Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันเสาร์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2555

รู้จักทารกน้อยแรกคลอด

รู้จักทารกน้อยแรกคลอด
ลักษณะของทารกแรกคลอด

หลังจากที่คุณแม่คลอดลูกน้อยออกมาแล้ว คุณจะได้มองดูลูกอย่างเต็มตาล่ะที่นี้ ให้สมกับที่รอคอยมาเป็นเวลานาน เฝ้าสังเกตทุกอิริยาบถและทุกส่วนของร่างกายลูก ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของเส้นผม, สีผม, ขนาดของมือและเท้า, ลักษณะสีหน้าของลูก ถ้าคุณมีข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับลูกของคุณ ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด เป็นโอกาสดีที่จะสอบถามจากพยาบาลหรือคุณหมอทันที และคุณหมอเองก็จะต้องตรวจเช็คร่างกายของลูกด้วยเพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างเป็นปรกติดี
ทารกแรกคลอดส่วนใหญ่จะมีน้ำหนักระหว่าง 2.5 - 4.5 กก. และมีความยาวตั้งแต่ 48 - 51 ซม.
ลักษณะของทารกแรกคลอดมีดังนี้


  1. ศีรษะ
    ทารกแรกคลอดจะมีศีรษะใหญ่เมื่อเทียบกับลำตัว ดูผิดรูป ทั้งนี้เพราะขณะที่ลูกค่อยๆ เคลื่อนมาตามช่องคลอด หัวจะค่อยๆ ถูกบีบไปตามลักษณะช่องคลอด บางครั้งหัวด้านข้างของลูกอาจดูบวม เพราะถูกกด อาการเหล่านี้ไม่มีอันตรายใดๆ ต่อสมอง และจะยุบหายไปเองในเวลา 2 สัปดาห์

    ส่วนบนของศีรษะลูกที่คลำดูนิ่มๆ เรียกว่ากระหม่อมหน้า (Anterior fontanelle) เป็นส่วนที่กะโหลกยังประสานกันไม่หมด จะค่อยๆ ปิดสนิทเมื่อลูกอายุ 18 เดือน บางทีคุณอาจสังเกตเห็นส่วนนี้เต้นตุบๆ เมื่อลูกหายใจ
  2. ผิวหนัง
    ทารกแรกคลอดส่วนใหญ่จะมีไขเคลือบผิว เพื่อช่วยหล่อลื่นเวลาไหลเคลื่อนผ่านช่องคลอด และช่วยป้องกันการติดเชื้อทางผิวหนังได้ ไขนี้จะหลุดลอกออกไปเองตามธรรมชาติในเวลา 1 - 2 วัน

    จุดและผื่นต่างๆ จะพบได้ตามปรกติ และจะค่อยๆ จางหายไปจนกลืนไปกับผิวส่วนอื่น

    หนังลอก หนังบริเวณมือและเท้าจะลอกออกไปใน 2 - 3 วัน

    ขนอ่อนตามตัว (Lanugo) ซึ่งปกคลุมร่างกายลูกตั้งแต่อยู่ในท้อง พบมากเป็นพิเศษในทารกคลอดก่อนกำหนด จะค่อยๆ หลุดลอก ออกไปเองภายในเวลา 2 สัปดาห์ และขนที่แท้จริงจะงอกขึ้นมาแทนที่

    ปาน เมื่อคุณแม่พินิจพิจารณาดูลูกอย่างใกล้ชิด คุณจะเห็นปาน ตามตัวของลูกมีลักษณะต่างๆ ซึ่งส่วนมากเกิดจากกลุ่มเลือด ฝอยใต้ผิวหนัง ไม่จำเป็นต้องรักษาแต่อย่างใด เพราะปรกติ แล้วจะหายไปเอง

    ปาน, ปานแดง: เป็นรอยปื้นสีชมพูจางๆ หรือแดง พบบ่อยที่บริเวณจมูก, เปลือกตา และต้นคอด้านหลัง จะจางหายไปในราว 1 ปี

