Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันพุธที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2563

เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่ 91-100 ตายอย่างสงบ

เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่ 91-100 ตายอย่างสงบ



 
เลี้ยงลูกให้ได้ดีตอนที่ 91 : ปี 1985 นศ.ปริญญาเอก Leon Payne ส่งปริญญานิพนธ์เรื่องความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence)เป็นครั้งแรก
ปี 1990 Salovey&Mayerตีพิมพ์งานวิชาการว่าด้วยความสามารถในการตระหนักรู้อารมณ์ของตนเอง ของผู้อื่น และการแก้ปัญหาที่เกี่ยวพันกับอารมณ์
ปี 1992 Daniel Goleman นักเขียนจาก Psychology Today และนิวยอร์คไทม์ เขียนหนังสือเรื่อง Emotional Intelligence ติดอันดับหนังสือขายดีของนิวยอร์คไทม์ ศัพท์คำนี้แพร่ระบาดไปทั่วโลกด้วยความหมายต่างๆกัน มีหนังสือและคอลัมนิสต์ทั้งที่เป็นและไม่เป็นนักจิตวิทยากระโจนลงสนามนี้จนเปรอะไปหมด ไม่เหลือความเป็นวิชาการอีก
Mayer & Cobb 2000 ให้ความหมายคำนี้ว่า คือความสามารถในการ "process" ข้อมูลทางอารมณ์ที่เกิดขึ้น ประกอบด้วย 1. การรับรู้ 2. การดูดซับ 3. ความเข้าใจ และ 4. การจัดการ
Caruso2003ซึ่งทำงานร่วมกับ Mayer และ Salovey มาตลอด ให้นิยามว่าคือ ความสามารถในการระบุอารมณ์ได้ถูกต้อง ใช้อารมณ์เป็นตัวช่วยในกระบวนการคิด รู้สาเหตุที่เกิดอารมณ์นั้น และสามารถอยู่กับอารมณ์ที่เกิดขึ้นนั้นอย่างชาญฉลาด
นักจิตวิทยาสมัยใหม่เชื่อว่าเด็ก 3 ขวบ ล่วงรู้อารมณ์ตนเองได้ และล่วงรู้ความมีอยู่ของความต้องการและอารมณ์ของคนอื่นได้
สำหรับเพียเจต์ อารมณ์เป็นส่วนประกอบหนึ่งของพัฒนาการวิธีคิดที่มีเหตุผล การพูดคุยเรื่องอารมณ์กับเด็กเพื่อให้เด็กเข้าใจตนเองจึงกลายเป็นเรื่องน่าหัวเราะ

 
เลี้ยงลูกให้ได้ดีตอนที่ 92 : ปี 2006 นักจิตวิทยาอิสราเอล Reuven Bar-On พัฒนาแบบวัด อีคิว Emotional Quotient : EQ เพื่อวัดระดับความตระหนักในอารมณ์ของตนเอง การแสดงออก อารมณ์ผู้อื่น ความเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ความปรารถนาที่จะสร้างความสัมพันธ์ และความสามารถในการจัดการความสัมพันธ์ รวมทั้งการมองโลกในแง่ดี
อันที่จริงเราไม่แน่ใจเท่าไรนักว่าเด็กมีความสามารถล่วงรู้อารมณ์ตนเองเมื่อไรแน่ มีหมุดหมายบางจุดเท่านั้นที่เรามั่นใจ เช่น ทารกทำหน้าเลียนแบบแม่ได้ตั้งแต่30นาทีแรก โบกมือบายบายเลียนแบบผู้ใหญ่ได้ตั้งแต่9เดือน แสดงความต้องการได้ตั้งแต่2ขวบ และรู้ว่ามนุษย์ข้างๆต้องการอะไรประมาณ3ขวบหรือช้ากว่า
มีงานทดลองเลื่องชื่อชิ้นหนึ่งที่สาธิตให้เห็นว่าเด็กก่อน3ขวบไม่สามารถมองในมุมคนอื่นได้จริงๆ ให้เด็กดูตุ๊กตา 2 ตัว ชื่อจอห์นและแซลลี่ จอห์นและแซลลี่ช่วยกันซ่อนขนมไว้หลังโซฟา จากนั้นแซลลี่ออกจากห้องไป จอห์นแอบย้ายขนมไปซ่อนไว้ในกล่อง เมื่อแซลลี่กลับเข้ามาในห้อง นักวิจัยถามเด็กว่าแซลลี่อยากกินขนม แซลลี่จะไปหาขนมที่ไหน?
เด็ก3ขวบจะตอบว่าแซลลี่จะไปหาในกล่อง
เด็กโตจะตอบว่าแซลลี่จะไปหาหลังโซฟา
เพียเจต์ยังคงถูกมากกว่าผิด

