ประวัติลูกเสือโลกและลูกเสือไทย สรุปย่อเข้าใจง่าย มีที่มาอย่างไร
ประวัติลูกเสือโลก
ประวัติลูกเสือโลกมีที่มาอย่างไร
ลูกเสือโลกเกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศอังกฤษ โดยพลโท ลอร์ด เบเดนเพาเวลล์ หรือ BP เนื่องจากครั้งหนึ่งเคยไปรับราชการทหารและฝึกเด็กขึ้น เพื่อช่วยเหลือในค่าย ซึ่งกลายเป็นเรื่องที่ดี เมื่อเด็กเหล่านี้สามารถให้การช่วยเหลือได้หลายด้าน ทั้งการทำครัว สอดแนม รวมถึงเป็นผู้สื่อข่าวในกองทหาร
ในปี พ.ศ. 2450 พลโท ลอร์ด เบเดนเพาเวลล์ กลับจากราชการทหารและได้จัดตั้งกลุ่มลูกเสือ (Boy Scout) เป็นครั้งแรกที่เกาะบราวน์ซี ไอแลนด์ ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ในอีก 5 ปี รัฐบาลอังกฤษจึงได้ประกาศรับรองฐานะของลูกเสืออังกฤษอย่างเป็นทางการ พร้อมออกกฎหมายคุ้มครอง
ในปี พ.ศ. 2465 ได้มีการจัดตั้งสำนักงานลูกเสือโลกขึ้นเพื่อรวบรวมประเทศสมาชิกและดำเนินกิจการร่วมกันรวมกว่า 40 ล้านคนใน 171 ประเทศ
ประเภทของลูกเสือ ตามประวัติลูกเสือไทยและลูกเสือโลก
ในประเทศไทยจะแบ่งประเภทของลูกเสือตามแบบประเทศอังกฤษ เพียงแต่มีการกำหนดประเภทลูกเสือชาวบ้านเพิ่มขึ้นเป็นประเทศเดียวในโลก ดังนี้
1. ลูกเสือสำรอง เนตรนารีสำรอง : คติพจน์ ทำดีที่สุด (Do Our Best)
2. ลูกเสือสามัญ เนตรนารีสามัญ : คติพจน์ จงเตรียมพร้อม (Be Prepared)
3. ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ เนตรนารีสามัญรุ่นใหญ่ : คติพจน์ มองไกล (Look Wide)
4. ลูกเสือวิสามัญ เนตรนารีวิสามัญ : คติพจน์ บริการ (Service)
5. ลูกเสือชาวบ้าน
ประวัติลูกเสือไทย
ประวัติลูกเสือไทย เริ่มต้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 พ.ศ. 2454 หลังจากประวัติลูกเสือโลกก่อตั้งเพียง 4 ปีเท่านั้น เริ่มแรกมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างนิสัยในการสังเกต เชื่อฟัง และพึ่งพาตนเอง โดยต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต บำเพ็ญตนเพื่อสาธารณประโยชน์ ตลอดจนรู้รักษาและส่งเสริมประเพณีวัฒนธรรมและความมั่นคงของประเทศชาติ
ย้อนรอยประวัติลูกเสือไทย สรุปย่อเข้าใจง่าย
ในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงก่อตั้งกิจการลูกเสือไทย โดยมีกองลูกเสือแรกของไทยคือ กองลูกเสือโรงเรียนมหาดเล็กหลวง หรือโรงเรียนวชิราวุธ ทั้งนี้ ประวัติลูกเสือไทยยุคต่างๆ แบ่งได้ดังนี้
1. ประวัติลูกเสือไทยยุคก่อตั้ง (พ.ศ. 2454-2468)
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดตั้งกองเสือป่าในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2454 และประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาในวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2454 ทรงสถาปนาลูกเสือไทย พร้อมพระราชทานคำขวัญว่า “เสียชีพ อย่าเสียสัตย์”
ในขณะเดียวกันได้มีการส่งคณะผู้แทนลูกเสือไทยไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือไทยครั้งที่ 1 ที่ประเทศอังกฤษ และคณะลูกเสือไทยได้เป็นสมาชิกของสมัชชาลูกเสือโลกในปี พ.ศ. 2465 และส่งผู้แทนคณะลูกเสือไทย 10 คน ไปร่วมงานชุมนุมลูกเสือโลกครั้งที่ 2 ที่ประเทศเดนมาร์ก
2. ประวัติลูกเสือไทยยุคส่งเสริม (พ.ศ. 2468-2482)
แม้ว่าจะเปลี่ยนสมัย แต่ในปี พ.ศ. 2470 รัชกาลที่ 7 ก็ได้ทรงจัดตั้งการชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 1 ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ และกำหนดให้จัดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติในทุกๆ 3 ปี ต่อมาในปี พ.ศ. 2478 ได้มีการทำตราคณะลูกเสือแห่งชาติขึ้น
