วิธีเลี้ยงลูกให้มีความสุข ในยุค New Normal ‘ความยืดหยุ่นคือกุญแจ’
New Normal คือคำที่คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองทุกคนจะต้องเคยได้ยินจนคุ้นหูตลอด หนึ่งปีที่ผ่านมานี้ ในมุมหนึ่ง คำว่า ‘New Normal’ คำนี้ได้อธิบายถึงการใช้ชีวิตวิถีใหม่ที่อาจจะเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตบางอย่างของผู้คนไปตลอดกาล โดยเฉพาะในมุมมองของ ‘การเลี้ยงลูก’ คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครอง ควรมีการปรับตัวอย่างไร? เราจะพาไปหาคำตอบพร้อม ๆ กัน
การเลี้ยงลูกให้มีความสุขในยุค NEW NORMAL
จากสถานการณ์ปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงมากมายที่เกิดขึ้น ส่งผลต่อวิถีการใช้ชีวิต การทำงาน การพักผ่อน ทำให้มุมมองที่เรามีต่อสิ่งเหล่านั้นเปลี่ยนไป ซึ่งความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลต่อผู้ใหญ่ หรือใครคนใดคนหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลโดยตรงไปสู่คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองที่ต้องเลี้ยงลูกให้มีความสุขท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงนี้ เพื่อให้เขาเติบโตไปโดยไม่รู้สึกขาดหรือแปลกแยกไปจากสิ่งที่พวกเขาควรจะเป็น วิธีเลี้ยงลูกให้มีความสุข ในยุค New Normal นั้น กุญแจสำคัญคือ ‘ความยืดหยุ่น’ ในการเลี้ยงลูกควบคู่ไปกับการปรับมุมมองของตัวคุณพ่อคุณแม่เอง โดยหลัก ๆ แบ่งเป็น
1. ปล่อยให้ลูกได้เล่นอย่างมีอิสระเสรี
สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองบางคน ที่อยากเลี้ยงลูกให้มีความสุข พอพูดถึงเรื่อง ‘การเล่น’ อาจจะนึกถึงพื้นที่หรือกิจกรรมกลางแจ้งที่ต้อง ‘สัมผัส’ หรือ ‘พบเจอ’ ผู้คนมากขึ้น ซึ่งอาจจะสร้างความกังวลในเรื่องของสุขอนามัยของลูก แต่หากคุณพ่อคุณแม่มีวิธีป้องกันอย่างเหมาะสม ก็ควรปล่อยให้ลูกๆได้เล่นตามวัยบ้าง เพราะจะทำให้เขาได้เรียนรู้ทักษะ กติกาทางสังคม และการเข้าสังคมได้ ช่วยพัฒนาเด็กสมาธิสั้น หรือเด็กที่มีอาการไฮเปอร์ ให้มีความฉลาดทางอารมณ์ หรือ EQ
หากจะบอกว่า ‘การเล่น’ คือสิ่งที่มอบประสบการณ์ชีวิตให้กับลูกได้ดีที่สุดก็คงจะไม่ใช่เรื่องเกินจริง และสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการปล่อยให้เขาเล่นนั้น ก็จะเป็นหนึ่งในวิธีเลี้ยงลูกให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีความยืดหยุ่นทางอารมณ์ จัดการกับความเครียดได้ดีและสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตได้อย่างเหมาะสมและมีความสุข
2. เลี้ยงลูกให้เป็นตัวของตัวเอง
การเลี้ยงลูกในโลกยุคโลกาภิวัตน์ ที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นทุกวินาที อินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดียคือสิ่งปกติที่เด็ก ๆ หรือลูก ๆ ของเรารู้จักตั้งแต่เกิด หากคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองรู้จักปรับตัวและใช้ประโยชน์จากข้อดีของสิ่งเหล่านี้ และนำมาช่วยเลี้ยงลูกให้ค้นพบความชอบของตัวเอง เห็นคุณค่าของตัวเอง โดยไม่ต้องมาคอยพะวงกับเรื่องความสมบูรณ์แบบ และช่วยให้ลูกมีความสุขได้ในแบบฉบับของตัวเองได้
