Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันจันทร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

อันตราย..ถ้าลูกในท้องเครียด

อันตราย..ถ้าลูกในท้องเครียด


คุณแม่ท่านหนึ่งทำงานหนักและยุ่งมากพบว่าในช่วงใกล้คลอด พบว่าน้ำหนักขึ้นน้อยกว่าปกติ รวมทั้งจากการตรวจหน้าท้องก็พบว่าหน้าท้องโตน้อยกว่าที่ควรจะเป็นเล็กน้อย จนใกล้ครบกำหนดแล้ว คุณแม่รู้สึกว่าลูกดิ้นน้อยลง แต่ก็ยังไม่ได้มาพบหมอเพราะยังไม่เจ็บท้อง รอจนเริ่มมีอาการเจ็บท้อง และมีมูกเลือดออกทางช่องคลอดจึงรีบมาโรงพยาบาล

คุณหมอได้ตรวจดูพบว่าตั้งครรภ์ครบกำหนดแล้ว แต่เด็กค่อนข้างจะเล็กกว่าเกณฑ์เล็กน้อย จึงคอยเฝ้าระวังการคลอดตามปกติ ระหว่างที่เจ็บครรภ์คลอดไปเรื่อยๆ ปากมดลูกก็มีการเปิดมากขึ้น คุณหมอผู้ดูแลจึงได้เจาะถุงน้ำคร่ำพบว่าน้ำคร่ำที่ไหลออกมามีสีเหลืองเข้มปนน้ำตาล ไม่ขาวขุ่นเหมือนคนเจ็บท้องทั่วไป (ซึ่งแสดงว่าลูกในท้องมีการขาดสาร อาหารและออกซิเจนขณะอยู่ในท้องแม่)

การเจ็บครรภ์คลอดดำเนินต่อไปอีกประมาณ 1 ชั่วโมง คุณหมอผู้ดูแลได้ฟังเสียงการเต้นของหัวใจลูกในท้องพบว่าเต้นค่อนข้างช้ากว่าปกติ ได้พิจารณาแล้วลงความเห็นว่า ขณะนี้ลูกในท้องอยู่ในสภาพที่ไม่ค่อยจะแข็งแรง ถ้าขืนทิ้งไว้ให้ ลูกอาจจะมีปัญหาตอนคลอด คืออาจจะหายใจไม่ดี หรือไม่แข็งแรง หรือไม่แน่ว่าอาจจะเสียชีวิตขณะที่กำลังเจ็บครรภ์อยู่นี้ก็ได้ จึงพิจารณาผ่าตัดคลอด

หลังการผ่าตัดคลอดก็ได้ลูกออกมาเป็นเพศชายน้ำหนักประมาณ 2,400 กรัม ตัวเขียวเมื่อแรกเกิด กุมารแพทย์ต้องช่วยการหายใจ และรับไปดูแลที่แผนกกุมารฯ อยู่ประมาณ 7 วัน จึงหายใจได้เองตามปกติ ดูดนมได้ดี ส่วนคุณแม่ไม่มีปัญหาอะไร แม่กับลูกสามารถกลับบ้านได้ภายหลังผ่าตัดคลอดประมาณ 2 สัปดาห์

ผู้ป่วยรายนี้เป็นตัวอย่างของแม่ตั้งครรภ์ที่มีปัญหาอาชีพการงานทำให้เกิดความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ รวมทั้งทานอาหารไม่น่าเพียงพอเท่าที่คนท้องควรจะได้รับ ยังผลให้ลูกในท้องเกิดความเครียดตามไปด้วย ลูกก็เลยโตไม่ค่อยดี และไม่แข็งแรง แต่ยังโชคดีอยู่บ้างที่ภายหลังการดูแลอยู่นานพอควรลูกก็สามารถกลับบ้านได้พร้อมกับคุณแม่ ในบางรายลูกอาจจะไม่โชคดีแบบนี้ โดยอาจจะมีโรคหรือความผิดปกติแทรกซ้อนได้หลายประการ และในรายที่มีปัญหามากอาจเสียชีวิตตั้งแต่อยู่ในท้องหรือเสียชีวิตภายหลังคลอดทันทีก็ได้
นี่ล่ะพิษร้ายของเครียด !




