เคล็ด (ไม่ลับ) คุณแม่ตั้งครรภ์
“แม่สวย ช่วยลูกสุขภาพดี”
ช่วงเวลาตั้งครรรภ์ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเพศหญิง ไม่ว่าจะเรื่องฮอร์โมน ร่างกาย และจิตใจ สิ่งเหล่านี้ ล้วนสร้างความหงุดหงิด รำคาญใจ จนทำให้เกิดอารมณ์แปรปรวนได้ง่าย เมื่อมีใครมาขัดใจ หรือไม่ตามใจในสิ่งที่ต้องการ
ด้านรูปลักษณ์ภายนอกที่เปลี่ยนไปก็เช่นกัน สร้างความไม่พอใจ และความไม่มั่นใจให้กับว่าที่คุณแม่เป็นอย่างมาก เนื่องจากกลัวว่า สามีจะไม่รัก หรือไม่อยากเข้าใกล้ เพราะด้วยสรีระที่อ้วน ผิวหมองคล้ำ และมีขี้ไคลตามรอยพับในจุดต่างๆ ของร่างกาย ซึ่งบางรายอาจมีสิวร่วมด้วย
แต่ในเรื่องดังกล่าวนี้ “นพ.วรชัย ชื่นชมพูนุท” สูตินรีแพทย์ ศูนย์สุขภาพสตรี โรงพยาบาลบีเอ็นเอช กลับมองว่า เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงขณะตั้งครรภ์ เพราะเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกาย ซึ่งถ้ารู้จักดูแล และเอาใจใส่ ความสวยขณะตั้งครรภ์ก็สามารถทำได้ และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เช่น มีฝ้า และผิวคล้ำ มีขี้ไคลตามคอ หรือข้อพับ และหน้ามันเป็นสิว ก็จะหายไปเองหลังการคลอดผ่านไปสักประมาณ 1 - 2 เดือน
ถึงร่างกายจะเปลี่ยนไป แต่คุณแม่ก็สวยได้
“นพ.วรชัย” อธิบายกับทีมงานว่า ช่วงตั้งครรภ์จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือช่วง 3 เดือนแรก ซึ่งช่วงนี้จะมีอาการเสี่ยงต่อการแท้งได้สูง จึงต้องระวังให้มากที่สุด รวมทั้งจะมีอาการแพ้ท้อง แต่ในบางคนอาจจะไม่มีอาการ หากคุณแม่ที่มีอาการดังกล่าว คุณหมอแนะนำว่า ไม่ควรกินอาหารมากเกินไป แต่ต้องกระจายการกิน ไม่ควรกินมื้อใหญ่
นอกจากนี้การกินขิงจะช่วยลดอาการแพ้ท้องได้ดี หรืออาหารที่ย่อยง่าย อย่างเช่น ขนมปังปิ้ง น้ำเต้าหู้ ส่วนอารมณ์ในช่วงนี้จะมีความแปรปรวน หงุดหงิด โมโหง่าย และขี้ใจน้อย จึงอยากได้รับความใส่ใจจากสามี และครอบครัว รวมไปถึงญาติพี่น้อง ทั้งนี้ยังมีภาวะของสิวที่เกิดขึ้นบนใบหน้า ทางที่ดี ไม่ควรล้างหน้าบ่อยครั้ง เพราะจะทำให้หน้ามันเร็ว นำไปสู่การเกิดสิวได้ ควรล้างวันละ 1-2 ครั้งก็พอ
ช่วงต่อมาคือ ระยะ 3 เดือนที่สอง ช่วงนี้คุณแม่จะมีความกังวลเรื่องน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น คุณหมอแนะว่า ต้องควบคุมการกิน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ส่วนผิวจะคล้ำขึ้น ดังนั้น ควรใส่เสื้อผ้าที่ปกปิด และทาซันบล็อกเมื่อต้องออกแดด
