10 ข้อควรรู้ จิตวิทยาในการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ยุคใหม่
การเลี้ยงลูกใครบอกว่าง่ายไม่จริงเลยนะคะ ยิ่งเป็นการเลี้ยงลูกในยุคปัจจุบันนั้นไม่ง่ายเลยจริง ๆ ค่ะ และพ่อแม่ยุคนี้นั้นส่วนใหญ่ก็ทำงานกัน ทำให้เด็กถูกคนอื่น ๆ เลี้ยงมา เพราะด้วยสภาพเศรษฐกิจที่พ่อแม่จำเป็นต้องทำมาหากิน จนทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้ปกครองกับลูก ยิ่งไปกว่านั้นพ่อแม่เองก็พลาดช่วงเวลาที่สำคัญของลูกในวัยที่กำลังพัฒนาด้านต่าง ๆ อีกด้วย
นอกจากนี้เด็กในยุคที่เรียกว่าโตมากับสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย และเทคโนโลยีไร้สายแบบนี้ ยิ่งทำให้การเลี้ยงลูกนั้นยากเข้าไปกันใหญ่ เด็กจะมีความอดทนและรอคอยได้น้อยลง แถมยังไม่มีสมาธิใด ๆ อีกด้วย
ทำให้พ่อแม่อย่างเรา ๆ ควรที่จะดูแลลูกเอง มีเวลาให้เขา และเป็นต้นแบบที่ดี ที่เราจะทำได้ ดังนั้นวันนี้เราเลยนำเรื่องเกี่ยวกับ ‘จิตวิทยาในการเลี้ยงลูก’ เชิงบวกมาฝากคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่กัน เพื่อจะได้นำไปปรับใช้ในการเลี้ยงลูกได้ดียิ่งขึ้น จะมีข้อสำคัญใดบ้าง? มาดูกันเลย
1. ให้ความอบอุ่นปลอดภัยระหว่างกัน
ถือเป็นเรื่องสำคัญเลยเรื่องหนึ่ง หากคุณพ่อคุณแม่จะเลี้ยงลูกยุคนี้ก็ควรที่จะมอบความรัก ความเอาใจใส่ที่เพียงพอให้กับลูก เพื่อให้เขารู้สึกปลอดภัย โดยการรับฟังลูกและยอมเปิดใจในความชอบหรือความคิดเห็นของลูกให้มาก ก็จะทำให้ลูกไว้วางใจเรามากขึ้นได้นั้นเองค่ะ
2. ค้นหาจุดแข็งจุดอ่อนของลูกให้ได้
เด็ก ๆ ทุกคนมักจะมีความถนัดรอบด้านที่แตกต่างกัน ในฐานะพ่อแม่จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างความภาคภูมิใจในตนเองของลูกเอาไว้ คอยโน้มน้าวลูกเมื่อเข้ารู้สึกผิดหวังหรือล้มเหลว เราจะต้องพยายามหาสิ่งที่เป็นจุดอ่อนจุดแข็งของลูก แต่ไม่ใช่การบังคบ หรือการดุด่าให้เขาพยายามทำให้ได้ เพราะมิเช่นนั้นเด็ก ๆ จะทำในสิ่งที่สวนทาง หรือมีการปิดกั้นตัวเองจนในที่สุด หรือเกิดการโกหกเกิดขึ้นโดยที่คุณพ่อคุณแม่อาจจะไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ
3. การพูดคุยสื่อสารกันระหว่างพ่อแม่และลูก
การพูดคุยกันภายในบ้านถือเป็นการลดช่องว่างระหว่างวัย และบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นภายในบ้านได้ แถมยังทำให้ลูกเปิดใจกับเราได้มากขึ้น โดยระหว่างการสื่อสารนั้นคุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องแสดงท่าทีที่ดูตั้งใจฟัง มีการสบตา และพยักหน้าระหว่างฟังลูกด้วย อีกทั้งการพูดกระตุ้นเช่น “ยังไงอีก เล่าต่อสิ” ก็เหมือนเป็นการกระตุ้นให้ลูกเผยความในใจ และเปิดใจกับพ่อแม่มากยิ่งขึ้นด้วย สุดท้ายการสื่อสารก็ต้องมีการให้คำแนะนำ และวิจารณ์โดยแค่รับฟังจากมุมมองความรู้สึกของเขาจนจบ เพื่อให้ลูกเห็นว่าเราไว้วางใจ และยอมรับความรู้สึกของเขาไม่ว่าจะถูกหรือผิดก็ตาม พยายามให้เขาคิดและกระตุ้นให้เขาหาทางแก้ไขด้วยตนเองเสียก่อน
4. การควบคุมอารมณ์
ทั้งนี้เป็นการสอนลูกให้รู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเอง แต่ก่อนอื่นคุณพ่อคุณแม่เองก็ต้องควบคุมอารมณ์ตัวเองเสียก่อน ก่อนที่จะไปสอนลูก เพราะหากเรายังขาดสติ อาจจะทำให้เราหลุดทำร้ายลูก ตีลูกหรือใช้คำรุนแรงกับลูกได้ เพราะเด็ก ๆ จะเลียนแบบพฤติกรรมของเราหากเรายังควบคุมสติไม่ได้เช่นกัน เมื่อคุมสติได้แล้ว ก็สอนให้เรื่องการคุมอารมณ์ให้กับลูก เช่นมองดูว่าสถานการณ์นั้น เป็นแบบไหน หากไม่ไหวจริง ๆ ให้เดินออกมา หรือนับ 1-10 ในใจ นั่นเองค่ะ เพราะในสถานการณ์จริงนั้น เด็ก ๆ อาจจะเกิดควบคุมอารมณ์ของตัวเองไม่ได้ ดังนั้นเราจะต้องใช้โอกาสนี้คอยสอนให้รู้จักอารมณ์และรู้วิธีการจัดการอารมณ์ที่ดีให้ได้