ชนิดและสาเหตุของความเครียด

สาเหตุของความเครียดของคนเรามีมากมายบรรยายเท่าไรก็ไม่หมด เพื่อให้เข้าใจง่ายๆและสอดคล้อง หมอขอแบ่งเป็น 2 ประเภทง่ายๆ คือ ความเครียดเรื้อรัง และ ความเครียดที่เกิดเฉียบพลัน

ความเครียดเรื้อรัง ชื่อก็บอกแล้วว่าเป็นมานาน สาเหตุมีจิปาถะ เช่น ฐานะยากจน จะทำอะไรก็ไม่ค่อยได้ตามปรารถนาก็เครียด เป็นหนี้ใช้หนี้มานานไม่หมดเสียทีก็เครียด หรือลูกเกเรเลี้ยงไม่ได้อย่างใจ ติดยาเสพติดหรือยาบ้าก็เครียด

ความเครียดแบบเฉียบพลัน ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจที่จะรับความเครียดชนิดนี้มาก่อน สาเหตุเช่นอุบัติเหตุรถชนคนในครอบครัว น้ำท่วม แผ่นดินไหว เป็นต้น

ผลของความเครียด
เมื่อมีความเครียดเกิดขึ้น คนเราจะมีการตอบสนองต่อความเครียดในหลายรูปแบบ คนที่มีความเครียดเรื้อรัง อาจมีอาการแสดงต่างๆให้เห็น เช่น กินไม่ค่อยได้ นอนไม่ค่อยหลับ ปวดหัว วิงเวียน ไม่ค่อยมีเรี่ยวแรง รูปร่างดูซูบซีด โทรม แก่กว่าวัย เพราะต้องแบกรับความเครียดอยู่เป็นเวลานาน
แต่ความเครียดอย่างเฉียบพลัน มักมาจากปัญหาที่เราไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจตั้งรับมาก่อน จึงอาจแสดงออกมาด้วยอาการ เช่น ใจสั่น มือสั่น หรือหน้าแดง หน้าซีด หรือตกใจได้



ลูกในท้องเครียดอย่างไร?

ในทางการแพทย์เราพบว่าลูกที่อยู่ในท้องคุณแม่ทั้งหลายก็มีความเครียดได้เช่นกัน แต่เราเรียกว่าลูกมี "ภาวะเครียด" (Fetal Distress) ซึ่งก็คือสภาพที่แม่มีอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงลูกในท้องไม่เพียงพอ ทำให้ลูกมีปัญหาได้ตั้งแต่เจริญเติบโตไม่ดี ไม่แข็งแรง หรือเสียชีวิตขณะอยู่ในท้องแม่หรือภายหลังคลอด

ความเครียดของลูกในท้องก็คล้ายๆความเครียดที่เกิดในผู้ใหญ่ มี 2 ประเภทเช่นเดียวกัน คือความเครียดเรื้อรังและความเครียดที่เกิดเฉียบพลัน เพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นในการบอกสาเหตุของความเครียดแต่ละชนิด หมอจะลองเปรียบเทียบปัญหาที่เกิดกับลูกในท้องเหมือนกับปัญหาที่เกิดกับเด็กที่อยู่ในบ้านหลังหนึ่ง

ในกรณีที่เด็กในท้องมีความเครียดเรื้อรัง เปรียบเทียบได้เหมือนกับการที่เด็กอยู่ในบ้านที่ค่อนข้างยากจนไม่ค่อยมีจะกิน อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด มีสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดี อากาศเป็นพิษ มีมลภาวะ ผลดังกล่าวนี้จะทำให้เด็กมีการเจริญเติบโตไม่ค่อยดี บางรายก็อาจจะมีความพิการร่วมด้วย ถ้าเด็กต้องทนอยู่ในสภาพเช่นนั้นเป็นเวลานานๆจนถึงเวลาหนึ่งก็อาจจะทนไม่ได้ อาจอดอาหารตายหรือได้รับสารพิษจนเป็น โรคตาย แต่ถ้าทนได้ไม่ตายเมื่อหลุดพ้นออกมาจากบ้านหรือสภาพแวดล้อมดังกล่าวได้ ก็อาจจะไม่แข็งแรง พิการ หรือมีปัญหาทางสมองในภายหลัง

