Learn with Prin เรียนรู้ไปพร้อมกับน้องปริญญ์

จำหน่ายผลิตภัณฑ์ Legacy /Reborn Set ลด Fat ตัวช่วยลดไขมัน ลดน้ำหนัก แบบถูกวิธี 🔥 ติดต่อสอบถาม/สั่งซื้อ 📍 โทร ☎️ :: 084-110-5021 🌸 Line ID :: pla-prapasara 🌸 รับโปรโมชั่นสุดพิเศษเฉพาะทาง Line นะคะ 📍

วันพฤหัสบดีที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ขวดนมของหนู...นึ่งอย่างไรดี ?

ขวดนมของหนู...นึ่งอย่างไรดี ?
ขวดนม

ขวดนมของหนู...นึ่งอย่างไรดี ? (รักลูก)


คุณพ่อคุณแม่เคยสงสัยไหมคะว่า การนึ่งขวดนมของลูกโดยใช้เครื่องนึ่งไฟฟ้า กับการนึ่งขวดนมแบบทำเองนั้น จะนึ่งอย่างไรให้ปลอดภัย เรามีคำแนะนำมาฝากกันค่ะ


เครื่องนึ่งแสนสะดวก

ปฏิเสธไม่ได้เลยค่ะว่า เครื่องนึ่งแบบไฟฟ้านั้น กลายเป็นสิ่งจำเป็นแล้วสำหรับบ้านที่มีเด็กเล็ก เพราะเพียงแค่เราเสียบปลั๊ก เครื่องก็ทำงานเองโดยอัตโนมัติทันที ทุ่นแรงคุณพ่อคุณแม่ได้มากเลยทีเดียว แต่ว่าเครื่องนึ่งที่ช่วยให้เราสุขสบายอย่างนี้ จะมีวิธีการใช้งานหรือข้อควรระวังอะไรบ้าง คำตอบมีดังต่อไปนี้ค่ะ

อ่านคู่มือก่อนการใช้งานให้ละเอียด ถึงแม้เครื่องนึ่งขวดนมไฟฟ้าจะมีความสะดวกมากมาย บางรุ่นอาจมีวิธีการใช้งานที่ง่ายแสนง่าย แต่คุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรละเลยการอ่านคู่มือการใช้งานที่ถูกต้องอย่างละเอียดนะคะ เพื่อจะได้ลดความผิดพลาดจากการใช้งานที่ไม่ถูกวิธี ขณะเดียวกันก็ต้องระวังในเรื่องของระบบไฟฟ้าที่อาจจะมีการรั่วหรือลัดวงจรด้วยค่ะ

ใช้นึ่งอย่างเดียวเท่านั้น มีคุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนที่เข้าใจว่า เครื่องนึ่งขวดนมนั้นสามารถใช้อุ่นอาหารได้ด้วย ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะแม้ว่าเครื่องนึ่งขวดนมไฟฟ้าจะสามารถทำได้ แต่การใช้งานตามวัตถุประสงค์จะมีประสิทธิภาพมากกว่า

เช็ดให้แห้งทุกครั้งหลังทำความสะอาด เนื่องจากความชื้นเป็นตัวการหลักที่ทำให้เชื้อโรคเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้นเมื่อใช้งานเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็ควรล้างทำความสะอาดและเช็ดให้แห้งทุกครั้ง เพราะหากปล่อยให้เครื่องนึ่งเกิดความชื้น หรือไม่แห้งสนิท เชื้อโรคที่เจริญเติบโตก็จะเป็นอันตรายต่อลูกค่ะ

ที่สำคัญหลังจากเช็ดเครื่องนึ่งขวดนมจนแห้งสนิทแล้ว อย่าลืมปิดฝาครอบให้สนิทแล้วเก็บหรือวางไว้ในที่ที่ปราศจากฝุ่นและความชื้นด้วยนะคะ