3. อย่าเลี้ยงลูกแบบปกป้องหรือตามใจมากจนเกินไป
“ตึงในบางโอกาส หย่อนในบางเวลา” คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองที่พยายามจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงให้ลูกในทุกโอกาส อาจส่งผลให้ลูกเกิดความวิตกกังวล จนอาจส่งผลให้เขาไม่กล้าที่จะตัดสินใจหรือลงมือทำอะไรด้วยตัวเอง ความยืดหยุ่นที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคอยบอกตัวเอง คือเลี้ยงลูกในแบบ ‘ให้เขาได้ลองผิดลองถูก’ เมื่อล้มก็กล้าที่จะลุก เป็นการฝึกทักษะฝึกใจให้เข้มแข็งให้กับลูก โดยเราคอยสนับสนุนและเป็นกำลังใจอยู่ห่าง ๆ คอยให้คำแนะนำที่เหมาะสม ซึ่งทักษะ Resilience (RQ) นี้จะช่วยให้ลูกฝึกการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง หากลูกของเราเป็นเด็กขี้อาย วิธีการเลี้ยงลูกที่เหมาะสมก็ควรสอนทักษะการเรียนรู้ที่จำเป็นให้เขา เช่น การทักทาย ทำความรู้จักเพื่อนใหม่ และทักษะอื่น ๆ แล้วค่อย ๆ ปล่อยให้ลูกได้มีการตัดสินใจเอง
4. สอนให้รู้จักอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ พร้อมเปลี่ยนเชิงลบเป็นเชิงบวก
การเลี้ยงลูกเราควรสอนให้เขารู้ว่า ‘อารมณ์ความรู้สึก’ คือสิ่งที่เกิดขึ้นและสามารถจัดการได้ และความรู้สึกเชิงลบเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่มันจะไม่อยู่กับเราตลอดไป และเราก็สามารถเปลี่ยนมันเป็นความรู้สึกเชิงบวกได้เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องเลี้ยงลูกโดยสอนเขาว่าโลกนี้มีแค่สีขาวและดำ
ควรให้เขาได้มองโลกตามความเป็นจริง แต่สิ่งสำคัญคือ ‘การรับฟังสิ่งที่ลูกพูด’ ทุกครั้งเมื่อลูกเกิดอารมณ์ โมโหร้ายหรือความรู้สึกเชิงลบขึ้น อย่าพยายามปลอบเพื่อให้ลูกอารมณ์ดีขึ้นเพียงอย่างเดียว ควรรับฟังลูกว่า ความรู้สึกเชิงลบนี้เกิดขึ้นเพราะอะไร แล้วค่อย ๆ นำเสนอวิธีจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกนั้นแก่ลูก วิธีนี้จะช่วยให้ลูกเรียนรู้ที่จะจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของตัวเอง ทั้งยังสามารถคิดและแยกแยะสิ่งต่าง ๆ อย่างเป็นระบบมากขึ้น
5. สอนให้เห็นอกเห็นใจผู้อื่น
ในโลกที่กว้างใหญ่ และผู้คนมีความแตกต่างหลากหลาย การเลี้ยงลูกให้เขาเข้าใจความหลากหลายนั้นเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้เขาสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างได้ และคุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองคือตัวอย่างที่ดีที่สุด ที่จะสอนให้ลูกรู้จัก เรียนรู้ และเข้าใจความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่น สิ่งนี้จะช่วยให้ลูกมีความสุขจากการให้ และรับรู้ถึงความรู้สึกของผู้อื่นมากขึ้นได้นั่นเอง
6. เสริมสร้างความฉลาด ควบคู่กับความเฉลียว