คราวนี้ลองมาเปรียบเทียบว่าถ้าบ้านที่เด็กอาศัยอยู่ คือมดลูกซึ่งอยู่ภายในท้องแม่ เด็กจะมีความเครียดเรื้อรังได้อย่างไร ถ้าสภาพร่างกายของแม่ที่ตั้งครรภ์ไม่ดี เช่น แม่มีโรคแทรกซ้อนบางอย่างร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน โรค ความดันโลหิตสูง โรคต่อมไทรอยด์ โรคโลหิตจาง โรคเหล่านี้จะทำให้แม่ไม่สามารถนำอาหารไปเลี้ยงลูกที่อยู่ในท้องได้อย่างเพียงพอ ทำให้ลูกเจริญเติบโตไม่ดี และบางโรคถ้าควบคุมไม่ดี เช่นโรคเบาหวาน จะทำให้ร่างกายสร้างสารที่เป็น พิษต่อลูกในท้องออกมาได้ด้วย ทำให้เหมือนกับลูกอยู่ในบ้านที่อยู่ในมลภาวะดังกล่าวข้างต้น

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าสาเหตุที่ทำให้ลูกในท้องมีความเครียดเรื้อรังก็คือ โรคหรือความผิดปกติในแม่ที่ตั้งครรภ์นั้นเอง

สำหรับความเครียดอีกแบบหนึ่ง คือความเครียดแบบเฉียบพลัน ถ้าเปรียบเทียบแบบเดิม ก็คือเด็กอยู่ในบ้านที่ดี มีอาหารการกินสมบูรณ์ สภาพแวดล้อมก็ดี แต่บังเอิญมีปัญหา เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด บ้านถูกไฟไหม้ หรือว่า เครื่องบินหล่นตกมาบนหลังคาบ้าน ซึ่งทำให้เด็กในบ้านอาจตายหรือพิการได้ ปัญหานี้จัดเป็นสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดมาก่อน

ถ้าเปรียบกับการตั้งครรภ์ ความเครียดแบบเฉียบพลันที่เกิดขึ้น ก็เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนด (โดยปกติรกจะมีการลอกตัวและหลุดออกมาภายหลังลูกคลอดแล้ว) สาเหตุที่ทำให้รกลอกตัวก่อนเวลาอันควรมักเกิดจากการกระแทกโดยตรงที่ หน้าท้องบริเวณที่รกเกาะอยู่ เช่น จากหกล้ม ถูกทุบหรือกระแทกที่หน้าท้อง ผลจากการที่รกลอกตัวก่อนกำหนดจะทำให้ลูกขาดออกซิเจนซึ่งนำมาเลี้ยงโดยรกโดยทันที ในบางรายลูกในท้องอาจจะตายในระยะเวลาอันสั้น แต่บางรายก็อาจทนได้

สาเหตุอื่นที่อาจพบได้ เช่นรายที่เมื่อการตั้งครรภ์ดำเนินไปถึงระยะหนึ่ง ถุงน้ำคร่ำที่หล่อรอบตัวลูกในท้องเกิดแตกขึ้นมา ทำให้น้ำคร่ำรั่วไหลออกมาและทำให้สายสะดือซึ่งเป็นอวัยวะที่นำเลือดมาเลี้ยงลูกไหลเลื่อนตามลงมาด้วย ถ้าลงมาต่ำกว่าหัวลูกในท้องก็จะถูกหัวลูกกดทับ ทำให้เลือดที่จะไปเลี้ยงลูกถูกกักไว้เหมือนกับท่อน้ำที่ถูกกดหรือบีบ ลูกก็จะขาดเลือดไปเลี้ยงโดยทันทีทันใด ถ้าไม่รีบให้คลอดจะเสียชีวิตในเวลาอันสั้น
ถึงตอนนี้คงเห็นแล้วว่า ไม่ว่าจะเป็นความเครียดที่เกิดแบบเรื้อรังหรือความเครียดที่เกิดแบบเฉียบพลัน ก็เป็นปัญหาที่นำอันตรายมาให้ลูกในท้องได้ทั้งสิ้น





จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกในท้องกำลังเครียด?