นึ่งเองสุดประหยัด

คุณพ่อคุณแม่หลาย ๆ คนเลือกที่จะนึ่งขวดนมให้ลูกเองโดยไม่ใช้เครื่องนึ่งไฟฟ้า แต่อาจยังไม่แน่ใจในขั้นตอนและวิธีปฏิบัติของตนเองมากนัก ว่าถูกต้องและปลอดภัยสำหรับลูกน้อยพอหรือยัง ซึ่งต้องขอบอกว่า การนึ่งเองไม่ได้ยุ่งยากอะไรนัก แต่ก็มีเรื่องที่เราจะต้องระวังอยู่เช่นกันค่ะ

อุณหภูมิ & ระยะเวลา ถือเป็นเรื่องสำคัญค่ะ เพราะยิ่งอุณหภูมิสูงเท่าไหร่และใช้เวลาในการนึ่งนานมากแค่ไหน โอกาสที่เชื้อโรคจะตายก็ย่อมมีสูงขึ้นค่ะ

โดยปกติแล้วเราจะต้องใช้ความร้อนที่จุดเดือด 100 องศาเซลเซียส ในการฆ่าเชื้อโรค ขณะเดียวกันระยะเวลาที่ใช้ในการนึ่งนั้นก็ต้องนานพอสมควร คืออย่างน้อย 10-15 นาที เพื่อให้เชื้อโรคแตกตัว และไม่มีการเจริญเติบโตต่อไปได้

ขวดนมต้องตากให้แห้งทุกครั้ง ทุกครั้งที่ลูกกินนมเสร็จแล้ว คุณพ่อคุณแม่ต้องล้างขวดนมให้สะอาดก่อน จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้งแล้วค่อยนำไปนึ่ง ทั้งนี้เพื่อลดกลิ่นอับที่จะเกิดขึ้น และเมื่อนึ่งเสร็จแล้วก็ให้นำไปตากแดดให้แห้งสนิทอีกครั้งค่ะ แต่ก็ต้องระวังเรื่องของลมและฝุ่นละอองด้วยนะคะ

ไม่ว่าจะใช้เครื่องนึ่งไฟฟ้า หรือว่านึ่งเองด้วยหม้อนึ่งธรรมดา ถ้าคุณพ่อคุณแม่รักษาความสะอาดให้มากที่สุด คำนึงในเรื่องอุณหภูมิและระยะเวลาที่ใช้ในการนึ่ง เท่านี้ก็ลดโอกาสที่ลูกจะท้องเสียหรือเจ็บป่วยได้แล้วค่ะ

ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะใช้เครื่องนึ่งแบบไฟฟ้าหรือว่าจะนึ่งขวดนมเองก็ตาม สิ่งที่ต้องใส่ใจ คือ

ความสะอาด ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ก่อนชงนมให้ลูก ต้องล้างมือทุกครั้ง ช้อน หรือภาชนะบรรจุนมก็ต้องสะอาด หรือแม้แต่สถานที่ชงนมให้ลูก ไม่ว่าจะเป็นมุมในบ้านหรือนอกบ้าน ก็ต้องสะอาดอย่างเพียงพอ

ขวดนมของลูกต้องแห้งเสมอ เพราะว่าเชื้อโรคเจริญเติบโตได้ดีในที่ชื้น ดังนั้นจึงไม่ควรปล่อยให้ขวดนมของลูกเปียก ยกเว้นในขณะที่นึ่งขวดนมเสร็จใหม่ ๆ แล้วเท่านั้น

ต้มแทนนึ่งได้ แต่ต้องเป็นการต้มในน้ำเดือด 100 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 10-15 นาทีเป็นอย่างต่ำ และต้องใช้ที่คีบขวดนมในการหยิบจับเพื่อป้องกันเชื้อโรคด้วยค่ะ
ที่มา :: ปีที่ 30 ฉบับที่ 353 มิถุนายน 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น