สำหรับผม ช่วงนี้จะมีลักษณะเป็นลอนๆ มันๆ (ในบางคนเท่านั้น) ควรใช้ครีมนวดผม และกินอาหารที่มีสังกะสี เพราะเป็นแร่ธาตุที่สร้างภูมิคุ้มกันให้กับเส้นผมเพื่อให้เส้นผมแข็งแรง ซึ่งพบได้ในนม และผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ ไข่ และอาหารทะเล นอกจากนี้คุณแม่มักจะมีอาการท้องผูกร่วมด้วย ควรทานน้ำ และผักผลไม้ให้มาก เพราะจะมีเส้นใยช่วยให้ขับถ่ายดีขึ้น ลดการกินชา กาแฟ เนื่องจากทำให้ท้องผูก และเกิดเป็นริดสีดวงทวารได้ ถ้าเป็นแล้วจะหายยาก
การเปลี่ยนแปลงร่างกายทุกๆ 3 เดือนขณะตั้งครรภ์
การเปลี่ยนแปลงร่างกายทุกๆ 3 เดือนขณะตั้งครรภ์ และระยะ 3 เดือนสุดท้าย คุณแม่จะมีความกังวลเรื่องรอยแตกลายบริเวณท้อง ทางแก้ก็คือ ต้องควบคุมน้ำหนัก ไม่ให้มากจนเกินไป และใช้ Moisturizer ทาเป็นประจำ
อย่างไรก็ดี คุณหมอให้เคล็ดว่าสิ่งที่จะช่วยลดรอยแตกลายบริเวณหน้าท้องได้นั้น ต้องเริ่มจากการออกกำลังกายให้กล้ามเนื้อท้องแข็งแรงตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์ เพราะจะช่วยดันทรงของท้องได้ดีขึ้น ยืดหยุ่นขึ้น สังเกตได้จากผู้หญิงต่างประเทศ มักจะออกกำลังกายทุกวันอย่างสม่ำเสมอ เวลาตั้งครรภ์ ท้องจึงไม่ค่อยแตกลาย เพราะกล้ามเนื้อท้องขยายตัว และยืดหยุ่นได้ดี
ที่สำคัญ ช่วงนี้คุณแม่จะเกิดความกังวลในการคลอด เช่น กลัวคลอดยาก กลัวตกเลือด กลัวว่าลูกจะพิการ เป็นต้น ทางที่ดีจึงควรปรึกษาแพทย์ จะทำให้สบายใจขึ้น อย่าไปเชื่อข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเพียงอย่างเดียว รวมถึงจะมีอาการบวมของท้องมากขึ้น ถ้ามีอาการบวมมากเกินปกติ รวมทั้งมีโปรตีน หรือไข่ขาวออกจากช่องปัสสาวะ คุณหมอแนะว่าให้กินมะนาว และแตงกวา จะช่วยขับปัสสาวะ ลดการบวมได้ ขณะเดียวกันไม่ควรทานอาหารที่เค็มเกินไป ลดการยืนนานๆ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และไม่หักโหม
น้ำหนักตัวแค่ไหนถึงจะดี
น้ำหนักถือเป็นเรื่องสำคัญของคุณแม่ตั้งครรภ์ ซึ่งก่อนตั้งครรภ์ ต้องควบคุมน้ำหนักให้ดี ไม่ผอม หรืออ้วนจนเกินไป คุณหมอจึงให้คำแนะนำว่า การจะดูว่าน้ำหนักเหมาะสมหรือไม่นั้น คำนวณได้จาก ดัชนีมวลกาย (Body Mass Index) หรือ BMI เพื่อประเมินว่าร่างกายอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ โดยใช้สูตรคำนวณดังนี้
เช่น ถ้าคุณหนัก 55 กก. สูง 160 ซม. ต้องคิดเป็น 1.60 เมตรก่อน แล้วจึงจะเอาไปคำนวณ โดยเอา 1.60 x 1.60 คิดได้เป็น 2.56 จากนั้นเอาน้ำหนักคือ 55 ตั้ง แล้วหารด้วยค่าที่ได้จากส่วนสูงคือ 2.56 ดังนั้น BMI ก็จะเท่ากับ 21.5 ซึ่งอยู่ในเกณฑ์สมส่วน เพราะมีค่าตามเกณฑ์ปกติคือ 20 - 25.9 แต่ถ้าต่ำกว่านี้ถือว่าผอม เสี่ยงต่อการติดเชื้อต่างๆ ได้ง่าย แต่ถ้าน้ำหนักมากเกินไป อาจเสี่ยงต่อความดันเลือดสูง เบาหวาน รกผิดปกติ และส่งผลต่อลูกในท้องได้