ในกรณีที่เป็นความเครียดเรื้อรัง ตัวคุณแม่ตั้งครรภ์มีวิธีสังเกตง่ายๆ อยู่ 2-3 ประการที่พอจะบอกได้ว่าลูกในท้องน่าจะมีความเครียดเกิดขึ้น ข้อสังเกตประการแรก คือ คุณแม่จะรู้สึกว่าน้ำหนักตัวไม่ค่อยขึ้นหรือขึ้นน้อย ทั้งที่พยายามทานอาหารตามที่คุณหมอแนะนำ นอกจากนี้หน้าท้องไม่ค่อยโตขึ้น แม้ว่าเวลาจะผ่านไป ซึ่งโดยปกติแล้วขนาดหน้าท้องควรจะโตขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุครรภ์ที่มากขึ้น

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง คือ มีความรู้สึกว่า ลูกไม่ค่อยจะดิ้น หรือ ดิ้นน้อยลง

เมื่อพูดถึงการดิ้นของลูก มีสิ่งที่ควรจะต้องทำความเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่าคำว่า ลูกดิ้น หมายถึงอะไร ?

คำว่าลูกดิ้นในทางการแพทย์ หมายถึง การที่ลูกในท้องมีการเคลื่อนไหว ซึ่งรวมถึงการเคลื่อนไหวที่มีความแรงในลักษณะดิ้น และการเคลื่อนไหวเบาๆในลักษณะตอด นั่นคือไม่ว่าลูกจะเคลื่อนไหวแบบเบาๆหรือหรือแรงก็ถือว่าลูกดิ้นเหมือนกัน

ปกติลูกที่อยู่ในท้องจะดิ้นหรือเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เหมือนกับผู้ใหญ่ที่ต้องทำงาน เดินเหินไปมา อาจจะมีช่วงหยุดบ้าง ไม่หยุดบ้าง ลูกในท้องก็เช่นเดียวกัน ฉะนั้นแม่จะรู้สึกว่าลูกที่อยู่ในท้องมีการดิ้นอยู่ตลอดเวลา มากบ้าง น้อยบ้าง ต่างเวลากันไป แต่จะต้องดิ้นทุกวัน แต่ในกรณีที่ลูกที่มีความเครียด หรือไม่ค่อยจะแข็งแรง แม่จะสังเกตได้เองว่าการดิ้นของลูกน้อยลงกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับวันอื่นๆที่เคยดิ้นตามปกติ และถ้ารู้สึกว่าลูกไม่ดิ้นเลยติดต่อกัน 2-3 วัน อาจบ่งบอกว่าลูกในท้องเสียชีวิตไปแล้วก็ได้ จำนวนครั้งที่ลูกดิ้นในแต่ละวันเท่าไรจึงจะถือว่าปกติเป็นเรื่องที่สรุปได้ยาก แต่พอบอกได้คร่าวๆว่าภายใน 1 ชั่วโมงลูกควรจะดิ้นอย่างน้อย 2 ครั้ง

ดังนั้นหากสังเกตตัวเองอยู่เสมอ แล้วพบว่าน้ำหนักตัวไม่ค่อยจะเพิ่มขึ้น หน้าท้องไม่ค่อยโต รวมทั้งลูกดิ้นน้อยลงหรือไม่ดิ้นเลย ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าลูกในท้องกำลังอยู่ในภาวะเครียด และควรจะรีบแจ้งให้คุณหมอผู้ดูแลทราบโดยด่วน

