Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

แสงเหนือ (Aurora) คืออะไร?

 

แสงเหนือ (Aurora) คืออะไร?



แสงเหนือ หรือ ออโรร่า (Aurora)  เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่มีแสงเรืองบนท้องฟ้าในเวลากลางคืน โดยมักจะขึ้นในบริเวณแถบขั้วโลก โดยบางครั้งจะเรียกว่า แสงเหนือ หรือ แสงใต้ ขึ้นอยู่กับแหล่งกำเนิดปรากฏการออโรราเป็นตัวอย่างปรากฏการณ์ทางฟิสิกส์ที่น่าทึงที่สุดที่เกิดขึ้นในอวกาศที่ใกล้พื้นโลก มันอาจปรากฏจากสิ่งจางๆ เป็นวงนิ่ง แล้วระเบิดออกมาเป็นสีต่าง ๆ พุ่งกระจายภายในเวลาไม่กี่วินาที บางครั้งจะปรากฏเหมือนมันจะแตะกับพื้น หรือในเวลาอื่นอาจเห็นมันพุ่งสูงขึ้นสู่ท้องฟ้า แต่ความจริงแล้ว แสงออโรรานั้นเกิดขึ้นที่ความสูงจากพื้นโลก (altitudes) ประมาณ 100 ถึง 300 กิโลเมตร บริเวณที่อยู่บริเวณบรรยากาศชั้นบนที่อยู่ใกล้กับอวกาศ

ความหมายของชื่อแสงเหนือ แสงเหนือ ตามประวัตินั้นมีชื่อมากมายหลายชื่อ ชื่อวิทยาศาสตร์ของปรากฏการณ์นี้ คือ ออโรรา บอเรลลีส (Aurora Borealis) ซึ่งเป็นภาษาละติน แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า รุ่งอรุณสีแดงแห่งทิศเหนือ ซึ่งตั้งชื่อโดย กาลิเลโอ กาลิเลอิ (Galileo Galilei) (ค.ศ. 1564 – 1642)

คำว่า "Aurora Borealis" แปลว่า "แสงเหนือ" (Northern Light) ส่วน "Aurora Australis" แปลว่า "แสงใต้" (Southern Light) และคำว่า "Aurora Polaris" แปลว่า "แสงขั้วโลก" ใช้เรียกทั้งแสงเหนือและแสงใต้

แสงเหนือ-แสงใต้เกิดจากอะไร? ปรากฏการณ์แสงเหนือ แสงใต้ เกิดจากการชนกันระหว่างก๊าซในชั้นบรรยากาศโลกกับอนุภาคไฟฟ้าที่ถูกปล่อยออกมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ ก่อให้เกิดการระเบิดเป็นลำแสงสีต่าง ๆ กันออกไป ขึ้นอยู่กับแสงนั้นเกิดขึ้นในช่วงชั้นบรรยากาศไหน และเกิดจากก๊าซอะไร

เพราะในระดับความสูงที่เหนือชั้นบรรยากาศ 100 กิโลเมตรขึ้นไป จะประกอบด้วยโมเลกุลไนโตรเจนและออกซิเจนเป็นส่วนใหญ่ โดยในระดับความสูงเหนือชั้นบรรยากาศประมาณ 100-200 กิโลเมตร ช่วงนี้จะมีโมเลกุลออกซิเจนหนาแน่นมาก สามารถก่อให้เกิดแสงออโรร่าสีเขียวอมเหลือง ซึ่งเป็นแสงเหนือ แสงใต้ยอดนิยมที่มักจะได้เห็นกันบ่อย ๆ

ส่วนแสงเหนือสีแดงจะปรากฏในช่วงชั้นบรรยากาศที่สูงเกิน 200 กิโลเมตรขึ้นไป แต่แสงสีฟ้าและสีม่วงมักจะปรากฏที่ช่วงความสูงเหนือชั้นบรรยากาศในช่วงที่ต่ำกว่า 120 กิโลเมตร อันเป็นช่วงชั้นที่มีโมเลกุลของไนโตรเจนหนาแน่นกว่าออกซิเจน