 
เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่ 93 : วัยรุ่น คือ อายุ 12-18 ปี ปัจจุบันด้วยคุณภาพอาหารและการปลุกเร้าของสังคมทำให้เด็กโตก้าวสู่วัยทีนเร็วขึ้นมาก ประมาณอายุ 10 ขวบ พูดง่ายๆว่าแก่แดดเร็วขึ้น พ่อแม่ขาลงหมดสิ้นซึ่งอำนาจวาสนาประมาณเวลานั้น เขาเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่แล้ว
วัยทีนหรือวัยรุ่นเป็นการเกิดใหม่อีกครั้งของมนุษย์ หากเปรียบ5ปีแรกเป็นหนอน 5ปีถัดมาเป็นดักแด้ บัดนี้ลูกของเรากำลังกลายเป็นผีเสื้อแสนสวยพร้อมโบยบิน และพวกเขาก็รักสวยรักงามจริงๆด้วย ผีเสื้อไม่มีอะไรเหมือนหนอนเลย วัยรุ่นก็เช่นกัน เขาคือคนคนใหม่ ไม่ใช่ลูกน้อยที่เราเคยเห็นอีกแล้ว บ้านไหนยังทำกับเขาเหมือนเดิมจะลำบาก ท่องไว้ เขาเป็นมนุษย์คนใหม่แล้ว
เลี้ยงลูกไปทำไม คำตอบหนึ่งคือเพื่อให้เขาปีกกล้าขาแข็งบินไปจากเราได้ด้วยตนเอง มิใช่เป็นลูกแหง่ติดเราไปตลอดชีวิต ควรดีใจที่เขาแข็งแรงและบินได้
วัยรุ่นเปรียบเหมือนการเกิดใหม่ (resurrection) พวกเขาจะทำภารกิจทุกชนิดที่ทำไปแล้วระหว่าง10ขวบปีแรกอีกครั้งหนึ่ง แต่ครั้งนี้ด้วยระดับที่ลึกซึ้งขึ้น กว้างขวางขึ้น และเป็นนามธรรมมากขึ้น เรามาทบทวนภารกิจของทารก เด็กเล็กและเด็กโตที่เล่าให้ฟังตั้งแต่ตอนที่1อย่างรวดเร็วอีกรอบ
ทารก12เดือนแรกมีภารกิจสำคัญคือเรียนรู้ที่จะไว้วางใจ(trust) วางใจอะไร วางใจโลก เพื่อที่จะได้กล้าพัฒนาตนเองจากที่ติดแม่ไปจนถึงวันที่เตาะแตะไปจากอ้อมอกแม่ได้5-10ก้าว วัยรุ่นพิสูจน์ความสามารถที่จะไว้วางใจโลกและผู้คนอีกครั้งหนึ่ง รวมถึงมิตร ภยันตรายและสังคมวัฒนธรรมรอบตัว หากขวบปีแรกเขาสั่งสมความสามารถนี้น้อยเกินไป เราจะได้วัยรุ่นขี้หงอ ขี้กลัว ไม่กล้า และอาจจะถึงกับไม่ยอมไปไหน เพราะ distrust ไม่ไว้ใจใครหรืออะไร
เมื่อลูกอายุ 2-3 ขวบ เขาต้องค้นพบว่าตนเองทำอะไรได้บ้าง คือ 1. มีความสามารถจัดการตนเองได้
(autonomy) และ 2. มีความสามารถทำอะไรใหม่ๆได้ด้วย(initiation) ภายใต้กฎ กติกา มารยาทที่พ่อแม่และสังคมกำหนด วัยรุ่นจะแสดง 1. autonomy และ 2. initiation อีกรอบด้วยพฤติกรรมที่สร้างความปวดหัวแก่พ่อแม่มากกว่าครั้งอายุ 2-3 ขวบ ตอนนี้เขา 12-13 ขวบ แล้ว จะปล่อยเสื้อ นุ่งสั้น เจาะร่างกาย ใช้แบรนด์ ขี่มอเตอร์ไซค์ ไม่สวมหมวกกันน็อค ไปจนถึงสูบบุหรี่ กินเหล้า ใช้ยาเสพติด ฯลฯ
หากเราช่วยเขาภาคภูมิใจกับความสามารถของตนเองเมื่อ 2-3 ขวบ แต่ก็ควบคุมตนเองได้ด้วย เช่น ไม่เคาะช้อนบนโต๊ะอาหาร ทำตามกติกาสาธารณะ ความสามารถที่จะควบคุมตนเองนี้ก็จะติดตัวถึงวัยรุ่นเช่นกัน
2-3 ขวบ จัดการไม่ได้ 12-13 ขวบ จะไปเหลืออะไร