สำหรับตัวคุณหมอผู้ดูแลก็จะใช้การตรวจพบเช่นเดียวกับที่คุณแม่บอก นอกจากนี้ยังสามารถรู้ได้จากการใช้เครื่องมือบางชนิดในการตรวจ เช่น การใช้อัลตราซาวนด์ตรวจลูกในท้อง โดยอาจพบว่าขนาดของลูกในท้องโตน้อยกว่าอายุครรภ์ที่เพิ่มขึ้น น้ำคร่ำที่หล่อเลี้ยงลูกมีปริมาณน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ลักษณะของความขุ่นของน้ำคร่ำก็เปลี่ยนไป หรือการเจริญเติบโตของรกก็เปลี่ยนไปโดยพบว่ารกจะมีการแก่ตัวเร็วกว่าที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้การตรวจด้วยเครื่องมือบางอย่าง เช่น เครื่องมือที่ใช้ตรวจการเต้นหัวใจของลูกในท้อง โดยบันทึกเป็นเส้นกราฟในแผ่นกระดาษ อาจจะพบว่าลูกในท้องมีลักษณะการเต้นของหัวใจผิดปกติ เช่น เร็วเกินไป หรือช้าเกินไป ลักษณะที่ผิดปกติเหล่านี้จะทำให้คุณหมอมั่นใจมากยิ่งขึ้นว่า ขณะนี้ลูกในท้องมีความเครียดเกิดขึ้นแล้ว

สำหรับกรณีความเครียดที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน ซึ่งสาเหตุที่พบบ่อยก็คือภาวะที่กล่าวถึงแล้วข้างต้น เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนด หรือสายสะดือย้อย พวกนี้มักทำให้คุณแม่มาหาหมออย่างรีบด่วนด้วยอาการปวดท้องในรายที่มีภาวะรกลอกตัวก่อนกำหนด หรือมาหาด้วยปัญหามีน้ำเดินและมีสายสะดือโผล่ออกมาให้เห็นทางช่องคลอด โดยที่ลูกยังไม่คลอดในรายที่มีสายสะดือย้อย

ในกรณีรกลอกตัวก่อนกำหนด หมออาจจะตรวจพบว่ามดลูกมีการหดรัดตัวที่รุนแรงมาก หัวใจทารกเต้นไม่เป็นจังหวะ อาจเร็วเกินไปหรือช้ากว่าปกติ ส่วนในรายที่มีสายสะดือย้อย ก็จะตรวจพบสายสะดืออยู่ในช่องคลอดต่ำกว่าระดับศีรษะของลูก บางรายอาจตรวจพบว่าลูกในท้องตายแล้วก็ได้



จะดูแลรักษาอย่างไร ?

ถ้าตรวจพบว่าลูกในท้องกำลังมีภาวะเครียดดังผลการตรวจที่พบข้างต้นนั้น เป็นสัญญาณเตือนให้เราตระหนักแล้วว่า ขณะนี้สงสัยว่าลูกที่อยู่ในท้องกำลังมีปัญหาว่าอาจจะเจริญเติบโตได้ไม่ดี ไม่แข็งแรงหรืออาจจะเสียชีวิตในท้องเมื่อไรก็ได้
คุณหมอผู้ดูแลจะพิจารณาอย่างรอบคอบว่าสมควรจะให้ตั้งครรภ์ต่อไปหรือไม่ หรือว่าควรจะให้คลอดเลยทันที

หลักการที่นำมาใช้ในการพิจารณาว่าควรจะให้คลอดเมื่อไรและคลอดอย่างไร ที่สำคัญมี 2 ประการคือ

ประการแรก ต้องดูว่าขณะนี้ลูกในท้องมีความเครียดชนิดใด เป็นชนิดเรื้อรังหรือเฉียบพลัน และมีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด
การที่ลูกในท้องมีสัญญาณแสดงว่ามีภาวะเครียดเรื้อรังเกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่าจะต้องให้คลอดทันที เพราะว่าความเครียดที่มีอาจมีตั้งแต่รุนแรงน้อยลูกพอทนได้นานพอควร ก็อาจจะรอไปอีกระยะหนึ่งได้ถ้าท้องยังไม่ครบกำหนด ซึ่งตรงกันข้ามกับรายที่ลูกมีความเครียดมากหรือมีความเครียดที่เกิดอย่างเฉียบพลัน เช่น การที่สายสะดือย้อยไปในช่องคลอด หรือรกลอกตัวก่อนกำหนด พวกนี้ต้องรีบให้คลอด ทันที มิฉะนั้นลูกอาจตายได้ในระยะเวลาอันสั้น