    ปานสตรอเบอรี่ (Strawberry marks): จะมีสีแดงคล้ำ บางครั้งปรากฏขึ้น 2 - 3 วันหลังคลอด จะค่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ จนถึงขวบปีแรก แล้วจะจางหายไปเมื่ออายุราว 5 ขวบ

    ปานพอร์ตไวน์สเตน (Port wine stain): เป็นปานแดงชนิดถาวร มีลักษณะเป็นปื้นขนาดใหญ่ มักพบบริเวณหน้าและลำคอของทารก หากมีข้อสงสัย, กังวลเกี่ยวกับปานชนิดนี้ ควรปรึกษาแพทย์

    ปานมองโกเลีย (Mongolian spot): มักจะพบในทารกที่มีสีผิวคล้ำ เช่นททารกผิวดำ, ทารกเอเชีย มักเป็นบริเวณก้น หรือบริเวณหลัง ส่วนล่างของทารก อาจดูเหมือนรอยเขียวช้ำ ไม่มีอันตรายใดๆ และจะจางหายไปในที่สุด
  3. เต้านม
    บ่อยทีเดียวที่พบทารกมีเต้านมไม่ว่าหญิงหรือชายดูโตกว่าปรกติ และอาจมีน้ำนมไหลออกมาด้วย เนื่องจากฮอร์โมนจากแม่ผ่าน ไปสู่ลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และยังมีผลต่อลูกอยู่ในช่วงหลังคลอดนี้ อย่าบีบน้ำนมจากเต้านมของลูกเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดอาการ อักเสบจนเป็นฝีได้ เต้านมจะยุบไปเองในไม่ช้า
  4. สายสะดือ
    สายสะดือจะเหี่ยว, แห้งและหลุดออกไปเอง ประมาณ 10 วัน หลังคลอด ควรเปิดสะดือให้แห้ง จะสะอาดและหลุดง่าย
  5. อวัยวะเพศ
    ทารกชาย หากคลอดครบกำหนด ลูกอัณฑะมักจะลงมา ในถุงอัณฑะตั้งแต่แรกคลอดอยู่แล้ว ถ้าสงสัยควรปรึกษาแพทย์ ทารกหญิง อาจมีสีคล้ำ บวมเล็กน้อย บางคนมีมูกคล้ายตกขาว บางคนมีเลือดออกทางช่องคลอดคล้ายๆ ประจำเดือนเมื่ออายุ 2 - 3 วัน เป็นเพราะฮอร์โมนจากคุณแม่ที่ผ่านสายรก (พร้อมฮอร์โมนที่ทำให้เต้านมโต) และจะหายไปเองในเวลา 1 - 2 สัปดาห์
  6. มือและเท้า
    ปลายมือปลายเท้าของทารกแรกเกิดอาจมีสีเขียวคล้ำ เนื่องจากเลือดยังไหลเวียนไม่ดี และมักมีเล็บยาว ทำให้ขีดข่วนหน้า ควรเล็มออกเล็กน้อย ยามลูกนอนหลับ หากจะสวมถุงมือถุงเท้าให้ลูก ต้องสำรวจดูด้านในของถุงมือ ถุงเท้าเสียก่อนว่า ไม่มีเส้นด้ายรุ่งริ่ง เพราะอาจไปรัดนิ้วของลูกได้ ผิวบางส่วนอาจดูแห้งและหลุดลอก ซึ่งจะหายไปเองในเวลาไม่กี่วัน
  7. การหายใจ
    ทารกแรกเกิดมักจะหายใจไม่สม่ำเสมอเหมือนผู้ใหญ่ คือจะหายใจเป็นพักๆ และหยุดเป็นพักๆ ได้ อัตราการหายใจของเด็กแรกเกิด จะเท่ากับ 20 - 60 ครั้งต่อนาที ซึ่งเร็วกว่าผู้ใหญ่ปรกติ
  8. อุจจาระ
    ทารกแรกเกิดส่วนมากจะถ่ายภายใน 24 ชั่วโมง เรียกว่า "ขี้เทา" (Meconium) มีลักษณะเหนียวๆ สีเขียวดำ วันต่อมาจะมีสีจางลง วันที่ 3 - 4 จะมีสีเหลือง ดูเหลว เด็กที่กินนมแม่จะมีอุจจาระสีเหลืองทอง ถ้าทานนมขวดจะเป็นก้อน อาจถ่ายยากสักนิดเมื่อเทียบ กับเด็กที่กินนมแม่ ปรกติทารกแรกเกิดจะถ่ายบ่อย วันละ 3 - 5 ครั้ง ซึ่งไม่ถือว่าท้องเสีย หรือท้องเดิน
  9. ตัวเหลือง (Jaundice)
    อาการตัวเหลืองจะปรากฏขึ้นในวันที่ 3 หลังคลอด ที่นัยน์ตาขาวก็อาจมีสีเหลืองด้วย แต่เหลืองไม่มาก และจะค่อยๆ จางหายไปในเวลา 6 - 7 วัน จนหายไป เมื่อเด็กอายุได้ 1 - 3 สัปดาห์ ถ้าเหลืองจัดหรือมีอาการ ตัวเหลืองนาน ควรรีบปรึกษาแพทย์