อย่างไรก็ดีเมื่อตั้งครรภ์น้ำหนักตัวของคุณแม่จะเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 12 กก. และเพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ และคุมน้ำหนักได้อย่างเหมาะสม คุณหมอจึงได้แสดงตารางเปรียบเทียบน้ำหนักที่ควรเพิ่มขณะตั้งครรภ์ โดยใช้เกณฑ์คำนวณจากดัชนีมวลกาย ดังนี้
รู้จักกิน - สร้างสุขภาพครรภ์ดี
นอกจากการดูแลน้ำหนักตัวแล้ว คุณหมอบอกต่อว่า คุณแม่ต้องมีโภชนาการด้านการกินที่ดี และเหมาะสมด้วย ซึ่งเรื่องของสารอาหารถือเป็นเรื่องสำคัญ และจะขาดไม่ได้เลย เพราะช่วยเสริมสร้างพัฒนาการของลูกในท้องให้มีสุขภาพดี และแข็งแรง โดยคุณแม่ต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เช่น โปรตีน ช่วยในการเจริญเติบโตของลูกน้อย ไอโอดีน ช่วยพัฒนาสมอง และกล้ามเนื้อของลูกให้เป็นไปตามปกติ พบได้จากอาหารทะเล และเกลือเสริมไอโอดีน
“คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องกินธาตุเหล็กเพิ่มเป็น 2 เท่า เพราะเมื่อตั้งครรภ์ ร่างกายจะสร้างปริมาณน้ำในร่างกายเพิ่มขึ้น และพยายามสร้างเม็ดเลือดตามมา เพื่อรับรองกับการเสียเลือดขณะคลอด ดังนั้นเหล็กจะช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงได้อย่างพอเพียง ถ้าเกิดเหล็กน้อยเกินไป ร่างกายจะซีด เวลาคลอดทำให้ตกเลือดได้ง่าย ซึ่งหาพบได้ในผักใบเขียว โดยเฉพาะมะเขือพวงจะมีเหล็กเยอะมาก หรือพบในเนื้อสัตว์ เป็นต้น” คุณหมออธิบาย
ขณะที่กรดโฟลิก คุณแม่ตั้งครรภ์ต้องได้รับเพิ่มเป็น 2 เท่าเช่นกัน โดยเฉพาะ 3 เดือนแรก หรือก่อนตั้งครรภ์ ซึ่งมีผลวิจัยออกมาชัดเจนว่า กรดโฟลิกจะช่วยลดความพิการของสมอง หรือกะโหลกศีรษะของลูกน้อยได้ ซึ่งถ้าครอบครัวใดมีประวัติการเป็นโรคดังกล่าว จำเป็นต้องได้รับสารอาหารตัวนี้อย่างเพียงพอ ส่วนบ้านไหนที่ไม่มีประวัติ จะช่วยลดการเป็นโรคได้ถึง 70 เปอร์เซ็น ซึ่งกรดตัวนี้พบได้ในผักใบเขียว ตับ เป็ด ไข่แดง ซึ่งมีความจำเป็นต่อการแบ่งเซลล์ โดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดแดง และเซลล์สมองของลูกน้อย ทางที่ดีควรกินตั้งก่อนตั้งครรภ์
ส่วนคาร์โบไฮเดรทต้องกินอย่างน้อย 20 ส่วนต่อวัน ถ้าคุณแม่ที่เป็นเบาหวาน จะต้องลดลงเหลือ 16 ส่วนต่อวัน วิธีการนับคือ ข้าว 1 ทัพพี เท่ากับ 2 ส่วน ปกติคนเรากินข้าว 2 ทัพพี 1 มื้อจึงเท่ากับ 4 ส่วน 3 มื้อ 12 ส่วน เหลือของว่างให้กินอีก 8 ส่วน ไม่ว่าจะเป็น นม 1 กล่องคือ 1 ส่วน ไข่ 1 ฟอง 1 ส่วน ขนมปัง 1 แผ่น 1 ส่วน ส่วนผลไม้ เช่น ทุเรียน 1 เม็ดเท่ากับ 1 ส่วน ส้ม 1 ลูกเท่ากับ 1 ส่วน มะม่วงครึ่งลูกเท่ากับ 1 ส่วน ลิ้นจี่/ลำไย 4 ลูกเท่ากับ 4 ส่วน หรือส้ม 1 ลูกเท่ากับ 1 ส่วน เป็นต้น
