกสนใจ เพราะไม่เห็นคือไม่มี
เพียเจต์สังเกตพบการก่อร่างของวัตถุที่น่าทึ่งมาก ระหว่างอายุ 8-10 เดือน ที่เด็กเริ่มรู้ว่าตุ๊กตานั้นมีอยู่จริงๆ ถ้าเราซ่อนตุ๊กตาไว้ใต้ผ้าห่ม แทนที่เด็กจะค้นหาตุ๊กตาใต้ผ้าห่ม เขาจะค้นหาตุ๊กตาที่ตำแหน่งเดิมก่อนอีกระยะหนึ่ง ก่อนที่จะรู้ว่ามีอะไรที่เหมือนตุ๊กตานั้นน่าจะอยู่ใต้ผ้าห่มมากกว่า! จะเป็นเช่นนี้ได้เมื่อเขาสามารถสร้างภาพตุ๊กตาขึ้นในใจ
ติดตามตอนต่อไป

 
เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่ 74 : ตอนที่ทารกส่งเสียงอยากได้นมหรือขวดนมครั้งแรกๆ เสียงที่ได้ยินมิใช่เสียงเรียกขวดนมจริงๆเพราะทารกยังพูดไม่ได้ อย่างมากก็ส่งเสียงอะไรบางอย่าง เสียงนั้นเกิดขึ้นในกระบวนการสร้างสัญลักษณ์แทนวัตถุอะไรบางอย่าง
ทบทวนตอนที่แล้วอีกครั้ง วันหนึ่งทารกรู้ว่าวัตถุมีจริง นั่นคือเต้านมหรือขวดนมมีจริง และมีโดยไม่ต้องเห็นด้วย จะมีโดยไม่ต้องเห็นได้ต่อเมื่อทารกมีภาพเต้านมหรือขวดนมในใจ นี่คือกระบวนการสร้างสัญลักษณ์ คือ symbolic representation บัดนี้ภาพเต้านมหรือขวดนมเกิดขึ้นในใจได้แล้ว โอ้ พระเจ้าจ๊อดยอดมาก และเขาส่งเสียงขึ้นเมื่ออยากได้ เสียงนั้นจะกลายเป็นภาษาในที่สุด
จะเห็นว่า "ภาษา" ไม่เกิดขึ้นเองโดดๆ แต่เกิดขึ้นบนกระบวนการที่ต่อเนื่องจาก "วัตถุมีจริง" ครั้นภาษาเกิดขึ้น แม้กระทั่งภาษาก็อยู่ใต้กฎมองจากมุมของตนเองเท่านั้น ไม่มองจากมุมของคนอื่นเลย ดังนั้น "แม่" คือแม่ของตัว ทิศทางของลูกศรความสัมพันธ์พุ่งทางเดียวคือจากแม่มาที่ตัวเอง แต่ตัวเองเป็นลูกของแม่หรือเปล่าเป็นตรรกะชั้นสูงขึ้น
สมมติว่าทารกชื่อก้อย "กุ้งเป็นพี่ของก้อย ดังนั้นก้อยเป็นน้องของกุ้ง" ประโยคนี้คือตรรกะของการคิดเชิงรูปธรรม เป็นความสามารถของเด็กโตที่สามารถเปลี่ยนมุมมองได้จึงจะเข้าใจได้ แต่สำหรับเด็กเล็กซึ่งมองจากมุมของตนเองเท่านั้นและยังเปลี่ยนมุมไม่ได้ เขารู้แค่ประโยคแรก! ก้อยจะเป็นน้องของกุ้งจริงรึเปล่า ไว้ดูกันต่อไป
เพียเจต์เรียกตรรกะแบบนี้ว่า reversible relation ซึ่งเด็กโตจึงจะทำได้ จะทำได้เมื่อภาษาในฐานะที่เป็นสัญลักษณ์ของความในใจใช้การได้ จะใช้การได้เมื่อวัตถุนั้นมีจริง
สรุป กลับบ้านไปเล่นกับลูกกันได้แล้ว

  เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่ 75 : การพัฒนาอย่างต่อเนื่องเป็นขั้นเป็นตอนโดยมิอาจข้ามได้นี้ในที่สุดก็มาถึงระยะสุดท้ายของความสามารถในการมอง คิด วิเคราะห์ ให้เหตุผล ด้วยข้อมูลที่เห็นด้วยตา ได้ยิน ลูบคลำ และจับต้องได้อย่างเป็นรูปธรรม คือ spatial relation เด็กสามารถเปลี่ยนมุมมองในใจตนเองโดยไม่ต้องเปลี่ยนที่ยืนอีกแล้ว
เด็กจะรู้จักสามมิติ และรู้ว่ารถกำลังถอยหลังเข้าหาตัวในที่สุด เพราะเขาสามารถนึกภาพที่เห็นจากด้านข้างได้ด้วยว่าระยะห่างจากท้ายรถเข้ามาหาเขาลดลงทุกขณะ
เด็กจะไม่หลงทางง่ายอีก เพราะเขากำหนดมุมมองที่ควรจะเป็นได้ในอวกาศและเวลารอบๆตัว เปลี่ยนมุมมองได้ในทางกายภาพ และในที่สุดคือเปลี่ยนมุมมอง "ในใจ"
ตอนต่อไป นามธรรม

  เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่ 76 : การค้นพบดาวเนปจูนเกิดขึ้นเพราะนักคณิตศาสตร์คนหนึ่งคำนวณพบความผิดพลาดของวงโคจรดาวยูเรนัส แปลว่าต้องมีดาวอีกดวงหนึ่งอยู่ข้างนอกนั้น แม้พบดาวเนปจูนแล้ว ยูเรนัสก็ยังโคจรผิดจากการคำนวณอยู่ดี แปลว่ายังมีอีกดวงอยู่ข้างนอกนั้น เพอร์ซิวาล โลเวลล์คำนวณหาตำแหน่งของดาวดวงที่ 9 แม้ว่าจะคำนวณผิด แต่กล้องโทรทัศน์ก็จับภาพการเปลี่ยนตำแหน่งของดาวดวงหนึ่งใกล้บริเวณที่คำนวณไว้จนได้ และกว่าจะได้ภาพดาวพลูโตชัดเจนก็อีกเกือบ 100 ปี ถัดมา
ความสามารถที่จะคิดถึงและเห็นสิ่งที่มองไม่เห็นเป็นตัวอย่างหนึ่งของความสามารถเชิงนามธรรมหรือการใช้ตรรกะเชิงนามธรรมที่ค่อยๆก่อตัวในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านจากเด็กโตสู่วัยรุ่น ได้แก่
1. ความเข้าใจคำศัพท์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น อุดมคติ อุดมการณ์ ความดี คุณธรรม เป็นต้น 2. จริยธรรมที่เปลี่ยนผ่านจากการทำดีเพื่อให้ได้รางวัลเป็นทำดีเพราะควรจะทำ 3. ความสามารถในการกำหนดเป้าหมายของงานเล็กปะติ๋ว เช่น กวาดบ้านให้เสร็จใน15นาที เปลี่ยนเป็นความสามารถในการกำหนดเป้าหมายของชีวิต 4. การเปลี่ยนมุมมองของสิ่งที่มิใช่วัตถุ เช่น เปลี่ยนมุมมองของ "ปัญหาชีวิต" เป็นต้น
วันนี้เขาแค่เปลี่ยนมุมมองของโต๊ะเก้าอี้ได้ วันหน้าเขาจึงจะเปลี่ยนมุมมองของ "ชีวิต" หรือ "ความยากลำบาก" ได้

  เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่ 77 : อุดมคติ (idealism) ควรเป็นเป้าหมายสูงสุดของการพัฒนามนุษย์เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม และเป็นหมุดหมายสำคัญของวัยรุ่น การกำหนดเป้าหมายที่ชัดๆนั้นอาจจะไม่ยากนัก เช่น โตขึ้นอยากเป็นหมอ แต่การกำหนดเป้าหมายที่เป็นอุดมคติจะยากขึ้น เช่น อยากเป็นหมอเพื่ออะไร?
ถ้าแม่คือต้นทาง คือราก (root) ที่คอยดึงเด็กคนหนึ่งมิให้ออกนอกทาง อุดมคติคือเป้าหมายอนาคต (target) ที่อีกปลายหนึ่ง ซึ่งคอยดึงมิให้มนุษย์คนหนึ่งออกนอกทางเช่นกัน

  เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่ 78 : มีงานวิจัยช่วงปี
2000 แสดงให้เห็นว่ามีเด็กวัยรุ่นน้อยมากที่มีความคิดเชิงนามธรรม (abstract thinking) ตามนิยามที่เพียเจต์ให้ไว้ ไม่ถึงครึ่งของนักศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มี และร้อยละ 60 ของนักคณิตศาสตร์เท่านั้นที่มี ทำให้เกิดคำถามว่า วัยรุ่นในศตวรรษที่ 21 เปลี่ยนไป หรือเพียเจต์ผิด
เพียเจต์ย้ำความสำคัญของ ระยะ (stage) หรือลำดับขั้นของพัฒนาการ สำเร็จขั้นหนึ่งจึงไปอีกขั้นหนึ่ง และสนใจการคิด วิธีคิด การใช้เหตุผลที่มีตรรกะ จากรูปธรรมสู่นามธรรม เมื่อถึงศตวรรษใหม่ มีคำถามถึงงานที่เขาเขียนว่าถูกต้องมากน้อยเพียงใด เด็กเล็กคิดเป็นรูปธรรมได้เร็วกว่าที่เขาเขียนไว้ และเด็กโตคิดเป็นนามธรรมได้เร็วกว่าที่เขาเขียนไว้ได้หรือไม่
การเน้นเรื่องระยะ (stage) ทำให้ประเด็น การเป็น (being) มีความสำคัญมากกว่า การกลายเป็น (becoming) เหมือนที่อิริค ฟรอห์มเขียนเรื่อง การเป็น(to be) และ การมี (to have) จะเห็นว่างานของเพียเจต์ถูกต้องตามหลักปรัชญา ซึ่งแปลว่าเด็กเล็กสามารถมองต่างมุมได้ และเด็กโตสามารถคิดเชิงนามธรรมได้ในบางเงื่อนไข เช่น ในบริบทของการอ่านหนังสือ
หนังสือคือโลก ที่เรียกว่า earth เมื่อโลกคือแผ่นดินที่เป็นรูปธรรม และหนังสือคือโลก ที่เรียกว่า world อันหมายรวมส่วนที่เป็นนามธรรมด้วย เวลาเด็กอ่านหนังสือหรือพ่อแม่อ่านหนังสือให้ลูกฟัง โลกทั้งใบจะหดลงเหลือเพียงหนังสือหรือหน้ากระดาษตรงหน้าเขาและเขาจะพัฒนาเร็วมากเมื่อสัมพัทธ์กับหนังสือ
สรุป กลับบ้านเร็วหน่อยไปอ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟังก่อนนอนกันได้แล้ว

  เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่ 79 : ประมาณก่อนวัยรุ่น เด็กให้เหตุผลด้วยข้อมูลที่ได้จาก "การรับรู้" สิ่งเร้า กล่าวคือ มองเห็น ได้ยิน สัมผัส ได้อะไรก็ใช้ข้อมูลเท่านั้นในการคิด ไม่คิดไกลกว่าที่ตาเห็น เช่น ถามเด็กว่าหมากับแมวเหมือนกัน "อย่างไร" เด็กเล็กส่วนใหญ่จะตอบว่ามี 4 ขา อีกหลายคนตอบว่ามีหาง บางคนตอบว่ามีหนวด เห็นเท่าไรตอบเท่านั้น ที่เรียกว่าคิดเชิงรูปธรรม หรือ concrete operation
เด็กโตขึ้นจึงเริ่มตอบว่า เป็นสัตว์เหมือนกัน หรือเป็นสัตว์เลี้ยงเหมือนกัน หรือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนกัน จะเห็นว่าระดับการคิดสูงขึ้น เรียกว่าคิดเชิงนามธรรมหรือ abstract operation ซึ่งยังมิใช่ความหมายของคำว่า นามธรรม แท้ๆ
นี่คือความแตกต่างของสมองที่ทำงานคนละระดับ เป็นพัฒนาการสำคัญที่เราต้องรอให้เขาเป็น(being) เด็กโตคนหนึ่งดูไม่เฉลียวฉลาดเท่าอีกคนหนึ่ง มิได้แปลว่าโง่ แต่รอได้ และส่งเสริมได้ อย่าเพิ่งทิ้งขว้างกัน

  เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่ 80 : เด็กและวัยรุ่นต่างกันตรงไหนอีก? ก่อนวัยรุ่น เด็กให้เหตุผลด้วยการจัดลำดับ เชื่อมโยง และสร้างความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลที่จับต้องได้ และเห็นได้ด้วยตา ครั้งเด็กเล็กเขาจับแพะชนแกะ (phenomenalistic causalty) พ่อแม่ทะเลาะกันเพราะหนูทำแก้วแตก ครั้นเด็กโตเขาคิดและให้เหตุผลอย่างมีรูปธรรม(concrete)
หลัง12ขวบโดยประมาณ วัยรุ่นเริ่มมีความสามารถใช้ข้อมูลอีก2ชนิด คือ ความคิด และ อารมณ์ ของตนเองเป็นแหล่งข้อมูลในการจัดลำดับ เชื่อมโยง และสร้างความสัมพันธ์ของสรรพสิ่ง นี่คือการให้เหตุผลด้วยตรรกะเชิงนามธรรม (abstract) แต่เพราะความคิดและอารมณ์ของวัยรุ่นไม่เคยนิ่ง เป็นพลวัต และพลุ่งพล่าน นี่จึงเป็นวัยที่วิธีคิดพุ่งขึ้นไป ผ่านระบบคุณค่า (value) ไปได้จนถึงจุดสูงสุดคือ "อุดมคติ" ก่อนที่จะเริ่มลงอีกครั้งเมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เป็นวัยที่เห็นสิ่งที่คนอื่นไม่เห็น รู้สึกสิ่งที่คนอื่นไม่รู้สึก และเข้าใจแม้อยู่ในความมืด
วัยรุ่นมีความสามารถในการทบทวนความคิด อารมณ์ และจิตใจของตนเอง โดยเป็นอิสระจากข้อมูลภายนอก ความสามารถนี้เป็นเรื่องดีที่สุด (หากสังคมจะรู้จักเปิดโอกาสให้เขาใช้ให้ถูกทาง แน่นอน "ถูกทาง" แปลว่าอะไร?!)
สัตว์ไม่มี abstract thinking หรือการคิดเชิงนามธรรม สุนัขตัวใหญ่เวลาที่อารมณ์ดีครึกครื้นจะกระโจนใส่เรา กระแทกเรา พยายามเบียดตัวเข้าหาเราประหนึ่งจะหลอมรวมกลืนกินเป็นร่างเดียวโดยไม่รู้แรงตัวเอง เป็นเช่นนี้เพราะสุนัขไม่สามารถ "เห็น" ตนเอง ไม่รู้ความคิดและอารมณ์ของตนเอง
จากตอนที่ 1-80 จากแรกเกิดจนสิ้นสุดวัยเด็กโต เป็นพัฒนาการและวิธีคิดของเด็กๆตามแนวคิดตะวันตก โดยมี ฟรอยด์ มาห์เลอร์ จุง อิริคสัน โคห์ลเบิร์ก และเพียเจต์ เป็นหัวขบวน ก่อนจะเข้าสู่เรื่องวัยรุ่นเราควรทำความเข้าใจเด็กเล็กและเด็กโตด้วยแนวคิดของนักวิชาการโซเวียตคนสำคัญด้วย
ตอนต่อไป Lev Vygotsky
ที่มา   ::   น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น