เทคโนโลยีอีกหนึ่งตัวช่วยของคุณพ่อคุณแม่ที่พัฒนาความ “ฉลาด” ของลูกประเภท IQ ได้เป็นอย่างดี แต่ในยุคที่มีการแข่งขันสูงในทุก ๆ ด้านนี้ เด็กจึงจำเป็นจะต้องถูกพัฒนาความ “เฉลียว” ควบคู่กันไปด้วย โดยทักษะนี้จะสามารถช่วยให้ลูก ๆ รู้จัก คิด วิเคราะห์ และแยกแยะข้อมูลให้จำนวนมากได้ ซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจและกลั่นกรองข้อมูลที่ได้รับมาทำให้ไม่หลงเชื่อสิ่งรอบข้างได้ง่าย ๆ เด็กที่ได้รับการพัฒนา 2 สิ่งนี้ควบคู่กันจะสามารถอยู่ในยุค New Normal ได้อย่างมีความสุข
7. สอนให้เผชิญหน้ากับปัญหา พร้อมแก้ปัญหาด้วยตัวเอง
ยุคที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา หลากหลายบ้านเลือกที่จะปกปิดหรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นของลูกด้วยตัวของผู้ปกครองเอง แต่หลายครั้งการที่ให้ลูก ๆ ได้เผชิญหน้ากับปัญหานั้นด้วยตัวเองตั้งแต่เด็ก ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีในการสอนลูกที่ช่วยเสริมเกราะป้องกันทางการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของเด็กได้ แต่เกราะป้องกันนี้จะต้องอยู่ในสายตาของผู้ปกครอง หากผิดพ่อแม่จำเป็นจะต้องอยู่ข้าง ๆ และเปิดโอกาสให้ลูกเสนอวิธีการแก้ปัญหากับสิ่งที่เผชิญอยู่และพร้อมสนับสนุน วิธีนี้จะช่วยให้การเลี้ยงลูกยุคใหม่เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น
8. พัฒนาความคิดให้เป็นทักษะและบุคลิกที่ดี
“โตขึ้นอยากเป็นอะไร” คำถามที่เด็ก ๆ ไม่ว่ากี่ยุคก็ต้องเคยได้ยินมากับตัว และหลากหลายคนมักจะไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้ แต่ปัญหาเด็กเครียดนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถแก้ให้ลูกได้ จากการเข้าใจและเรียนรู้ถึงความคิดในแต่ละช่วงวัยที่ลูกแสดงหรือกำลังเป็นอยู่ขณะนั้น และผลักดันความคิดที่สร้างสรรค์เหล่านั้นให้เป็นทักษะที่ติดตัว ไม่ว่าจะเป็นทักษะเกี่ยวกับการพูด ทักษะเกี่ยวกับการทำงานเป็นทีม หรือทักษะทางศิลปะแขนงต่าง ๆ เมื่อเด็กเข้าใจในสิ่งที่ตนเองชอบแล้ว จะไม่เกิดการกดดันตัวเองเมื่อโตขึ้น ส่งผลให้เด็กเหล่านี้ได้พัฒนาทักษะของตัวเองในด้านต่าง ๆ อย่างเต็มที่ และมีบุคลิกลักษณะทางอารมณ์ที่สมวัย
สุดท้ายนี้สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญและเอาใจใส่ในการเลี้ยงลูกให้มีความสุขมากยิ่งขึ้นคือเรื่อง ‘ความเครียด’ ที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งจากความเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่คุ้นชิน หรือข้อจำกัดที่อาจกระทบต่อพัฒนาการบางด้านของลูก โดยใช้ความรัก ความเอาใจใส่ และความเข้าใจในทุก ๆ ขั้นตอนของการเลี้ยงลูกเพียงเท่านี้ ไม่ว่าสถานการณ์ต่าง ๆ จะเปลี่ยนแปลงหรือเกิดอะไรขึ้น ผู้ปกครองจะสามารถจัดการกับปัญหาตรงหน้าได้อย่างเป็นระบบ และร่วมกันสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้ลูกเติบโตไปอย่างมีความสุขได้อย่างแน่นอน
ที่มา :: https://www.milo.co.th/all-blog/new-normal
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น