 
เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่ 94 : วัยรุ่นเปรียบเหมือนการเกิดใหม่อีกครั้งหนึ่ง เมื่อลูก 3 ขวบ เขาต้องมีตัวตน(self) เขาจะใช้ตัวตนนี้เป็นประธานของประโยคในชีวิตที่เหลือนับจากนั้น ไปเรียนหนังสือ ไปคบเพื่อน ไปจากบ้าน ฯลฯ ไม่มีตัวตนก็ไม่มีชีวิต เป็นสิ่งมีชีวิตที่หายใจได้แต่ภายในจิตใจนั้นกลวงโบ๋
เมื่อลูกถึงวัยรุ่น ชีวิตที่กลวงโบ๋คือชีวิตที่ว่างเปล่า ไม่มีชีวิตให้ใช้ ไม่มีประธานของประโยค ไม่รู้จะเอาอะไรไปจีบแฟน ไม่รู้จะเอาอะไรไปคิดถึงการงานอาชีพในอนาคต ไม่มีเป้าหมายของชีวิต ไม่มีแม้แต่ชีวิตให้รัก จะใช้พฤติกรรมเสี่ยงก็ไม่รู้ว่าชีวิตกำลังเสี่ยงทั้งที่มีความรู้ว่ายาเสพติดแปลว่าอะไรหรือเอชไอวีติดต่ออย่างไรหรือตั้งครรภ์ตอนเรียนหนังสือแปลว่าอะไร แต่ชีวิตนั้นไม่เคยมี รู้ทั้งรู้ก็ทำ
เมื่อลูก3ขวบ หันหลังกลับไปก็ต้องเห็นแม่คือแม่นั้นมีอยู่จริงๆ(mother exist) และมีสะพาน หรือสายสัมพันธ์ (attachment) ให้กลับไปหาอ้อมกอดแม่ได้ตลอดเวลา แม่มีจริง ไม่ได้หลอก มีอยู่จริงๆ
เมื่อลูกวัยรุ่น แม่กลายเป็นนามธรรม (abstract) หันกลับไปไม่ต้องเห็นก็ได้แต่เห็น "ความรัก" "ความห่วงใย" "ความคาดหวัง" "คำสั่งสอน" สะพานนั้นหายไปแล้ว สายสัมพันธ์กลายเป็นนามธรรม ไม่มีระยะทางและเวลา นั่นคือแม่อยู่ในใจ ไปไหนไปกัน
เมื่อลูก3ขวบเขาสร้างตัวตนภายในคือselfเรียบร้อย เมื่อลูกวัยรุ่นเขาสร้างตัวตนภายนอกอีกทีเรียกว่าอัตลักษณ์คือ identity กูคือใคร การสร้างอัตลักษณ์ดำเนินไปจากอายุ 12-18 ปี ในที่สุดจะได้สิ่งที่เรียกว่าบุคลิกภาพคือ personality จะเดินจะนั่งจะพูดก็มีจริตและท่าทางของตัวเอง จะไปลงคอร์สฝึกบุคลิกภาพที่ไหนก็ได้ของหมูๆ แต่ข้างในมีตัวตนหรืออัตลักษณ์เป็นอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
เวลาของพ่อแม่หมดอย่างสิ้นเชิงแล้ว นับจากนี้เขาเป็นผู้ใหญ่คือadult เป็นบุคคลอิสระพร้อมจะไปทุกที่ด้วยตนเองอย่างแท้จริง
แม้แต่ลูกแฝดที่พันธุกรรมเหมือนกันทุกประการ วิธีเลี้ยงดูและสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาเผชิญจะเป็นผู้กำหนด ตัวตน-อัตลักษณ์-บุคลิกภาพ ผลลัพธ์สุดท้าย ไม่เหมือนกัน