เราจะพบแสงเหนือได้ในช่วงใด?
ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการเกิดแสงเหนือจะอยู่ในช่วงฤดูหนาวของทางขั้วโลก ซึ่งเป็นช่วงเดือนกันยายน ตุลาคม มีนาคม และเมษายน นอกจากนี้หากได้ไปเยือนขั้วโลกในขณะที่ท้องฟ้าปลอดโปร่ง ไร้เมฆ มีความมืดมิดสนิท มีสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างปลอดมลพิษ และเป็นช่วงเวลาตั้งแต่ 22.00-24.00 น. ก็จะยิ่งมีโอกาสในการเห็นแสงเหนือมากขึ้น

ทว่าหากใครต้องการความชัวร์ว่าอุตส่าห์เดินทางไปล่าแสงเหนือแล้วต้องไม่พลาดจะเก็บภาพเด็ด แนะนำให้ไปชมแสงเหนือในช่วงที่ผ่านวัฏจักรจุดสุริยะ (Sun Spot) มาแล้ว 2 วัน แต่อาจจะต้องรอกันนานนิดนึงเพราะวัฏจักรดังกล่าวจะเกิดขึ้นทุก ๆ 11 ปี ซึ่งล่าสุดก็เพิ่งมีช่วงแสงเหนือพีค ๆ ไปเมื่อปี ค.ศ. 2013 คร่อมปี ค.ศ. 2014 ซึ่งเป็นช่วงที่แสงเหนือจะเกิดได้ชัดเจนที่สุด ก่อนจะค่อย ๆ ลดระดับแสงลงจนกว่าจะเปล่งแสงเจิดจ้าขึ้นมาอีกครั้งเมื่อครบรอบวัฏจักร 11 ปี

เราสามารถพบแสงเหนือได้ที่ประเทศใดบ้าง?

- ประเทศสวีเดน (SWEDEN)
- ประเทศรัสเซีย (RUSSIA)
- ประเทศไอซ์แลนด์ (ICELAND)
- ประเทศฟินแลนด์ (FINLAND)
- รัฐอะแลสกา สหรัฐอเมริกา (ALASKA)
- ประเทศแคนนาดา (CANADA)
- ประเทศนอร์เวย์ (NORWAY)
- ประเทศกรีนแลนด์ (GREENLAND)

การไปไล่ล่าแสงเหนือ หรือการอยากพบกับแสงเหนือสักครั้งนั้นไม่ได้ง่ายดายนัก เพราะเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ดั้งนั้นใครอยากได้ยลโฉม ก็ต้องมีทั้งเวลา เงิน และโชคชะตาเลยทีเดียว


ที่มา   ::   https://happylongway.com/what-is-the-aurora/

2 ความคิดเห็น:

  1. แจ้งเตือน พายุสุริยะที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปีจะมาเยือนโลกสุดสัปดาห์นี้

    วันที่ 11 พ.ค. เพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ โพสต์แจ้งเตือนพายุสุริยะที่ใหญ่ที่สุดในรอบ 20 ปี จะมาเยือนโลกสุดสัปดาห์นี้ แต่ไม่เป็นอันตราย ผู้สังเกตในละติจูดสูง เตรียมพบกับออโรร่า


    โดยระบุว่า NOAA (National Oceanic and Atmospheric Administration) ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหรัฐ ที่ทำหน้าที่ติดตามเฝ้าระวังพายุสุริยะ ได้รายงานการค้นพบพายุสุริยะระดับ G5 ซึ่งเป็นพายุสุริยะที่รุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี กำลังจะมาเยือนโลกในช่วงสุดสัปดาห์นี้ เบื้องต้นเตือนถึงผลกระทบที่อาจจะส่งผลต่อดาวเทียม และกริดไฟฟ้าในประเทศแถบขั้วโลก แต่ไม่ส่งผลต่อสุขภาพของมนุษย์แต่อย่างใด ผู้สังเกตในแถบละติจูดสูงเตรียมพบกับแสงออโรร่าได้ตลอดสุดสัปดาห์นี้