การตรวจทารกแรกคลอด
หลังคลอดทารกจะได้รับการตรวจสุขภาพหลาย ครั้งในช่วงสัปดาห์แรก โดยพยาบาลจะชั่งน้ำหนัก เป็นระยะ ตรวจสุขภาพทั่วไป และดูอาการติดเชื้อทุกวัน แพทย์จะทำการตรวจทารกอย่างละเอียดอย่างน้อย 1 ครั้ง ในช่วงแรกนี้ ตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าเพื่อหาสิ่งผิด ปรกติที่อาจเกิดขึ้น
  1. วัดรอบศีรษะและหาความผิดปรกติ ตรวจดูกระหม่อมหน้า คลำเพดานปาก
  2. ฟังชีพจรและเสียงปอด
  3. คุณหมอจะวางมือบนท้องทารก เพื่อตรวจดูว่าไม่มีอวัยวะใดโตเกินปรกติ มักคลำชีพจรที่ขาหนีบด้วย
  4. ตรวจหาความผิดปรกติของอวัยวะเพศในทารกเพศชายว่า อัณฑะลงในถุงอัณฑะทั้ง 2 ใบเรียบร้อยแล้วหรือยัง
  5. ขยับแขนขยับขาทารกไปมาอย่างนุ่มนวล เพื่อดูว่าสัดส่วนและแนวแขนขา ว่าเท้าไม่ปุกไม่เป๋
  6. ตรวจดูข้อสะโพกว่าปรกติ ไม่หลุด โดยงอขากับเข่า แล้วหมุนข้อสะโพกเป็นวงอย่างเบามือ
  7. คลำแนวกระดูกสันหลังเพื่อตรวจสอบความผิดปรกติ

ทารกแรกเกิดทำอะไรได้บ้าง
การดูดกลืน: มีทักษะสำคัญอย่างหนึ่งที่ทารก แรกคลอดสามารถทำได้โดยไม่ต้องได้รับ การสอน นั่นคือการดูดกลืน

ในช่วง 2 - 3 วันแรก ทารกจะเริ่มเรียนรู้ที่จะ ประสานงานกันระหว่างการดูด, การกลืน และการหายใจ ทารกแรกเกิดจะหันไปหา หัวนมแม่หรือหัวนมยางโดยอัตโนมัติ ถ้าคุณแม่แตะที่ข้างแก้มลูก และจะอ้าปาก ทันทีที่คุณแตะริมฝีปากบนของลูก


กำมือ:
เมื่อเอานิ้วหรือสิ่งของใส่เข้าไปในมือลูก ลูกจะกำแน่นมากไม่ยอมปล่อย หรือเมื่อ เอานิ้วหรือสิ่งของแหย่ไปที่นิ้วเท้าของลูกก็ จะกำแน่นเช่นเดียวกัน