 
เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่ 95 : วัยรุ่นเปรียบเหมือนการเกิดใหม่ เขาต้องทำภารกิจที่เคยทำครั้งเด็กเล็กอีกครั้ง เพื่อการเปลี่ยนผ่านเป็นผู้ใหญ่
โปรแกรมทางเพศถูกติดตั้งรอแล้วในพันธุกรรม เด็กๆจะลงโปรแกรมครั้งแรกเมื่ออายุ 4-5 ขวบ โดยใช้พ่อแม่เป็นต้นแบบบางส่วน การเลี้ยงดูของพ่อแม่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หลังจาก6ขวบเขาจะเข้าสู่ระบบโรงเรียน เลิกสนใจเรื่องเพศ สนใจเพื่อนและกลุ่มเพื่อนมากกว่า จนกระทั่งอายุ12เมื่อฮอร์โมนเพศหลั่ง ถึงตอนนี้เขาเป็น MF หรือ LGBT อย่างใดอย่างหนึ่ง
มนุษย์มิได้มีเพียง Male Female ยังมี Lesbian Gay Bisexual Transexual เลสเบียนและเกย์ยังแยกย่อยเป็นอีกอย่างละสอง รวมเป็น "อย่างน้อย" 8
เมื่อเด็กอายุ 6-10 ขวบ เขาไป รร พบเพื่อน ทะเลาะ-ดีกัน-ช่วยกัน พอเป็นวัยรุ่น เขาขึ้นชั้นมัธยมและไปมหาวิทยาลัยพบเพื่อน แต่ด้วยโฟกัสที่เปลี่ยนไป เป็นเวลาที่เขาได้ฝึกมีปฏิสัมพันธ์กับMFและLGBT
เมื่อเป็นเด็กเล็ก 0-7 ขวบ เขากลัวแม่ทิ้ง เมื่อเป็นเด็กโต 7-14 ปี เขากลัวเพื่อนทิ้ง เมื่อเป็นวัยรุ่น 14-21 ปี เขากลัวแฟนทิ้ง
เมื่อพ้นวัยรุ่น ทุกอย่างควรพร้อมแล้ว ทั้งตัวตน (self) เพศวิถี (sexuality) อัตลักษณ์ (identity) และบุคลิกภาพ (personality)

 
เลี้ยงลูกให้ได้ดีตอนที่ 96 : เกือบจะพ้นวัยรุ่นแล้ว ก่อนจะพ้นวัยรุ่น เมื่ออัตลักษณ์และบุคลิกภาพค่อนข้างจะเรียบร้อย ในทางสังคมเขายังมีอีก2ภารกิจที่ต้องเตรียมการคือ 1. มองหาความถนัดของตนเพื่อเตรียมหาอาชีพ 2. มองหาแฟน (รู้ตัวรึยังว่าเราตกกระป๋องไปพักใหญ่แล้ว)
ภารกิจข้อแรกเป็นเรื่องที่พ่อแม่คาดหวัง แต่เด็กไทยมักไม่ชัดว่าตนเองชอบอะไรหรืออยากทำอะไรกิน ต่อให้ชัดก็มักทำตามใจตนไม่ได้เพราะต้องเลือกเรียนตามความคาดหวังของพ่อแม่ หรือความคาดหวังของสังคมมากกว่า
ความสามารถในการมองเห็นความถนัดของตนเองและล่วงรู้ว่าตนเองชอบอะไรรักอะไรอยากเป็นอะไรและอยากทำมาหากินอะไรควรเกิดควบคู่กับ passion คือความหลงใหลคลั่งไคล้ในงานที่รัก เหล่านี้เกิดจากระบบการศึกษาที่เปิดโอกาสให้นักเรียนทำกิจกรรมกลุ่มอย่างหลากหลายต่อเนื่องยาวนานด้วยโจทย์ปัญหา (PBL) ที่สัมพันธ์กับชุมชนหรือสังคม การแบ่งหน้าที่ทำงานอย่างหลากหลายตลอด12ปีของการศึกษาขั้นพื้นฐานป1ถึงม6จะช่วยก่อร่างความหลงใหลและความสามารถควบคู่กัน มิใช่หลงใหลเสียเปล่าแต่ไร้ฝีมือ
ความสามารถที่จะรู้ว่าตนเองอยากเรียนอะไรแน่ๆไม่ได้เกิดจากชั่วโมงแนะแนว และไม่สามารถจะเกิดได้ในการศึกษาแบบตัวใครตัวมันโดยไม่มีเวลาฝึกปรือทักษะต่างๆ (อ่าน การศึกษาสมัยใหม่ ตอนที่1-30)
เป็นเรื่องจริง ที่เด็กๆในหลายประเทศที่พัฒนาแล้วเลือกเรียนตาม passion และเขาจะทำได้ดีที่สุด ทั้งต่อตนเองและประเทศชาติ และไม่มีอัตราการเปลี่ยนสาขากลางคันสูงลิ่วเท่าบ้านเรา
ภารกิจที่2คือหาแฟน ฝึกทักษะการคบเพื่อนต่างเพศวิถี แล้วเคลื่อนตัวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่คือ adult ต่อไป