    วันศุกร์ที่ 10 พ.ค. 2024 NOAA แจ้งเตือนถึงการตรวจพบพายุสุริยะที่มีความรุนแรงระดับ G4 ต่อมาได้ยกระดับพายุขึ้นเป็นระดับ G5 ซึ่งเป็นระดับความรุนแรงของพายุสุริยะที่สูงที่สุด พายุสุริยะนั้นเกิดขึ้นจากการปลดปล่อยมวลจากดวงอาทิตย์ (Coronal Mass Ejection: CME) มวลจากดวงอาทิตย์เหล่านี้เกิดขึ้นจากอนุภาคมีประจุ ซึ่งเมื่ออนุภาคมีประจุเหล่านี้เกิดการเคลื่อนที่ อาจจะส่งผลรบกวน และเบี่ยงเบนสนามแม่เหล็กของโลก เมื่อสนามแม่เหล็กของโลกเกิดการรบกวน จะทำให้อนุภาคบางส่วนสามารถเข้ามายังชั้นบรรยากาศด้านบนของโลกได้ เกิดเป็นแสงเหนือ-แสงใต้ ที่เราเรียกกันว่า “แสงออโรร่า”


    การวัดระดับความรุนแรงของพายุสุริยะนั้นสามารถวัดกันได้หลายวิธี ตั้งแต่ Kp index ไปจนถึง G-scale ซึ่งเป็นการใช้วัดระดับพายุสุริยะที่มีความรุนแรงค่อนข้างมาก ตั้งแต่ G1 จนถึง G5 ซึ่งพายุที่กำลังมาถึงโลกในช่วงสุดสัปดาห์นี้ จัดเป็นพายุในระดับ G5 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุด เทียบเท่ากับ Kp9 โดยครั้งสุดท้ายที่มีการแจ้งเตือนพายุสุริยะในระดับ G5 นั้น เกิดขึ้นในช่วงวันฮาโลวีนของปี 2003 จึงทำให้นี่เป็นพายุสุริยะที่มีระดับรุนแรงที่สุดในรอบ 20 ปี

    โดยปกติแล้ว การปลดปล่อยมวลสุริยะของดวงอาทิตย์นั้น มักจะเกิดขึ้นจากบริเวณผิวของดวงอาทิตย์ที่มีสนามแม่เหล็กแปรปรวน เป็นเหตุให้พลาสมาจากดวงอาทิตย์สามารถหลุดและปลดปล่อยออกมาได้ จากบนโลกเราสามารถสังเกตเห็นบริเวณที่มีสนามแม่เหล็กแปรปรวนนี้ ในรูปของจุดดับบนดวงอาทิตย์ ซึ่งในช่วงปีนี้นั้นสอดคล้องกับช่วง solar maximum ในวัฏจักร 11 ปีของดวงอาทิตย์ ที่จะสามารถพบจุดดับได้บ่อยที่สุดพอดี ปรากฏการณ์พายุสุริยะนี้จึงเป็นพฤติกรรมปกติของดวงอาทิตย์ที่สามารถพบเห็นได้ และอาจจะมีพายุสุริยะอื่นๆ ตามมาอีกในช่วง solar maximum ที่เรากำลังอยู่นี้