3. ประวัติลูกเสือไทยยุคประคับประคอง (พ.ศ. 2483-2489)
แม้ว่าจะเป็นยุคสมัยที่การลูกเสือซบเซา เนื่องจากเป็นยุคสมัยสงคราม แต่ในปี พ.ศ. 2485 มีการออกพระราชบัญญัติลูกเสือ กำหนดให้พระมหากษัตริย์ดำรงตำแหน่งบรมราชูปถัมภ์คณะลูกเสือแห่งชาติ
4. ประวัติลูกเสือไทยยุคก้าวหน้า (พ.ศ. 2489-2514)
พ.ศ. 2496 ไทยเริ่มดำเนินการสร้างค่ายลูกเสือวชิราวุธ 5 ปีต่อมาได้มีการฝึกอบรมวิชาผู้กำกับลูกเสือสำรอง และจัดตั้งกองลูกเสือสำรองกองแรกขึ้นในประเทศไทย และในปี พ.ศ. 2504 ได้มีการเฉลิมฉลองที่คณะลูกเสือไทยมีอายุครบ 50 ปี ก่อนจะมีการฝึกอบรมลูกเสือชาวบ้านขึ้นครั้งแรกของไทย
5. ประวัติลูกเสือไทยยุคประชาชน (พ.ศ. 2514- ปัจจุบัน)
ปี พ.ศ. 2516 ไทยเข้ารับกิจการลูกเสือชาวบ้านเป็นส่วนหนึ่งของคณะลูกเสือแห่งชาติ และเริ่มกำหนดให้วิชาลูกเสือเป็นหนึ่งในวิชาพื้นฐานของหลักสูตรการเรียนการสอน และมีการจัดตั้งชุมนุมในไทย พร้อมทั้งส่งผู้แทนไปชุมนุมลูกเสือโลกอย่างต่อเนื่อง
ประวัติลูกเสือไทยและประวัติลูกเสือโลก ก่อตั้งขึ้นโดยมีจุดประสงค์เพื่อฝึกอบรมเด็กเพื่อให้มีทักษะในการเอาชีวิตรอด และช่วยเหลือคนอื่นในสังคมได้ วิชาลูกเสือในประเทศไทยจึงถูกกำหนดอยู่ในหลักสูตรการศึกษาให้เด็กไทยได้เรียนรู้และฝึกตนเอง
กฎของลูกเสือ 10 ข้อ
ตอบลบกฎของลูกเสือ 10 ข้อนับเป็นกฎของลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ ลูกเสือสามัญ รวมถึงลูกเสือวิสามัญ แต่ส่วนใหญ่ก็มักใช้ร่วมกัน มีดังนี้
#ข้อ 1 ลูกเสือมีเกียรติเชื่อถือได้
#ข้อ 2 ลูกเสือมีความจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
#ข้อ 3 ลูกเสือมีหน้าที่กระทำตนให้เป็นประโยชน์และช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ
#ข้อ 4 ลูกเสือเป็นมิตรของคนทุกคนและเป็นพี่น้องกับลูกเสือทั่วโลก
#ข้อ 5 ลูกเสือเป็นผู้สุภาพเรียบร้อย
#ข้อ 6 ลูกเสือมีความเมตตากรุณาต่อสัตว์
#ข้อ 7 ลูกเสือเชื่อฟังคำสั่งของบิดามารดาและผู้บังคับบัญชาด้วยความเคารพ
#ข้อ 8 ลูกเสือมีใจร่าเริงและไม่ย่อท้อต่อความลำบาก
#ข้อ 9 ลูกเสือเป็นผู้มัธยัสถ์
#ข้อ 10 ลูกเสือประพฤติชอบด้วย กาย วาจา ใจ
กฎของลูกเสือสำรอง 2 ข้อ
กฎของลูกเสือสำรอง 2 ข้อ มีดังนี้
#ข้อ 1 ลูกเสือสำรองทำตามลูกเสือรุ่นพี่
#ข้อ 2 ลูกเสือสำรองไม่ทำตามใจตนเอง
คำปฏิญาณลูกเสือสำรอง 2 ข้อ
ตอบลบก่อนท่องกฎของลูกเสือและคำปฏิญาณจะต้องกล่าวคำว่า “ข้าสัญญาว่า”
#ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์
#ข้อ 2 ข้าจะยึดมั่นในกฎของลูกเสือสำรองและบำเพ็ญประโยชน์ต่อผู้อื่นทุกวัน
คำปฏิญาณลูกเสือ 3 ข้อ ของลูกเสือสามัญ ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ และลูกเสือวิสามัญ
ก่อนท่องกฎของลูกเสือและคำปฏิญาณต้องกล่าวคำว่า “ด้วยเกียรติของข้า ข้าสัญญาว่า”
#ข้อ 1 ข้าจะจงรักภักดีต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
#ข้อ 2 ข้าจะช่วยเหลือผู้อื่นทุกเมื่อ
#ข้อ 3 ข้าจะปฏิบัติตามกฎของลูกเสือ
คติพจน์ของลูกเสือแต่ละประเภท
นอกจากกฎของลูกเสือและคำปฏิญาณที่จะแตกต่างตามประเภทและช่วงวัย ยังมีคติพจน์ของลูกเสือที่ต่างกัน ดังนี้
# ลูกเสือสำรอง :: ทำดีที่สุด
# ลูกเสือสามัญ :: จงเตรียมพร้อม
# ลูกเสือสามัญรุ่นใหญ่ :: มองไกล
# ลูกเสือวิสามัญ :: บริการ
กฎของลูกเสือและคำปฏิญาณ นอกจากจะท่องจำและปฏิบัติตามในกลุ่มลูกเสือแล้ว ยังใช้กฎดังกล่าวกับกลุ่มเนตรนารีแต่ละประเภทร่วมด้วย เพียงแค่เปลี่ยนคำว่าลูกเสือเป็นคำว่าเนตรนารีแทน
ที่มา :: สำนักงานลูกเสือแห่งชาติ