อาการตอบสนองโดยอัตโนมัติของลูกเหล่านี้ (ยกเว้นการดูด) จะหายไปเองหลังอายุ 3 เดือน โดยจะเปลี่ยนเป็นการควบคุมการทำงานของ กล้ามเนื้อได้ดีขึ้นแทน

นอกจากนั้น ทารกแรกเกิดสามารถใช้ประสาท สัมผัสรับรู้เสียง, กลิ่น และรสได้ สามารถจำ กลิ่นของแม่ได้ตั้งแต่แรกเกิด จำหน้าคุณแม่ ได้เมื่ออายุ 2 สัปดาห์ ช่วงแรกของชีวิตลูกจะ ใช้ปากรับรู้สัมผัส ทารกชอบจ้องมองดูผู้คน, ข้าวของต่างๆที่อยู่ใกล้ๆ ทารกชอบมองหน้าคน เป็นพิเศษ ทารกจะมีความสุขมากถ้าได้รับ การสัมผัสเบาๆ เสียงสูงๆ เบาๆ ของพ่อแม่เมื่อ พูดคุยหยอกล้อกับลูกจะทำให้ลูกมีความสุขมาก ลูกจะมีปฏิกิริยากับแสงสว่าง และจะหายใจเร็ว ขึ้นเมื่อได้ยินเสียงที่ถูกใจ และจะสะดุ้งตกใจ เมื่อได้ยินเสียงดังๆ
ทารกที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ
ทารกบางคนต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษหลัง คลอดในโรงพยาบาล บางครั้งอยู่ในตู้อบภาย ในห้องเด็กอ่อน บางครั้งต้องอยู่ในห้องไอซียู สำหรับเด็กแรกคลอด มักเนื่องมาจากสาเหตุเหล่านี้:-
สาเหตุ

  • ทารกที่คลอดก่อนกำหนด (คลอดก่อนครบ 37 สัปดาห์) มักมีปัญหาในเรื่องการหายใจ, การรับอาหาร และ การรักษาอุณหภูมิของร่างกาย จึงต้องคอยดูแลใกล้ชิด เป็นพิเศษ ยิ่งคลอดก่อนกำหนดเร็วเท่าไหร่ ยิ่งต้อง ได้รับการดูแลเป็นพิเศษมากขึ้นเท่านั้น
  • ทารกที่ตัวเล็กมากกว่าอายุครรภ์ หรือมีสภาพที่ยัง ไม่พ้นขีดอันตราย มักมีปัญหาในเรื่องการหายใจ, หัวใจ, และการไหลเวียนของโลหิต
  • ทารกที่คลอดจากแม่ซึ่งเป็นโรคเบาหวาน หรือทารกที่คลอดยากมาก และยังคงต้องได้รับ การดูแลอย่างใกล้ชิดระยะหนึ่งก่อน
  • ทารกที่มีอาการดีซ่าน ปรกติทารกแรกเกิดบางคนมรอาการตัว เหลืองในราว 3 วันหลังคลอด โดยมีผิว และนัยน์ตาขาวออกสีเหลือง เพราะว่า ตับของทารกยังทำงานได้ไม่ดีนัก และมีเม็ดสี (bilirubin) คั่งอยู่ในเลือดมาก เกินกว่าที่ตับจะกำจัดออกได้ทัน อาการดีซ่านมักหายไปเองในเวลาไม่กี่วัน ถ้าจำเป็นทารกอาจต้องอบไฟเพื่อลดอาการดีซ่าน ซึ่งทำในห้องผู้ป่วยทารกได้ แต่ถ้าอาการ หนักจริงๆ ต้องนำไปรักษาพิเศษต่างหาก