    เมื่อพายุสุริยะมาถึงโลก อนุภาคที่มีประจุนี้ส่วนมากจะถูกเบี่ยงเบนออกไปโดยสนามแม่เหล็กของโลกที่คอยปกป้องโลกเอาไว้ มีเพียงส่วนน้อยที่สามารถเลี้ยวไปตามเส้นแรงแม่เหล็กโลกกระทบเข้ากับชั้นบนของบรรยากาศเกิดเป็นแสงออโรร่า ในกรณีที่มีการปลดปล่อยมวลเป็นจำนวนมาก เช่นในพายุสุริยะที่มีความรุนแรง พลาสม่าในมวลสุริยะนั้นอาจจะมีอันตรากิริยากับสนามแม่เหล็กของโลก ทำให้สนามแม่เหล็กของโลกเบี่ยงเบนไป จึงอาจทำให้อนุภาคสามารถกระทบกับชั้นบรรยากาศเกิดเป็นแสงออโรร่าในพื้นที่ละติจูดที่ต่ำกว่าปกติได้ จึงอาจทำให้เกิดแสงออโรร่าเป็นวงที่กว้างกว่าปรกติ อย่างไรก็ตาม ความสูงของบริเวณที่เกิดออโรร่านั้น ก็ยังนับเป็นความสูงที่สูงกว่าที่มนุษย์อาศัยอยู่เป็นอย่างมาก จึงไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์แต่อย่างใด

    อย่างไรก็ตาม พายุสุริยะอาจจะส่งผลกระทบต่ออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่อาจจะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของสนามไฟฟ้า เช่น ดาวเทียมสื่อสารที่โคจรอยู่เหนือชั้นบรรยากาศของโลก และในบางครั้งอาจจะส่งผลกระทบต่อกริดจ่ายไฟฟ้าภาคพื้นโลก สำหรับประเทศที่อยู่ในละติจูดสูง เช่น พายุสุริยะ G5 ที่เกิดขึ้นในปี 2003 นั้น ส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับชั่วคราวในประเทศสวีเดน และสร้างความเสียหายให้กับหม้อแปลงไฟฟ้าบางส่วนในแอฟริกาใต้

    ทั้งนี้ โดยปกติแล้วดาวเทียมสื่อสารจะมีมาตรการการป้องกันพายุสุริยะ เช่น การหันทิศทางหรือปิดอุปกรณ์ที่อาจจะมีความเสี่ยงต่อการเสียหาย จึงสามารถลดการรบกวนที่อาจจะเกิดขึ้นต่อระบบสื่อสารได้เป็นอย่างมาก และปัจจุบันระบบไฟฟ้านั้นก็มีมาตรการป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี

    ตอบลบ
  2. #สำหรับประเทศไทย ด้วยตำแหน่งที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรจึงทำให้ประเทศไทยของเราถูกปกป้องโดยสนามแม่เหล็กโลกเป็นอย่างดี พายุสุริยะในครั้งนี้จึงแทบไม่มีผลกระทบอย่างใด อย่างไรก็ตาม คนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศแถบละติจูดสูงอาจจะสามารถสังเกตการณ์แสงออโรร่าได้ตลอดช่วงสุดสัปดาห์นี้

    นอกจากนี้ ด้วยตระหนักถึงผลกระทบดังกล่าว สดร. จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ดำเนินโครงการศึกษาวิจัย ปรากฏการณ์และผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับดวงอาทิตย์ ผลิตอุปกรณ์สำรวจสภาพอวกาศ ตรวจวัดรังสีคอสมิก และติดตามผลกระทบที่มีต่อโลก ส่งไปกับยานฉ๋างเอ๋อ 7 ภายใต้โครงการสถานีวิจัยดวงจันทร์นานาชาติ (International Lunar Research Station) เพื่อศึกษาปรากฏการณ์ และผลกระทบ รวมถึงพัฒนาแบบจำลองเพื่อนำมาใช้แจ้งเตือนต่อสาธารณชนได้อย่างแม่นยำในอนาคต


    นับเป็นการวิจัยเพื่อขยายขอบเขตความรู้ชั้นแนวหน้า ทางด้านสภาพอวกาศ (space weather) ในระดับโลกต่อไป ถือเป็นการดำเนินการตามพันธกิจของ สดร. ในการสร้างความร่วมมือและความสามารถในการวิจัยระดับโลกของประเทศไทยต่อไป

    เรียบเรียง: ดร. มติพล ตั้งมติธรรม – นักวิชาการ สดร

    ตอบลบ