5. ตั้งกติกาในบ้าน
ในการตั้งกติกาภายในบ้านกับลูก สิ่งแรกคุณพ่อคุณแม่เองต้องตกลงให้ได้ในทิศทางเดียวกันเสียก่อนค่ะ เพื่อให้เด็ก ๆ ไม่เกิดความสับสน ไม่ใช่พ่อเข้มงวดเรื่องนี้ แต่แม่ให้อิสระในการคิด ก็จะทำให้ลูกไม่สนใจข้อตกลงที่ตั้งไว้ และสับสนได้นั่นเองค่ะ
6. อย่าเปรียบเทียบ
คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรเปรียบเทียบลูกของเรากับลูกของคนอื่น อย่ามองลูกของเราว่าเขาด้อยหรือไม่ดีไปกว่าใคร พยายามเข้าใจพื้นฐานของเด็กแต่ละคนที่ไม่เท่ากัน เด็กบางคนเก่งอีกอย่างอาจจะไม่เก่งอีกอย่างก็ได้ ซึ่งเราเองก็ต้องเข้าใจและพยายามหาวิธีเลี้ยงดูที่เหมาะสมกับเขาให้ได้ พยายามสังเกตว่าลูกชอบหรือไม่ชอบอะไร จุดเด่นจุดด้อยเขาเป็นแบบไหน เพื่อจะได้สามารถปรับใช้และส่งเสริมได้อย่างเหมาะสม และเติบโตไปด้วยสภาพจิตใจที่แข็งแรง และเต็มไปด้วยความรักและความอบอุ่นนั้นเองค่ะ
7. ให้ทางเลือกลูก
เชื่อว่าเด็กต้องชอบวิธีนี้อย่างแน่นอน เพราะการมีทางเลือกจะทำให้เด็ก ๆ รู้สึกว่าตัวเองนั้นเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น สามารถเลือก และตัดสินใจด้วยตนเองได้ และยังเป็นการฝึกให้เขาเติบโตและตันสินใจด้วยตนเองได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น “ใกล้จะถึงเวลานอนแล้ว หนูจะไปแปรงฟันกับแม่ก่อน หรือหนูจะอ่านหนังสือนิทานก่อนสักเล่มดีคะ” เป็นต้น
8. ให้ลูกเรียนรู้ความความผิดพลาดและความผิดหวัง
อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการสอนให้ลูกเรียนรู้ที่จะเข้าใจความผิดพลาด ความผิดหวัง ตลอดจนความไม่สมบูรณ์แบบคือส่วนหนึ่งของชีวิต และไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายหรือสิ่งที่ต้องจำกัดออกจากชีวิต กลับกัน ความผิดพลาดคือบทเรียน ความผิดหวังคือสิ่งที่ทำให้เราเติบโต และความไม่สมบูรณ์แบบคือส่วนที่สำคัญที่สุดของการเป็นมนุษย์
9. เมื่อลูกทำผิด อบรบหรือสอนเขาอย่างใจเย็นแทนที่จะทำให้เขากลัว
พ่อแม่ในอดีตมักดุว่าหรือตีเด็กเมื่อเด็กทำผิด เพราะคิดว่าจะทำให้เด็กเชื่อและทำตาม ซึ่งแม้ในหลายกรณีจะทำให้เด็กทำตามก็ตาม แต่ก็ทิ้งร่องรอยบาดแผลทางจิตใจไว้ให้เด็ก ๆ ไม่น้อย เด็ก ๆ หลายคนเติบโตมาด้วยบาดแผลลึกทางจิตใจ เพียงเพราะแค่ถูกตีหรือโดนดุว่าเล็กน้อย พวกเขาก็ลืมไม่ลง สิ่งที่พ่อแม่ในยุคปัจจุบันควรทำจึงไม่ใช่การดุว่าหรือตีเมื่อเขาทำผิด แต่คือการค่อย ๆ สอนเขาในสิ่งที่ถูกต้องอย่างใจเย็น สอนเข้าด้วยเหตุผล เมตตา และความเข้าใจ
10. สอนให้ลูกแสดงออกความรู้สึกออกมาอย่างที่เขารู้สึก ไม่จำเป็นต้องเขินอาย
เคยได้ยินไหม “อย่าร้องเลยลูก” หรือ “หยุดร้องนะลูก” เชื่อว่าคุณพ่อคุณแม่ ๆ หลายคนเวลาเห็นลูกร้องไห้, หงุดหงิด, หรือโมโห ก็อยากจะให้รู้กลับมารู้สึกเป็นปกติอย่างทันที แต่ในความเป็นจริงแล้ว การปล่อยให้เขาได้มีโอกาสแสดงความรู้สึกของเขาออกมาจริงจังและจริงใจอาจจะเป็นหนทางที่ดีกว่า ในการให้เขาได้เรียนรู้ที่จะแสดงออกความรู้สึก และไม่รู้สึกอัดอั้นหรือเก็บกด เด็ก ๆ หลายคนโตมาด้วยคำสอนของพ่อแม่ว่าให้เข้มแข็งอยู่ตลอด แต่ความจริงทุกคนร้องไห้ได้ แม้กระทั่งพ่อแม่ที่โตแล้วยังร้องไห้ได้เลยเช่นกัน การแสดงความรู้สึกออกมาไม่ใช่การแสดงความอ่อนแอ หากแต่คือการแสดงว่าเราเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่มีความรู้สึกและจิตใจ มีอารมณ์เหมือนคนอื่น ๆ ปกติทั่วไป
CR :: https://www.starfishlabz.com/blog/
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น