  • เรียนรู้ทารกที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ
  • ทารกที่ต้องดูแลเป็นพิเศษต้องการ ความรักจากแม่เหมือนกัน
  • ทารกทุกคนต้องการการโอบกอด, เห่กล่อม และได้รับการสัมผัสจากแม่ ไม่ว่าจะอยู่ในห้องเดียวกับคุณ หรืออยู่ในห้อง ICU สำหรับเด็กแรกเกิด ถ้าลูกถูกแยกไปอยู่ในห้อง ICU สำหรับเด็กแรกเกิด คุณพ่อคุณแม่ควรพยายามอยู่ใกล้ชิดลูก ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หากคุณต้องเข้า ไปเยี่ยมลูกที่อยู่ในห้อง ICU คุณอาจรู้สึกตก ใจที่เห็นสายเครื่องมือแพทย์ระโยงระยาง และอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อช่วยให้ปลอดภัย อื่นๆ ล้อมรอบตัวลูกคุณ คุณควรขอให้พยาบาล ช่วยอธิบายว่าเครื่องแพทย์เหล่านี้มีไว้เพื่ออะไร และใช้ทำอะไรบ้าง รวมทั้งขอให้แสดงวิธีที่คุณ จะสามารถสัมผัสลูกน้อยได้ ทารกทุกคนรับรู้สัมผัส ที่เต็มไปด้วยความรักได้ แม้ว่าต้องอยู่ในตู้อบ ตลอดเวลาและไม่ได้อยู่ในอ้อมกอดของแม่ก็ตาม คุณแม่สามารถพูดคุยกับลูกได้ และโยกตัวลูกเบาๆ โดยผ่านทางช่องสอดมือ
  • การให้อาหาร
  • การให้อาหารสำคัญมากสำหรับทารกคลอด ก่อนกำหนด ทารกที่ได้รับนมแม่บ้างจะมี พัฒนาการดีขึ้น ถึงแม้ว่าคุณแม่จะไม่ได้ อยู่กับลูกตลอดเวลา แต่ก็สามารถปั๊มนม ให้พยาบาลนำไปให้ลูกคุณได้ ทารกบาง คนดูดนมเองไม่ได้ แต่สามารถรับนมแม่ ผ่านทางสายสอดผ่านจมูกหรือปากลงไป ในกระเพาะอาหาร สายสอดผ่านทางจมูก หรือปากนี้ไม่ทำให้ลูกคุณเจ็บปวดแต่อย่างใด ฉะนั้นอย่าเป็นกังวล หรือไม่สบายใจที่ได้เห็นภาพนี้ คุณแม่และคุณพ่อควรใช้เวลาอยู่ใกล้ชิดให้กำลังใจลูก ด้วยการสัมผัสตัวลูก ลูบไล้ โยกตัวลูกเบาๆ
  • ทารกในตู้อบ (Incubators)
  • ทารกที่ตัวเล็กมากๆ จำเป็นจะต้องอยู่ ในตู้อบเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น แต่คุณ แม่ก็ยังสามารถติดต่อกับลูกน้อยได้ ตู้อบบางชนิดสามารถเปิดฝาด้านบนได้ บางชนิดมีช่องสอดมือให้คุณแม่สอดมือเข้า ไปในตู้อบด้านข้างเพื่อลูบตัวลูก สัมผัสลูก น้อยได้ และคุณสามารถพูดคุยกับลูกได้ด้วย ถึงแม้ว่าทารกจะอยู่ในตู้อบแต่ก็ต้องการความรัก ความสนใจเช่นเดียวกับทารกปรกติคนอื่นๆ