 
เลี้ยงลูกให้ได้ดีตอนที่ 97 : พ้นจากวัยรุ่นคือผู้ใหญ่ หรือ adult ในทางจิตวิทยาสังคมแบ่งเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงต้นอายุ 18-35 ปี ช่วงปลายอายุ 35-55 ปี
adult หรือผู้ใหญ่ที่แท้กำหนดด้วยพฤติกรรม มิใช่กำหนดด้วยตัวเลขอายุ บางคนใหญ่แต่ตัว อะไรก็ไม่เป็นโล้เป็นพาย เช่นนี้มิใช่ adult วัยรุ่นบางคนเพิ่งจะ18แต่ก็มีความคิดอ่านและรับผิดชอบการงานเหมือน adult
วัยผู้ใหญ่ตอนต้นมีภารกิจทางจิตวิทยาที่สำคัญและควรทำให้ลุล่วงคือ intimacy หมายถึงการหลอมรวมเป็นหนึ่งหรือ intimate กับใครบางคน นี่มิใช่ความหมายของการแต่งงานตามจารีตแต่หมายถึงการมีคนรักหรือเพื่อนที่รักอย่างแท้จริง
การรวมเป็นหนึ่งหรือ intimate นี้ทำให้เราพัฒนาตนเองหรืออีโก (ego)ไปอีกระดับหนึ่งเพราะในกรณีเช่นนี้ 1+1 มากกว่า 2 แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่สูญเสียอีโกของตนเองไป ยังเป็นคน และยังเป็นเรา ด้วยนัยยะนี้คนที่แต่งงานแล้วแต่สูญเสียความเป็นตัวเองให้แก่ชีวิตสมรสก็มิใช่ intimate
การหลอมรวมเป็นหนึ่งหรือ intimacy นี้ อาจจะหมายความเพียงร่างกายคือมีเพศสัมพันธ์และ orgasm หรือทางสังคมคือการแต่งงาน ทางจิตใจคือขอบเขตของอีโกหรือ ego boundary ขยายอาณาเขตกว้างขวาง หรือทางจิตวิญญาณ หรือ spirituality สามารถตีความได้ เสรีนิยม มาร์คซิสต์ เฟมินิสต์ และศรัทธาในศาสนาไปจนถึงคลั่งศาสนาตีความต่างกัน
ที่คาดหวังน่าจะเป็นการหลอมรวมทางจิตใจคือขอบเขตของอีโกขยายอาณาเขตกว้างขวางเพื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ตอนปลายต่อไป

 
เลี้ยงลูกให้ได้ดีตอนที่ 98 : หน้าที่ทางจิตวิทยาของวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย 35-55 ปีคือ Generativity หมายถึง generate หรือสร้างผลผลิตบางอย่างให้แก่สังคม อาจจะเป็นบุตรหรือผลผลิตอื่นหรือประโยชน์สาธารณะ
วัฒนธรรมเป็นส่วนกำหนดว่าคนเราควรมีผลผลิตอะไร บางวัฒนธรรมกดดันเรื่องต้องมีบุตรแต่บางวัฒนธรรมก็ไม่ การสร้างประโยชน์สาธารณะมีความสำคัญมากกว่า
หลังจากมีคู่หรือเพื่อนรู้ใจแล้ว อีโกขยายอาณาเขตออกไปอย่างกว้างขวาง เป็นเวลาที่คนเรามีพลังจะสร้างสรรค์ผลผลิตแก่สังคมมากที่สุด สร้างครอบครัว ฐานะและชื่อเสียง เพื่อ generate ออกไป ย้ำอีกครั้ง ครอบครัวมิได้แปลว่าต้องมีบุตร
วัยนี้ หลายคนทำตามหน้าที่ทางจิตวิทยา ทำงานเต็มกำลังเพื่อครอบครัวและผู้อื่น หลายคนไม่ทำมัวแต่หาเงินอย่างเดียวไม่ใส่ใจเรื่องอื่น กว่าจะถึงเวลาเกษียณจากงานก็สายเสียแล้ว มาขวนขวายทำในบั้นปลายอย่างไรก็จะ "ไม่อิ่ม" กลายเป็นคนชราทำเกินหน้าที่ไปเสียก็มาก