“การกินที่ไม่ทำให้น้ำตาลขึ้นเร็วเกินไปนั้น ต้องเคี้ยวช้าๆ เนื่องจากสมองจะตอบสนองความอิ่มจากน้ำตาล ถ้ากินเร็วจะรู้สึกอิ่มช้า เพราะสมองตอบรับสภาพน้ำตาลไม่ทัน สำหรับการกินช้าๆ จะช่วยให้การย่อยดี ลูกในครรภ์ก็จะแข็งแรง และมีสุขภาพที่ดีจากการคุมอาหารของคุณแม่เองด้วย” คุณหมออธิบาย
กินแล้วอย่านอน ออกกำลังกายกันดีกว่า
กับเรื่องนี้ คุณหมอบอกว่า คนไทยส่วนใหญ่ออกกำลังกายน้อยมาก หรือบางคนบอกว่าออกแล้ว ออกเต็มที่เลย แต่แค่วันละ 5 นาทีแล้วหยุด ซึ่งไม่ได้ช่วยอะไรเลย ส่วนคนท้องก็สามารถออกกำลังกายได้เช่นกัน แต่ควรออกกำลังในลักษณะเบา อย่าออกแรงหนัก และอย่าออกแรงเร็ว ควรให้เวลากับการออกกำลังกายประมาณ 30 นาทีหรือมากกว่านั้น อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 ครั้ง เช่น เดินเบาๆ การยืด การเหยียดร่างกาย เล่นโยคะ การออกกำลังกายในน้ำ ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง และมีพลังในการเบ่งคลอดได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม คุณหมอแนะนำว่า คุณแม่ตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายของกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานบ่อยๆ เพราะการออกกำลังกายในส่วนนี้จะช่วยให้ช่องคลอดขยายตัวได้ง่ายขึ้น ลดการฉีกขาดของฝีเย็บ ลดอาการปัสสาวะเล็ด ซึ่งกล้ามเนื้อในส่วนนี้ประกอบด้วย 2 กลุ่มคือ มัดใหญ่ และมัดเล็ก โดยกลุ่มมัดใหญ่ทำได้ง่ายด้วยการขมิบยาวๆ ครั้งละ 5 - 10 วินาที ส่วนมัดเล็กขมิบสั้นๆ ครั้งละ 2 วินาที ทำวันละหลายๆ ครั้ง จะช่วยผ่อนคลายได้ดีมาก
“คุณแม่สามารถทำได้ตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์เลย และทำต่อเนื่องจนหลังคลอด จะช่วยป้องกันการหย่อนของอุ้งเชิงกราน เช่น มดลูกหย่อน กระบังลมหย่อน หรือท้องผูกเนื่องจากการหย่อนของช่องคลอด ดังนั้นเวลานั่งว่างๆ ก็หาเวลาทำ ซึ่งคุณแม่ทั้งหลายก็ทำได้” คุณหมอแนะนำ
ทั้งหมดนี้ คือการดูแลสุขภาพของว่าที่คุณแม่ขณะตั้งครรภ์ เพื่อระหว่างการตั้งครรภ์ และหลังคลอดจะได้มีสุขภาพดี และกลับมาสวยปิ้ง มีความมั่นใจเหมือนเดิม ซึ่งกลับคืนสู่สภาพได้เร็ว เพราะได้เตรียมพร้อม และดูแลสุขภาพร่างกายมาเป็นอย่างดี
ถึงแม้จะอยู่ในช่วงตั้งครรภ์ ก็ไม่เป็นอุปสรรคในเรื่องความสวยอีกต่อไป ซึ่งคุณหมอบอกว่า อยากแต่งก็แต่งไปเลย เปิดโอกาสให้กับตัวเองอย่างเต็มที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และเสน่ห์มัดใจสามีได้อย่างเรียกได้ว่า “ถึงท้อง ฉันก็สวย และสุขภาพดีได้” ขอเป็นกำลังใจให้กับว่าที่คุณแม่ทุกคนนะค่ะ
ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก : โรงพยาบาลบีเอ็นเอช
ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTV ผู้จัดการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น