ประการที่ 2 ต้องพิจารณาถึงอายุครรภ์ว่าขณะที่มีความเครียดนั้น ตั้งครรภ์ครบกำหนดหรือยัง ถ้ายังไม่ครบกำหนดต้องระมัดระวังอย่างยิ่งในการตัดสินใจว่าจะให้คลอดหรือไม่คลอดดี เพราะถ้ารีบให้คลอดออกมาขณะที่อายุครรภ์ยังไม่มากพอ ลูกที่ออกมาร่างกายอาจจะโตไม่เต็มที่ ปอดยังไม่แข็งแรง หายใจเองไม่ได้ และอาจเสียชีวิตภายหลังคลอดได้ในระยะเวลาอันสั้น คือจะหายเครียด แต่อาจจะตายได้จากการที่ร่างกายยังอ่อนแอเกินกว่าที่จะผจญภัยกับโลกภายนอก

ในทางตรงกันข้าม ถ้าความเครียดของลูกเกิดในขณะที่อายุครรภ์ครบกำหนดแล้ว การตัดสินใจให้ลูกคลอดเลยก็จะทำด้วยความมั่นใจมากขึ้น ส่วนจะเลือกคลอดโดยการผ่าท้องคลอดหรือให้ยาเร่งคลอดก็ขึ้นกับการตรวจคุณแม่ดูว่ามีความ เหมาะสมที่จะคลอดอย่างไร ในรายที่เป็นการตั้งครรภ์ช่วงสุดท้ายและสภาพของปากมดลูกค่อนข้างดีต่อการเร่งคลอด เช่น ปากมดลูกมีการบางตัวและเปิดขยายบ้างแล้ว รวมทั้งลูกไม่โตมาก การใช้ยาเร่งคลอดโดยการเฝ้าดูแลคุณแม่ขณะเจ็บครรภ์อย่างระมัดระวังก็จะทำให้คลอดได้อย่างปลอดภัย แต่ถ้าตรวจแล้วสภาพของปากมดลูกไม่พร้อมที่จะให้ยาเร่งคลอด เช่น ปากมดลูกยังปิดอยู่และค่อนข้างแข็ง (ซึ่งสภาพเช่นนี้มักเร่งคลอดไม่สำเร็จ) การผ่าท้องคลอดเลยก็จะปลอดภัยมากกว่า

จะเห็นได้ว่าการดูแลรักษาคุณแม่ตั้งครรภ์ที่ลูกในท้องมีภาวะเครียดเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนพอควร คุณหมอที่ดูแลท่านจะให้คำแนะนำแก่ท่านได้ ดังนั้นถ้าท่านมีปัญหาไม่แน่ใจก็ควรปรึกษากับคุณหมอผู้ดูแลซึ่งจะให้คำตอบที่เหมาะสมกับท่าน


เพื่อไม่ให้ลูกในท้องมีความเครียด...


การที่ลูกในท้องมีความเครียดก่อปัญหาที่ทำให้เกิดอันตรายต่อลูกในท้องได้หลายประการ ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานี้จึงเป็นเรื่องที่ควรจะทำอย่างยิ่ง

จากที่กล่าวแล้วข้างต้น จะเห็นว่าสาเหตุที่ทำให้ลูกเครียดอย่างเรื้อรังส่วนใหญ่เกิดจากโรคหรือความผิดปกติในตัวของแม่ที่ตั้งครรภ์ ดังนั้นสิ่งที่ท่านควรจะทำเพื่อไม่ให้ลูกในท้องมีความเครียดก็คือ ท่านควรที่จะไปหาหมอเพื่อจะตรวจหาความผิดปกติของตัวท่าน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อตัวลูกเสียตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เพื่อจะให้การดูแลรักษาให้ถูกต้องเสียก่อน จะทำให้ตัดปัญหาความเครียดเรื้อรังที่จะเกิดกับลูกคุณ

นอกจากประเด็นที่กล่าวถึงข้างต้น การระมัดระวังตัวขณะตั้งครรภ์ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การทำงานหรือการปฏิบัติอื่นๆที่หลีกเลี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ก็จะทำให้ลดโอกาสที่จะเกิดความเครียดอย่างเฉียบพลันบางอย่าง เช่น รกลอกตัวก่อนกำหนด ซึ่งมักเกิดจากการถูกกระแทกที่หน้าท้องลงได้





ที่มา : โดย: รศ.นพ.วิทยา ถิฐาพันธ์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น