 
เลี้ยงลูกให้ได้ดี ตอนที่ 99 : วัยชรา
เมื่อคนคนหนึ่ง ขวบปีแรกเรียนรู้ที่จะไว้ใจโลกแล้ว ขวบปีที่ 2-3 พบว่า โลกนี้มีแม่ สร้างสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับแม่ตลอดกาลนาน มีตัวตนที่แจ่มชัดแล้ว อายุ 4-5 ขวบมีเพศ อายุ 6-10 ขวบ ได้ทะเลาะกับเพื่อน คืนดีกันและทำงานด้วยกัน วัยรุ่นมีอัตลักษณ์ รู้ชัดว่ากูเป็นใคร 20-35 ปี มีเพื่อนคู่ใจหรือแต่งงาน 35-55 ปี ได้สร้างผลผลิตฝากไว้แก่โลกที่ตนเองเกิดมา เมื่อเข้าสู่วัยชรา จึงเป็นวัยที่ "อิ่ม" เรียกว่า Integrity ความมั่นคง
ในทางตรงข้าม คนเข้าใกล้วัยสูงอายุหรือสูงอายุยังระแวงโลก ไม่มีรากคือพ่อแม่ (ซึ่งตายหมดแล้ว) ไม่มีความผูกพัน ไม่มีตัวเอง ไม่มีเพื่อนคู่ใจ หรือไม่มีคู่ชีวิต ไม่เคยสร้างผลผลิตอะไรให้แก่โลก จะรู้สึกสิ้นหวัง แม้จะพยายามสร้างชื่อเสียงเมื่อแก่แล้วหรือรวยแล้วก็ไม่มีความหมาย (ในใจ) มากนัก ทำอย่างไรก็ไม่อิ่ม เรียกว่า Despair หลายครั้งยิ่งทำมากยิ่งรกรุงรังทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น
ตอนที่ตนเองอายุ 35-55 ปี คือ วัยผู้ใหญ่ตอนปลายจึงเป็นวัยที่ควรทำงาน หาเงิน แต่ก็สร้างผลผลิตแก่ส่วนรวมด้วย มิใช่หาเงินอย่างเดียว ตอนแก่จะอิ่ม(ใจ) และมีความสุข
ตอนที่พ่อแม่ทุกบ้านอายุ 35-55 ปี (คือบางท่านที่กำลังอ่านตอนนี้) อย่าลืมว่าลูกอายุ 25-35 ปี (คือบางท่านที่กำลังอ่านตอนนี้) พ่อแม่ และ ลูก บัดนี้ได้เคลื่อนตัวเข้ามาอยู่ในวัยผู้ใหญ่ด้วยกันแล้ว จากเดิมเราอยู่คนละช่วงวัยกันมาโดยตลอด ดังนั้นปฏิบัติต่อลูกด้วยความเคารพ และให้เกียรติเสมือนหนึ่งผู้ใหญ่ที่เท่ากัน ลูกๆจะเคารพท่านยิ่งกว่า
ตอนที่คนเราอายุ 35-55 ปี จะมีเวลาและความสามารถไปสร้างผลผลิตให้แก่สังคมได้รวมทั้งสามารถปฏิบัติต่อลูกด้วยการให้เกียรติและเคารพได้ ลูกๆต้องเรียบร้อยดีตามสมควร มีพัฒนาการมาถึงจุดที่เขาเป็นผู้ใหญ่ที่ดีน่าเคารพ หากลูกยังไม่ได้เรื่อง แม้กระทั่งเมื่อเราแก่แล้วเข้าสู่วัยชรา ลูกก็ยังไม่ได้เรื่อง เช่นนี้ก็ไม่อิ่ม สิ้นหวัง และไม่สงบเช่นกัน
คนแก่ที่อิ่ม คือคนแก่ที่มั่นคง และสามารถตายในบ้านที่ตนเองสร้างมากับมือ หรืออยู่มาทั้งชีวิต ท่ามกลางลูกหลานหรือคนรู้ใจ จึงเป็นสุดยอดของ Integrity ไม่มีอะไรจะสุข สงบ และหมดลมหายใจอย่างดีไปกว่านี้อีกแล้ว
ในขณะที่ตอนต้นบทความชุดนี้เขียนว่า เมื่อลูกเกิดใหม่ คุณแม่ห้ามตาย ถึงตอนก่อนอวสานแล้ว คุณแม่(และพ่อ)มีหน้าที่ตาย
โลกสมัยใหม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง 2 ประการ ประการแรกคือคนสูงอายุอายุยืนยาวมากขึ้นไม่ยอมตาย หลายครั้งยืนยาวจนกระทั่งเกินจุดอิ่ม สังขารเสื่อมจนไม่รู้จักตนเองหรือสร้างความเบื่อหน่ายแก่ลูกหลานและสังคมโดยไม่รู้ตัว ประการสองคือคนสูงอายุมักตายด้วยท่อหายใจ ท่อมอนิเตอร์หัวใจ ท่อน้ำเกลือ ท่ออาหาร และท่อปัสสาวะ รวม 5 ท่อ ไม่รวมสายเดรนของเสียหรือสิ่งคัดหลั่งจากช่องปอดหรือช่องท้อง (ถ้ามี) ในโรงพยาบาลท่ามกลางคนแปลกหน้าอย่างเปลี่ยวเหงาระคนน่ากลัว และเจ็บตัวเป็นเดือน บ้างเป็นปี ก่อนที่จะตายอย่างทนทุกข์ทรมานและไม่สงบ แม้จะอ่านประวัติในงานศพว่าสงบก็ตาม
ตอนต่อไป ตอนอวสาน