    เมื่อไปหาลูกซึ่งอยู่ในตู้อบคุณอาจต้องใส่เสื้อกาวน์ และใส่ที่ปิดปากและจมูกเพื่อป้องกันการติดเชื้อ คุณควรล้างมือให้แน่ใจว่าสะอาดจริง และเป่ามือให้แห้งสนิทก่อนจับต้องลูกน้อย
  • ทารกเป็นดีซ่าน (Babies with jaundice)
  • ทารกที่เป็นดีซ่านมากๆ จะต้องนำไปรักษาโดยวิธี Phototherapy (อบไฟ) เพื่อลดอาการดีซ่าน คือถอดเสื้อ ผ้าทารกออกหมดแล้วนำไปวางไว้ใต้แสงสว่าง โดยมีผ้าปิดตา ซึ่งอาจทำในหอผู้ป่วยทารกได้ การรักษานี้จะติดต่อกันหลายวันก่อนที่อาการดี ซ่านจะหายโดยหยุดพักให้นมเป็นระยะ ถ้าอาการหนักกว่าเดิมจะต้องมีการเปลี่ยนถ่ายเลือดเพื่อการรักษา
  • ทารกพิการ (Babies with disabilities)
  • ถ้าลูกน้อยของคุณพิการไม่ว่าจะในทางใดทางหนึ่ง คุณจะต้องเผชิญกับอารมณ์ที่หลากหลายความรู้สึก ของตัวเอง: อาจเป็นความรักลูกปนความหวาดกลัว, รู้สึกสงสารลูกผสมกับความโกรธ และคุณยังต้อง เผชิญกับความรู้สึกของคนข้างเคียงไม่ว่าจะเป็นสามี, ญาติพี่น้อง, เพื่อนฝูง เพราะบุคคลเหล่านั้น จะต้องเรียนรู้ว่าลูกของคุณต่างจากทารกคนอื่น แต่เหนือสิ่งอื่นใดในเวลาเช่นนี้ คุณต้องการ ใครสักคนหรือหลายคน ที่คุณจะสามารถพูด ได้โดยเปิดเผยถึงความรู้สึกที่คุณมี และรับ ทราบข้อมูลเกี่ยวกับตัวลูกในขณะนี้และใน อนาคตว่าจะดำเนินชีวิตอย่างไร, ต้องรักษาอย่างไรจึงจะดีขึ้น คุณควรปรึกษาแพทย์หรือหมอเด็กใน โรงพยาบาลที่คุณคลอดเพื่อขอคำแนะนำ เกี่ยวกับลูกคุณ นอกจากนั้น การได้พูดคุย กับคุณพ่อคุณแม่คนอื่นๆ ที่มีประสบการณ์เช่น เดียวกันจะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น และคุณอาจ ได้คำแนะนำที่มีประโยชน์อีกด้วย

  •  
     
    รู้จัก...ทารกแรกคลอด
    แม่และเด็ก

    รู้จัก...ทารกแรกคลอด (M&C แม่และเด็ก)

    ฉบับที่แล้วเราได้แนะนำให้คุณแม่เรียนรู้ภาษาของทารกไว้ตั้งแต่ก่อนคลอด เพื่อที่จะได้รู้ว่า เวลาที่ลูกร้องนั้น เค้ากำลังต้องการสื่ออะไรกับคุณ คราวนี้เราจะชวนคุณแม่ไปทำความรู้จักร่างกายน้อย ๆ ของทารกแรกคลอดกันค่ะ


    3 วันแรกในชีวิตลูก

    จากสถิติพบว่า เด็กไทยที่คลอดครบกำหนดจะมีน้ำหนักแรกเกิด ประมาณ 2,500-3,000 กรัม แต่สิ่งที่ทำให้คุณพ่อคุณแม่มือใหม่ตกใจได้ก็คือ พอหลังคลอด ลูกกลับมีน้ำหนักตัวลดลง!!!

    เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติค่ะ ช่วง 2-3 วันแรกของชีวิต น้ำหนักของทารกจะลดลงได้ 5-10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวแรกเกิด ทั้งนี้เนื่องจากทารกกำลังปรับตัวกับการรับสารอาหารในรูปแบบใหม่ ซึ่งแตกต่างจากตอนอยู่ในครรภ์อย่างสิ้นเชิง แถมยังมีการเสียน้ำออกจากร่างกายมากทั้งทางเหงื่อ ปัสสาวะ อุจจาระ รวมทั้งต้องใช้พลังงานอย่างมากในการหายใจ แต่หลังจาก 3 วันไปแล้ว น้ำหนักจะค่อย ๆ เพิ่ม และจะเพิ่มจนเท่าน้ำหนักแรกเกิดเมื่ออายุประมาณ 7-10 วัน และจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวันเลยทีเดียว

    นอนเก่งแล้วจะหม่ำนมพอไหม

    ทารกแรกเกิดส่วนใหญ่จะนอนเกือบทั้งวันค่ะ เฉลี่ยแล้ววันละ 15-20 ชั่วโมงเลยทีเดียว จะตื่นก็ต่อเมื่อหิว ฉี่หรืออึ จนไม่สบายตัว ถ้ากลัวว่าลูกจะนอนนานจนตื่นมากินนมไม่พอ ลองขยับเนื้อขยับตัว หรือเขี่ยริมฝีปากของเค้าสักนิด เค้าก็จะเริ่มดูดนมได้โดยอัตโนมัติ แต่ถ้ากลัวว่าเค้าดูดตอนหลับแล้วจะสำลัก ก็คงต้องรอให้เค้าตื่นก่อน ระหว่างให้นมควรพูดคุยเล่นกับเค้า จะช่วยให้ตื่นอยู่ได้นานขึ้นซักพักหนึ่ง เมื่อเด็กโตขึ้นก็จะมีช่วงเวลาตื่นที่นานขึ้นเองค่ะ

    และทารกมักถ่ายทุกครั้งหลังกินนม เจ้าตัวเล็กของคุณจึงอาจอึถึงวันละ 6-7 ครั้ง ทารกที่กินนมแม่ อุจจาระจะค่อนข้างนิ่ม ส่วนทารกที่กินนมผงอุจจาระจะแข็งกว่าเล็กน้อย

    กระหม่อมลูกนุ้มนุ่ม

    บริเวณตรงกลางศีรษะทารกแรกเกิดจะมีลักษณะนุ่ม ดังนั้น เวลาที่เขาขยับตัวหรือร้องไห้ จึงเห็นได้ชัดเจนว่ากระหม่อมของเขากำลังเคลื่อนไหวขึ้น ๆ ลง ๆ ทำให้คุณแม่มือใหม่ตกใจได้มาก ทั้งที่เป็นเรื่องปกติค่ะ ถ้าเวลาปกติส่วนของกระหม่อมลูกแบนราบไม่ปูดโปนหรือยุบลงก็ไม่ต้องกังวล

    นอกจากนี้ ที่ศีรษะลูกอาจมีคราบไขแข็งติดอยู่ได้ ควรใช้สำลีชุบเบบี้ออยล์ หรือวาสลีนเช็ดทำความสะอาดบ่อย ๆ ภายใน 2 สัปดาห์เจ้าไขที่ว่านี้จะหายไปค่ะ

    ดูแลสะดืออย่างไร ?

    สีของสะดือทารก อาจต่างกันไป บางคนเป็นสีดำ ขณะที่บางคนมีสีซีดจนเกือบขาว ความแตกต่างคือ สะดือที่มีสีดำแสดงว่ามีเลือดคั่งอยู่ข้างในมาก ส่วนสะดือสีซีด เหลือง หรือขาว เป็นสะดือที่มีเลือดคั่งอยู่น้อยหรือแทบไม่มีเลย ซึ่งไม่ว่าจะสีไหนก็ไม่ได้ทำให้ลูกเจ็บปวดหรอกค่ะ

    ระหว่างที่สะดือลูกยังไม่หลุด คุณแม่ควรดูแลสะดือของลูกให้แห้งอยู่เสมอ อย่าให้เปียกชื้น และยังไม่ควรจัดให้ลูกนอนหลับในท่านอนคว่ำ เพราะเขาอาจปัสสาวะออกมาเปียก หรือตัวเขาอาจกดทับสะดือจนเป็นแผลได้

    บางครั้งที่สะดือของลูกอาจมีเลือดซึมออกมาบ้างก็ไม่ต้องวิตก หมั่นใช้แอลกอฮอล์เช็ดก็เพียงพอแล้ว แต่หากมีน้ำเหลืองออกมาด้วย ปรึกษาแพทย์ดีกว่าค่ะ
     
     
     
     
     
    ที่มา :: ปีที่ 35 ฉบับที่ 483 พฤษภาคม 2555
     
     
     
     
     
     
     
     
     

    ไม่มีความคิดเห็น:

    แสดงความคิดเห็น