 
เลี้ยงลูกให้ได้ตอนที่ 100 : มนุษย์มีข้อยกเว้นได้เสมอ แต่ส่วนใหญ่ไม่มีข้อยกเว้น การเลี้ยงลูกและพัฒนาการของลูกมีหลักการทั่วไปไม่มาก เพียงทำตามก็ประกันผลลัพธ์สุดท้ายได้ระดับหนึ่ง หากไม่ทำเพราะเหตุใดก็ตามก็อาจจะมีข้อยกเว้นหรือสิ่งมหัศจรรย์ได้บ้างแบบในหนังฮอลลีวู้ด แต่ส่วนใหญ่ไม่มี
ปิรามิดอยู่มาได้ 5000 ปีเ พราะฐานแข็งแรง ลูกๆก็เช่นกัน จะแข็งแรงและพุ่งยอดขึ้นไปได้เรื่อยๆเพราะฐานที่ดี คนเราเหนื่อยได้ ท้อได้ พักได้ นอนได้ พยายามฆ่าตัวตายก็มี แต่ไม่มีวันล้ม รู้สติก็จะลุกขึ้นยืนอีกครั้งเสมอ ไม่มีวันล้ม เราอยากได้ลูกแบบนั้น
นอกจากไม่มีวันล้มแล้วเราอยากให้เขามีเป้าหมายในอนาคตที่เขากำหนดไว้แล้วเดินทางไป คือฐานทีละชั้นๆของปิรามิดที่เขาจะค่อยๆสร้าง ไม่มีทางลัดและไม่มีการข้ามขั้นอีกทั้งไม่จำเป็นต้องใช้ทางลัดแม้กระทั่งห้ามใช้ทางลัด ค่อยๆสร้างความสามารถทีละชั้นไปตามลำดับชั้นพัฒนาการตามที่เล่ามาตั้งแต่ตอนที่ 1-99 อย่างสั้นๆ
รายละเอียดเป็นเรื่องของแต่ละบ้าน พ่อแม่เป็นผู้ตัดสินใจ ผิดบ้างถูกบ้างมิใช่เรื่องควรกังวล หลักการใหญ่ๆโอเค ชีวิตก็โอเค มีทางไปได้เสมอ

ที่มา   ::   น.พ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น